ศาลพิพากษาคดี ม.112 จำคุก 3 ปี ลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน “วารุณี” เหตุโพสต์ภาพ ร.10 เปลี่ยนเครื่องทรง ‘พระแก้วมรกต’ เป็นชุดราตรี ก่อนศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว

วันที่ 28 มิ.ย. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และ “เหยียดหยามศาสนา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 ของ “วารุณี” (สงวนนามสกุล) ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัขด้วย

ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2564 วารุณีถูกเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าจับกุมตามหมายจับศาลอาญาที่ 2047/2564 ถึงบ้านที่พิษณุโลก พร้อมยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก อย่างละ 1 เครื่อง ก่อนควบคุมตัวมาสอบปากคำที่ บก.ปอท. ในกรุงเทพฯ โดยพบว่าคดีมี นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา

ต่อมาในวันที่ 24 ก.พ. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาล โดยระบุว่า จำเลยมีเจตนาเพื่อให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทําให้ดูตลกขบขันและถูกด้อยค่าต่อประชาชน และเป็นการแสดงความไม่เคารพสักการะต่อวัตถุและสถานที่ทางศาสนา เป็นการกระทําที่ไม่สมควรและไม่เคารพต่อพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปที่เคารพสักการะในทางศาสนาพุทธของประชาชนชาวไทย อันเป็นการเหยียดหยามศาสนา

คดีนี้เดิมมีกำหนดนัดสืบพยานในวันที่ 2-3, 9-10 พ.ค. 2566 ในวันแรกของการสืบพยาน วารุณีตัดสินใจให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลถึงอาการป่วยอารมณ์สองขั้วของวารุณี ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง ศาลจึงให้งดการสืบพยาน และมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

วันนี้ (28 มิ.ย. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 907 วารุณีเดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

เห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพ จากรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติ ไม่ปรากฎข้อเสียหายใดมาก พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112, มาตรา 206 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน 

พิเคราะห์พฤติการณ์ในคดีเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะ รัฐธรรมนูญไทยบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การกระทำของจำเลยกระทบต่อความรู้สึกประชาชน จำเลยมีเหตุสุขภาพจิต ไม่เป็นเหตุให้รอการลงโทษได้ ให้ริบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของกลาง

หลังศาลมีคำพิพากษา วารุณีถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันที ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

เวลา 16.48 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 วัน ทำให้ในวันนี้ วารุณีถูกนำตัวไปควบคุมยังทัณฑสถานหญิงกลาง

.

ต่อมาวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัววารุณี ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูงจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

.

ย้อนอ่านข่าวการฟ้อง >>> ฟ้อง ม.112 – เหยียดหยามศาสนา ‘วารุณี’ เหตุโพสต์ภาพ ร.10 เปลี่ยนเครื่องทรง ‘พระแก้วมรกต’ เป็นชุดราตรีสีม่วงแบรนด์ Sirivannavari 

ฐานข้อมูลคดี >>> คดี 112 “วารุณี” เหตุโพสต์ภาพ ร.10 เปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดราตรีแบรนด์ Sirivannavari

X