ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี แม่ค้าออนไลน์ลูก 5 คดี ม.112 เหตุเมนต์วิจารณ์ใต้เพจการบินไทย แต่ให้รอลงอาญา

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ธัญวดี” (นามสมมติ) แม่ค้าออนไลน์และแม่ลูก 5 วัย 41 ปี กรณีถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการคอมเมนต์ใต้เพจเฟซบุ๊ก “การบินไทย” เกี่ยวกับการรับเงินภาษีและบริจาคบางส่วนกลับคืนให้ประชาชน เมื่อช่วงปี 2563

คดีนี้ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 ร.ต.เปรมไชย ศรีบุญ รับมอบอำนาจจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อให้ดำเนินคดีกับธัญวดีในข้อหาตามประมวลข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 รัตนพร ตันติพจน์โสภา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา โดยระบุพติการณ์โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 จำเลยใช้บัญชีเฟซบุ๊กหนึ่งไปแสดงความคิดเห็นต่อท้ายจากคอมเมนต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นซึ่งกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ในโพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “Thai Airways” โดยมีข้อความว่า “บริจาคเงิน 100 ล้าน แต่ที่ได้จากภาษีประชาชนปีละ 20,000 ล้าน แหม” พร้อมกับใส่อีโมจิรูปคนหน้ายิ้ม 3 รูป  

จากการแสดงความเห็นดังกล่าว อัยการเห็นว่า เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นการกระทำที่ไม่ควร จาบจ้วง ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย โดยไม่แน่ชัดว่ามีการดำเนินคดีกับผู้ที่คอมเมนต์ข้อความไว้ก่อนหรือไม่

จากนั้นศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2566 แต่ก่อนเริ่มสืบพยาน ธัญวดีได้กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะและพินิจจำเลย พร้อมกับนัดฟังรายงานสืบเสาะและฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้ 

ศาลพิพากษาผิดจริงตามฟ้อง ให้จำคุก 4 ก่อนลดเหลือ 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา

วันนี้ ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 811 เวลาประมาณ 10.00 น. จำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับสามีและลูกคนที่ 3 พร้อมกันนี้ยังมีตัวแทนจากบริษัทการบินไทยมาร่วมฟังคำพิพากษาอีกด้วย จากนั้นศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดจริงตามฟ้อง ให้ลงโทษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ที่มีบทลงโทษหนักสุด ให้จำคุก 4 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ จึงให้ลดโทษจำคุกเหลือ 2 ปี

พิเคราะห์ตามรายงานสืบเสาะและพินิจจำเลยจากเจ้าหน้าที่คุมประพฤติแล้วได้ความว่า จำเลยให้การว่ากระทำความผิดไปเพราะขณะนั้นรู้ข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียว แต่หลังกระทำผิดแล้วก็ได้สำนึกผิดและไม่ได้กระทำความผิดในลักษณะเดิมซ้ำอีก อีกทั้งจำเลยไม่เคยต้องรับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงเห็นควรให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี และให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้งในเวลา 2 ปี พร้อมกับให้ทำบริการสาธารณประโยชน์ จำนวน 48 ชั่วโมง

ธัญวดีเผยแม้จะรับสารภาพ แต่เห็นด้วยให้ยกเลิก ม.112 เพราะโทษสูงเกินไป-ทำลายชีวิตคน 

สำหรับ ธัญวดี เป็นประชาชนชาวกรุงเทพฯ ประกอบอาชีพขายสินค้าทางออนไลน์ มีลูกทั้งหมด 5 คนด้วยได้ อายุ 22, 21, 20, 16 และ 6 ปี ตามลำดับ โดยทุกคนกำลังเรียนหนังสืออยู่ ยกเว้นลูกคนโตที่เพิ่งเรียนจบและอยู่ระหว่างหางานทำ ส่วนลูกคนสุดท้องมีภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder; ADHD) ต้องได้รับดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องรับการรักษาจากแพทย์ และต้องทำกิจกรรมบำบัดเป็นประจำทุกเดือน

การถูกดำเนินคดีนี้ ธัญวดีเล่าว่ามีผลกระทบกับสภาพจิตใจมากที่สุด เพราะทำให้เกิดความเครียดและความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าอาจจะต้องติดคุกและจะไม่มีใครอยู่ดูแลลูก ปกติแล้วธัญวดีเป็นคนดูแลความเป็นอยู่ของทุกคนภายในบ้านทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน ความเรียบร้อย การสั่งสอนเลี้ยงดู และอื่นๆ

ธัญวดีเล่าอีกว่า แม้ในคดีนี้จะให้การรับสารภาพ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นมีปัญหาอยู่จริง และเธออยากให้มีการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ เธอยกตัวอย่างว่าในบางประเทศนั้นไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมุขของประเทศ หรือหากมีก็จะมีโทษสูงสุดเพียงแค่จำคุกไม่กี่เดือน หรือมีเพียงโทษปรับเท่านั้น ธัญวดีเห็นว่าแม้จะยกเลิกมาตรา 112 ไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะปรับลดโทษให้น้อยลงกว่านี้ 

“ไม่ว่าชีวิตใครก็ไม่ควรถูกทำลายด้วยกฎหมายมาตรานี้” ธัญวดีบอก

กับคำพิพากษาของศาลวันนี้ ธัญวดีรู้สึกตกใจกับโทษจำคุก 4 ปีอย่างมาก เธอบอกว่าเป็นอัตราโทษที่สูงมากจนเกินไป แต่ยังดีที่ศาลให้รอการลงอาญาไว้ เพราะเห็นแก่ที่รับสารภาพและมีภาระต้องคอยเลี้ยงดูลูกทั้ง 5 คนที่รออยู่ที่บ้าน 

“ถ้าต้องติดคุกขึ้นมาคงวุ่นวายทั้งชีวิต แล้วใครจะดูแลลูกเรา …”

X