“ปิยะ” นักโทษคดี ม.112 ไม่เข้าเกณฑ์พักโทษ เหตุติดหมายอายัด DSI ทั้งที่คดีสิ้นสุดแล้ว

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา นายปิยะ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 และถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ได้เปิดเผยกับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเข้าเยี่ยมภายในเรือนจำ ว่าเขาไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ เนื่องจากติดหมายอายัดตัว ในคดีมาตรา 112 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ดำเนินคดี ทั้งที่คดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่ได้ดำเนินการถอนหมายอายัดตัว ทำให้เรือนจำไม่ทำเรื่องพักโทษให้เขา แม้เขามีคุณสมบัติอื่น ๆ เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการพักการลงโทษแล้ว

สำหรับ ปิยะ อายุ 50 ปี เป็นอดีตผู้จัดการธุรกิจหลักทรัพย์ของธนาคารแห่งหนึ่ง และอดีตโปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรม เขาถูกเจ้าหน้าที่กว่า 30 นาย เข้าจับกุมจากบ้านพักในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ก่อนจะถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีการโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์และข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ผ่านเฟซบุ๊กชื่อว่า “นายพงศธร บันทอน” หลังจากนั้นปิยะถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพตลอดมา โดยไม่เคยได้ยื่นขอประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ

ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ ปิยะยังถูกพนักงานสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกคดีหนึ่ง เป็นคดีที่ 2 จากกรณีการโพสต์ข้อความและส่งอีเมล ตั้งแต่ในช่วงปี 2551 และ 2553

ปิยะตัดสินใจต่อสู้คดีในชั้นศาลในทั้งสองคดี โดยใน คดีแรก ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี  ส่วนคดีที่สอง ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปี ทั้งสองคดีสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 รวมโทษจำคุกในทั้งสองคดีมีกำหนด 14 ปี

เดือนพฤษภาคม 2562 ปิยะได้รับการลดหย่อนโทษจาก พรฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 โดยได้รับการลดโทษเหลือโทษจำคุก 7 ปี และจนถึงปัจจุบัน เขาถูกคุมขังมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน เหลือโทษจำคุกอีกราว 2 ปี 3 เดือน น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษ ทำให้มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์พักการลงโทษ แต่เรือนจำระบุว่าเขายังมีหมายอายัดตัว ตั้งแต่ปี 2557 ในคดีของดีเอสไอค้างอยู่ ทำให้การสำรวจนักโทษเด็ดขาดที่เข้าเกณฑ์พักการลงโทษของเรือนจำซึ่งทำในทุกเดือนมีนาคม และกันยายนของทุกปี จะไม่มีชื่อของปิยะ ทั้งที่คดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว (คดีที่สอง) แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบคดีมาถอนหมายอายัด

ทั้งนี้ การอายัดตัวผู้ต้องขัง หมายถึง กรณีที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้เรือนจำทราบว่า ผู้ต้องขังที่จะปล่อยตัวพ้นโทษนั้น เป็นผู้ต้องหาในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องการตัวไปดำเนินการต่อตามกฎหมายภายหลังปล่อยตัวพ้นโทษ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการอายัดตัวผู้ต้องหาไว้ในข้อหนึ่งว่า “ในกรณีที่การสอบสวนเสร็จสิ้นและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาอายัด หลังจากส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการแล้ว ให้พนักงานสอบสวนหมั่นติดตามผลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ จนกระทั่งพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกอายัดต่อศาล และเรือนจำได้รับหมายนัดพิจารณาของศาลนั้นแล้ว หรือพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาอายัดแล้ว ให้พนักงานสอบสวนรีบมีหนังสือขอถอนอายัดผู้ต้องหาดังกล่าวไปยังสถานที่ขออายัดไว้โดยด่วนที่สุด

เห็นได้ว่า กรณีของปิยะนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ปิยะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขังในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่ได้รับแจ้งว่า พ.ต.ท.อุดมวิทย์ เนียมอินทร์ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อีกทั้งยังหาสำนวนคดีไม่เจอ ซึ่งทางทนายหรือญาติของผู้ต้องขังต้องไปดำเนินการคัดถ่ายสำเนาของหมายอายัดตัวดังกล่าวมายื่นต่อดีเอสไอ เพื่อที่ดีเอสไอจะได้ดำเนินการต่อไป

แต่เมื่อทนายความของปิยะได้ติดต่อแจ้งเรื่องนี้กับเรือนจำ ทางเรือนจำระบุว่า ไม่สามารถให้คัดถ่ายหมายอายัดได้ ให้ได้แต่เพียงเลขที่ของหมายและชื่อของพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้ออกหมาย การขอคัดถ่ายหมายต้องติดต่อไปยังดีเอสไอเอง

ขณะเดียวกันเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปิยะยังได้ทำหนังสือแจ้งขอให้ถอนหมายอายัดตัวเขา ส่งไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ทำให้จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการถอนหมายอายัดของปิยะได้ และทำให้เรือนจำยังไม่ทำเรื่องพักโทษให้เขา

ทั้งนี้ การพักการลงโทษ คือการที่ทางราชทัณฑ์อนุญาตให้ปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดออกมาอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ โดยต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และได้รับโทษมาแล้วในสัดส่วนอัตราโทษตามที่ทางราชทัณฑ์กำหนดสำหรับนักโทษแต่ละชั้นความประพฤติ

นอกจากสิทธิประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดในเรื่องการพักโทษดังกล่าวแล้ว หากยังไม่สามารถถอนหมายอายัดดังกล่าวได้ ปิยะกล่าวว่า เขาก็จะไม่ได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้วย เช่น การลดวันต้องโทษจำคุก การออกไปทำงานสาธารณะ ซึ่งจะทำให้เขาต้องถูกจำคุกจนครบ 7 ปีเต็ม

ปิยะเป็นหนึ่งในผู้ถูกคุมขังด้วยคดีมาตรา 112 จากจำนวนอย่างน้อย 25 ราย ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (ดูในรายงาน นักโทษมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 25 ราย ยังถูกคุมขังในเรือนจำ)

 

X