เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกแจ้งข้อหา ม.112 หลังโดนล่าแม่มด เหตุโพสต์วิจารณ์ ร.9 ลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มารเก็ตเพลส”

1 มิ.ย. 64 – ที่สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ภัทร (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และข้อหามาตรา 14 (3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 จากกรณีโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์รัชกาลที่ 9 พร้อมรูปภาพพระองค์ทีปังกรรัศมีโชติและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เมื่อช่วงเดือนพ.ค. 63 ก่อนได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน โดยไม่ต้องวางหลักประกัน

มูลเหตุของคดีนี้ มาจากน.ส.อุราพร สุนทรพจน์ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์รัชกาลที่ 9 ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 63 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าการแจ้งความครั้งนี้ เป็นเหตุสืบเนื่องมาจากการ “ล่าแม่มดออนไลน์” ผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์บนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะจากกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ในช่วงเดือนพ.ค. ในปีที่ผ่านมา 

ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 63 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีประชาชนอย่างน้อย 25 ราย ที่ถูกสอดส่องหรือถูกเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวต่อสาธารณะ นำไปสู่การคุกคามประชาชนบนพื้นที่ออนไลน์และในชีวิตประจำวัน 

>>> ส่องสถานการณ์ “ล่าแม่มด” หลังเกิดกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส”

ในกรณีของภัทร เขาถูกเพจเฟซบุ๊ก “อึ้งเอี๊ยะซือ เทื้อเอี้ยวเกียv10” ล่าแม่มดในช่วงเดือนเดียวกัน โดยเพจดังกล่าวได้โพสต์บันทึกแจ้งความที่มีชื่อของภัทร รวมไปถึงชื่อของพ่อและแม่ของภัทร และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ทำให้ภัทรต้องปิดบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว และสร้างความกังวลให้เขาไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองในโซเชียลมีเดีย

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 63 ตาของภัทรซึ่งอาศัยอยู่ในภาคเหนือแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบสังกัดมาหาที่บ้าน และสั่งให้ตาเซ็นเอกสารรับทราบการกระทำผิดของภัทร พร้อมกับถ่ายรูปของตาและบ้านพักไปด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลและความเครียดให้กับภัทรอย่างยิ่ง

หลังเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ไปหาตาของภัทรที่บ้าน อีก 8 เดือนถัดมา พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้ส่งหมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่ 12 พ.ค. 64 ไปให้ภัทร และหมายเรียกพยานลงวันที่ 12 พ.ค. 64 เช่นกัน สำหรับแม่ของภัทรไปที่บ้าน โดยระบุให้เขาเดินทางไปที่สภ.บางแก้ว เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และข้อหามาตรา 14 (3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560  และสอบปากคำแม่ของภัทรในฐานะพยานในวันที่ 1 มิ.ย. 64

วานนี้ (1 มิ.ย. 64)  เวลา 11.00 น. ภัทรพร้อมผู้ปกครองได้เดินทางไปที่สภ.บางแก้ว พร้อมกับที่ปรึกษาทางกฎหมาย (ทนายความ) 

ก่อนรับทราบข้อหา ภัทรมีความกังวลเกี่ยวกับทิศทางคดีและการพบเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตั้งแต่คืนก่อนวันนัดหมาย เมื่อไปถึงที่สถานี พนักงานสอบสวนสภ.บางแก้วให้ภัทรและครอบครัวนั่งรอเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง โดยไม่มีการอธิบายสาเหตุของความล่าช้า จนที่ปรึกษาทางกฎหมายต้องสอบถามพนักงานสอบสวนอีกครั้ง ภัทรจึงถูกนำตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ชั้น 2 ของอาคาร

ร.ต.อ.กิตติภณ พลเดช รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.บางแก้ว ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา และบรรยายพฤติการณ์คดีเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 63 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะที่น.ส.อุราพร สุนทรพจน์ ผู้กล่าวหาของคดีนี้กำลังไปติดต่องานที่บ้านพักของประธานบริษัทเดย์ สตาร์ บริเวณบางแก้ว น.ส.อุราพรพบรูปภาพพระองค์ทีปังกรรัศมีโชติและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พร้อมข้อความวิจารณ์พฤติกรรมทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในกลุ่มเฟซบุ๊ก  “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” 

ผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นข้อความที่หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่เป็นเท็จ อันเป็นความผิดเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร น.ส.อุราพรจึงเดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนให้ดําเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวบุคคลดังกล่าวมาลงโทษตามกฎหมาย 

พนักงานสอบสวนระบุว่า ต่อมาจากการสืบสวนสอบสวน พบว่าชื่อของบัญชีเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดังกล่าวตรงกับชื่อของผู้ต้องหา จึงได้ออกหนังสือถึงผู้ปกครองให้นําตัวผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการตามกฎหมายต่อไป 

ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 2 ข้อหา ได้แก่

1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาด ร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” 

2. มาตรา 14 (3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว”

ภัทรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้ให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน เมื่อกระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้น ภัทรได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน โดยไม่ต้องวางหลักประกัน 

อนึ่ง ในระหว่างกระบวนการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกล้องวีดิโอออกมาเพื่อบันทึกภาพกระบวนการสอบสวนเพื่อนำส่งให้ศาลเยาวชนตรวจสอบการสอบสวน แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้กดปุ่มบันทึกภาพไว้ ต่อมาจึงถ่ายภาพของภัทร แม่ของภัทร และที่ปรึกษาทางกฎหมายไว้แทน 

พนักงานสอบสวนแจ้งนัดหมายสืบเสาะประวัติที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 25 มิ.ย. 64 แต่ในระหว่างที่ภัทรกำลังลงลายมือชื่อในบันทึกประจำวัน พ.ต.อ.มงคล อ่อนแก้ว  ผู้กำกับ สภ.บางแก้ว ได้ให้ ร.ต.อ.กิตติภณ ติดต่อไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการอีกครั้ง เพื่อเลื่อนวันนัดหมายสืบเสาะประวัติให้เป็นวันที่ 1 หรือ วันที่ 2 มิ.ย. แทน โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลที่ต้องเลื่อนนัดหมายกับผู้ต้องหาและที่ปรึกษาทางกฎหมาย 

อย่างไรก็ตาม สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการไม่สามารถทำตามคำร้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้วได้ จึงนัดภัทรให้ไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวสมุทรปราการ ในวันที่ 25 มิ.ย. 64 เวลา 08.30 น. ตามเดิม

หลังจากรับทราบข้อกล่าวหา ภัทรเผยว่า รู้สึกกังวลเกี่ยวกับคดี เนื่องจากไม่สามารถล่วงรู้ว่า ต่อไปนี้จะเกิดอะไรขึ้น และโรงเรียนใกล้เปิดภาคการศึกษาใหม่ การเดินทางไปตามนัดหมายของศาลเป็นประจำอาจส่งผลกระทบต่อการเรียน และเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางให้กับครอบครัว

ภัทรนับเป็นเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี รายที่ 8 ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 นับตั้งแต่การกลับมาใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีอีกครั้งเมื่อปี 2563 อีกทั้ง ยังเป็นคดีที่มีประชาชนเป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี หลังจากเกิดเหตุการณ์ “ล่าแม่มดออนไลน์” และการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าแจ้งความดำเนินคดี ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2563 

กรณีน.ส.อุราพร ก่อนหน้านี้พบว่ายังเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีที่สภ.บางแก้ว ในคดีของ “พิพัทธ์” หนุ่มอายุ 20 ปี จากจังหวัดพิษณุโลก ที่โพสต์ภาพและข้อความลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ในช่วงเดือนพ.ค. 63 เช่นเดียวกัน

สถานการณ์เช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งความได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นการสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ต้องหา และอาจนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาได้ง่าย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เริ่มกลับมาบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 97 ราย ใน 92 คดี และมีคดีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีถึง 42 คดี หรือคิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

 

X