ปอท. จับ “มัมดิว” และพวก ข้อหา ม.112 อ้างทำคลิปเจตนาล้อเลียนอดีตราชินีและสมาชิกราชวงศ์ หลัง “ศรีสุวรรณ” แจ้งความ

16 มิ.ย. 2565 เวลา 10.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งจาก “มัมดิว” หรือ กิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ เจ้าของเพจ มัมดิวไดอารี่ ว่า ถูกตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าแสดงหมายจับถึงบ้านพัก ในคดีมาตรา 112 ซึ่งสืบเนื่องมาจากแคมเปญโฆษณาลาซาด้า 5.5 ที่ทำร่วมกับ นารา — เครปกะเทย และ หนูรัตน์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มัมดิวได้ถูกตำรวจควบคุมตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่กองกำกับการ 2 บก.ปอท. ระบุรายละเอียดว่า ตำรวจชุดจับกุมจาก บก.ปอท. 7 นาย ได้ร่วมกันทำการจับกุมมัมดิว ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1116/2565 ลงวันที่ 10 มิ.ย. 2565 กล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน ‘ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์’

นอกจากมัมดิว ยังมีรายงานข่าวว่า อนิวัต ประทุมถิ่น หรือ “นารา” และธิดาพร ชาวคูเวียง หรือ “หนูรัตน์”  ก็ถูกจับกุมและควบคุมตัวมาที่ กก.2 บก.ปอท. ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

ต่อมา พนักงานสอบสวน บก.ปอท.ได้แจ้งพฤติการณ์ของข้อกล่าวหาให้ทั้งสามทราบว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 ศรีสุวรรณ จรรยา ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาได้มาพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท. และร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565 เว็บไซต์ LAZADA และ TikTok ได้โพสต์คลิปวีดิโอโปรโมทแคมเปญลดราคาสินค้าของลาซาด้า โดยมีผู้แสดงคือ นารา, หนูรัตน์ และมัมดิว ซึ่งมีลักษณะไม่เหมาะสม เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม ผู้ป่วยหรือผู้พิการ อีกทั้งมีเนื้อหาในลักษณะล้อเลียน เสียดสี บุคคลอันเป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งหลายคนเห็นแล้วไม่สบายใจ เพราะมีรูปภาพหรือการแสดงที่มีลักษณะพาดพิง ดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง หรือสถาบันกษัตริย์ 

พนักงานสอบสวนยังระบุว่า จากการสืบสวนสอบสวนพบการกระทำที่เป็นความผิดดังนี้ 

1. เป็นคลิปโฆษณาแคมเปญ LAZADA 5.5 เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มของ LAZADA และบัญชี TikTok ของนารา ความยาว 1 นาที 26 วินาที โดยมีหนูรัตน์ได้แสดงบทบาทเป็นหญิงพิการแต่งชุดไทยประยุกต์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั่งรถเข็นในลักษณะเอียง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการเลียนแบบหนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์ และนาราได้แสดงการพูดกับหนูรัตน์ว่า…ฉันจะจัดการกับแก แล้วหนูรัตน์ได้ลุกขึ้นแล้วพูดว่า ฉันลุกขึ้นได้ ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าว มีลักษณะในเชิงบิดเบือนว่า สมาชิกราชวงศ์ดังกล่าวโกหกให้คนหลงเชื่อว่าป่วย เพื่อให้เห็นใจ สงสาร ซึ่งเป็นการนำข้อมูลที่บิดเบือนเข้าสู่คอมพิวเตอร์

2. เป็นคลิปวิดีโอที่นาราแสดงร่วมกับหนูรัตน์และมัมดิว ซึ่งภาพที่ปรากฏในคลิปเป็นการที่นาราได้นําสินค้าของตนมอบให้กับมัมดิว โดยที่นารานั่งพับเพียบอยู่กับพื้น ส่วนมัมดิวนั่งอยู่บนโซฟา และหนูรัตน์นั่งอยู่บนรถเข็น แสดงเป็นคนพิการ โดยที่มัมดิวได้สวมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ แต่งหน้า และทําทรงผม มีลักษณะที่คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงเลียนแบบพระราชินีในรัชกาลที่ 9 คลิปดังกล่าวเผยแพร่ผ่านบัญชี TikTok ของนารา เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565

พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า ผู้ต้องหาทั้งสามได้ร่วมกันจัดทำบท ร่วมกันแสดง โดยเจตนาล้อเลียน ด้อยค่า อดีตพระราชินีในรัชกาลที่ 9 และสมาชิกราชวงศ์คนดังกล่าว โดยมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากการสืบสวนสอบสวนเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาทั้งสามเป็นผู้ร่วมแสดงในคลิปวีดีโอดังกล่าว โดยนาราเป็นผู้โพสต์คลิปในบัญชีเฟซบุ๊กและ TikTok ของตนเอง

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสามในข้อหา “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งยังแจ้งข้อกล่าวหานารา “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ประชาชน และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)(3) อีกด้วย

เน็ตไอดอลทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญาผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว อ้างเหตุว่า เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งมีอัตราโทษสูง ทั้งเกรงว่าผู้ต้องหาทั้งสามอาจจะไปลบ แก้ไข เปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานในระบบคอมพิวเตอร์ ส่งผลเสียหายต่อรูปคดี รวมทั้งอาจมีกระทําความผิดในลักษณะซ้ำเดิมอีกได้ หรืออาจมีการโพสต์ในลักษณะหมิ่นเจ้าพนักงานตํารวจลงในสื่อสังคมออนไลน์

อย่างไรก็ตาม หลังศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ได้ให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันในวงเงินคนละ 90,000 บาท ซึ่งมัมดิวได้ใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลยังกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก และให้ทั้งสามมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน 

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา กรณีการจับกุมเน็ตไอดอลทั้งสาม และแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ทำให้มีสถิติผู้ถูกดำเนินคดีข้อหานี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 201 ราย ใน 216 คดี

.

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

X