ศาลยกฟ้องคดี “นารา”ชี้ต้องตีความ “ดูหมิ่น-หมิ่นประมาท” โดยเคร่งครัดการแสดงบทบาทสมมติยังไม่เข้าองค์ประกอบ ม.112

วันที่ 21 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีที่มีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ “นารา เครปกะเทย” หรือ อนิวัต ปทุมถิ่น คอนเทนต์ครีเอเตอร์ อายุ 24 ปี จากกรณีจัดทำและร่วมแสดงในคลิปโฆษณาแคมเปญ 5.5 ของลาซาด้า เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นการล้อเลียนเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  

ในคดีนี้มี ศรีสุวรรณ จรรยา เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาที่ บก.ปอท. กรณีนาราถูกสั่งฟ้อง เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ในข้อหาตามมาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) และร่วมกันใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวมด้วย  โดยฟ้องแยกจากคดีของ “หนูรัตน์” ธิดาพร ชาวคูเวียง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และ “มัมดิว” กิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ เจ้าของเพจ มัมดิวไดอารี่ โดยคดีหลังมีกำหนดนัดสืบพยานช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนปี 2567 

คดีนาราก่อนหน้านี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยรวม 4 นัด ระหว่างวันที่ 19-22 และ 26-27 ก.ย. 2566 จากนั้นได้นัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้

วันนี้ ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 912 เวลาประมาณ 09.40 น. นาราถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้ามายังห้องพิจารณาคดีล่าช้ากว่าที่ศาลนัดหมายไว้ เธอถูกตรวนเท้าทั้งสองข้างด้วยกุญแจเท้า สวมชุดผู้ต้องขังเป็นเสื้อแขนสั้นคล้ายผ้าดิบ คอกลม สีน้ำตาลอ่อน และสวมกางเกงขาสั้นสีน้ำตาลแดง ด้านหลังเสื้อพิมพ์ตัวอักษรสีขาวว่า แดน ๔ และด้านบนตัวอักษรนั้นยังมีรอยปากกาเมจิกเขียนเลข 4 ไว้ด้วย

นารายังแต่งหน้าสวยมาเหมือนครั้งก่อน ๆ ที่ถูกเบิกตัวมาศาล วันนี้เธอทาเปลือกตาเป็นสีชมพูประกายเงิน ปัดขนตาจนดำและเด้งงอน ปัดแป้งฝุ่นที่ใบหน้าจนขาวนวล ส่วนเล็บเท้าเฉพาะนิ้วโป้งถูกทาสีเขียวเลม่อนเคลือบอยู่ทั้งสองข้าง ทว่านิ้วเท้าอื่น ๆ ไม่ได้ถูกทาสีด้วยแต่อย่างใด

อย่างที่นาราเคยบอกอย่างน้อยวันที่ได้ออกมาข้างนอกขอให้ดูสวยดูดีก็มีความสุขแล้ว โดยเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวทั้งหลายในเรือนจำนั้นได้มาจากชมรมทูบีนัมเบอร์วัน ที่มีไว้สำหรับใช้แต่งหน้าเมื่อมีกิจกรรมและงานรื่นเริงในเรือนจำ อาทิ งานแข่งขันกีฬา งานปีใหม่ งานประกวดร้องเพลง เป็นต้น ซึ่งต้องใช้กันอย่างประหยัดมาก ๆ เลือกแต่งเฉพาะโอกาสสำคัญเท่านั้น ส่วนสีทาเล็บของนาราและทุกคนในเรือนจำไม่ใช่สีสำหรับทาเล็บแต่อย่างใด แต่เป็นการใช้สีทาผนังแทน

เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง มีรายละเอียดโดยสรุปว่า จำเลยมีอาชีพโฆษณาสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง เหตุในคดีนี้จำเลยได้รับการติดต่อว่าจ้างจากบริษัทลาซาด้าให้จัดทำคลิปโฆษณาโปรโมชันแคมเปญ 5.5 ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2565 

โดยผู้จ้างให้รายละเอียดเป็นหัวข้อ รายละเอียดเกี่ยวกับโปรโมชั่น และช่องทางการซื้อสินค้า ส่วนการเล่าเรื่องในคลิปวิดีโอนั้นเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องเป็นผู้ออกแบบและจัดผลิต เมื่อจำเลยจัดทำคลิปและได้รับการตรวจจากผู้จ้างแล้วว่าสามารถใช้เผยแพร่ได้แล้ว จำเลยจึงโพสต์ลงแพลตฟอร์ม TikTok ของตัวเอง

วัตถุพยานโจทก์มีคลิปวิดีโอที่ 1 ปรากฏจำเลยและหนูรัตน์อยู่ในวิดีโอดังกล่าว โดยจำเลยสวมใส่ชุดปกติสีขาว แต่หนูรัตน์สวมใส่ชุดไทยประยุกต์สีชมพู นุ่งโจงกระเบน สวมใส่เครื่องประดับสร้อยไข่มุก แสดงเป็นหญิงพิการหรือป่วย นั่งอยู่บนรถเข็นผู้พิการ 

ส่วนคลิปที่ 2 ปรากฏจำเลย หนูรัตน์ และมัมดิวอยู่ในวิดีโอดังกล่าว โดยจำเลยสวมชุดปกติอยู่ในท่าการนั่งพับเพียบกับพื้น หนูรัตน์นั่งอยู่บนรถเข็นสวมใส่ชุดไทยเช่นเดิม ส่วนมัมดิวแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย นุ่งผ้าถุงลายไทย สวมใส่เครื่องประดับเป็นสร้อยคอ ตุ้มหู และสร้อยมือไข่มุก พูดใช้สำเนียงช้า ๆ มีลักษณะเฉพาะ 

คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า การจัดทำคลิปวิดีโอตามฟ้องทั้ง 2 คลิปนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่

ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 บัญญัติเกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพด้านต่าง ๆ ไว้เพื่อคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย สิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร เสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในเคหสถาน เป็นต้น

ข้อบัญญัติข้างต้นมีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้รัฐก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป เว้นแต่จะใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีไว้เป็นเฉพาะ ซึ่งจะต้องบังคับใช้แต่จำเป็น ไม่มากเกินไป และจะต้องไม่บังคับใช้โดยระบุเจาะจงกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งด้วย ขณะเดียวกันบุคคลก็จะต้องไม่ละเมิดต่อเสรีภาพของบุคคลอื่นและใช้สิทธิเสรีภาพของตนอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญเช่นกัน

เมื่อคดีนี้จำเลยถูกฟ้องว่าทำคลิปวิดีโอที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย มาตรา 112 จึงต้องพิจารณาตามนิติวิธีว่ามีเนื้อหาที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายหรือไม่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมาย มาตรา 112

โจทก์มี อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เข้าเบิกความต่อศาลว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่รัฐธรรมนูญ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 6 วรรคที่ 1 และ 2 นั้น แท้จริงมีความมุ่งหมายให้ความคุ้มกันการถูกฟ้องคดีกับพระมหากษัตริย์ ถ้อยคำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นั้น กล่าวคือพระมหากษัตริย์ไม่สามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะการกระทำใด ๆ ของพระมหากษัตริย์จะเป็นความผิดไม่ได้ เพราะไม่ได้กระทำเองโดยตรง แต่เป็นการกระทำของสถาบันทางการเมืองที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ฉะนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ทุกพระองค์จึงอยู่เหนือการเมือง ไม่ตรงกับที่พยานโจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด

หลักการของกฎหมายวางไว้ว่า ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด ฉะนั้นการจะกล่าวหาและลงโทษกับผู้ใดจะต้องมีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ชัดแจ้ง การไม่มีกฎหมายที่ระบุไว้ชัดแจ้งจะใช้กฎหมายที่คล้ายกันมาเทียบเคียงเพื่อเอาผิด ‘ไม่ได้’

อีกทั้ง การตีความตามตัวบทกฎหมายจะขยายความเกินที่ระบุไว้ก็ไม่ได้ ตีความเกินตัวอักษรและตีความเกินเจตนารมณ์ไม่ได้ ข้อกฎหมายจะต้องเป็นถ้อยคำที่วิญญูชนเข้าใจได้โดยทั่วไป เพื่อจะได้ระมัดระวังตนว่าไม่ให้กระทำผิดกฎหมาย หากว่ากฎหมายมีถ้อยคำที่วิญญูชนไม่อาจเข้าใจได้โดยทั่วกันแล้ว จะต้องมีหมายเหตุสร้างอธิบายไว้เป็นการเฉพาะให้วิญญูชนเข้าใจตรงกันโดยชัดแจ้ง

เมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุความหมายของการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายไว้เป็นเฉพาะ แต่มีการให้ความหมายของ “การหมิ่นประมาท” และ “การดูหมิ่น” ไว้ ศาลเห็นว่าจึงควรตีความการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายไปในทิศทางเดียวกัน การตีความไปหลายทางและมีขอบเขตที่กว้างนั้นจะทำลายคุณค่าของรัฐธรรมนูญ

“หมิ่นประมาท” หมายถึง การกระทำที่มีการยืนยันข้อเท็จจริง และเป็นการให้ร้ายและใส่ความเท็จ 

“การดูหมิ่น” หมายถึง การดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย ทำให้เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาท หรือด่า

ส่วน “อาฆาตมาดร้าย” นั้นไม่ได้มีบัญญัติไว้ แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2555 ระบุไว้ว่า หมายถึง พยาบาท มุ่งจะทำร้ายให้ได้

การที่อัยการบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยนั้นเป็นการดูหมิ่นสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ และกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนนั้น ศาลเห็นว่าความรู้สึกและความเข้าใจของผู้คนอาจแตกต่างกันไปตามสภาพและสถานะ ซึ่งในคดีนี้นั้นโจทก์ล้วนแต่นำพยานที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ เท่านั้นมาเบิกความต่อศาล

การนำสืบพยานจำเลยได้ทำคลิปโฆษณาสินค้าลงเผยแพร่สาธารณะ โดยได้แสดงบทบาทสมมติต่าง ๆ มีการสวมใส่ชุดไทย ใช้คำพูดธรรมดาสามัญ ไม่ได้มีการใช้คำพูดราชาศัพท์ และไม่มีการแสดงเครื่องหมายสัญลักษณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 หรือเครื่องหมายประจำพระองค์ของราชวงศ์ในสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นการแสดงบทบาทสมมติเช่นนี้นั้นยังไม่ถึงกับเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายหรือดูหมิ่น เป็นการแสดงละครสมมติเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและส่งเสริมการขาย ไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริงในลักษณะการอาฆาตมาดร้าย 

ฉะนั้นศาลจึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยยังไม่เป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่ออีกว่าเป็นการดูหมิ่นสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ หรือไม่

ต่อมา มีปัญหาต้องวินิจฉัยอย่างที่ 2 ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) หรือไม่ ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยนั้นเป็นการทำคลิปวิดีโอขึ้นเพื่อโฆษณาและส่งเสริมการขาย ไม่ได้มีเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบของประเทศ จึงไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้าย คือคลิปวิดีโอที่จำเลยจัดทำขึ้นเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวมหรือไม่

ศาลเห็นว่าการประกาศใช้บทกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์สืบเนื่องจากการที่ผู้ประกอบการธุรกิจนำหลักการตลาดมาปรับใช้เพื่อส่งเสริมการขาย แต่ผู้บริโภคมักจะไม่รับรู้ความจริงเกี่ยวกับสินค้าโดยทันท่วงที 

ศาลเห็นว่าข้อความในคลิปโฆษณาของจำเลยนั้นไม่ใช่ข้อความที่ไม่เป็นธรรม ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงด้วยว่าผู้พิการด้อยค่าอย่างไร และไม่มีการยุยงให้เกิดความวุ่นวาย แม้ว่าในข้อความในคลิปที่เกี่ยวกับการโฆษณาการขายและโปรโมชั่นนั้นจะไม่มีการระบุปีที่สิ้นสุดการได้ผลประโยชน์ แต่ศาลเห็นว่าผู้บริโภคก็สามารถเข้าใจได้เองว่าระยะเวลาของโปรโมชั่นสิ้นสุดลงภายในปีที่คลิปวิดีโอนั้นถูกเผยแพร่ออกไป พิพากษาให้ยกฟ้องทุกข้อหา

เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ นาราปล่อยโฮร้องไห้เสียงดัง ยกมือขึ้นปิดหน้าและย่อตัวลงไปร้องไห้ จากนั้นได้เข้าสวมกอดกับทนายความส่วนตัวที่ว่าจ้างจากเอกชน และได้ฝากขอบคุณทุกคนที่ติดตาม ให้กำลังใจเธออยู่ข้างนอก นาราคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะยื่นประกันตัวในคดีส่วนตัวที่ถูกคุมขังอยู่อีกครั้ง เพื่อออกไปชดเชยความเสียหายให้กับผู้เสียหายทุกคนต่อไป นาราบอกว่าการถูกคุมขังอยู่นั้นไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นเลย นอกจากจะทำให้เธอเสียสิทธิเสรีภาพแล้ว ยังทำให้เธอไม่สามารถทำงานหาเงินเพื่อไปชดใช้ค่าเสียหายกับผู้เสียหายทั้งหมดด้วย

ก่อนหน้านี้นาราเคยเปิดเผยว่า ระหว่างการถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เธอต้องเผชิญกับปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายอย่าง อาทิ การถูกบังคับให้ตัดผมสั้นเกรียน, การไม่ให้ใส่ชุดชั้นใน แม้ว่าจะผ่าตัดทำหน้าอกแล้ว, การบังคับให้หยุดทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อรักษาสภาพความเป็นคนข้ามเพศให้ยังคงอยู่ ซึ่งมีผลเสียร้ายแรงถึงสุขภาพระยะยาวด้วย หรือแม้กระทั่งการถูกกลั่นแกล้งและคุกคามจากนักโทษด้วยกัน

วันนี้เธอเปิดเผยอีกครั้งว่าภายหลังจากที่เธอบอกเล่าเรื่องราวกับสังคม ทำให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรียกเธอไปพบและสอบถามความต้องการของตัวแทนคนข้ามเพศอย่างเธอว่าจำเป็นจะต้องใช้ชีวิตอย่างไรในเรือนจำ

หลังจากนั้นดูเหมือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในทิศทางที่ดีเกิดขึ้น อย่างแรกเจ้าหน้าที่ให้ผู้ต้องขังข้ามเพศรับคิวเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินแนวทางการจ่ายฮอร์โมนเอสโตรเจนให้รับประทาน ซึ่งตอนนี้นาราเองและผู้ต้องขังข้ามเพศได้รับอนุญาตให้เทคฮอร์โมนเพศหญิงได้แล้ว

อย่างที่สอง ปกติวันเสาร์อาทิตย์ เรือนจำจะให้ใส่ชุดกีฬาคล้ายชุดเตะบอล แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่อนุโลมให้ผู้ต้องขังข้ามเพศสามารถสวมใส่เครื่องแต่งกายตามเพศสภาพได้ นาราบอกว่าเธอและเพื่อน ๆ ได้สวมชุดผู้หญิงแล้ว เป็นเสื้อผ้าลำลองที่ผู้ต้องขังจะใส่เข้าไปในเรือนจำวันแรก ซึ่งมีทั้งชุดเกาะอก กระโปรง เสื้อผ้าสวย ๆ และชุดอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของหญิงข้ามเพศ

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังให้เขียนคำร้องขอ หากว่าต้องการขอใช้เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง หรือสิ่งใดก็ตามที่สอดคล้องกับกับอัตลักษณ์เพศ เจ้าหน้าที่ให้พวกเธอเขียนหนังสือเสนอไปยังเรือนจำได้ อาทิ วิกผมผู้หญิง เครื่องสำอาง กระโปรง และชุดแต่งกายที่สวยงาม เจ้าหน้าที่จะนำไปพิจารณาและอนุญาตให้นำเข้าได้เป็นอย่าง ๆ ไปตามที่เห็นควร หากว่าเจ้าหน้าที่อนุมัติหาสิ่งของข้างต้นให้ได้ผู้ต้องขังจะต้องเก็บรักษาไว้ของชมรมทูบีนัมเบอร์วันที่มีส่งเสริมให้ทุกคนกล้าแสดงออก มั่นใจ และเป็นตัวของตัวเอง 

นาราบอกว่าเธอรู้สึกสบายใจและผ่อนคลายมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นข้อบังคับอีกหลายอย่างก็ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง อย่างเช่นการบังคับผมให้สั้นเกรียนเหมือนทรงนักเรียน ซึ่งในวันนี้เธอก็เดินเข้ามาในห้องพิจารณาคดีด้วยทรงผมนั้นเช่นกัน หรือข้อบังคับที่ไม่อนุญาตให้สวมใส่ชุดชั้นในปิดบังหน้าอกก็ยังคงไม่ถูกยกเลิกแต่อย่างใด

นาราเล่าอีกว่า เมื่อไม่นานนี้เธอถูกคุกคามทางเพศจากเพื่อนร่วมห้องขัง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างเธออาบน้ำอยู่ในห้องขัง ซึ่งใช้ผ้าขึงปิดจนมิด แต่อยู่ ๆ ก็มีผู้ต้องขังชายคนหนึ่งพยายามชะโงกมองและคุกคาม “เก็ท” โสภณ ผู้ต้องขังคดี ม.112 พยายามช่วยห้ามไว้ แต่ก็ไม่เป็นผล โดยผู้ต้องขังชายคนดังกล่าวแสดงท่าทีก้าวร้าวและพยายามจะทำร้ายร่างกายเก็ทด้วย

นาราพูดทิ้งท้ายว่า “คุกทำลายอิสรภาพเราได้ แต่คุกจะทำลายความสุขของเราไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคดีนี้ศาลจะพิพากษายกฟ้อง แต่นาราจะยังคงถูกคุมขังต่อไปอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีส่วนตัว ซึ่งถูกคุมขังมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 9 เดือนแล้ว


เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สั่งฟ้อง “มัมดิว-หนูรัตน์” คดี ม.112 กล่าวหาทำคลิปล้อเลียนอดีตพระราชินี-เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ซึ่งอัยการระบุว่าเป็น “รัชทายาท” ก่อนศาลให้ประกัน

เสียงจาก ‘นารา’ ผู้ถูกคุมขังในเรือนจำระบบสองเพศ: ถูกตัดผมทรงนักเรียนสั้นเกรียน – ไม่ให้เทคยาคุม – ไม่ให้ใส่ยกทรง

X