นิรโทษกรรมประชาชน ก้าวแรกของทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เนื่องจากการจัดความสัมพันธ์และโครงสร้างอำนาจระหว่างรัฐและประชาชน และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ นั้นยังไม่เกิดความสมดุล ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง และการหันไปใช้วิธีการนอกเหนือระบบประชาธิปไตยในการเข้าถือครองอำนาจ มาตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนมีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แต่รัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ยังไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งและนำไปสู่การชุมนุมและการปราบปรามการชุมนุมอย่างรุนแรงในปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 รายบาดเจ็บกว่า 2,000 ราย

โดยเฉพาะในระลอกล่าสุดนั้นซึ่งได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อนิติรัฐและประชาธิปไตยไทย คือ การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จไว้อย่างยาวนาน ภายใต้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งมีมาตรา 44 ให้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการแก่คณะรัฐประหาร และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการกดปราบประชาชนควบคุม โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหารกว่า 2,400 ราย

จนหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  และมีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากจะมิได้ช่วยแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่แล้ว กลับสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารและองคาพยพของกองทัพ โดยเฉพาะการให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเอง ในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี

ความขัดแย้งในระลอกถัดมา ก่อตัวอีกครั้งภายหลังการเลือกตั้ง หลังเหตุการณ์ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563  ต่อเนื่องกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ภายใต้ข้อกล่าวอ้างเรื่องการควบคุมโรค และนำไปสู่การควบคุมการรวมตัว รวมถึงการชุมนุมทางการเมืองไปด้วย

การชุมนุมเยาวชนปลดแอกในเดือนกรกฎาคม 2563 นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกล่าสุด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ราษฎร นักเรียนเลว เฟมินิสต์ปลดแอก เสรีเทยย์พลัส แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทะลุฟ้า ทะลุแก๊ซ ทะลุวัง โมกหลวงริมน้ำ ฯลฯ ภายในระยะเวลา 2 – 3 ปี  มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองกว่า 1,800 ราย ด้วยข้อหาที่แตกต่างกัน ฐานความผิดที่มีประชาชนถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ฐานความผิดซึ่งเป็นที่ถกเถียงมากที่สุดในขณะนี้ และเป็นส่วนหนึ่งในข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เสนอ ข้อเสนอในการยุติดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน ในเดือนเมษายน 2566 ซึ่งต่อมามีการรวมตัวของกลุ่มองค์กรซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง และนักวิชาการในนาม เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน (Network for People’s Amnesty) จัดทำ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ….. เพื่อเป็นข้อเสนอต่อสังคมในการก้าวออกจากความขัดแย้งที่มีอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นเพียง “ก้าวแรก” ในการเริ่มเดิน

ประเทศไทยติดหล่มความขัดแย้งทางการเมืองมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 ซึ่งส่งผลต่อประชาชน ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการไปชุมนุม หรือแสดงออกทางการเมือง หรือ ได้รับผลทางอ้อมจากภาวะความขัดแย้งของสังคม และความชะงักงันของเศรษฐกิจ ในโอกาสที่ประเทศกลับมาสู่การเลือกตั้งและมีรัฐบาลที่มาจากประชาชน การปลดเปลื้องคดีความทางการเมืองจะนำไปสู่โอกาสในการแก้ไขความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน คืนความยุติธรรมให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ… ไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดการสลายการชุมนุม และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ หากการกระทำนั้นกระทำการเกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา 113 ประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากเครือข่ายฯ ไม่ต้องการให้เกิดภาวการณ์ลอยนวลของผู้กระทำผิด (impunity) ต่อประชาชน ซึ่งหากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำไม่เกินกว่าเหตุก็ย่อมได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอยู่แล้ว นอกจากนี้ในบางช่วงเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐยังได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้วโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

การกระทำตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 – เวลาที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ

(1) คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  

(2) คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/57 และประกาศคณะรักษาความสงบฉบับที่ 38/57

(3) คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

(4) คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

(5)คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

(6) คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับ (1)-(5) 

บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน ชื่อเสียง หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง

การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

กรณีมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติลบประวัติอาชญากรรม

“คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน” ประกอบด้วย 20 คน ได้แก่

1) ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน จำนวน 1 คน

2) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 1 คน

3) ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 1 คน

4) เลขาธิการสภาผู้แทนรัฐสภา เป็นกรรมการและเลขานุการ จำนวน 1 คน

5) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกกันเอง จำนวน 10 คน ตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร

6) ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากการรัฐประหาร 2549 รวม 1 คน

7) ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมช่วงปี 2552-2553 รวม 1 คน

8) ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากช่วงการรัฐประหาร 2557-2562 รวม 1 คน

9) ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมช่วงปี 2563-2566 รวม 1 คน

10) องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรม รวม 2 คน

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมออกความเห็นต่อ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ….. เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอด และผลักดันเป็นก้าวแรกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่อไป (สามารถออกความเห็นได้ที่นี่)

X