“เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” ยื่นจดหมายถึง UN เรียกร้องรัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน – ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน

วันที่ 22 ม.ค. 2567 เวลา 10.30 น. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเดินทางไปยื่นจดหมายถึง Ms. Katia Chirizzi ผู้แทนรักษาการณ์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร เรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติโดยประเทศไทย

จดหมายระบุว่า เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนมีข้อกังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการดำเนินคดีทางการเมืองกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย และประชาชน นับตั้งแต่การรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชนจากทุกฝักฝ่ายทางการเมืองในทุกมิติอย่างจริงจัง จะส่งผลเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการสร้างความปรองดองทางการเมือง

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจึงมีความประสงค์ให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจต่อการสร้างความปรองดองทางการเมืองและความมุ่งมั่นต่อสิทธิมนุษยชน ด้วยการผ่านการสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก่อนการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2567

ทาง UN ได้รับหนังสือจากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนวันนี้ และมีความเห็นว่าข้อเรียกร้องของเครือข่ายนิรโทษกรรมนั้นสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของ UN ในหลายปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีอันสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

.

จดหมายดังกล่าวได้ระบุถึงเหตุการณ์การเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยย้อนไปถึงช่วงปี 2549 ดังนี้

  • การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) ซึ่งนำมาสู่การทำรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย. 2549
  • การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (เสื้อแดง) หลังจากรัฐประหารในปี 2549
  • การชุมนุมประท้วงของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในช่วงปี  2556 – 2557
  • การทำรัฐประหารภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 
  • การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชน ประชาชนทั่วไป และคณะราษฎร เพื่อประท้วง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ก่อการรัฐประหารและนายกรัฐมนตรี ในปี 2557 จนถึงก่อนการเลือกตั้งในปี 2566

ตลอดระยะเวลาดังกล่าว มีประชาชนไม่ต่ำกว่า 6,000 คน ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการทำกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งภายหลังการทำรัฐประหารในปี 2557 ยังมีบุคคลกว่า 2,400 รายที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ยิ่งไปกว่านั้นแล้วภายหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชน และประชาชนโดยทั่วไป นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จนถึงสิ้นปี 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีผ่านการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ อย่างน้อย 1,938 คน ซึ่งเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่น้อยกว่า 286 คน รวมกว่า 1,264 คดี

ภายใต้รัฐบาลผสมชุดใหม่ที่มี เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลในเดือนกันยายน 2566 จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2566 ยังปรากฏการดำเนินคดีทางการเมืองต่อนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ระหว่างเดือนกันยายนและธันวาคม 2566 ศาลได้มีคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หรือ คดีมาตรา 112 ทั้งหมด 31 คดี โดยลงโทษจำคุกทั้งหมด 28 คดี หรือคิดเป็น 90% ในช่วงเวลาดังกล่าว

ท่ามกลางการดำเนินคดีในข้างต้น เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเชื่อมั่นว่าจำเป็นต้องมีการนิรโทษกรรมบุคคลที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองนับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 จนถึงเมื่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้ เพื่อเป็นก้าวแรกของกระบวนการในการสร้างสันติภาพทางการเมือง ซึ่งหากรัฐบาลไทยยังคงยืนกรานที่จะดำเนินคดีทางการเมืองที่ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 800 คดีให้ถึงที่สุด และปล่อยให้คำพิพากษาลงโทษในคดีนับตั้งแต่รัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 โดยไม่ได้รับการแก้ไข ประเทศก็จะตกอยู่ภายใต้วิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างไม่รู้จบ

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน และคาดหวังว่าร่างฉบับนี้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติภายในเดือนกุมภาพันธ์  2567 

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเรียกร้องให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกดดันรัฐบาลไทยในการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ก่อนการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนตุลาคม 2567 โดยการที่รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมไปถึงมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่นั้น ถือเป็นบททดสอบความมุ่งมั่นของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชน และความพร้อมที่จะรับหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ที่มากับความเป็นสมาชิกภาพของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ด้วยประการนี้ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนขอเรียกร้องให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

  • สนับสนุนให้รัฐบาลไทยรับประกันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติตามข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
  • สนับสนุนให้รัฐบาลไทยระงับไว้ซึ่งการดำเนินคดีต่อผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความคิดและการชุมนุม
  • สนับสนุนให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษทางความคิด โดยรวมไปถึงเยาวชนที่ถูกคุมขังสืบเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง
  • สนับสนุนให้รัฐบาลไทยทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ) แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวสอดคล้องกับข้อแนะนำภายใต้กระบวนการพิเศษแห่งสหประชาชาติ และคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ 
  • สนับสนุนให้มีการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ก่อนสิ้นปี 2567

English Letter >>> https://tlhr2014.com/wp-content/uploads/2024/01/240122_Eng-Letter-to-UN-re_-Amnesty.pdf

.

ในวันนี้ (22 ม.ค. 2567) ทางศูนย์ทนายฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับประชาชนที่ไปให้กำลังใจการแถลงข่าวและยื่นหนังสือข้อเรียกร้องของกลุ่มนิรโทษกรรมประชาชน ที่หน้าอาคารสหประชาชาติ ถึงความเห็นที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่กำลังมีการผลักดันกันอยู่ในขณะนี้

“การนิรโทษกรรม การที่เราออกมาเรียกร้องนั้นถูกต้องแล้ว เราแค่ออกมาแสดงความเห็น ไม่ได้ไปรังแกใคร อย่างมีคนโดนจำคุกไป 50 ปี อย่างที่มีการปิดสนามบินหรือสถานที่ราชการเขาก็ไม่ติดคุก ประกันตัวออกมาได้ 

“ยายคิดว่ามันไม่มีความเป็นธรรมกับประชาชน ป้าอยากให้คนทัดเทียมกัน มีสิทธิเท่าเทียมกัน มีประชาธิปไตยเต็มใบ ที่เราออกมาเรียกร้องเพราะว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรม”

ป้าเป้า – แม่ค้าและประชาชน

ด้าน “พิมพ์” นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ได้กล่าวว่า “ส่วนตัวแล้วเราเห็นว่าการนิรโทษกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าหลายปีที่ผ่านมา การดำเนินคดีทางการเมืองเป็นการกระทำโดยมิชอบ ทั้งด้วยกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน คนเห็นต่างทางการเมืองถูกเข้าไปในเรือนจำ การนิรโทษกรรมมันเลยควรเกิดขึ้น” 

ถ้าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านเข้าสภาแล้ว “เราคาดหวังว่ามันจะออกมาเป็นกฎหมายจริง ๆ เราอยากให้มันผ่านทุกร่าง โดยที่ประชาชนยังคงมีส่วนร่วมกับกฎหมายอยู่ ไม่ใช่ตัดส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างฯ ออก”

รวมถึงมาตรา 112 ด้วย กฎหมายข้อนี้ใครจะฟ้องก็ได้ มันเลยกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในหลาย ๆ ครั้งคนถูกตัดสินจำคุก ถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม มีคนมากมายโดยคดีมาตรา 112 เพียงเพราะเห็นต่างทางการเมืองและความคิด”

“วันที่ 1-14 ก.พ. นี้ เราจะมีการจัดงาน (นิรโทษกรรม) ขึ้น อยากให้เพื่อน ๆ ติดตามว่าเราจะจัดงานกันที่ไหนอย่างไร การลงชื่อไม่ได้ยาก ใช้แค่บัตรประชาชนและลายเซ็นนิดหน่อย เพียงการกระทำของประชาชนหนึ่งคนก็สามารถช่วยให้กฎหมายผ่านได้ ช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศได้ อยากให้ทุกคนออกมาใช้สิทธิกัน” พิมพ์กล่าว

.

ทั้งนี้ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมทั้งสิ้นกว่า 23 องค์กร ได้แก่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ศิลปะปลดแอก, สหภาพคนทำงาน, ทะลุฟ้า, ActLab Thailand, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.), iLaw, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, กลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย, CALL – Constitution Advocacy Alliance, เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.), Nitihub, เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, WeVis, Cross Cultural Foundation (CrCF), Expression Bloom, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน – HRLA, Amnesty International Thailand, โมกหลวงริมน้ำ, เฟมินิสต์ปลดแอก, Rocket Media Lab และ พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History

X