จับตา! คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดี 112 “อิศเรศ” โพสต์กรณีไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ หลังอัยการอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องของศาลนครพนม

26 ก.ค. 2566 ศาลจังหวัดนครพนมนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มี อิศเรศ อุดานนท์ ชาวนครพนม วัย 48 ปี เป็นจำเลย จากการโพสต์ข้อความแสดงความเห็นขณะเป็นพระ กรณีไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 เมื่อเดือน ต.ค. 2559 ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลจังหวัดนครพนมพิพากษายกฟ้อง แต่อัยการศาลสูงจังหวัดนครพนมยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องพิจารณาสำนวนคดีและมีคำพิพากษา 

แม้อิศเรศจะเป็นคนนครพนม แต่ภรรยาอยู่ที่จังหวัดลำปาง ถิ่นพักอาศัยจึงอยู่ลำปาง การถูกดำเนินคดีทำให้เขาต้องเดินทางไป-กลับ ลำปาง-นครพนม ด้วยรถโดยสารประจำทาง ระยะทางกว่า 1,500 กม. มาแล้ว 14-15 เที่ยว เสียทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหารจำนวนมาก ซึ่งอิศเรศเคยกล่าวว่า “เป็นภาระหนักสำหรับเราที่ไม่ได้เป็นคนมีเงินมีทอง”  

ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา ซึ่งอาจจะยกฟ้องตามศาลชั้นต้น หรือกลับคำพิพากษาเป็นลงโทษก็ได้ ชวนย้อนทบทวนคดีนี้ตั้งแต่ต้น และอ่านคำอุทธรณ์ของอัยการ ตลอดจนการแก้อุทธรณ์ของทนายจำเลย

.

ชั้นจับกุมและสอบสวน: จับตามหมายจับปี 59 เป็นกรณีแรกหลังหยุดใช้ 112 กว่า 2 ปี

คดีนี้ในชั้นตำรวจอิศเรศถูกจับกุมเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 ตามหมายจับที่ออกตั้งแต่ปี 2559 เขาถูกคุมขังที่สถานีตำรวจ 2 คืน ที่เรือนจำอีก 2 วัน จึงได้รับการประกันตัวในวงเงินประกัน 200,000 บาท นับเป็นกรณีแรกที่มีการจับกุมและฟ้องคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากไม่มีการดำเนินคดีในข้อหานี้กับการแสดงออกทางการเมืองมาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี 

.

ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น: พิพากษายกฟ้อง ชี้ข้อความไม่ได้ระบุถึงบุคคลใด อีกทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบความผิด ม.112

ปลายปี 2563 อัยการยื่นฟ้องอิศเรศโดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2559 จำเลยได้พิมพ์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” ว่า “ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย…ครัช เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน ผมฝากพวกโลกสวยหัวกล้วยทั้งหลายศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 23 และ 24 ให้หัวสมองโล่งหน่อยนะครับว่า ทำไมจึงยังไม่ประกาศ รัชกาลที่ 10.. การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนเก็บขยะครับ อย่าบ้องตื้นหลาย…, เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” 

อัยการเห็นว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงจะไม่มีรัชกาลที่ 10 เพราะตกลงกันไม่ได้ และจะมีศึกชิงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียต่อราชวงศ์จักรี อันเป็นการดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระราชินี รัชทายาท และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

อิศเรศต่อสู้คดีโดยรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง แต่ไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามที่โจทก์ฟ้อง 

ต่อมา วันที่ 16 มี.ค. 2565 ปรินดา เวทพิสัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดนครพนม เจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษายกฟ้อง ระบุว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่ได้แสดงความอาฆาตมาดร้าย มิได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร อีกทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

>> ดูฐานข้อมูลคดี คดี 112 “อิศเรศ” โพสต์แสดงความเห็นกรณีไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่หลัง ร.9 สวรรคต

.

อัยการศาลสูงยื่นอุทธรณ์ ระบุ ข้อความตามฟ้อง เป็น “ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป” ว่าหมายถึงกษัตริย์ จึงเป็นการหมิ่นประมาท-อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 

วันที่ 14 ก.ย. 2565 อุดม คำจันทร์ อัยการอาวุโส (อัยการศาลสูงจังหวัดนครพนม) สำนักงานคดีศาลสูงภาค 4 ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องของศาลชั้นต้น โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับเป็นลงโทษจําเลยตามฟ้อง 

คำอุทธรณ์ที่ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจําเลย ระบุว่า โจทก์เห็นว่าศาลชั้นต้นรับฟังพยานของโจทก์คลาดเคลื่อนไปจากทางนําสืบของโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้ 

1. ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า “เห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากไม่มีปากใดที่ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความว่า ข้อความที่จําเลยแสดงออกอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ทั้งข้อความ ดังกล่าวก็ไม่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น…”  นั้น 

พยานโจทก์ปาก จ.ส.อ.วรายุทธ์ สุวรรณมาโจ, นายหมวดตรีสรวิทย์ มาตย์แพง, จ่าเอกภิญโญ ศรีสวัสดิ์ และอารี ดวงสงค์ต่างให้การยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความดูหมิ่นหรือหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ 

เมื่อพิจารณาคําเบิกความของพยานโจทก์ทุกปากข้างต้นร่วมกับข้อความที่จําเลยลงในเฟซบุ๊กแล้ว ย่อมทําให้บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ได้อ่านเกิดความรู้สึกว่า ข้อความที่ว่า “ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย….ครัช เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไร กัน เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้น หมายถึง จะมีการชิงบัลลังก์ระหว่างรัชกาลที่ 10 กับเหล่าพระญาติ 

แม้พยานโจทก์แต่ละปากจะไม่เบิกความยืนยันโดยตรง ๆ ว่า เหตุที่ยังไม่แต่งตั้ง เพราะมีทายาทของรัชกาลที่ 9 จะเกิดการชิงไหวพริบหรือชิงตําแหน่งพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่เป็นข้อเท็จจริงที่วิญญูชนย่อมรับรู้ได้ หรือเรียกว่า ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ประกอบวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ข้อความที่จําเลยโพสต์เป็นข้อความที่เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สําเร็จราชการ จากการไม่รีบแต่งตั้งกษัตริย์ 

2. ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า “การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่า หมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ดูหมิ่น หมายถึง การด่า ดูถูกเหยียดหยาม การดูหมิ่นก็ย่อมระบุถึงตัวบุคคลที่ถูกดูหมิ่น เป็นการยืนยันได้แน่นอนว่าเป็นใคร หมายถึงบุคคลใดโดยเฉพาะ…” นั้น 

จ.ส.อ.วรายุทธ์, นายหมวดตรีสรวิทย์ และอารี ต่างได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ข้อความตามฟ้องเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ คําว่า สถาบันกษัตริย์ ในความหมายของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป หมายถึงพระมหากษัตริย์ 

ส่วนรัชทายาทในขณะเกิดเหตุ หมายถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 10, พระราชินี ในขณะเกิดเหตุ หมายถึง สมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ตามข้างต้นล้วนถูกจําเลยใส่ความว่า อยู่ในระหว่างต่างชิงบัลลังก์กัน บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ได้อ่านข้อความที่จําเลยโพสต์ต่างย่อมเข้าใจว่า บุคคลที่จําเลยพาดพิงถึงนั้น คือ รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระพันปีหลวง นั่นเอง 

การที่จําเลยโพสต์ว่า “พวกมึงต่อรองอะไรกัน เกิน 24 ชม. แล้ว ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ คือ ศึกชิงบัลลังก์” นั้น ข้อเท็จจริงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า หมายถึง กษัตริย์ แล้ว 

3. ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า “ข้อความดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มิใช่องค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พยาน ไม่พอรับฟังลงโทษได้…” นั้น 

โจทก์เห็นว่า พยานโจทก์ได้เบิกความในทํานองว่า เจ้าหน้าที่กองอํานวยการรักษาความมั่นคงจังหวัดนครพนม ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจําเลย ชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” โดยเฉพาะพยานโจทก์ปากนายหมวดตรีสรวิทย์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยว่า “ข้าฯ เข้าใจว่า ศึกชิงบัลลังก์ คือ การที่รัชทายาทจะแย่งกันดํารงตําแหน่งพระมหากษัตริย์” 

ซึ่งข้อความดังกล่าวย่อมเป็นการใส่ความว่า รัชทายาท (รัชกาลที่ 10) จะเปิดศึกชิงบัลลังก์กับสมเด็จพระเทพฯ อันเป็นการใส่ความว่า ในหมู่พระญาติมีความร้าวฉานแตกแยกขาดความสามัคคีกลมเกลียวกัน อันเป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพฯ โดยประการที่น่าจะทําให้บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ได้อ่าน ดูหมิ่น เกลียดชังรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพฯ

ฝ่ายจำเลยแก้อุทธรณ์ ยืนยันเจตนาสุจริต คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ตีความไปเอง  

ต่อมา วันที่ 24 ม.ค. 2566 ทนายจำเลยได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ระบุว่า อุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้นชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทั้งปวงแล้ว และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยยกเหตุผลประกอบดังนี้

1. ประเด็นที่โจทก์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ต่างให้การยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อพิจารณารวมกับข้อความ ย่อมทําให้บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ได้อ่านเกิดความรู้สึกว่า ข้อความที่ว่า “ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย…ครัช เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไร กัน เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้น หมายถึง จะมีการชิงบัลลังก์ระหว่างรัชกาลที่ 10 กับเหล่าพระญาติ 

แม้พยานโจทก์แต่ละปากจะไม่เบิกความยืนยันโดยตรง ๆ ว่า เหตุที่ยังไม่แต่งตั้ง เพราะมีทายาทของรัชกาลที่ 9 จะเกิดการชิงไหวพริบหรือชิงตําแหน่งพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่เป็นข้อเท็จจริงที่วิญญูชนย่อมรับรู้ได้ หรือเรียกว่า ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ประกอบวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงกล่าวได้ว่า ข้อความที่จําเลยโพสต์เป็นข้อความที่เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท จากการไม่รีบแต่งตั้งกษัตริย์ นั้น

จำเลยไม่เห็นพ้องเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการแสดงความอาฆาตมาดร้ายนั้น จะต้องพิจารณาถึงเจตนาและคำพูดที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งต้องมีเจตนามุ่งร้าย ประสงค์ร้าย หมายมั่นที่จะกระทำการด้วยวัตถุประสงค์อันมุ่งร้ายต่อพระมหากษัตริย พระราชินี รัชทายาท หรือแสดงอาการว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคต เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์ ซึ่งข้อความ “เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้น ไม่มีความข้อใดที่เป็นการมีเจตนามุ่งร้าย ประสงค์ร้าย หรือแสดงอาการว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคตต่อผู้ใดทั้งสิ้น 

และเมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของจำเลยจะเห็นว่า จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวด้วยความรู้สึกห่วงใย ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องการให้มีพระมหากษัตริย์ขึ้นทรงราชย์ติดต่อกันไป คำเบิกความของพยานโจทก์ที่โจทก์ยกมาอ้างก็ไม่มีปากใดยืนยันว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท 

นอกจากนี้ พยานปากนายอารียังได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานไม่เข้าใจว่า ข้อความ “เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้น หมายความว่าอะไร ย่อมเป็นการยืนยันได้ว่า การเข้าใจข้อความดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล โจทก์จะอ้างว่าเป็น ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป ไม่ได้ 

อนึ่ง หากโจทก์จะยกเรื่อง ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มากล่าวอ้าง กรณีเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2515 รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นองค์รัชทายาทเพื่อทรงสืบราชสันตติวงศ์เพียงพระองค์เดียว มิได้ทรงสถาปนาพระเจ้าลูกเธอหรือพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่นใดเป็นองค์รัชทายาทอีก ปรากฏตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 200 ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจตีความข้อความที่จำเลยโพสต์ได้ว่า จะมีการแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างรัชกาลที่ 10 กับเหล่าพระญาติ 

ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์มาในประเด็นที่ว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์การแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท จากการไม่รีบแต่งตั้งกษัตริย์นั้น จึงไม่เป็นความจริง 

2. ตามที่โจทก์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นการระบุถึงตัวบุคคลว่า จ.ส.อ.วรายุทธ์, นายหมวดตรีสรวิทย์ และอารี ต่างได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ข้อความตามฟ้องเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ คําว่า สถาบันกษัตริย์ ในความหมายของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป หมายถึง พระมหากษัตริย์ 

ส่วนรัชทายาทในขณะเกิดเหตุ หมายถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 10, พระราชินี ในขณะเกิดเหตุ หมายถึง สมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ตามข้างต้นล้วนถูกจําเลยใส่ความว่า อยู่ในระหว่างต่างชิงบัลลังก์กัน บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ได้อ่านข้อความที่จําเลยโพสต์ต่างย่อมเข้าใจว่า บุคคลที่จําเลยพาดพิงถึงนั้น คือ รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระพันปีหลวง นั้นเอง 

การที่จําเลยโพสต์ว่า “พวกมึงต่อรองอะไรกัน เกิน 24 ชม. แล้ว ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ คือ ศึกชิงบัลลังก์” นั้น ข้อเท็จจริงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า หมายถึง กษัตริย์ แล้ว 

จำเลยไม่อาจเห็นพ้องด้วย เนื่องจากไม่มีความข้อใดที่จำเลยกล่าวถึงบุคคลใดเป็นการเฉพาะเลย นอกจากนี้ ตามพระบรมราชโองการประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย “สถาบันพระมหากษัตริย์” หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์  และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งมีหลายพระองค์ ดังนั้น การลงข้อความดังกล่าวของจำเลยจึงมิได้ระบุถึงบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใด การเข้าใจข้อความดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง 

การกระทำของจำเลยจึงมิใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และมิใช่การดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์มิใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

3. ที่โจทก์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ได้เบิกความในทํานองว่า เจ้าหน้าที่กองอํานวยการรักษาความมั่นคงจังหวัดนครพนม ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจําเลย ชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” โดยเฉพาะพยานโจทก์ปากนายหมวดตรีสรวิทย์ได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า “ข้าฯ เข้าใจว่า ศึกชิงบัลลังก์ คือ การที่รัชทายาทจะแย่งกันดํารงตําแหน่งพระมหากษัตริย์” ซึ่งข้อความดังกล่าวย่อมเป็นการใส่ความว่า รัชทายาท (รัชกาลที่ 10) จะเปิดศึกชิงบัลลังก์กับสมเด็จพระเทพฯ อันเป็นการใส่ความว่า ในหมู่พระญาติมีความร้าวฉานแตกแยกขาดความสามัคคีกลมเกลียวกัน อันเป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพฯ 

คำอ้างดังกล่าวของโจทก์ไม่ควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะรับฟังเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการตีความโดยอาศัยความเข้าใจไปเองของโจทก์ และมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เนื่องจากการที่โจทก์อ้างคำเบิกความของนายหมวดตรีสรวิทย์ดังกล่าวก็เป็นการยกเพียงข้อความบางส่วนมากล่าวอ้างโดยบิดพลิ้วข้อเท็จจริง เพราะไม่มีพยานปากใดกล่าวอ้างถึงสมเด็จพระเทพฯ เลยแม้แต่น้อย 

อีกทั้งจำเลยเชื่อว่า โจทก์น่าจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในประเด็นข้อเท็จจริง เนื่องจากรัชทายาทที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามกฎหมายมีเพียงพระองค์เดียว คือ รัชกาลที่ 10 (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ณ ขณะนั้น) จึงไม่อาจมีผู้ใดแย่งชิงราชบัลลังก์ได้ 

อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงคำเบิกความของจำเลยที่ตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า “ที่ข้าฯ เบิกความว่า มีการแย่งชิงราชสมบัตินั้น เป็นการแย่งชิงของบุคคลภายนอกกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การแย่งชิงกันเองในสถาบันพระมหากษัตริย์” ย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่า จำเลยมุ่งหมายถึง อาจมีภัยคุกคามจากนอกสถาบันพระมหากษัตริย์ 

การกระทำของจำเลยจึงกระทำไปด้วยเจตนาสุจริต มุ่งหวังจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเกรงว่าบุคคลผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการอัญเชิญรัชทายาทขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ไม่กระทำการตามหน้าที่ จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 

.

X