16 มี.ค. 2565 ศาลจังหวัดนครพนมนัดฟังคำพิพากษา ในคดีที่อิศเรศ อุดานนท์ ช่างก่อสร้างชาวนครพนมวัย 45 ปี ถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครพนมฟ้องในฐานความผิด “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยการเขียนข้อความนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กขณะบวชเป็นพระ แสดงความเห็นต่อการไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2559
อิศเรศถูกจับกุมอย่างเงียบๆ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 ขณะโดยสารรถไฟจากกรุงเทพฯ กลับบ้านภรรยาที่ลำปาง โดยตำรวจแสดงหมายจับของศาลจังหวัดนครพนมที่ออกในวันที่ 18 ต.ค. 2559 ก่อนถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่ จ.นครพนม ซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่เขาอยู่และบวชเป็นพระเป็นเวลาหลายปี และเป็นพื้นที่ซึ่งทหารเข้าแจ้งความ ชั้นสอบสวนที่มีเพียงทนายความที่ตำรวจจัดเตรียมไว้ให้เข้าร่วมฟังโดยไม่ได้ให้คำแนะนำทางกฎหมาย อิศเรศให้การรับสารภาพ เขาถูกคุมขังที่สถานีตำรวจ 2 คืน และที่เรือนจำอีก 2 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวในวงเงินประกัน 200,000 บาท โดยใช้หลักทรัพย์ของครอบครัว ก่อนเปลี่ยนเป็นเงินสดจากกองทุนดาตอร์ปิโดในภายหลัง
กรณีของอิศเรศเป็นกรณีแรกที่มีการจับกุมและฟ้องคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากไม่มีการดำเนินคดีในข้อหานี้กับการแสดงออกทางการเมืองมาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี
อัยการยื่นฟ้องอิศเรศตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2563 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทำให้การสืบพยานต้องเลื่อนจากที่นัดไว้ในเดือนเมษายน 2564 ไปสืบในเดือนพฤศจิกายน และสืบเสร็จในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 มี.ค. 2565 โดยศาลระบุว่า ที่นัดหลังสืบพยานเสร็จเป็นเวลานาน เพราะต้องส่งให้ภาคตรวจก่อน
คดีนี้อิศเรศได้ตั้งอานนท์ นำภา ร่วมเป็นทนายจำเลยด้วย แต่ในช่วงการสืบพยาน ทนายอานนท์ยังไม่ได้รับการประกันตัวในคดี 112 จากการปราศรัยในการชุมนุมหลายคดี ทำให้เขาไม่สามารถมาร่วมการสืบพยานในคดีนี้ได้
การกระทำที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีเกิดขึ้นในช่วงหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ซึ่งบรรยากาศในขณะนั้น นอกจากเต็มไปด้วยความความโศกเศร้าของประชาชนแล้ว ยังตามมาด้วยความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเองในประเด็นการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จนเกิดการ “ล่าแม่มด” ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีประชาชนด้วยมาตรา 112 อย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม พบว่าคดีเหล่านั้นบางคดีศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง บางคดีศาลยกฟ้องความผิดฐานดังกล่าว แต่ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แทน
ภายหลังการเดินทางไป-กลับ ลำปาง-นครพนม ด้วยรถโดยสารประจำทาง ระยะทางกว่า 1,500 กม. ราว 14 เที่ยว ในเวลา 1 ปีครึ่ง อดีตพระซึ่งผันตัวเองมาเป็นฆราวาส เลี้ยงครอบครัวด้วยการผลิตแจ่วบองขายออนไลน์ โดยไม่สามารถทำงานประจำได้ เนื่องจากติดคดีความซึ่งถูกมองว่าเกี่ยวกับความมั่นคง คดีของเขาเดินทางมาถึงวันที่ศาลจะมีคำพิพากษาในที่สุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านเนื้อหาในการต่อสู้คดี พร้อมทั้งชวนจับตาอีกหนึ่งคำพิพากษาของคดี 112 ระลอกใหม่
คำฟ้อง: โจทก์อ้าง โพสต์ของจำเลยสื่อว่า มีศึกชิงตำแหน่งกษัตริย์ ทำให้ราชวงศ์จักรีเสื่อมเสีย เป็นการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
คำฟ้องที่ ร.ต.อ.ศานิจ บุญศิริ พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม ยื่นต่อศาลบรรยายพฤติการณ์แห่งคดีโดยสรุปว่า
ขณะเกิดเหตุคดีนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สวรรคต ทำให้ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ว่างลง มีพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นองค์รัชทายาท (ปัจจุบันเป็นในหลวงรัชกาลที่ 10) ซึ่งประกอบขึ้นเป็นสถาบันกษัตริย์
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2559 จำเลยได้พิมพ์ข้อความลงในเฟซบุ๊กชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” ซึ่งเป็นของจำเลย ด้วยข้อความว่า “ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย…ครัช เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน ผมฝากพวกโลกสวยหัวกล้วยทั้งหลายศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 23 และ 24 ให้หัวสมองโล่งหน่อยนะครับว่า ทำไมจึงยังไม่ประกาศ รัชกาลที่ 10.. การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนเก็บขยะครับ อย่าบ้องตื้นหลาย…, เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์”
อัยการเห็นว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงจะไม่มีรัชกาลที่ 10 เพราะตกลงกันไม่ได้ และจะมีศึกชิงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียต่อราชวงศ์จักรี อันเป็นการดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระราชินี รัชทายาท เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
ข้อต่อสู้: จำเลยรับว่าโพสต์จริง แต่ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์
แม้ว่าในชั้นสอบสวนอิศเรศจะให้การรับสารภาพ แต่ในชั้นศาล เขาให้การปฏิเสธ ระบุว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง แต่ไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามที่โจทก์ฟ้อง
พยานโจทก์: หลายปากไม่ยืนยันกับทนายจำเลยว่าข้อความเป็นความผิด และไม่รู้กระบวนการแต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่
โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 8 ปาก ได้แก่ จ.ส.อ.วรายุทธ์ สุวรรณมาโจ ทหารช่าง ค่ายพระยอดเมืองขวาง สนับสนุนด้านการข่าว กอ.รมน.จ.นครพนม ผู้กล่าวหา, นายหมวดตรีสรวิฒย์ มาตย์แพงส์ งานข่าว กอ.รมน.จ.นครพนม, จ.อ.ภิญโญ ศรีสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลท่าอุเทน, อารี ดวงสงค์ ผู้ใหญ่บ้าน, เฉลิมชัย อินทรศรี ทนายความ, ปราณีต วดีศิริศักดิ์ ครูภาษาไทย, พ.ต.อ.ปราโมทย์ อุทากิจ ผู้กำกับสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม และ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย กรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้ โจทก์ยังอ้างส่งคำให้การในชั้นสอบสวนของตำรวจชุดสืบสวนอีก 3 ปาก
การสืบพยานทั้ง 8 ปาก ซึ่งใช้เวลาสืบรวม 3 นัด มีข้อเท็จจริงและประเด็นที่น่าสนใจ สรุปเนื้อหาได้ดังนี้
ข้อเท็จจริงตามที่พยานโจทก์เบิกความ
จ.ส.อ.วรายุทธ์ ผู้กล่าวหา และนายหมวดตรีสรวิฒย์ ตรวจสอบพบเฟซบุ๊ก “ชาตินักรบ เสือสมิง” โพสต์ข้อความว่า “เกิน 24 ชั่วโมง ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” เห็นว่าหมิ่นเหม่ต่อการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ จ.ส.อ.วรายุทธ์ จึงแจ้งผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาจึงประสานหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ให้ตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าว จากนั้นได้มอบหมายให้ จ.ส.อ.วรายุทธ์ เข้าแจ้งความดำเนินคดีอิศเรศที่ สภ.ท่าอุเทน
ในส่วนข้อความที่อิศเรศโพสต์ประกอบว่า “ได้โปรดอย่าตอแหล… เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน…” นั้น ทั้งสองไม่ทราบว่า หมายถึงใคร
ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้เชิญ จ.อ.ภิญโญ ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นพี่และเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับอิศเรศ, อารี ผู้ใหญ่บ้านซึ่งอิศเรศเป็นลูกบ้าน, เฉลิมชัย ทนายความ และปราณีต ครูภาษาไทย มาให้ความเห็นต่อข้อความที่อิศเรศโพสต์ จ.อ.ภิญโญ เห็นว่า ข้อความว่า “เกิน 24 ชั่วโมง ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” หมิ่นเหม่ที่จะหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากคำว่า “ศึกชิงบัลลังก์” หมายถึงคนในราชวงศ์แย่งชิงกันเป็นกษัตริย์ ส่วนอีก 3 คน เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเพียงแต่ไม่เหมาะสมกับกาละเทศะ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจสถาบันกษัตริย์ไปในทางที่ไม่ดี มีการแย่งชิงทรัพย์สมบัติ
คณะพนักงานสอบสวนคดีนี้มีความเห็นควรสั่งฟ้องอิศเรศ จึงเสนอสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งมีความเห็นควรสั่งฟ้องเช่นกัน จากนั้นมีการเสนอสำนวนต่อไปยังคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ ผบ.ตร. ทั้งหมดมีความเห็นควรสั่งฟ้อง
เจ้าหน้าที่จับอิศเรศได้เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาให้ทราบ โดยมีทนายความจากสภาทนายความจังหวัดนครพนมเข้าร่วม
- ข้อความไม่ยืนยันข้อเท็จจริง ไม่หยาบคาย ไม่อาฆาตมาดร้าย
อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พยานโจทก์เกือบทั้งหมดไม่ยืนยันว่า ข้อความที่อิศเรศโพสต์ ผิดกฎหมาย โดย จ.ส.อ.วรายุทธ์ ผู้กล่าวหา ระบุว่า ที่เห็นว่าข้อความว่า “เกิน 24 ชั่วโมง ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” หมิ่นเหม่ต่อการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ นั้น เป็นความรู้สึกและเข้าใจของตนเอง
ขณะที่ทนายเฉลิมชัยและครูปราณีตระบุว่า ที่ให้ความเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่เหมาะสมนั้น พยานไม่ยืนยันว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เช่นเดียวกับ จ.อ.ภิญโญ ที่ตอบทนายจำเลยว่า ที่ให้การกับตำรวจว่า ดูโพสต์ของจำเลยแล้วรู้สึกว่า หมิ่นเหม่ที่จะหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากมีคำว่า “กษัตริย์” และ “ชิงบัลลังก์” แต่พยานก็ไม่ทราบข้อความดังกล่าวจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่
ครูปราณีตยังตอบทนายจำเลยด้วยว่า ประโยคดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นของผู้โพสต์ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง รวมทั้งไม่มีข้อความที่แสดงความอาฆาตมาดร้าย สอดคล้องกับคำเบิกความของ พ.ต.อ.ปราโมทย์ พนักงานสอบสวน และ พล.ต.ต.สหรัฐ คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ที่รับกับทนายจำเลยในทำนองเดียวกันว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่ได้มีถ้อยคำที่หยาบคาย ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริง หรือระบุเฉพาะเจาะจงถึงสิ่งใด เมื่ออ่านแล้วต้องมีการตีความ ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและความเห็นของผู้อ่านแต่ละคน
ด้านผู้ใหญ่บ้านอารีตอบทนายจำเลยว่า แม้พยานจะให้การกับตำรวจว่า ข้อความที่อิศเรศโพสต์ไม่เหมาะสม แต่พยานก็ไม่เข้าใจความหมายของข้อความ และรับว่าบันทึกคำให้การของพยาน พนักงานสอบสวนเป็นผู้ทำเอกสารและนำมาให้พยานอ่านทวนและลงลายมือชื่อ
- ข้อความไม่ได้กล่าวถึงบุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครอง
นอกจากนี้ พยานโจทก์ส่วนใหญ่ยังรับกับทนายจำเลยว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่ได้เอ่ยถึงพระนามพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นบุคคลที่มาตรา 112 มุ่งให้ความคุ้มครอง ขณะที่ จ.อ.ภิญโญ ระบุว่า ไม่ทราบว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น คุ้มครองผู้ใดบ้าง
ด้าน พล.ต.ต.สหรัฐ คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ซึ่งตอบทนายจำเลยเช่นกันว่า ข้อความของอิศเรศไม่มีการระบุพระนามของบุคคลทั้งสี่ที่มาตรา 112 คุ้มครอง แต่ตนไม่ได้มีคําสั่งให้ สภ.เมืองนครพนม สอบสวนเพิ่มเติมว่า ข้อความดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่
- มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองไปถึง “สถาบันกษัตริย์”
จ.ส.อ.วรายุทธ์ ผู้เข้าแจ้งความกล่าวหาอิศเรศ เห็นว่าข้อความที่อิศเรศโพสต์ “หมิ่นเหม่” ต่อการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เช่นเดียวกับ มว.ต.สรวิฒย์ ขณะที่ พ.ต.อ.ปราโมทย์ พนักงานสอบสวน เห็นว่า ข้อความดังกล่าวทำให้สถาบันกษัตริย์เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ พยานโจทก์หลายปากยังตอบอัยการว่า คำว่า “บัลลังก์” หมายถึงสถาบันกษัตริย์หรือใช้กับสถาบันกษัตริย์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จ.ส.อ.วรายุทธ์ และ พล.ต.ต.สหรัฐ คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ยอมรับกับทนายจำเลยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น มุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ไม่มีข้อความที่บัญญัติถึงสถาบันกษัตริย์
- พยานโจทก์ไม่ทราบว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 23, 24 บัญญัติให้ประธานรัฐสภากราบทูลเชิญรัชทายาทขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่วันเกิดเหตุยังไม่มีการดำเนินการ
ในประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการตามรัฐธรรมนูญในการกราบบังคมทูลเชิญกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์แทนรัชกาลที่ 9 ซึ่งสวรรคตในวันที่ 13 ต.ค. 2559 ซึ่งเป็นประเด็นที่อิศเรศโพสต์นั้น พยานโจทก์เบิกความรับกับทนายจำเลยในทำนองเดียวกันว่า ไม่ทราบขั้นตอนกระบวนการดังกล่าว อีกทั้งไม่ทราบว่า ใครมีหน้าที่แต่งตั้งกษัตริย์พระองค์ใหม่ และไม่ทราบว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 23, 24 บัญญัติไว้ว่า ประธานรัฐสภาเป็นผู้กราบบังคมทูลเชิญรัชทายาทขึ้นเป็นกษัตริย์ รวมทั้งไม่ทราบว่าในวันที่ 13 ต.ค. 2559 หลังรัชกาลที่ 9 สวรรคต ได้มีการประชุม สนช. แต่ประธาน สนช.ไม่ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นเป็นกษัตริย์ ตามบันทึกการประชุม สนช. ในวันดังกล่าว
พล.ต.ต.สหรัฐ คณะกรรมการคดีหมิ่นฯ ยังตอบทนายจำเลยว่า พยานทราบว่า พระมหากษัตริย์ไทยจะต้องมีผู้สืบทอดต่อกันไปโดยไม่มีการว่างเว้นแม้แต่นาทีเดียว นอกจากนี้ ตามกฎมณเฑียรบาล พระมหากษัตริย์ต้องมีการแต่งตั้งรัชทายาท โดยพยานทราบว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงแต่งตั้งพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นรัชทายาทไว้แล้ว แต่ พล.ต.ต.สหรัฐ รวมทั้ง มว.ต.สรวิฒย์ (กอ.รมน.) และ พ.ต.อ.ปราโมทย์ พนักงานสอบสวน ระบุว่า ไม่ทราบว่า ในเวลาที่จำเลยโพสต์ยังไม่มีการกราบทูลเชิญให้รัชทายาทขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ตามที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลง
พยานตำรวจทั้งสองปากยังให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า กรณีที่พระมหากษัตริย์สวรรคต แต่ผู้ที่มีหน้าที่ประกาศให้รัชทายาทขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไปยังไม่มีการทำหน้าที่นั้น ประชาชนก็มีสิทธิห่วงกังวลและตั้งคําถามต่อกรณีดังกล่าว แม้ว่า พล.ต.ต.สหรัฐ จะตอบอัยการในเวลาต่อมาว่า แม้ประชาชนจะสามารถตั้งคําถามถึงการแต่งตั้งกษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ แต่การโพสต์ของจำเลยเป็นการไม่สมควร แต่ก่อนหน้านั้น พยานเบิกความว่า ข้อความที่เป็นความผิดตามกฎหมายกับข้อความที่ไม่ถูกกาลเทศะนั้นแตกต่างกัน
พยานจําเลย: ยืนยันโพสต์ด้วยความห่วงใยว่าจะไม่มีกษัตริย์องค์ต่อไป เจตนากล่าวถึง ผู้มีหน้าที่อัญเชิญกษัตริย์ไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ
ด้านอิศเรศ จำเลย อ้างตนเองเป็นพยานเข้าเบิกความเพียงปากเดียว ระบุว่า พยานเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชี “ชาตินักรบ เสือสมิง” และโพสต์ข้อความตามที่โจทก์ฟ้องด้วยตนเอง ปัจจุบันพยานปิดการใช้งานบัญชีดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากเดิมบัญชีนี้ใช้ในการโพสต์กิจกรรมของวัดพระธาตุท่าอุเทน เมื่อพยานไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัดพระธาตุท่าอุเทนแล้ว จึงไม่ได้ใช้บัญชีดังกล่าวต่อไป
ขณะที่พยานโพสต์ข้อความตามฟ้องนั้น พยานบวชเป็นพระลูกวัดอยู่ที่วัดพระธาตุท่าอุเทน โดยพยานมีความสนใจในเรื่องของกฎหมาย การเมือง และข่าวสารบ้านเมือง จึงศึกษาด้วยตนเอง พยานยังสนใจเรื่องของการสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 23, 24 ด้วย โดยพยานศึกษาจนเข้าใจ
สําหรับเหตุการณ์ในคดีนี้ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ซึ่งพยานจำไม่ได้ว่าวันไหน ตัวพยานซึ่งได้ศึกษารัฐธรรมนูญจึงมีความเข้าใจว่า ประธาน สนช. จะต้องอัญเชิญรัชทายาทขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แต่ขณะนั้นไม่ปรากฏว่า ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้ดําเนินการตามรัฐธรรมนูญ และไม่มีการประกาศให้ประชาชนรู้ พยานมีความรู้สึกห่วงใย จึงโพสต์ข้อความตามฟ้องไป ด้วยความต้องการเห็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ติดต่อกันไปโดยเร็ว
พยานเห็นว่า ประชาชนทั่วไปมีสิทธิตั้งคําถามต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งบัลลังก์พระมหากษัตริย์ว่างลง แต่บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ได้อัญเชิญรัชทายาทที่รัชกาลที่ 9 ทรงแต่งตั้งไว้เพียงพระองค์เดียว ขึ้นครองราชย์ตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนที่มาวัดก็ยังพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว ประกอบกับพยานทราบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 7 เคยมีเหตุการณ์ชิงราชสมบัติมาก่อน ซึ่งทำให้พยานรู้สึกไม่สบายใจ เป็นห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก พยานจึงโพสต์ข้อความตามฟ้องไปด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง และคิดว่าไม่ได้เป็นการผิดกฎหมาย
ในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกษัตริย์หากไม่ดําเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พยานเห็นว่า ประชาชนก็มีสิทธิตั้งคำถามเช่นกัน
ในชั้นสอบสวน พยานให้การรับสารภาพเพียงเฉพาะว่า พยานเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก และเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องจริงเท่านั้น พยานไม่ได้ให้การรับสารภาพว่า กระทําความผิดตามมาตรา 112 โดยพยานแจ้งกับพนักงานสอบสวนแล้วว่า ในส่วนที่กล่าวหาว่า พยานกระทําความผิดตามมาตรา 112 นั้น พยานจะขอให้การในชั้นศาล แต่ไม่ปรากฏข้อความดังกล่าวในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ทั้งนี้ ทนายความซึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยไม่ได้ให้คําปรึกษา และพนักงานสอบสวนก็เพียงแต่ถามว่า จะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธเท่านั้น พยานจึงให้การรับสารภาพไป
พยานไม่เคยถูกดําเนินคดีในความผิดฐานอื่นมาก่อน และพยานไม่เคยได้รับการตักเตือนจากบุคคลอื่นว่า พยานมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 15 ต.ค. 2559 พยานยังได้โพสต์ “น้อมเกล้าร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่เข้าใจพยานผิด ได้รับทราบว่า พยานเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดี
อิศเรศยังเบิกความต่อศาลอีกว่า ข้อความที่ตนโพสต์ไม่ได้จะสื่อว่า เป็นการแย่งชิงบัลลังก์กันเองในราชวงศ์ แต่ต้องการจะสื่อว่า บุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการอัญเชิญรัชทายาทขึ้นสืบสันตติวงศ์นั้น ไม่กระทําการตามหน้าที่ อันทําให้พยานเกิดความห่วงใยว่า อาจจะเกิดเหตุการณ์บุคคลภายนอกขัดขวางการสืบสันตติวงศ์ของกษัตริย์องค์ต่อไป เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 อันจะส่งผลให้สถาบันกษัตริย์ไม่มีผู้สืบทอดต่อกันไป
คำแถลงปิดคดี: ข้อความที่จำเลยโพสต์อาจไม่ถูกกาละเทศะ แต่ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112
ภายหลังเสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์และจำเลยในปลายเดือน ธ.ค. 2564 ทนายจำเลยได้ยื่นคำแถลงปิดคดี ประกอบการพิจารณาพิพากษาของศาล โดยสรุปข้อสังเกตในคดีมีเนื้อหาดังนี้
คำฟ้องของโจทก์ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จำเลยรับว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” และโพสต์ข้อความตามคำฟ้องของโจทก์เองจริง แต่ข้อความดังกล่าวไม่มีเนื้อหาที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กล่าวคือ
1. ไม่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ได้บัญญัติถึงการกระทําที่เป็นการหมิ่นประมาทไว้ว่า จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งการใส่ความเช่นว่านั้น หมายถึงว่า จําเลยจะต้องโพสต์ข้อความในลักษณะยืนยันข้อเท็จจริง ทําให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหาย แต่ปราณีต พยานโจทก์ซึ่งเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ได้เบิกความให้ความเห็นว่า ข้อความ “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” ที่จำเลยโพสต์ เป็นลักษณะของการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริง และไม่มีการเอ่ยถึงพระนามของบุคคลตามมาตรา 112 ดังนั้น จึงไม่อาจเป็นข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทผู้ใดได้
2. ไม่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น การพิจารณาว่าการกระทําใดเป็นการดูหมิ่น ปรากฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 หรือมาตรา 393 ซึ่งระบุว่า จะต้องเป็นการดูถูก เหยียดหยาม ทําให้ผู้ถูกดูหมิ่นเกิดความอับอาย หรือลดทอนคุณค่าของผู้ถูกดูหมิ่น เช่น ยกส้นเท้า ถ่มน้ำลาย ด่าด้วยถ้อยคําหยาบคาย แต่ข้อความ “เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” ไม่มีข้อความใดที่มีลักษณะดูถูก เหยียดหยาม หรือลดทอนคุณค่าบุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครอง ทั้งไม่มีข้อความหยาบคาย จึงไม่อาจนับว่าเป็นข้อความดูหมิ่นตามมาตรา 112 ได้
3. ไม่มีลักษณะเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ การพิจารณาว่าการกระทําใดเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายบุคคลดังกล่าว จะต้องพิจารณาถึงเจตนาและคําพูดที่ใช้ ซึ่งต้องมีเจตนามุ่งร้าย ประสงค์ร้าย หรือแสดงอาการว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายในอนาคต เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์ แต่ข้อความที่จำเลยโพสต์ ไม่มีความข้อใดที่เป็นการมุ่งร้ายต่อผู้ใดทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาประกอบคําเบิกความของจําเลย จะเห็นว่า จําเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวก็ด้วยความรู้สึกห่วงใย ต้องการให้มีพระมหากษัตริย์ขึ้นทรงราชย์ติดต่อกันไป
4. บุคคลที่มาตรา 112 มุ่งหมายให้ความคุ้มครอง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ไม่รวมถึงเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ และไม่อาจตีความขยายรวมไปถึงสถานะอย่างอื่น เช่น “สถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นคําที่มีความหมายคลุมเครือเลื่อนลอย ไม่อาจหาความจํากัดความที่แน่นอนได้ ก่อให้เกิดปัญหาการใช้ การตีความ และขัดต่อหลักการใช้และการตีความกฎหมายอาญา ซึ่งจะต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่ขยายออกไปจนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินจําเป็น
นอกจากนี้ คําว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ก็มิใช่ถ้อยคําที่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังปรากฏในการประชุมอนุกรรมการตรวจพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาของคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ 7 ม.ค. 2484 ซึ่งหลวงประสาทศุภนิติได้ซักถามในที่ประชุมว่า หากจะใช้คําว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จะเป็นอย่างไร หม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ ตอบว่า ปัจจุบันนี้ใช้ไม่ได้ ไม่มีข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มีแต่ข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ดังนั้น จําเลยจึงมิได้กระทําผิดในข้อหาดังกล่าวตามคําฟ้องของโจทก์
5. จําเลยเคยบวชเป็นพระภิกษุมากว่า 7 ปี แสดงให้เห็นว่า จําเลยมีความเลื่อมใสต่อพุทธศาสนา จําเลยยังมีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติทั้ง 3 สถาบัน ดังที่จำเลยโพสต์ในวันที่ 15 ต.ค. 2559 ว่า “น้อมเกล้าร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” อีกทั้งจำเลยฝักใฝ่เรียนรู้กฎหมายด้วยตนเอง และได้อ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 23 และ 24 ซึ่งวางหลักการสืบราชสันตติวงศ์ว่า จะต้องมีความต่อเนื่องสืบกันไป ทําให้จําเลยคาดหมายว่า จะได้เห็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา แต่ผู้มีหน้าที่กราบบังคมทูลเชิญขึ้นทรงราชย์ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จําเลยจึงได้โพสต์ข้อความดังกล่าวไปด้วยความห่วงใยว่าจะเกิดเหตุที่เป็นอันตรายต่อการดํารงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ หาใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ แต่อย่างใด
เมื่อพิเคราะห์ประกอบคําเบิกความของ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ซึ่งตอบคําถามค้านทนายจําเลยว่า ข้อความ “ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” นั้น ไม่มีข้อความหยาบคาย ไม่มีการระบุพระนามบุคคลตามมาตรา 112 อีกทั้งมาตรา 112 ไม่ได้บัญญัติถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์” สอดคล้องกับเฉลิมชัย อินทรศรี ทนายความ ซึ่งตอบทนายจําเลยว่า ข้อความดังกล่าวไม่เหมาะสม แต่ไม่ยืนยันว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ข้อความที่จําเลยโพสต์อาจจะเป็นข้อความที่ไม่ถูกกาลเทศะอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
อาศัยเหตุและผลดังที่กล่าวมาข้างต้น จําเลยขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาโดยยึดตัวบทกฎหมายโดยเคร่งครัด หากศาลพิจารณาเห็นว่าจําเลยได้กระทําผิดกฎหมาย จําเลยก็ยินดีที่จะรับโทษ แต่หากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจําเลยมิได้กระทําผิดตามฟ้องโจทก์ ก็ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องในทุกข้อกล่าวหา
ดูฐานข้อมูลคดี
คดี 112 “อิศเรศ” โพสต์แสดงความเห็นกรณีไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่หลัง ร.9 สวรรคต
ดูคดี 112 ระลอกใหม่ทั้งหมด
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65