ก่อนพิพากษา: ย้อนดูคดีวางเพลิงซุ้มฯ ที่หนองบัวฯ พร้อม ม.112 จาก 10 โพสต์ หลัง “ปริญญา” สู้คดีใน 3 โพสต์ ยัน ไม่เจตนาพาดพิง ร.10  

31 ส.ค. 2566 เป็นวันที่ศาลจังหวัดหนองบัวลำภูนัด “ปริญญา” (นามสมมติ) หนุ่มลูกจ้างวัย 24 ปี ฟังคำพิพากษาในคดีที่เขาถูกฟ้องในข้อหา วางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์ จากเหตุเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในสวนสาธารณะหนองบัว เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2565 และข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ รวมถึงข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโพสต์-แชร์ข้อความและรูปภาพซึ่งถูกกล่าวหาว่าพาดพิงรัชกาลที่ 10 ในช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2564 รวม 10 โพสต์ 

ตลอดคดีนี้ปริญญาปรากฏตัวที่ศาลเพียงลำพังเกือบทุกนัดของศาล และนั่งฟังกระบวนการพิจารณาคดีเงียบๆ หลายครั้งที่ศาลถามหาญาติหรือครอบครัว ปริญญาชี้แจงตอบศาลว่า แม่ช่วยพี่สาวเลี้ยงลูกอยู่ที่ต่างจังหวัด นานหลายเดือนจึงจะกลับบ้านซักครั้ง แม้พี่สาวอีกคนจะเคยมาศาลในวันพูดคุยเรื่องค่าเสียหายกับ อบจ.หนองบัวลำภู แต่ด้วยภาระหาเลี้ยงชีพก็ทำให้ไม่สามารถมาศาลได้บ่อยครั้ง ส่วนปริญญาเองนั้นบางครั้งเขามาศาลพร้อมผ้าพันแผลที่นิ้วหรือมือ เมื่อถูกถามก็จะตอบด้วยรอยยิ้มและน้ำเสียงสุภาพว่า “เมทัลชีทบาดตอนขนไปขึ้นรถครับ” 

ปริญญาให้การรับสารภาพในข้อหาวางเพลิงและทำให้เสียทรัพย์ตั้งแต่ถูกจับกุม แต่ภายหลังเมื่อถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มเติม จากโพสต์ในเฟซบุ๊กที่ตำรวจตรวจสอบพบ รวม 9 โพสต์ เขารับว่าโพสต์เอง แต่ยืนยันให้การปฏิเสธแม้ไม่มีทนายความ ระบุว่าไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ฯ ขณะที่เมื่อถึงชั้นศาล ซึ่งอัยการฟ้องเพิ่มเป็น 10 โพสต์ ก่อนการสืบพยานปริญญารับสารภาพใน 7 โพสต์ เหลือโพสต์ที่ต่อสู้ว่าเนื้อหาไม่เข้าข่ายเป็นความผิด 3 โพสต์ และมี 2 โพสต์ที่ต่อสู้ว่า อัยการฟ้องโดยไม่มีการแจ้งข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนมาก่อน 

ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดจากซุ้มฯ ถูกไฟไหม้ ซึ่ง อบจ.หนองบัวลำภู ขอให้ชดใช้เป็นเงิน 114,900 บาท แต่ด้วยรายได้วันละ 350 บาท ของปริญญา กับรายได้ที่ไม่มากของพี่สาว ทำให้หาเงินมาชำระในระหว่างสืบพยานได้เพียง 10,000 บาท อย่างไรก็ตาม ด้วยความช่วยเหลือหลายๆ ทาง ภายหลังสืบพยานปริญญาจึงสามารถนำเงินมาชำระเป็นค่าเสียหายได้อีก 103,173 บาท ขาดอยู่เพียง 1,327 บาท เท่านั้น 

จากการติดตามเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีแสดงออกต่อซุ้มเฉลิมพระเกียรติหรือพระบรมฉายาลักษณ์ในช่วง 3 ปีมานี้ คดีของปริญญาเป็น 1 ใน 4 คดี ที่ตำรวจและอัยการไม่ฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 แม้ปริญญาจะถูกฟ้องในข้อหานี้ด้วย แต่ก็เฉพาะในส่วนที่เป็นการโพสต์เฟซบุ๊ก เท่านั้น ดุลพินิจในการไม่ฟ้องข้อหาดังกล่าวคาดว่ามาจากแนววินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีเผาซุ้มฯ เช่นกัน ทั้งนี้ อีก 3 คดี ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยรอการกำหนดโทษจำเลย 4 ราย หลังทั้งสี่รับสารภาพและชำระค่าเสียหายที่เกิดจากการวางเพลิงจนครบ

คดีนี้จึงน่าจับตาในประเด็นที่ว่า ศาลจะพิพากษาในส่วนที่ปริญญาต่อสู้คดีอย่างไร รวมถึงในส่วนที่ปริญญาให้การรับสารภาพ ทั้งกรณีโพสต์ที่เป็นฐานความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกรณีวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งปริญญาได้พยายามชดใช้ค่าเสียหายจนเกือบครบ ศาลจะลงโทษเพียงใด และจะให้โอกาสปริญญาในวัย 24 ปี ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อดำเนินชีวิตต่อไปในสังคมหรือไม่

แจ้งข้อกล่าวหา 3 ครั้ง ก่อนฟ้องรวม 11 กรรม 

8 ก.พ. 2565 ปริญญาถูกตำรวจ 20 กว่านาย เข้าจับกุมที่บ้านในช่วงเช้าตรู่ ก่อนควบคุมตัวไปที่ สภ.เมืองหนองบัวลำภู แจ้งข้อกล่าวหา วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นและทำให้เสียทรัพย์ ระหว่างการสอบปากคำโดยไม่มีทนายความ พนักงานสอบสวนได้นำภาพโพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊กมาให้เขาเซ็นรับว่าเป็นผู้โพสต์ ปริญญาถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำจังหวัดหนองบัวลำภูในเย็นวันนั้น และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 เนื่องจากครบกำหนดฝากขัง แต่อัยการยังไม่ได้ยื่นฟ้อง

8 มิ.ย. 2565 พนักงานสอบสวนโทรนัดปริญญาไปรับข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เพิ่มเติม บันทึกคำให้การระบุถึงโพสต์ที่กล่าวหารวม 9 โพสต์ ได้แก่ โพสต์วันที่ 18 มิ.ย. 2564, 24, 25, 29, 31 ส.ค. 2564, 1 ก.ย. 2564, 15 ต.ค. 2564, 4 และ 5 ธ.ค. 2564 ปริญญาให้การปฏิเสธ ระบุว่า เขาไม่ได้โพสต์เจาะจงถึงใคร และไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามที่ถูกกล่าวหา 

7 ก.ค. 2565 ปริญญาพร้อมทนายความเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เพิ่มเติมอีก พนักงานสอบสวนระบุถึง 9 โพสต์เช่นเดิม ซึ่งปริญญาก็ให้การปฏิเสธ 

19 ก.ค. 2565 อัยการได้นัดปริญญาไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดหนองบัวลำภู คำฟ้องของอัยการบรรยายถึงการกระทำที่ฟ้องปริญญารวม 11 กรรม มีเนื้อหาโดยสรุปว่า  

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564, 24, 25, 29, 31 ส.ค. 2564, 1 ก.ย. 2564, 15, 26 ต.ค. 2564, 4 พ.ย. และ 5 ธ.ค. 2564 จำเลยได้โพสต์ข้อความและรูปภาพในเฟซบุ๊กของจำเลย กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 รวมทั้งสิ้น 10 โพสต์ ในจำนวนนี้มี 3 โพสต์ที่เป็นการแชร์มาจากเพจ KTUK-คนไทยยูเค และ Somsak Jeamteerasakul พร้อมเขียนข้อความประกอบ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2565 จำเลยได้วางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 10 บริเวณสวนสาธารณะหนองบัว ซึ่งเป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลําภู จนได้รับความเสียหาย ถูกไฟไหม้หมดทั้งหลัง คิดเป็นค่าเสียหายจํานวน 114,900 บาท อันเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และทําให้เสียทรัพย์

ปริญญาให้การเช่นเดียวกับในชั้นสอบสวนคือรับสารภาพในข้อหาวางเพลิง, ทำให้เสียทรัพย์ แต่ปฏิเสธข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยมีหลักประกัน 150,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยไปกระทำการอันมีลักษณะที่อาจเป็นความผิดตามที่ถูกฟ้องอีก และห้ามออกนอกราชอาณาจักร ให้เข้ารับคำปรึกษาที่คลีนิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม และให้แต่งตั้งผู้ให้คำปรึกษาเป็นผู้กำกับดูแลสอดส่องดูแลพฤติกรรม

ทั้งนี้ คำฟ้องของอัยการระบุถึงโพสต์ที่ไม่ได้มีการแจ้งข้อเท็จจริงไว้ในชั้นสอบสวน คือ โพสต์วันที่ 26 ต.ค. 2564 (ฟ้องข้อ 1.8) และ 4 พ.ย. 2564 (ฟ้องข้อ 1.9)

ต่อมาก่อนการสืบพยาน ปริญญาให้การใหม่เป็นรับสารภาพใน 7 โพสต์ ส่วนอีก 3 โพสต์ คือ ฟ้องข้อ 1.5, 1.7 และ 1.8 ยังคงให้การปฏิเสธ โดยต่อสู้ว่าข้อความไม่เข้าข่ายเป็นความผิด  รวมทั้งต่อสู้ว่า อัยการฟ้องข้อ 1.8 และ 1.9 โดยไม่มีการแจ้งข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนมาก่อน

3 โพสต์ที่ปริญญายืนยันให้การปฏิเสธ 

ข้อ 1.5 “พ่อและแม่ผู้ให้กําเนิดคือผู้มีพระมหากรุณาธิคุณ ไม่ใช่กษัตริย์ที่ชอบแอบอ้าง”

ข้อ 1.7 “ถึงแม้เขาจะฆ่าคนตาย ถึงเขาจะเอาเงินภาษีไปใช้โดยไม่เกิดประโยชน์หรือทําสิ่งผิดกฎหมาย กูยังจะหาข้อแก้ตัวให้ เชื่อว่าเขาสูงส่ง การกระทําของเขาเป็นเรื่องที่ถูกต้องและดีงาม เพราะมีคนเล่าให้ฟัง และหนังสือกับทีวีก็บอกกูแบบนั้น” 

ข้อ 1.8 “ถ้าไม่อิน พระเดชานุภาพคงไม่มี” พร้อมแชร์โพสต์จากบัญชีเฟซบุ๊ก “Somsak Jeamteerasakul” มีข้อความว่า “ภาพที่ถูกกล่าวหาว่าผิดกฏหมายหมิ่นพระเดชานุภาพนิสิตสองคนถูกจับกลุ่มไปและได้รับการประกันตัวออกมา” โดยมีภาพถ่ายป้ายข้อความที่นิสิตทั้งสองถูกดำเนินคดีนั้น

อ่านฐานข้อมูลคดี คดี 112 “ปริญญา” ชาวหนองบัวลำภู โพสต์วิจารณ์ ร.10 รวม 10 ข้อความ

พนักงานสอบสวนระบุ จำเลยไม่ได้โพสต์ถึง ร.10 แต่พยานเชื่อมโยงแล้วเข้าใจได้เอง ด้านจำเลยยืนยันโพสต์แสดงความเห็นต่อสังคม ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์

การสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นในวันที่ 14 ก.ค. 2566 เพียงวันเดียว โดยโจทก์นำพยานเข้าสืบเพียงปากเดียวคือ พนักงานสอบสวน ซึ่งเบิกความว่า ในทั้ง 3 โพสต์ที่จำเลยต่อสู้คดี จำเลยไม่ได้ระบุถึงรัชกาลที่ 10 แต่พยานโยงกับโพสต์อื่นของจำเลยและการชุมนุมในช่วงนั้น จึงเข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 และพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 นอกจากนี้ ในขณะแจ้งข้อกล่าวหาพยานได้ให้จำเลยดูภาพโพสต์ตามฟ้องทั้งหมดในรายงานการสืบสวนแล้ว แม้ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน พยานไม่ได้ระบุถึงโพสต์ตามฟ้องข้อ 1.8 และ 1.9   

ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบเพียงปากเดียวเช่นกัน คือ ทนายความที่เข้าร่วมในการรับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มเติม ซึ่งยืนยันว่า ในวันดังกล่าวพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงตามฟ้องข้อ 1.8 และ 1.9 อีกทั้งปรากฏในภายหลังว่า บันทึกคำให้การในวันนั้นมีการแก้ไขข้อความให้วันที่ตรงกับฟ้องข้อ 1.9 โดยไม่มีลายเซ็นของทนายและจำเลยรับรองการแก้ไขดังกล่าว 

ในส่วนปากคำของจำเลยนั้น ทนายจำเลยได้จัดทำเป็นแถลงการณ์ปิดคดียื่นต่อศาลภายหลัง ชี้แจงเจตนาของจำเลยในการโพสต์ข้อความตามฟ้องข้อ 1.5, 1.7 และ 1.8 ว่า จำเลยเพียงโพสต์แสดงความเห็นต่อสังคม รัฐบาลเผด็จการ รวมถึงการใช้มาตรา 112 กับผู้เห็นต่าง ไม่ได้ระบุถึงกษัตริย์องค์ใดเป็นการเฉพาะ และไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามที่โจทก์ฟ้องหรือตามที่พนักงานสอบสวนตีความไปเอง

ทั้งนี้ ในระหว่างการสืบพยานซึ่งบันทึกคำเบิกความพยานเป็นวีดิโอ ศาลได้ตั้งคำถามถามพยานเองในบางครั้งด้วย โดยผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีอธิบายว่า ระบบยุติธรรมของไทยเป็นระบบกล่าวหา คู่ความต้องเสนอหลักฐานเอง แต่สำหรับศาลการพิจารณาคดีเป็นการค้นหาความจริง ศาลอาจจะถามแทรกบ้างเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ครบถ้วน

นอกจากนี้ หลังสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย ศาลยังได้นำพยานของศาลเข้าเบิกความรวม 2 ปาก เป็นผู้ให้คำปรึกษาและนักจิตวิทยาประจำคลีนิกจิตสังคมของศาล โดยพยานทั้งสองระบุว่า หลังจำเลยเข้ารับคำปรึกษากับคลีนิกจิตสังคมตามเงื่อนไขประกันของศาล จำเลยมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และไม่มีแนวโน้มสร้างความเดือดร้อนให้สังคม

ศาลยังมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะพฤติการณ์ของจำเลยและทำรายงานส่งศาล กับให้นักจิตวิทยาจัดทำแนวทางการแก้ไขฟื้นฟูจำเลยเสนอศาล ก่อนมีคำพิพากษาอีกด้วย

รายละเอียดคำเบิกความของพยานแต่ละปากและแถลงการณ์ปิดคดีมีดังต่อไปนี้ 

พนักงานสอบสวน: จำเลยไม่ได้โพสต์ถึง ร.10 แต่พยานโยงกับโพสต์อื่น-การชุมนุม จึงเข้าใจเอง รับ ไม่ได้แจ้ง 2 โพสต์ในชั้นสอบสวน

ร.ต.อ.นําพล ลัญฉเวโรจน์ พนักงานสอบสวนในคดี เบิกความในฐานะพยานโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2565 ขณะพยานปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ สภ.เมืองหนองบัวลำภู เวลา 03.18 น. ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่สวนสาธารณะสมเด็จพระนเรศวร พยานจึงไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ พบว่ามีเพลิงไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติในส่วนที่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 

ต่อมา ชุดสืบสวนจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตํารวจภูธรภาค 4 ได้สืบสวนหาตัวผู้ก่อเหตุ โดยสืบสวนจากเฟซบุ๊ก และกล้องวงจรปิดทั่วเมืองหนองบัวลําภู พบรถยนต์กระบะต้องสงสัย 

วันที่ 6 ก.พ. 2565 ชุดสืบสวนทราบว่า ผู้กระทําความผิด คือ จําเลย และจากการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย พบข้อความลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จึงจัดทำรายงานการสืบสวนและมอบให้พยาน พยานจึงยื่นคําร้องขอศาลออกหมายจับจําเลย 

ต่อมา วันที่ 8 ก.พ. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมจําเลยที่บ้าน พร้อมตรวจยึดรถกระบะ เสื้อผ้า และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง นำตัวมาที่ สภ.เมืองหนองบัวลำภู จากนั้นพยานได้เปิดให้จําเลยดูรายงานการสืบสวนที่มีภาพถ่ายโพสต์ในเฟซบุ๊กของจําเลย และให้ลงชื่อในภาพถ่าย ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาวางเพลิงเผาทรัพย์และทําให้เสียทรัพย์ 

พยานได้สรุปสํานวนทําความเห็นควรสั่งฟ้องจําเลยส่งให้อัยการ ถัดมาอัยการมีคําสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พยานจึงเรียกจำเลยมาในวันที่ 8 มิ.ย. 2565 จำเลยมากับแม่ในฐานะผู้ไว้วางใจโดยให้การปฏิเสธในข้อหาดังกล่าว

จากนั้นวันที่ 7 ก.ค. 2565 พยานได้เรียกจำเลยมาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ตามที่อัยการมีคําสั่งอีกด้วย โดยพยานได้เปิดรายงานการสืบสวนให้จําเลยดูทุกหน้า 

เหตุที่ในตอนแรกพยานแจ้งข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์เพียงอย่างเดียวไม่ได้แจ้งข้อหาตามมาตรา 112 เนื่องจากในการดําเนินคดีตามมาตรา 112 จะต้องมีคณะกรรมการระดับภาคพิจารณา 

ข้อความตามฟ้องข้อ 1.7 ที่พยานพิจารณาว่าข้อความดังกล่าวว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 เพราะพยานโยงกับข้อความที่โพสต์หลังจากนั้นทำให้เข้าใจว่าข้อความดังกล่าวกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 แม้จะไม่ได้มีการระบุถึง 

ประกอบกับช่วงนั้นมีการชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 มีการโจมตีว่าพระองค์ท่านว่าเอาภาษีของประชาชนไปใช้ เมื่อพยานอ่านข้อความตามฟ้องข้อ 1.7 แล้วจึงเข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10

สําหรับข้อความตามฟ้องข้อ 1.5 พยานอ่านแล้วเข้าใจว่า คําว่า กษัตริย์ หมายถึง รัชกาลที่ 10 เข้าใจว่าสื่อถึงกษัตริย์ประเทศไทยไม่ใช่กษัตริย์ประเทศอื่น เนื่องจากประเทศไทยถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นพ่อ และคําว่า พระมหากรุณาธิคุณ เป็นคําที่ใช้กับพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ 2 วันก่อนหน้านั้นจำเลยโพสต์ว่า เป็นใครก็ไม่รู้ แต่ยัดเยียดว่าเป็นพ่อ และเอ่ยชื่อรัชกาลที่ 10

ส่วนข้อความตามฟ้องข้อ 1.8 พยานเข้าใจว่า หมายถึง ถ้าไม่มีคนรัก พระมหากษัตริย์คงไม่มีพระราชอํานาจ สําหรับสมศักดิ์เป็นผู้ต้องหาในคดีตามมาตรา 112 ซึ่งหลบหนีไปตามช่องทางธรรมชาติไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส 

และโพสต์ตามฟ้องข้อ 1.9 พยานก็ได้ให้จําเลยดูขณะแจ้งข้อกล่าวหาด้วย 

ร.ต.อ.นําพล ตอบทนายจําเลยถามค้าน ในเวลาต่อมาว่า จากการสืบสวนพบว่า หากจำเลยจะโพสต์ถึงรัชกาลที่ 10 จะเอ่ยพระนามมาโดยตรงในบางครั้ง

ตามบันทึกคำให้การ ในการแจ้งข้อหาจําเลยเพิ่มเติมตามมาตรา 112 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 ไม่มีการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโพสต์ในวันที่ 26 ต.ค. 2564 (ฟ้องข้อ 1.8) และ 4 พ.ย. 2564 (ฟ้องข้อ 1.9) รวมถึงการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในวันที่ 7 ก.ค. 2565 ก็ไม่มีการแจ้ง 2 โพสต์ดังกล่าวเช่นกัน จากนั้นพยานได้แก้ไขเอกสารให้มีโพสต์วันที่ 4 พ.ย. 2564 โดยฝ่ายจำเลยไม่ได้ลงชื่อรับรองการแก้ไขด้วย ตามภาพถ่ายประกอบคดีซึ่งมีทั้งหมด 28 แผ่น ที่พยานให้จําเลยดูขณะแจ้งข้อกล่าวหาก็ไม่ปรากฏโพสต์ทั้งสองดังกล่าว 

ศาลถามว่า พยานให้จำเลยดูภาพโพสต์ตามฟ้องข้อ 1.9 ในรายงานการสืบสวนเมื่อไหร่ ร.ต.อ.นําพล ตอบว่า วันที่ 8 ก.พ. 2565 พยานเปิดภาพถ่ายทีละภาพให้จําเลยดู จำเลยก็รับว่า เป็นเฟซบุ๊กของจําเลย และจําเลยโพสต์ข้อความและภาพเหล่านั้นเอง 

แต่เมื่อทนายจำเลยถามว่า ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย ระบุว่าให้ผู้ต้องหาดูภาพถ่ายประกอบคดี ไม่ได้ระบุว่าให้ดูรายงานการสืบสวนใช่หรือไม่ ร.ต.อ.นำพล รับว่า ใช่

พนักงานสอบสวนยังตอบทนายจำเลยเกี่ยวกับข้อความตามฟ้องที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า ในข้อ 1.5 ที่ว่า “พ่อและแม่ผู้ให้กําเนิดคือผู้มีพระมหากรุณาธิคุณ ไม่ใช่กษัตริย์ที่ชอบแอบอ้าง” นั้น จำเลยไม่ได้ระบุพระนามของพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท 

ส่วนในข้อ 1.7 ที่พยานเบิกความว่า ทราบว่าจำเลยกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 โดยอ้างถึงการชุมนุมนั้น พยานไม่ได้รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการชุมนุมดังกล่าวเข้ามาในสำนวน อีกทั้งข้อความดังกล่าวก็ไม่ได้มีการเอ่ยพระนามพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท และก็อาจจะหมายความถึงเผด็จการหรือ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม พยานก็เห็นว่าเป็นไปได้ยากมาก

และในข้อ 1.8 ที่พยานเบิกความถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นั้น พยานไม่ได้มีรายงานการสืบสวนเกี่ยวกับสมศักดิ์ และจำเลยไม่ได้นำภาพถ่ายป้ายผ้าเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เอง เป็นเพียงการแชร์โพสต์บอกเล่าว่ามีคนถูกดำเนินคดีเท่านั้น

ตามรายงานการสืบสวน เจ้าหน้าที่ที่จัดทํานำแต่โพสต์ที่เป็นความผิดมาเรียงต่อกัน แต่ในชีวิตประจำวันจริงๆ จำเลยก็มีการโพสต์เรื่องอื่นๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้นำโพสต์เหล่านั้นมาแสดงในรายงานการสืบสวนด้วย 

ในตอนท้าย พนักงานสอบพยานสวนได้ตอบที่ศาลถามอีกครั้งว่า พยานให้จำเลยดูภาพถ่ายข้อความตามฟ้องข้อ 1.8 และ 1.9 ในรายงานการสืบสวน ไม่ใช่ภาพถ่ายประกอบคดี และในชั้นสอบสวน จําเลยให้ความร่วมมือในการสอบสวน ไม่ก้าวร้าว 

ทนายชั้นสอบสวน: พงส.ไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริง 2 โพสต์ ทั้งแก้ไขบันทึกคำให้การโดยทนาย-จำเลย ไม่รับรู้

กริษณุภูมิ นิลนามะ ทนายจําเลยในชั้นสอบสวน เบิกความในฐานะพยานจำเลยว่า เกี่ยวกับคดีนี้พยานได้รับการติดต่อจากจำเลยให้ไปร่วมฟังการสอบสวนในวันที่ 7 ก.ค. 2565 ซึ่งจำเลยถูกพนักงานสอบสวนเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาในครั้งอื่นพยานไม่ได้เข้าร่วมด้วย 

ต่อมา ในชั้นฟ้องปรากฏความผิดที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จําเลยในวันที่พยานเป็นทนายความให้จําเลย ได้แก่ ฟ้องข้อ 1.8 และ 1.9 อีกทั้งบันทึกคำให้การในวันดังกล่าวก็มีการแก้ไขข้อความโดยไม่ปรากฏลายเซ็นของพยาน ซึ่งโดยปกติพยานในฐานะทนายความต้องลงชื่อรับรองการแก้ไขร่วมด้วย หรือให้จําเลยลงชื่อด้วย พยานจึงไม่ได้รับรู้การแก้ไขข้อความดังกล่าว 

พนักงานสอบสวนให้พยานและจำเลยดูภาพถ่ายประกอบคดี ไม่ได้นำรายงานการสืบสวนมาให้ดู แต่พนักงานสอบสวนจะได้ให้จำเลยดูในการแจ้งข้อกล่าวหาก่อนหน้านั้นหรือไม่ พยานไม่ทราบ

กริษณุภูมิตอบโจทก์ถามค้านโดยยืนยันว่า ในวันที่แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 พยานไม่ได้อยู่ร่วมด้วย พยานอยู่ร่วมเพียงวันที่แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทั้งนี้ ในการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 ก็ไม่ปรากฏโพสต์ตามฟ้องข้อ 1.8 และ 1.9 เช่นเดียวกัน 

ที่ปรึกษา-นักจิตวิทยา: จำเลยมีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง หลังรับการปรึกษามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่มีแนวโน้มสร้างความเดือดร้อนให้สังคม 

ผู้ให้คําปรึกษาประจําคลินิกจิตสังคม ศาลจังหวัดหนองบัวลำภู เบิกความตอบศาลในฐานะพยานของศาลว่า เกี่ยวกับคดีนี้หลังศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างพิจารณาคดี ศาลมีคําสั่งส่งตัวจําเลยเข้าพบและรับคําปรึกษาจากคลินิกจิตสังคม 

จากการตรวจดูข้อมูลในเบื้องต้น จําเลยถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิดความอ่าน พยานจึงอยากทราบว่า จําเลยมีความคิดความอ่านอย่างไร เท่าที่พูดคุยจําเลยมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง อาจจะได้รับข้อมูลจากสื่อซึ่งเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ ในฐานะที่พยานเคยเป็นครูจึงพยายามปรับความคิดของจําเลย ให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมพิเศษต่างจากประเทศอื่น ทําอย่างไรให้จำเลยปรับความคิดดำเนินชีวิตต่อไปได้ 

จำเลยมาพบพยานรวมทั้งหมด 4 ครั้ง พยานสังเกตดูพฤติกรรมของจําเลยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน รับผิดชอบตนเอง และพฤติกรรมด้านต่างๆ พยานเห็นว่า จำเลยมองโลกในแง่ดีขึ้น มีการปรับปรุงพฤติกรรมในหลายๆ ด้าน

จําเลยมีความคิดความอ่านหลายอย่าง เช่น อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง ห่วงอนาคตตนเอง อยากทําให้แม่สบายใจ เป็นจุดที่ทําให้จําเลยพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

จําเลยให้ความร่วมมือในการมาพบและพูดคุยกับพยาน โดยมาพบตรงเวลา อ่อนน้อม ไม่ก้าวร้าว และรับฟังคําแนะนําจากพยาน พยานเห็นว่า จำเลยอยู่ในวัย 23 ปี ยังเป็นวัยรุ่น ก็ย่อมมีความคิดความเชื่อของตนเอง แต่ไม่เป็นภัยกับสังคมในแง่อื่นๆ 

นักจิตวิทยา คลินิกจิตสังคม ศาลจังหวัดหนองบัวลําภู เบิกความตอบศาลในฐานะพยานของศาลว่า เกี่ยวกับคดีนี้ หลังศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างพิจารณาคดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้ส่งสํานวนคดีนี้มายังคลินิกจิตสังคม พยานดูสํานวนในเบื้องต้นแล้ว ได้พิจารณาส่งตัวจําเลยไปให้นายไพริน สุริยะพันธุ์พงศ์ เป็นผู้ให้ค่าปรึกษาจําเลย 

พยานเป็นผู้ซักประวัติเบื้องต้น จําเลยให้ความร่วมมือดี มาพบตรงเวลานัด บางครั้งก่อนถึงวันนัดจําเลยก็จะโทรมาสอบถามให้แน่ใจก่อน

พยานเห็นว่า จำเลยมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จําเลยมีงานทํา สามารถจัดการชีวิตประจําวันของตนเองได้ โดยไม่เดือดร้อนคนอื่น 

พยานมองว่า จําเลยสามารถปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมให้ดีขึ้นได้ ไม่มีแนวโน้มสร้างความเดือดร้อนให้สังคม โดยปัจจุบันจําเลยสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี 

แถลงการณ์ปิดคดี: จำเลยเพียงโพสต์แสดงความเห็นต่อสังคม – รัฐบาลเผด็จการ ไม่ได้ระบุถึงกษัตริย์องค์ใด ไม่ได้เจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ทั้งชำระค่าเสียหายจากการวางเพลิงเกือบครบแล้ว ขอศาลรอการลงโทษ

ทนายจำเลยยื่นแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาลเพื่อประกอบดุลพินิจในการมีคำพิพากษา

1. ในส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้คดีตามคำฟ้องข้อ 1.5, 1.7, 1.8 และข้อ 1.9 

1.1 ที่จำเลยโพสต์ข้อความตามฟ้องข้อ 1.5 นั้น จำเลยไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ แต่เป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสังคม ที่บุคคลอื่นมักจะมีการกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ปรากฏให้เห็นตามสื่อต่างๆ เสมอๆ เป็นจำนวนมาก 

ประกอบจำเลยได้ดูหนังที่เป็นเรื่องราวของกษัตริย์ต่างประเทศในอดีตหลายๆ เรื่อง ซึ่งผู้ปกครองนำกษัตริย์มาแอบอ้าง ในส่วนนี้จำเลยมีความคิดเห็นและตระหนักว่า พ่อแม่ก็มีพระคุณอย่างยิ่งเช่นกัน จำเลยไม่ได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์แอบอ้างว่าเป็นผู้มีพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องจากการกล่าวว่าพระมหากษัตริย์มีพระมหากรุณาธิคุณหรือไม่เป็นเรื่องที่พสกนิกรเป็นผู้กล่าวถึงพระองค์เท่านั้น 

ประกอบกับคำว่า “กษัตริย์” มีความหมายที่ไม่ได้ระบุจำเพาะเจาะจงว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ใด อาจหมายถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตได้เช่นกัน แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น จำเลยเห็นว่าถึงแม้จะเป็นถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมแต่ก็มิใช่ถ้อยคำดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

1.2 ที่จำเลยโพสต์ข้อความตามฟ้องข้อ 1.7 ว่า “ถึงแม้เขาจะฆ่าคนตาย…” นั้น จำเลยต้องการจะสื่อถึงรัฐบาลหรือผู้ใช้กฎหมายที่เป็นเผด็จการ 

นอกจากนี้ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทคือการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ดูหมิ่น คือการด่า ดูถูกเหยียดหยาม และจะต้องได้ความว่าการใส่ความหรือการดูหมิ่นดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลว่าเป็นใคร หรือหมายถึงบุคคลใดโดยเฉพาะ แต่จากข้อความดังกล่าวย่อมไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยหมายความถึงบุคคลใด ทั้งบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าข้อความดังกล่าวหมายถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่พิมพ์ลงหรือไม่ 

อีกทั้งความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหน้าโพสต์นั้น ต้องพิเคราะห์จากข้อความที่พิมพ์ลงในหน้าโพสต์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่พิมพ์ลงนั้นเป็นผู้ใด ที่พยานปาก ร.ต.อ.นำพล พนักงานสอบสวน เบิกความว่า พยานโยงข้อความที่จำเลยโพสต์หลังจากนั้น ดังนั้น ข้อความตามฟ้องข้อ 1.7 แม้ไม่ระบุถึงรัชกาลที่ 10 ก็โยงกันได้อยู่ดีนั้น เป็นการเชื่อมโยงและตีความไปเองของพยาน ไม่ได้พิเคราะห์จากข้อความที่พิมพ์ลงในหน้าโพสต์ตามคำฟ้องเท่านั้น และไม่ใช่เจตนาที่จำเลยต้องการสื่อ 

ดังนั้นข้อความตามคำฟ้องในข้อ 1.7 จึงไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

1.3 ที่จำเลยโพสต์ข้อความตามฟ้องข้อ 1.8 จำเลยมีเจตนาเพียงแสดงความคิดเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วยที่ตำรวจดำเนินคดีนิสิตสองคนดังกล่าว และอยากให้ใช้ความระมัดระวังในการบังคับใช้มาตรา 112 เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ ประกอบกับจำเลยไม่ได้เป็นผู้สร้างข้อความหรือป้ายผ้าดังกล่าวด้วยตนเอง

ทั้งนี้ จำเลยใช้เฟซบุ๊กในการแสดงออกถึงสิ่งที่จำเลยให้ความสนใจด้วย เช่น หนัง ดนตรี ศิลปะ รวมถึงเรื่องราว ทั่วๆไป มิได้โพสต์แต่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น

1.4 ในส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโพสต์ตามคำฟ้องข้อ 1.8 และข้อ 1.9 ให้จำเลยทราบ ปรากฏตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนที่ไม่ได้ระบุวันที่ของโพสต์เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 และ 4 พ.ย. 2564 ประกอบกับภาพถ่ายประกอบคดีก็ไม่ปรากฏภาพถ่ายโพสต์ดังกล่าว จำเลยจึงไม่ทราบว่าตนจะต้องถูกดำเนินคดีจากโพสต์ทั้งสองนั้น

แม้พนักงานสอบสวนจะเบิกความตอบโจทก์ไว้ว่า ได้นำรายงานการสืบสวนให้จำเลยดูก่อนการแจ้งข้อกล่าวหานั้น จำเลยยืนยันว่า พนักงานสอบสวนให้จำเลยดูเพียงแต่ภาพถ่ายประกอบคดี และให้จำเลยลงชื่อรับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวเท่านั้น ปรากฏตามคำให้การผู้ต้องหาฉบับลงวันที่ 8 ก.พ. 2565 

และในส่วนบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยฉบับลงวันที่ 7 ก.ค. 2565 ที่ปรากฏลายมือของพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมวันที่ 4 พ.ย. 2564 ด้วยปากกาสีน้ำเงินและลงชื่อกำกับไว้นั้น จำเลยไม่ได้ทราบมาก่อนและไม่ได้ลงชื่อรับรองการแก้ไขนั้น ประกอบกับทนายความที่ร่วมรับฟังการสอบสวนในวันดังกล่าวก็เบิกความว่า ไม่ทราบถึงการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความดังกล่าว เพราะหากทราบก็ย่อมต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย จึงน่าเชื่อได้ว่า พนักงานสอบสวนแก้ไขเพิ่มเติมข้อความดังกล่าวภายหลังที่ผู้ต้องหาได้ลงลายมือชื่อไปแล้วและไม่ได้อยู่ในความรับรู้รับทราบของฝ่ายผู้ต้องหาแต่อย่างใด

จำเลยเห็นว่าการที่พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อเท็จจริงตามฟ้องข้อ 1.8 และ 1.9 จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเฉพาะในข้อ 1.8 และ 1.9 

2. ในส่วนความผิดที่จำเลยให้การรับสารภาพไปแล้วนั้น 

2.1 จำเลยและครอบครัวได้พยายามชำระค่าเสียหายทางแพ่งที่ผู้ร้องเรียกร้องมาในคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดจำนวน 114,900 บาท โดยได้นำเงินมาวางต่อศาลเพื่อชำระให้แก่ผู้เสียหายไปแล้วเป็นจำนวน 113,173 บาท ยังคงเหลือเงินที่จำเลยยังต้องชำระให้แก่ผู้เสียหายอีกจำนวน 1,727 บาท ซึ่งจำเลยและครอบครัวจะนำมาชำระให้ครบถ้วนโดยเร็วที่สุด

2.2 จำเลยขอศาลพิจารณาให้โอกาสแก่จำเลย โดยรอการลงโทษ และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ให้เหมาะสมกับอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของจำเลย หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานี โดยจำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัด

X