สั่งฟ้อง ตี้-เบนจา-บิ๊ก ม.112 เหตุปราศรัยม็อบ #ราษฎรยืนยันดันเพดาน ปี 64 อัยการระบุการกล่าวถึงกษัตริย์ต้องแสดงออกด้วยความเคารพเทิดทูน ศาลสั่งติดกำไล EM เพิ่มอีก

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4) ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของ 3 นักกิจกรรม ได้แก่ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา (จำเลยที่ 1), “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ (จำเลยที่ 2), และ เบนจา อะปัญ (จำเลยที่ 3) ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในกรณีสืบเนื่องจากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 บริเวณสกายวอร์ค แยกปทุมวัน

ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้องระบุว่า รัฐธรรมนูญไทยได้บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดหรือกล่าวหา ฟ้องร้องไม่ได้ และผู้ใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองไม่ได้ ตลอดจนใช้สิทธิ เสรีภาพ ให้กระทบกระเทือน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือให้เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและพลเมืองมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และกษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศชาติตลอดไป

นอกจากนี้ สถาบันกษัตริย์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย อยู่คู่ประเทศมานาน ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ จะนำมาล้อเลียนไม่ได้ คนไทยต่างจงรักภัคดี เทิดทูนสถาบันฯ การกล่าวพระนามของพระองค์ต้องแสดงออกด้วยความเคารพตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีอันเป็นสิ่งที่คนไทยโดยทั่วไปพึงปฏิบัติสั่งสมกันตลอดมา

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 จำเลยทั้ง 3 กับนักกิจกรรมรายอื่นอีก 6 ราย แยกดำเนินคดีที่ศาลแขวงปทุมวัน และนักกิจกรรมเยาวชน 2 ราย แยกดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนแบละครอบครัวกลาง ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทต่างกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 และ 3 และพวกนักกิจกรรมบางราย ได้ร่วมกันจัดการชุมนุม ชื่อ “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” โดยจำเลยที่ 1 และ 3 ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนบนเฟซบุ๊ก

เมื่อถึงวัดนัดจัดกิจกรรม มีประชาชนมาเข้าร่วมการชุมนุมราว 400 กว่าคน ที่บริเวณสกายวอร์ค แยกปทุมวัน เป็นการชุมนุมที่ไม่ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทั้งยังเป็นการชุมนุมที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรค

ในระหว่างการชุมนุม จำเลยทั้ง 3 และกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันปราศรัยผ่านไมโครโฟน-ลำโพงเครื่องขยายเสียง พูดโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลและการปฏิรูปสถาบันฯ โดยจำเลยที่ 1 ได้ปราศรัยเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามในอดีต ซึ่งมีประชาชนร่วมรบจนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่กลับทำการเชิดชูเพียงแค่กษัตริย์ ไม่มีการบันทึกชื่อของประชาชนที่เสียสละแต่อย่างใด

อัยการระบุว่า ข้อความดังกล่าวอาจทำให้ผู้ที่ได้รับฟ้งเข้าใจได้ว่า ในเวลาที่มีสงคราม คนที่บาดเจ็บล้มตายคือประชาชน ในขณะที่กษัตริย์ไม่เคยออกรบ อยู่แต่แนวหลัง มีความหมายสื่อถึงกษัตริย์ทุกพระองค์

อัยการยังอ้างว่าจำเลยที่ 1 ยังได้ปราศรัยสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ว่า การใส่เสื้อเหลืองหมายความว่าเป็นคนรักชาติ เมื่อใส่เสื้อเหลืองแล้วจะไม่โดนดำเนินคดี แม้จะฆ่าคนตายก็ตาม โดยอัยการมองว่า คำปราศรัยนั้นอาจทำให้คนฟังเข้าใจว่า ถ้าเป็นคนของกษัตริย์ เมื่อทำผิดกฎหมายก็ไม่ต้องรับโทษ สื่อว่าพระองค์อยู่เหนือกฎหมาย สามารถปกป้องพรรคพวกและบริวารของตนได้

จำเลยที่ 2 ได้ปราศรัย ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ รัชกาลที่ 5, 7, และ 10 ระบุว่า

1. ถึงจะมีการเลิกทาสไปแล้ว แต่ประชาชนยังคงถูกกดขี่ ทำให้โง่และกลัว ไม่กล้าทวงสิทธิที่ตัวเองมี อัยการระบุ เป็นการสื่อว่า แม้จะเลิกทาสไปแล้วก็ยังมีการกดขี่ประชาชน กษัตริย์ไม่ได้ล้มเลิกระบบทาสอย่างแท้จริง

2. การที่หนังสือเรียนระบุว่า รัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตยนั้นไม่เป็นความจริง เป็นข่าวปลอม อัยการระบุว่า จำเลยต้องการให้คนที่ฟังเข้าใจว่า การที่ประชาชนยกย่องรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้สถาบันอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่เป็นความจริง แท้จริงแล้ว รัชกาลที่ 7 ไม่ได้ประสงค์จะให้ประชาธิปไตยแก่ประชาชน

3. การที่กษัตริย์องค์ปัจจุบันถูกยกย่องให้สูงส่งเหมือนพระเจ้า ทำให้ประชาชนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ อัยการระบุว่า ต้องการให้คนฟังเข้าใจว่า กษัตริย์ถูกยกย่องจนเกินความจริงและเปรียบเทียบกษัตริย์ให้สูงส่ง ทำให้เข้าใจได้ว่า กษัตริย์องค์ปัจจุบันวางพระองค์ไม่เหมาะสม

4. การยกสถาบันฯ ไว้สูงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณสถาบันฯ อัยการมองว่า เป็นการสื่อว่ากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย อยู่เหนือการตรวจสอบและไม่มีความโปร่งใส

5. การปฏิรูปสถาบันฯ ข้อแรก ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร อัยการระบุ ต้องการสื่อว่า รัชกาลที่ 10 ทรงรับรองให้กับคณะรัฐประหาร ไม่ปฏิบัติตนในฐานะประมุขของประเทศ ซึ่งจะต้องอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้ง

จำเลยที่ 3 ได้ปราศรัยดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9 และ 10 กล่าวคือ ได้พูดว่า กษัตริย์ปล่อยให้มีการรัฐประหารหลายครั้ง มีครั้งเดียวที่ไม่ยอมให้เกิดการรัฐประหาร อัยการระบุ เท้าความว่า การรัฐประหารตามประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 9 ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐกาลที่ 10 เป็นการใส่ความรัชกาลที่ 9 ว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะพระองค์เป็นกลางทางการเมือง

จำเลยปราศรัยต่อว่า มีครั้งเดียวที่กษัตริย์ไม่ยอมปล่อยให้มีการรัฐประหาร แสดงว่าย่อมยับยั้งการรัฐประหารได้ แต่ก็ปล่อยให้เกิดขึ้นอีกต่อมา เป็นการไม่เห็นหัวประชาชน อัยการระบุ ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 9 ไม่เป็นความจริงเพราะทรงเป็นกลางทางการเมือง

ข้อความสุดท้าย ปราศรัยเรื่องวันพ่อวันที่ 5 ธ.ค. ต่อมาเปลี่ยนเป็นวันชาติ ในวันดังกล่าวมีการนำเงินภาษีประชาชนไปจัดกิจกรรม ทั้งๆ ที่เงินดังกล่าวควรหมุนเวียนกลับสู่ประชาชน อัยการระบุว่า วันที่ 5 ธ.ค. เป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 ต่อมาหลังสวรรคต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศให้วันดังกล่าวเป็นวันชาติ ถ้อยคำปราศรัยดังกล่าวเป็นการกล่าวหาว่า รัชกาลที่ 10 เอาเงินภาษีไปจัดงานวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นบิดา แทนที่จะนำเงินมาใช้จ่ายเพื่อประชาชน

ต่อมา วันที่ 28 ส.ค. 2564 จำเลยที่ 2 เข้าพบพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 1 และ 3 เข้าพบพนักงานสอบสวน วันที่ 9 ก.ย. 2564 แจ้งข้อกล่าวหา สอบสวนแล้ว ทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยพนักงานสอบสวนไม่เคยยื่นคำร้องฝากขังจำเลยในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด ทั้งนี้ อัยการไม่ได้ขอคัดค้านหากมีการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว

หลังจากอัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้รับฟ้องไว้ และอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณา กำหนดหลักประกันรายละ 200,000 บาท รวม 600,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไข “ห้ามกระทำการใดๆ อันมีลักษณะทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้องหรือมีลักษณะทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามชักชวนหรือโพสต์ข้อความลงในสื่อโซเชียลมีเดีย ชักชวน ยุยง ให้เกิดการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาล” และยังกำหนดให้ติดกำไลอิเลกทรอนิกส์ (EM) ด้วย

ศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไป วันที่ 25 ก.ค. 2565 เวลา 13.30 น.

ทั้งนี้ วรรณวลีและเกียรติชัยนั้นยังไม่เคยถูกศาลกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว โดยให้ติดกำไล EM ในคดีใดมาก่อน ขณะที่เบนจาถูกสั่งให้ติดอยู่ก่อนแล้วในคดีอื่น ทำให้เกียรติชัยต้องติดกำไล EM ในวันฟ้องนี้ทันที ส่วนวรรณวลี ทนายความและนายประกันได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการติดกำไล EM ออกไปเป็นวันที่ 25 ก.ค. 2565 หรือวันนัดตรวจพยานหลักฐานแทน เนื่องจากเธอต้องเดินทางด้วยเครื่องบินกลับไปเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยพะเยาซึ่งมีกำหนดการไว้ก่อนแล้ว ถ้าหากติดกำไล EM จะทำให้ไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ โดยศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้มาติดกำไล EM ในวันนัดตรวจพยานหลักฐานแทนได้

.

ดูฐานข้อมูล คดี 112 “เกียรติชัย-เบนจา-ตี้” ปราศรัยในม็อบ24มิถุนา64 ชี้ปัญหาสถาบันกษัตริย์

X