บันทึกการต่อสู้คดี ม.112 ของ “จิรวัฒน์” พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ เหตุแชร์ 3 โพสต์ ผูกขาดวัคซีน-ตั๋วช้าง-คำปราศรัยม็อบ24มีนา64

วันที่ 6 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดฟังคำพิพากษาของ จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) พ่อค้าขายของออนไลน์วัย 32 ปี ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  มาตรา 14 (3)(5) ซึ่งถูกกล่าวหาว่า แชร์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ จากบุคคลทั่วไป 1 โพสต์ และจากเพจ KTUK – คนไทยยูเค จำนวน 2 โพสต์   

ในคดีนี้มี ภัทรวรรณ ขำมา เป็นผู้กล่าวหา โดยจิรวัฒน์ระบุว่า ผู้กล่าวหาเป็นญาติของแฟน และเป็นเลขาฯ ฝ่ายกฎหมายของ ศบค. ซึ่งทั้งคู่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันก่อนหน้านี้ จึงน่าสังเกตว่า คดีนี้อาจเป็นคดีความที่เกิดจากการกลั่นแกล้ง เนื่องจากความไม่พอใจส่วนตัว แต่ใช้ข้อกล่าวหามาตรา 112 เป็นเครื่องมือ

จิรวัฒน์ได้รับหมายเรียกลงวันที่ 1 ก.ค. 2564 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.ยานนาวา แจ้งว่า เขากระทำผิดโดยการแชร์ข้อความและภาพเป็นจำนวน 3 โพสต์บนเฟซบุ๊ก ซึ่งจิรวัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้แต่อย่างใด ก่อนพนักงานสอบสวนเรียกให้เขาไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5) “เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง”

ต่อมา วันที่ 8 ก.พ. 2565 สมพงษ์ ศรีธูป พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกับจิรวัฒน์ โดยบรรยายคำฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3),(5) โดยการแชร์ข้อความและภาพบนเฟซบุ๊กเป็นจำนวน 3 โพสต์ มีเนื้อหาลักษณะเสียดสี ประชดประชัน สร้างความเสียหายต่อพระเกียรติของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีอย่างร้ายแรง อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินี ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร  

หลังพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักประกันจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

.

ภาพรวมการสืบพยาน: พยานโจทก์ชี้ ข้อความทั้ง 3 โพสต์ ใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 – ราชินี ผิด ม.112 ฝ่ายจำเลยยืนยัน เพียงแชร์โพสต์ตั้งคำถาม ไม่ได้แสดงความเห็น

ในคดีนี้ศาลได้นัดสืบพยานในระหว่างวันที่ 25 เม.ย. 2566 และวันที่ 27 – 29 ก.ย. 2566 รวมทั้งหมด 4 นัด โดยอัยการนำพยานโจทก์เข้าเบิกความ 9 ปาก และทนายจำเลยนำพยานจำเลยเข้าสืบ 1 ปาก โดยพยานโจทก์ทั้งหมดเบิกความในทำนองเดียงกันว่า โพสต์ตามฟ้องทั้งสามที่จำเลยแชร์มา มีข้อความใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และเกิดความเกลียดชัง 

โพสต์ทั้งสามซึ่งโจทก์นำมาฟ้องจำเลยมีดังนี้

1. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2564 จําเลยได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค ซึ่งโพสต์ดังกล่าวปรากฏภาพของรัชกาลที่ 10 นายกรัฐมนตรี และมีภาพประกอบเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด พร้อมเนื้อความโดยสรุปเกี่ยวกับการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมในโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นโครงการที่ป้องกันไม่ให้ประเทศที่ร่ำรวยสามารถกวาดซื้อวัคซีนมากักตุนไว้ที่ประเทศตัวเอง โครงการดังกล่าวมีประเทศที่เข้าร่วมแล้วกว่า 172 ประเทศ แต่เนื่องจากไทยไม่ได้เข้าร่วม ทำให้ไม่สามารถรับวัคซีนที่มีคุณภาพเข้ามาได้ ในขณะที่การผลิตวัคซีนในไทยถูกผูกขาดโดยบริษัทที่มีรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งมีความล่าช้า ทำให้ผลกระทบตกถึงคนไทยที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพสูงได้ทันท่วงที ในขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าวัคซีน Sinovac เข้ามาใช้ทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำ

2. เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 จำเลยได้แชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งในประเด็นเรื่อง #ตั๋วช้าง เป็นภาพหนังสือราชการ 4 ฉบับ และภาพของ ส.ส. รังสิมันต์ โรม ถือแผ่นกระดาษในมือทั้ง 2 ข้าง พร้อมข้อความประกอบโพสต์เกี่ยวกับเรื่องของตั๋วช้าง พร้อมตั้งคำถามว่า ลายเซ็นกำกับอาจเป็นของสมเด็จพระราชินี อีกทั้งยังมีลายเซ็นกำกับเหนือรหัส 904 พร้อมลิ้งค์ให้ไปอ่านเนื้อหาต่อบนทวิตเตอร์

3. เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 จําเลยได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค ซึ่งมีเนื้อหาเป็นถ้อยคำปราศรัยของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ยืนยันว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ควรต้องพูดถึงได้ทั้งในทางสรรเสริญและวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนในฐานะที่เป็นกัลยานมิตรที่ดีที่ต้องสามารถตักเตือนกษัตริย์ได้เมื่อออกนอกลู่นอกทาง นอกจากนั้น ในเวลานี้ การขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างไร้ขอบเขตกำลังส่งผลให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา โดยได้มีการนำเสนอข้อเสนอ 3 ข้อในการปรับปรุงแก้ไขสถาบันกษัตริย์ 1. การแบ่งแยกกองทัพออกมาเป็นของสถาบันกษัตริย์นั้นไม่สามารถทำได้ 2. กษัตริย์ต้องไม่แทรกแซงอยู่เบื้องหลังของกลุ่มก้อนทางการเมือง 3. ขอให้โอนคืนทรัพย์สมบัติของชาติสู่ประชาชน

ทางด้านจำเลยมีข้อต่อสู้ว่าการแชร์โพสต์ทั้งหมดเป็นเพียงการแบ่งปันข้อความเท่านั้น และจำเลยไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อโพสต์ตามฟ้อง  อีกทั้งข้อความที่แชร์ไม่เข้าข่ายเป็นความผิด เป็นเพียงการตำหนิรัฐบาล และตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์

.

ผู้กล่าวหาเบิกความชี้ การแชร์โพสต์ของจำเลยสร้างความเกลียดชังให้กับสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ขอตอบว่า เคยมีเหตุขัดแย้งกับภรรยาจำเลยหรือไม่

พยานโจทก์ชื่อ ภัทรวรรณ ขำมา ผู้กล่าวหา ประกอบอาชีพรับราชการ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ขณะนั้นพยานปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 ได้พบเห็นการแชร์เฟซบุ๊กของจำเลย เป็นข้อความจากเพจคนไทยยูเค การที่พยานสามารถเข้าถึงโพสต์ที่จำเลยแชร์มาได้ ก็เนื่องจากเข้าใจว่าจำเลยประกอบอาชีพค้าขายออนไลน์ จึงตั้งค่าการโพสต์และแชร์ไว้เป็นสาธารณะที่ทำให้ใครเข้าถึงก็ได้

และจำเลยยังได้แชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของบุคคลอื่นเกี่ยวกับเรื่องตั๋วช้าง ซึ่งพยานไม่รู้จักชื่อ – สกุลของเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว และไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของเพจคนไทยยูเคอีกด้วย

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 19.00 น. เพื่อนของพยานได้เห็นโพสต์ของจำเลยตามฟ้อง แล้วส่งมาให้พยานดู ทำให้พยานเข้าไปดูเฟซบุ๊กของจำเลย ซึ่งได้มีการเปิดตั้งค่าสาธารณะไว้อยู่แล้ว และได้เห็นโพสต์ตามฟ้อง

เมื่อพยานดูแล้ว มีความรู้สึกว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 มีคนมากมายที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคระบาด การที่จำเลยแชร์โพสต์ตามฟ้อง เป็นการทำให้ประชาชนตื่นตระหนก และกล่าวหาให้รัชกาลที่ 10 เสียหายว่าเป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์จากวัคซีน

ต่อมา พยานจึงได้นำข้อมูลโพสต์ดังกล่าวในเฟซบุ๊กของจำเลยไปแจ้งความ โดยให้ตำรวจ สน.ยานนาวา สืบหาว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของจึงได้ทราบตัวตนของจำเลยในคดีนี้

นอกจากนี้ พยานได้เห็นจำเลยแชร์โพสต์เรื่องเกี่ยวกับตั๋วช้าง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นประเด็นที่ สส.รังสิมันต์ โรม นำเสนอในสภาผู้แทนราษฎร โดยเนื้อหาของโพสต์มีการกล่าวหาว่าพระราชินีสุทิดามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสูงต่าง ๆ 

พยานเห็นว่าการแชร์โพสต์เช่นนี้เป็นการกล่าวหาพระราชินีว่าเป็นคนที่ได้รับผลประโยชน์เกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ทำให้ผู้ที่มาพบเห็นข้อความเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระราชินีได้

และในวันที่ 25 มี.ค. 2564 จำเลยได้แชร์โพสต์คำปราศรัยของมายด์ ภัสราวลี นักกิจกรรมกลุ่มราษฎรที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ว่าแทรกแซงการทหาร และการเมือง ตลอดจนกล่าวว่า กษัตริย์โลภ เอาทรัพย์สินของประชาชนไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์เอง

ในการเข้าแจ้งความคดีนี้ พยานได้แจ้งความแค่ 2 โพสต์ คือ โพสต์ที่กล่าวหารัชกาลที่ 10 ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตวัคซีนโควิด – 19 และโพสต์ที่กล่าวหาพระราชินีสุทิดาว่า มีส่วนรู้เห็นในการทุจริตเซ็นแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับสูง

แต่ภายหลังสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยเพิ่มเติมแล้วได้พบกับโพสต์ที่เกี่ยวเนื่องกับคำปราศรัยของมายด์ ภัสราวลี พยานเห็นว่า การที่จำเลยแชร์โพสต์ทั้งสามเป็นการสร้างความเกลียดชังให้กับสถาบันกษัตริย์ 

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวของจำเลย แต่ยอมรับว่า ภรรยาของจำเลยเป็นญาติของพยานจริง ส่วนที่ทนายจำเลยถามว่า พยานกับภรรยาของจำเลยเคยมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันมาก่อนหรือไม่นั้น พยานไม่ขอตอบ นอกจากนี้ พยานไม่ได้เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับจำเลย แต่กดติดตามเฟซบุ๊กของจำเลยไว้ 

พยานเข้าไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ สน.ยานนาวา เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2564 โพสต์ที่นำไปแจ้งความ พยานเห็นย้อนหลังไป 3 เดือน ไม่ได้เห็นในวันที่จำเลยแชร์โพสต์แต่อย่างใด ส่วนเพื่อนที่ส่งโพสต์ให้พยานไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีจึงไม่เข้าร่วมเป็นพยานโจทก์ด้วย 

พยานเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 แต่ไม่ทราบว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ไม่ได้เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตวัคซีนที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติปี 2563 – 2565 ขณะที่รัฐบาลซื้อวัคซีนจากบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทหลัก และไม่ทราบว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มียอดขาดทุนก่อนผลิตวัคซีนอยู่ที่จำนวนเท่าไหร่อีกด้วย

พยานไม่ได้เป็นกรรมการที่จัดซื้อวัคซีนจึงไม่ทราบในรายละเอียดว่า ในการจัดซื้อวัคซีนโควิด – 19 มีการกำหนดว่าจะต้องซื้อยี่ห้อใดเป็นพิเศษหรือไม่ แต่ทราบว่า รัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งหากบริษัทมีกำไร ผู้ถือหุ้นจะได้รับกำไรด้วยหรือไม่ อย่างไร พยานไม่ทราบ

ส่วนเรื่องที่รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณจำนวนกว่า 600 ล้านบาท ให้กับบริษัทสยามไบไอไซน์ พยานไม่ทราบ และไม่ทราบเรื่องที่ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมโครงการ COVAX ด้วย ตลอดจนไม่ทราบว่าเอกชนไม่สามารถนำเข้าวัคซีนโควิดได้เอง จะต้องขออนุญาตรัฐบาลก่อน และใครจะได้ผลประโยชน์จากการผูกขาดการนำเข้าวัคซีนของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์

พยานรับว่า การอภิปรายเรื่องตั๋วช้าง หรือการจัดการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เกิดขึ้นในรัฐสภา ซึ่งรังสิมันต์ โรม ผู้อภิปราย ไม่เคยถูกดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าวมาก่อน แต่ไม่ทราบว่า เอกสารที่รังสิมันต์นำมาเปิดเผยในสภาเป็นเอกสารจริงหรือไม่ 

พยานทราบว่า เมื่อมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว หากมีใครสั่งให้แก้ไขจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เคยได้ยินข่าวว่า รัชกาลที่ 10 มีคำสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ซึ่งได้ผ่านการทำประชามติไปแล้ว ตามที่ทนายนำภาพข่าวมาให้ดู 

พยานยอมรับว่า ไม่เคยทราบว่าในสมัยรัชกาลที่ 9 มีการโอนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์หรือไม่ และไม่ทราบเรื่องการโอนหุ้นของบริษัท SCG ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 10 

พยานไม่ทราบในทุกเรื่องที่ทนายถาม ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับโพสต์คำปราศรัยของมายด์ ภัสราวลี ที่จำเลยแชร์มา โดยไม่ทราบว่า ที่มายด์ปราศรัยถูกดำเนินคดีมาตราใดหรือไม่ และไม่ทราบเรื่องว่าในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่อนุญาตให้พระมหากษัตริย์มีกองกำลังเป็นของตนเอง รวมทั้งไม่ทราบว่ามีการออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพไทยไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

นอกจากนี้ พยานไม่ทราบว่า คำปราศรัยของภัสราวลีเรื่องการขยายพระราชอำนาจเป็นความจริงหรือไม่ และไม่ทราบว่าเมื่อมีการเปลี่ยนรัชสมัยจะต้องมีการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์อย่างไร ในปัจจุบันพยานก็ไม่เคยทราบว่ามีการโอนทรัพย์สินสาธารณะไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์หรือไม่

ในการแชร์โพสต์ตามฟ้อง จำเลยไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นใด ๆ พยานรับว่า ไม่ทราบว่าคำปราศรัยของภัสราวลีและคำอภิปรายของรังสิมันต์ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงจะทำให้ผู้ที่ได้รับฟังนำไปโพสต์แสดงความคิดเห็นต่อหรือไม่ อย่างไร

ประธาน กก.บริหารสยามไบโอไซเอนซ์ รับ ร.10 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จริง – ขณะโควิดแพร่ระบาดหนัก ได้รับอนุญาตให้ผลิตวัคซีนในไทยเพียงบริษัทเดียว

พยานโจทก์ชื่อ อภิพร ภาษวัธน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เบิกความยอมรับว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือรัชกาลที่ 10 ส่วนพลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล และพันตำรวจเอกธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม ถือหุ้นกันคนละ 1 หุ้น 

วัตถุประสงค์ของบริษัท คือเป็นบริษัทด้านชีววัตถุ ผลิตยาประเภทไบโอฟาร์มาซูติคอล ซึ่งเป็นยาที่มีราคาแพง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ ในช่วงเริ่มต้นของการผลิตวัคซีน พยานได้พูดคุยกับผู้บริหารบริษัท SCG เนื่องจากพยานเคยบริหารอยู่ที่บริษัทดังกล่าว และทำให้ได้พูดคุยกับผู้บริหารของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งผลิตวัคซีนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จากนั้นบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้ตกลงผลิตวัคซีนให้กับบริษัทแอสตร้าฯ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย พยานยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่ได้สั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ 

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

บุคคลที่ไปลงนามในสัญญาซื้อขายวัคซีนกับกระทรวงสาธารณะสุข คือ พลอากาศเอกสถิตย์พงศ์ สุขวิมล แต่เป็นการลงนามในฐานะพยานเท่านั้น และบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ไม่เคยผลิตวัคซีนใดมาก่อนผลิตวัคซีนโควิด -19 

พยานรับว่า ไม่เคยทราบมาก่อนว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ รวมทั้งรับว่า สยามไบโอไซเอนซ์ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 600 ล้านบาท และมีกำไรจากการผลิตวัคซีนครั้งนี้ ซึ่งมีการนำไปปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท รวมถึงรัชกาลที่ 10 

พยานคิดว่า ในการผลิตหรือนำเข้าวัคซีนโควิด – 19 บริษัทด้านชีววัตถุไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากรัฐบาลก่อน การที่บริษัทของพยานสามารถผลิตวัคซีนโควิดได้ ก็เนื่องมาจากว่าบริษัทของพยานมีเทคโนโลยีที่สามารถทำได้ และได้รับการคัดเลือกจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว โดยการผลิตวัคซีนครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า นอกจากวัคซีนโควิด บริษัทของพยานยังผลิตยาประเภทอื่นให้กับโรงพยาบาลโดยไม่เกี่ยวกับรัฐอีกด้วย 

พยานยอมรับว่า ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เคยมีหมายเรียกเอกสารสัญญาระหว่างบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และบริษัทแอสตร้าฯ แต่พยานไม่ได้จัดส่งไปให้ 

พยานไม่ทราบว่า บริษัทแอสตร้าฯ มีการเจรจาซื้อขายวัคซีนกับบริษัทอื่นในไทยหรือไม่ อย่างไร แต่รับว่า ช่วงวันที่ 23 ม.ค. 2564 ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีบริษัทเดียวที่ผลิตวัคซีนโควิดได้ในประเทศไทยคือบริษัทของพยาน แต่ไม่ทราบว่า ในขณะนั้นจะมีวัคซีนโควิดชนิดใดถูกผลิตออกมาแล้วบ้าง และพยานไม่ทราบเรื่องที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า บริษัทของพยานเป็นบริษัทเดียวที่ผลิตวัคซีนได้ 

ตอบอัยการถามติง

พยานไม่ทราบว่า ในการให้ข่าวของประยุทธ์จะมีข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน 

.

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เบิกความ ไทยไม่สั่งซื้อวัคซีนผ่าน COVAX เหตุไม่รู้จะได้รับวัคซีนยี่ห้อใด-เมื่อไหร่ แต่รับ ช่วงที่จำเลยแชร์โพสต์ ไทยยังไม่มีวัคซีนที่มีคุณภาพจริง

พยานโจทก์ชื่อ นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เบิกความอธิบายถึงโครงการ COVAX ว่า เป็นโครงการจัดหาวัคซีนร่วมกันระหว่างประเทศ โดยองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) ร่วมกับองค์การอนามัยโลกทำหน้าที่จัดหาวัคซีนโควิด – 19 ให้กับประเทศที่เข้าร่วมโครงการ COVAX 

พยานกล่าวต่อไปว่า ประเทศที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว หากเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำกับประเทศที่มีรายได้ต่ำปานกลาง จะได้รับวัคซีนฟรี ซึ่งมีทั้งหมด 92 ประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงระดับสูง จะต้องเสียเงินซื้อวัคซีน โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย แต่ไม่ได้ตัดสินใจซื้อวัคซีนผ่านโครงการ เนื่องจากเงื่อนไขยังไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในขณะนั้น

เงื่อนไขดังกล่าว ได้แก่ 1. ประเทศไทยจะต้องจ่ายเงินค่าวัคซีนล่วงหน้า โดยไม่ทราบว่าจะได้วัคซีนเมื่อไหร่ 2. ประเทศไทยไม่ทราบว่าจะได้รับวัคซีนชนิดใด และจะต้องยอมรับเงื่อนไขจากบริษัทวัคซีนดังกล่าวทั้งหมด ทำให้คณะกรรมการจัดหาวัคซีนไม่ได้ตัดสินใจสั่งซื้อวัคซีนผ่านโครงการนี้ 

พยานทราบว่า ประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้รับวัคซีนช้ากว่าที่กำหนด และหากประเทศไทยเข้าร่วมโครงการดังกล่าวก็คงได้รับวัคซีนช้ากว่าที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ พยานยืนยันว่า โพสต์ที่พนักงานสอบสวนได้ให้พยานดู มีข้อมูลไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วนตามข้อเท็จจริง

นครเบิกความต่อไปว่า ประเทศไทยไม่ได้สั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์บริษัทเดียว แต่ได้สั่งจากบริษัทซิโนแวกฯ บริษัทแอสตร้าฯ และบริษัทไฟเซอร์ฯ มาด้วย 

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ที่พยานเบิกความว่า ประเทศไทยจัดซื้อวัคซีนจากหลายบริษัท พยานไม่เคยให้การไว้กับพนักงานสอบสวนมาก่อน และในวันที่ 23 ม.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเลยแชร์โพสต์ตามฟ้อง ในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ฯ 

บริษัทแอสตร้าฯ ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาที่ทำกับกระทรวงสาธารณสุขว่า จะต้องส่งมอบวัคซีนจำนวนกี่โดสในแต่ละครั้ง สัญญาระบุเพียงว่า บริษัทแอสตร้าฯ จะส่งมอบวัคซีนให้กับกระทรวงครบตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ภายในเดือนธันวาคม 2564 โดยจะทยอยส่งมอบวัคซีนให้ทุกเดือน ชุดแรกในเดือนมิถุนายน 2564 แต่ปรากฏว่าบริษัทสามารถจัดส่งบางส่วนให้ได้ก่อนกำหนดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 

พยานทราบว่า มีการขอหมายเรียกสัญญาจัดซื้อวัคซีนจากศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้จัดส่งให้ทั้งหมดเท่าที่มีแล้ว 

บริษัทแอสตร้าฯ เป็นผู้เลือกให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตวัคซีน ไม่ใช่รัฐบาล รัฐบาลไม่ใช่ผู้ผูกขาดบริษัทดังกล่าว นอกจากนี้ การนำเข้าวัคซีนจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในขณะนั้นไม่มีบริษัทใดขออนุญาตกระทรวงสาธารณสุขในการนำเข้าวัคซีนโควิดเลย 

รัฐบาลไทยสนับสนุนเงินจำนวน 600 ล้านบาท ให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จริง โดยบริษัทดังกล่าวมีชื่อของรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่จริง 

พยานรับว่า มีการประชุมกันในเรื่องการจัดหาวัคซีนระหว่างบริษัทแอสตร้าฯ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และบริษัท SCG จริง แต่พยานไม่ทราบในรายละเอียดว่า บริษัท SCG มีรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ด้วยหรือไม่ 

หากประเทศไทยเข้าโครงการ COVAX ก็จะได้รับวัคซีนที่มีการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และโครงการดังกล่าวก็ไม่ตัดสิทธิการได้วัคซีนฟรีจากประเทศที่เข้าร่วม แม้จะเข้าร่วมโครงการแล้วประเทศต่าง ๆ ก็ย่อมมีสิทธิที่จะจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่นได้ แต่พยานไม่ทราบว่า ประเทศที่เข้าร่วม COVAX ได้รับวัคซีนยี่ห้อใด เป็นจำนวนเท่าไหร่บ้าง 

พยานยอมรับว่า ในเดือนมิถุนายน 2564 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวในอาเซียนได้รับวัคซีนทุกประเทศ ยกเว้นประเทศไทย โดยได้รับวัคซีนเป็นจำนวน 11 ล้านโดสเท่า ๆ กัน ไม่ว่าจะสั่งซื้อไปเป็นจำนวนกี่โดส พยานย้ำว่า การสั่งซื้อวัคซีนผ่านโครงการดังกล่าวไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะได้รับวัคซีนมาเท่ากับจำนวนที่สั่งซื้อไปหรือไม่ 

นอกจากมีวัคซีนยี่ห้อแอสตร้าฯ ซึ่งประเทศไทยสั่งซื้อเป็นจำนวนเงินกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับซิโนแวคแล้ว ประเทศไทยเพิ่งได้รับวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ในเดือนสิงหาคม 2564 โดยในช่วงวันที่ 23 ม.ค. – 24 มี.ค. 2564 นอกจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ก็ไม่มีบริษัทอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตวัคซีน

ช่วงเวลาที่โควิดระบาดอย่างหนัก รัฐบาลไม่ได้รับวัคซีนจากสยามไบโอไซเอนซ์ แต่ได้รับวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าฯ ก่อนกำหนดตามที่ได้เบิกความไว้ 

.

รอง ผกก.สืบสวน ยอมรับ ไม่ได้ตรวจสอบหาผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง ตรวจสอบเฉพาะเฟซบุ๊กของจำเลยที่แชร์โพสต์มาเท่านั้น

พยานโจทก์ชื่อ พ.ต.ท.ประวิทย์ วงษ์เกษม รองผู้กำกับการสืบสวน สน.ยานนาวา เบิกความว่า ในคดีนี้ภัทรวรรณ ได้เข้ามาแจ้งความว่า มีการแชร์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก พยานจึงได้ตั้งคณะทำงานสืบหาตัวบุคคลเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว โดยในภายหลังได้ทราบว่าเป็นคนเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ พยานพิจารณาข้อความแล้วเห็นว่า เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 จึงได้ส่งให้ พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร เพื่อตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยเพิ่มเติม 

นอกจากนี้ พยานยังได้ส่งเฟซบุ๊กของจำเลยไปให้ บก.ปอท. ตรวจสอบ เพื่อพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลด้วย แต่จากการตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมด และการแชรโพสต์ พ.ต.ต.ประวิทย์ไม่เคยเจอตัวจริงของจำเลยมาก่อน และยอมรับว่าการตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก พยานทำผ่าน บก.ปอท. อีกทีหนึ่ง 

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

เฟซบุ๊กของจำเลยมีการแชร์โพสต์และโพสต์ข้อความเป็นจำนวนมาก พยานจำไม่ได้ว่า มีการแชร์ข้อความเป็นจำนวนกี่โพสต์  

พยานตรวจสอบเฉพาะบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย ไม่ได้ตรวจสอบเพจคนไทยยูเค และบัญชีเฟซบุ๊กอีกบัญชีที่จำเลยไปแชร์โพสต์ข้อความมา เนื่องจากได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบแค่เฟซบุ๊กของจำเลยเท่านั้น 

ในการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย พยานมีหน้าที่แค่ยืนยันตัวบุคคลเจ้าของบัญชีดังกล่าวเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบข้อความ หรือดูว่าจำเลยมีการโพสต์แสดงความเห็นต่อโพสต์ที่แชร์มาหรือไม่ 

พยานจำไม่ได้ว่า เห็นข้อความหรือการกดถูกใจบนโพสต์ที่จำเลยแชร์มาหรือไม่  อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีคนกดถูกใจหรือเข้ามาแสดงความคิดเห็นก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีคนเห็นข้อความที่จำเลยแชร์มา เนื่องจากจำเลยได้ตั้งค่าการแชร์โพสต์เป็นสาธารณะ ซึ่งผู้ที่อ่านข้อความก็ต้องมีการพิจารณาข่าวสารและข้อมูลที่ได้รับก่อนที่จะเชื่อ

.

พนักงานสอบสวนปฏิเสธ ไม่ทราบว่าผู้กล่าวหาเป็นญาติกับภรรยาจำเลย – ไม่มีการดำเนินคดีผู้โพสต์ข้อความที่จำเลยแชร์มา

พยานโจทก์ชื่อ พ.ต.อ.คมสัน เลขาวิจิตร รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.ยานนาวา เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า ภัทรวรรณมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่มีการแชร์โพสต์จากเพจคนไทยยูเค 2 โพสต์ และเฟซบุ๊กที่วิจารณ์เรื่องตั๋วช้าง 1 โพสต์

พ.ต.อ.คมสัน เบิกความสอดคล้องกับ พ.ต.ท.ประวิทย์ ว่า จำเลยตั้งค่าโพสต์ที่แชร์ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาดูได้ พ.ต.อ.คมสัน ได้ให้ พ.ต.ท.ประวิทย์ สืบทราบตัวบุคคลเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว และทำหนังสือถึง บก.ปอท. โดยเมื่อ บก.ปอท. ตรวจสอบทราบตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กก็มีหนังสือตอบกลับมา พยานจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้

พยานเป็นพนักงานสอบสวนหลักในคดีนี้ โดยมี ร.ต.อ.ชนะศึก โรจนวิทยากร ร่วมสอบปากคำพยานหลายปาก ได้แก่ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ และระพีพงศ์ ชัยรัตน์

ในการสอบปากคำพยานเกี่ยวกับความเห็นต่อโพสต์ที่ถูกฟ้อง พยานได้สอบปากคำกับ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และประธานกรรมการบริหารบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ โดยถามความเห็นต่อโพสต์ที่เกี่ยวกับวัคซีน ตลอดจนสอบถามความเห็นนักวิชาการและบุคคลทั่วไป ได้แก่ ระพีพงศ์กับกิตติพงศ์ รวมทั้งสอบ พ.ต.ท.ประวิทย์ในฐานะพนักงานสืบสวน โดยทั้งหมดได้ให้ความเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า ข้อความที่จำเลยแชร์เป็นความผิดตามมาตรา 112 

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานเป็นผู้สอบปากคำ ภัทรวรรณ ผู้กล่าวหา แต่พยานไม่ทราบว่า ภัทรวรรณเป็นญาติของภรรยาของจำเลย พยานจำไม่ได้ด้วยว่า ในขณะสอบปากคำจำเลย จำเลยได้กล่าวถึงภัทรวรรณว่าเป็นญาติของภรรยาไว้ด้วย

พยานได้โทรไปหาระพีพงศ์เพื่อขอให้มาเป็นพยานในคดีนี้ เนื่องจากมีเบอร์ติดต่ออยู่แล้ว และเห็นว่าเคยไปให้การเป็นพยานในคดีอื่น ๆ มาก่อนหน้านี้ แต่พยานไม่ทราบว่า ระพีพงศ์เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. หรือไม่ และกลุ่ม ศปปส. มีหน้าที่ไปแจ้งความในคดีมาตรา 112 หรือไม่ อย่างไร รวมถึงที่ สน.ยานนาวา มีคดีมาตรา 112 ที่กลุ่มดังกล่าวไปแจ้งความไว้อยู่กี่คดี พยานก็ไม่ทราบ

ส่วนกิตติพงศ์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ พยานทำเป็นหนังสือส่งไปขอให้มาเป็นพยาน เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ โดยดูจากประวัติงานทางวิชาการ แต่พยานจำรายละเอียดไม่ได้ พยานไม่ทราบว่า กิตติพงศ์ไปเป็นพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112 คดีอื่นด้วยหรือไม่ 

ทนายจำเลยกล่าวว่า ระพีพงศ์และกิตติพงศ์มักจะไปเป็นพยานโจทก์และให้ความเห็นว่า การกระทำของจำเลยในคดี 112 หลาย ๆ คดีเป็นความผิดตามมาตรา 112 พ.ต.อ.คมสัน แย้งว่า พยานทั้งสองคนไม่ได้ลงความเห็นว่าทุกคดีเข้าข่ายผิดมาตรา 112 เสมอไป

พ.ต.อ.คมสัน ยอมรับว่า แม้จำเลยตั้งค่าเฟซบุ๊กไว้เป็นสาธารณะ ใครก็สามารถเข้าไปดูได้ แต่หากจะเข้าไปดู จะต้องกดเข้าไปที่โปรไฟล์ของจำเลยก่อน

ตามที่ปรากฏในภาพหลักฐาน จำเลยไม่ได้แสดงความคิดเห็นลงบนโพสต์ที่ตัวเองแชร์มา และไม่มีผู้ใดเข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วย ส่วนการแชร์โพสต์จะเป็นเพียงการเผยแพร่ให้คนอื่นรับรู้ โดยผู้แชร์ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือไม่ พยานเห็นว่า เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ไม่สามารถตอบได้ 

พยานไม่ได้ดำเนินคดีกับผู้โพสต์ข้อความที่จำเลยแชร์มาแต่อย่างใด

.

พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความและร่วมสอบพยานยืนยัน ไม่เคยทราบว่าผู้กล่าวหาเกี่ยวข้องกับจำเลยหรือไม่

พยานโจทก์ชื่อ ร.ต.อ.ชนะศึก โรจนพิทยากร รองสารวัตร (สอบสวน) สน.ยานนาวา เบิกความว่า พยานเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความ ซึ่งมีภัทรวรรณ ผู้กล่าวหาได้เดินทางมาที่ สน.ยานนาวา โดยบอกกับพยานว่าต้องการแจ้งความมาตรา 112 กับจำเลยในคดีนี้ 

พยานเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้ และได้สอบปากคำพยานร่วมกับ พ.ต.ท.คมสัน แต่เป็นเพียงผู้พิมพ์บันทึกคำให้การ และลงลายมือชื่อกำกับเท่านั้น ส่วนการสอบปากคำเป็นหน้าที่ของ พ.ต.ท.คมสัน 

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานไม่ได้ร่วมสอบปากคำภัทรวรรณที่เข้าให้การเพิ่มเติม ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 พยานอยู่ในวันที่ผู้กล่าวหามาแจ้งความเท่านั้น และไม่เคยทราบมาก่อนว่า ผู้กล่าวหาจะมีความสัมพันธ์รูปแบบใดกับจำเลยในคดีนี้ ส่วนพยานโจทก์ปากอื่น ๆ พยานก็ไม่ได้ร่วมสอบสวนด้วย 

กิตติพงศ์เบิกความชี้ การแชร์โพสต์ของจำเลยผิด ม.112 เนื่องจากข้อความในโพสต์ใส่ร้าย ร.10 – พระราชินี แม้รับว่า ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนเป็นเรื่องจริง

พยานโจทก์ชื่อ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ ตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ สอนในสาขาวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง 

เกี่ยวกับคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ให้พยานดูโพสต์ข้อความตามฟ้องรวม 3 โพสต์ แล้วถามความเห็น พยานเห็นว่า ในโพสต์ที่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 สื่อถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากมีภาพประกอบเป็นภาพของรัชกาลที่ 10 และมีคำว่า “พ่อหลวง” ทั้งมีข้อความที่กล่าวว่า รัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ แสวงหาผลประโยชน์กับการซื้อขายวัคซีน ทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนล่าช้า ซึ่งเป็นการใส่ความพระองค์ สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ และกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 

ส่วนโพสต์ข้อความที่เกี่ยวกับตั๋วช้าง พยานเห็นว่า เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจากพระองค์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายตำแหน่งในราชการตำรวจ การแชร์โพสต์ของจำเลยเป็นการใส่ความ ทำให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจผิดว่า พระราชินีมีส่วนเกี่ยวข้อง สร้างความเสื่อมเสียให้กับพระราชินี เข้าข่ายหมิ่นประมาท เป็นความผิดตามมาตรา 112 

และข้อความโพสต์สุดท้าย ซึ่งเป็นคำปราศรัยของมายด์ ภัสราวลี พยานมีความเห็นว่า เป็นการใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 ว่าใช้พระราชอำนาจในทางมิชอบ และแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และการแชร์โพสต์ของจำเลย แม้จะไม่ได้เป็นผู้เขียนข้อความเอง แต่จำเลยก็ได้เผยแพร่ข้อความดังกล่าวที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำที่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักงานศาลยุติธรรม และไม่เคยเขียนบทความทางวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 เผยแพร่ในวารสารระดับชาติมาก่อน แต่สาเหตุที่พยานได้เป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ ก็เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าพยานเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์

พยานเคยเข้าเบิกความในฐานะพยานโจทก์ในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 มาแล้วเป็นจำนวนหลายสิบคดี และในเกือบทุกคดีพยานได้เบิกความต่อศาลว่า พยานเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์ที่เป็นความผิดตามมาตรา 112

ในโพสต์ที่เกี่ยวกับการขายวัคซีนของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ นอกจากภาพของรัชกาลที่ 10 แล้วก็ยังมีภาพของประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ด้วย ขณะที่จำเลยแชร์ข้อความนี้มีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักทั่วประเทศ และเพื่อนบ้านหลาย ๆ ประเทศก็ได้มีความพยายามนำเข้าวัคซีนหลายชนิดจากหลายแห่งจริง 

พยานทราบว่า รัฐบาลจัดหาวัคซีนได้ล่าช้า แต่ไม่ทราบถึงสาเหตุ และทราบว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จริง โดยตามหลักการของธุรกิจหากบริษัทได้กำไรจากการขายสินค้า ผู้ถือหุ้นจะได้รับปันผลด้วย 

เกี่ยวกับโพสต์เรื่องตั๋วช้าง พยานไม่เคยเห็นพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 10 และราชินีมาก่อน และเอกสารที่รังสิมันต์แสดงในรัฐสภาที่ปรากฏพระปรมาภิไธยข้างท้ายเป็นพระปรมาภิไธยของจริงหรือไม่ พยานขอไม่ยืนยัน

พยานทราบว่า ในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารข้าราชการส่วนพระองค์ กษัตริย์มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการส่วนพระองค์ได้โดยที่ไม่ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

พยานทราบว่า มายด์ ภัสราวลี เป็นหนึ่งในแกนนำของกลุ่มคณะราษฎร และเห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มดังกล่าวมักจะเกินกว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ 

การวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์สามารถทำได้ แต่จะต้องทำภายใต้กฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิของกษัตริย์ ทั้งนี้ จากการติดตามข่าวสาร พยานเห็นว่า ข้อความที่จำเลยแชร์มาทั้ง 3 โพสต์ไม่เป็นความจริง 

.

คมสันเบิกความในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย ชี้ข้อความทั้งหมดเป็นการใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 – ราชินีให้เสียพระเกียรติ

พยานโจทก์ชื่อ คมสัน โพธิ์คง เป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย และเคยเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยรังสิต พยานได้อ่านข้อความทั้ง 3 โพสต์ตามฟ้องแล้วมีความเห็นว่า ในข้อความที่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด พยานเข้าใจว่าเป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ว่าหาผลประโยชน์กับวัคซีนโควิด และเข้าใจข้อความไปในทำนองว่า พระองค์ได้สั่งให้รัฐบาลไม่ต้องซื้อวัคซีนเพื่อให้รัฐบาลมาซื้อวัคซีนจากบริษัทของพระองค์

ข้อความที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องตั๋วช้างที่รังสิมันต์ โรม อภิปรายในรัฐสภา พยานไม่ทราบว่า เอกสารดังกล่าวจะเป็นเอกสารจริงหรือไม่ แต่พยานเห็นว่า ผู้ที่พบเห็นโพสต์สามารถเข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 และพระราชินี มีการแทรกแซงการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการตำรวจ 

ส่วนข้อความที่ 3 ซึ่งเป็นโพสต์คำปราศรัยของมายด์ ภัสราวลี ที่กล่าวหาว่ารัชกาลที่ 10 แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม พยานไม่เห็นว่าข้อความจะเป็นจริงอย่างไร และเห็นว่าข้อความทั้งสามตามฟ้องไม่เป็นข้อเท็จจริง ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย และเป็นการหมิ่นประมาทตามมาตรา 112

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านกฎหมายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับกฎหมายปกครอง เป็นอาจารย์สอนกฎหมายตั้งแต่ปี 2545 โดยสอนในสาขาวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอาญา ซึ่งพยานได้สอนเกี่ยวกับความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ด้วย แต่พยานไม่เคยเขียนบทความทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 112 ในวารสารระดับชาติ 

ในการแชร์โพสต์ของจำเลยไม่ปรากฏว่า จำเลยได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวต่อโพสต์ทั้งสามแต่อย่างไร 

ในโพสต์ที่เกี่ยวกับการซื้อขายวัคซีน แม้ไม่ได้กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 แต่เพียงผู้เดียวที่เป็นผู้สั่งให้รัฐบาลซื้อวัคซีนจากบริษัทที่พระองค์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ปรากฏเนื้อหาที่เกี่ยวกับประยุทธ์ จันทร์โอชาด้วย แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้ว เข้าใจได้ว่าโพสต์ดังกล่าวสื่อถึงการแสวงหาผลประโยชน์จากการขายวัคซีน และมีข้อความว่า สถาบันหากินเอาผลประโยชน์จากการซื้อวัคซีน พยานเข้าใจว่า คำว่า ‘สถาบัน’ หมายถึงกษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง คนทั่วไปได้ยินก็มักจะเข้าใจว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์ แต่ก็อาจจะหมายถึงหน่วยงานอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 2 เรื่องตั๋วช้าง พยานรับว่า ไม่มีข้อความที่เกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์ของรัชกาลที่ 10 กับราชินีแต่อย่างใด 

พยานทราบว่า หลังรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ และเกี่ยวกับการจัดกำลังทหารรักษาพระองค์ แต่พยานจำไม่ได้ว่าจะมีกฎหมายให้อำนาจกษัตริย์ในการแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ โดยที่ไม่ต้องมีพระบรมราชโองการหรือไม่ พยานเคยเห็นข่าวการแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ แต่จำไม่ได้ว่า มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการหรือไม่ 

.

ระพีพงษ์รับ เป็นสมาชิก ศปปส. มีหน้าที่ไปดำเนินคดี ม.112 กับประชาชนที่ทางกลุ่มเห็นว่าจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์

พยานโจทก์ชื่อ ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ เป็นสมาชิกกลุ่มศูนย์ร่วมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) เบิกความว่า พยานได้ดูโพสต์ข้อความทั้งสามตามฟ้องแล้ว เข้าใจว่า โพสต์เรื่องวัคซีนโควิด – 19 ทำให้ประชาชนเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นการใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย และทำให้ประชาชนเกลียดชังพระองค์

ส่วนโพสต์เกี่ยวกับตั๋วช้าง พยานเห็นว่า ข้อความในโพสต์และเอกสารที่รังสิมันต์ โรม แสดงในการอภิปรายในรัฐสภา เป็นการสร้างความเข้าใจผิดต่อรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ว่าทั้งสองพระองค์เกี่ยวข้องกับการเลื่อนชั้นยศของข้าราชการตำรวจระดับสูง โดยมีพระปรมาภิไธยของทั้งสองพระองค์ ซึ่งพยานไม่ทราบว่าจะเป็นพระปรมาภิไธยจริงของพระองค์หรือไม่ 

และโพสต์ที่ 3 เกี่ยวกับคำปราศรัยของมายด์ ภัสราวลี พยานเห็นว่า บุคคลดังกล่าวเป็นแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อยู่แล้วจำนวนหลายคดี ซึ่งได้พูดปราศรัยพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 ว่า พระองค์แทรกแซงการเมือง ทำให้บุคคลที่ไม่เข้าใจข้อเท็จจริง เข้าใจผิดได้ว่า รัชกาลที่ 10 มีการนำทรัพย์สมบัติของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว และการจัดตั้งกองกำลังเป็นของตัวเอง

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานประกอบอาชีพรับจ้าง มีรายได้ไม่แน่นอน และเป็นสมาชิก ศปปส. ซึ่งมี อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นแกนนำกลุ่ม ศปปส. จะคอยตรวจสอบหาคนที่โพสต์ข้อความที่หมิ่นประมาทกษัตริย์ พยานเองก็เคยได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีประชาชนทั่วไปในข้อหาตามมาตรา 112 เป็นจำนวนกว่า 20 คดี ทั้งยังเคยเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์มาหลายคดีแล้ว แต่พยานไม่ได้มีความเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาจะผิดตามมาตรา 112 ทั้งหมด

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากพนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา เนื่องจากเห็นว่า พยานเป็นสมาชิกของกลุ่มคนที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์ 

โพสต์ทั้งสามของจำเลยที่พนักงานสอบสวนให้พยานดู เป็นเพียงการแชร์มาเท่านั้น ไม่มีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม 

ในโพสต์เกี่ยวกับการซื้อขายวัคซีน พยานเห็นว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 เพราะเป็นข้อมูลที่ไม่มีหลักฐาน แต่ยอมรับว่าหากบริษัทสามารถทำกำไรจากสินค้าได้ ผู้ถือหุ้นก็จะได้รับเงินปันผลด้วย 

ส่วนโพสต์เรื่องตั๋วช้าง แม้พยานจะไม่เคยเห็นพระปรมาภิไธยของพระราชินี แต่เห็นว่าโพสต์ดังกล่าวทำให้คนเข้าใจได้ว่า ลายเซ็นท้ายเอกสารเป็นพระปรมาภิไธยของพระราชินี อย่างไรก็ตาม พยานไม่เคยเห็นข่าวว่า มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับรังสิมันต์ โรม พยานก็ไม่เคยเข้าแจ้งความดำเนินคดีรังสิมันต์ โรม

ส่วนโพสต์ที่ 3 ซึ่งเป็นคำปราศรัยของมายด์ ภัสราวลี พยานก็จำไม่ได้ว่าเคยแจ้งความดำเนินคดีมายด์จากการปราศรัยครั้งนั้นหรือไม่ แต่พยานทราบว่า หลังจากที่รัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการโอนย้ายกำลังพลไปเป็นข้าราชการส่วนพระองค์จริง แต่รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์หรือไม่ พยานไม่ขอตอบในเรื่องนี้

ระพีพงษ์เบิกความสรุปว่า จากข้อความตามฟ้องทั้งหมด พยานไม่เห็นว่าจะมีข้อเท็จจริงอย่างไร แต่คิดว่าการเผยแพร่ออกไปอาจทำให้ประชาชนที่ไม่ได้ติดตามการเมืองเข้าใจผิดได้ อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจของแต่ละบุคคลอาจจะไม่เหมือนกันได้ ขึ้นอยู่กับการตีความ

ตอบอัยการถามติง 

สาเหตุที่พยานไม่เข้าแจ้งความดำเนินคดีรังสิมันต์ โรม ก็เนื่องมาจากเป็นการอภิปรายของ สส. ในสภา ซึ่งมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง 

อาจารย์สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า โพสต์ตามฟ้องเป็นเพียงการตำหนิรัฐบาล – ตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์ ทั้งชี้ว่า รธน.รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของ ปชช. เช่นเดียวกับที่คุ้มครองกษัตริย์ไม่ให้ถูกฟ้องร้อง

พยานจำเลยชื่อ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอนในสาขาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ นิติปรัชญา และประวัติศาสตร์กฎหมาย เบิกความว่า พยานมีผลงานด้านวิชาการเป็นงานวิจัยเรื่องข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่ปี 2475 – 2550 มีการตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ โดยงานวิจัยดังกล่าวมุ่งเน้นกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 มีผลสรุปเป็นความเห็นทางวิชาการว่า ในการดำเนินการใดๆ พระมหากษัตริย์จะต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ บุคคลใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางแพ่งหรืออาญามิได้ 

พยานได้อ่านคำฟ้องทั้งหมดในคดีนี้แล้ว ในโพสต์ที่เกี่ยวกับวัคซีน พยานเห็นว่า เป็นเพียงการตำหนิรัฐบาลเรื่องการจัดการวัคซีน

ส่วนโพสต์ที่เกี่ยวกับตั๋วช้าง พยานเห็นว่า เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับพระราชินีเท่านั้นว่าพระองค์ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสูงหรือไม่ เช่นเดียวกับโพสต์คำปราศรัยของมายด์ ภัสราวลี ซึ่งเป็นเพียงการตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ไม่เป็นการหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 

พยานยังได้ระบุถึงข้อความที่ปรากฏในโพสต์ว่า “อยากจะขอถวายคำกราบบังคับทูลพระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุข ท่านควรครองตนเพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดี เหมาะสมกับการเป็นประมุขของประเทศ” ซึ่งพยานเห็นว่า เป็นถ้อยคำที่ให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์

รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ได้รับรองเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นไว้ ซึ่งพยานเห็นว่า ทั้งมาตรา 6 และมาตรา 34 มีคุณค่า ไม่ควรนำคุณค่าของมาตราใดมาลบล้างคุณค่าของอีกมาตราหนึ่ง

พยานเคยเข้าให้การเป็นพยานจำเลยต่อศาลในคดีมาตรา 112 มาแล้วหลายคดี และเคยเขียนบทความเผยแพร่ชื่อ “พ่อกูชื่อมานะ” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเห็นของพยานต่อมาตรา 112 ในฐานะพยานจำเลยที่ถูกเรียกตัวไปเบิกความในชั้นศาลมาแล้วหลายคดี

X