วันที่ 19 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัขดาฯ กำหนดนัดฟังคำพิพากษา ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ของ “ทีปกร” (สงวนนามสกุล) หมอนวดแผนไทยอิสระ วัย 37 ปี ในกรณีที่สืบเนื่องมาจากการโพสต์ข้อความและแชร์คลิปจากยูทูบ ตั้งคำถามและวิจารณ์กษัตริย์
สำหรับคดีนี้ ทีปกรถูกตำรวจนอกและในเครื่องแบบจาก สน.นิมิตรใหม่ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ราว 10 นาย เข้าค้นบ้านพักย่านคลองสามวาพร้อมหมายค้นในช่วง 6 โมงเช้าของวันที่ 13 ส.ค. 2564 โดยไม่มีทนายความร่วมกระบวนการด้วย
ในวันดังกล่าว ทีปกรได้เห็นหมายค้นเพียงครู่เดียวโดยยังไม่ทันได้อ่านรายละเอียดก่อนจะถูกตรวจค้น โดยตำรวจพยายามจะชค้นหาคอมพิวเตอร์และต้องการยึดคอมพิวเตอร์ทั้งหมดที่มีในบ้านซึ่งไม่ได้เป็นของเขา แต่เขาและครอบครัวไม่ยินยอม ท้ายที่สุด ทีปกรถูกยึดโทรศัพท์มือถือพร้อมให้บอกรหัสผ่านของเฟซบุ๊กและอีเมล โดยที่ไม่มีคำสั่งศาลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ต่อมาในวันที่ 15 ก.พ. 2565 ชญาพร นาคะผดุงรัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นฟ้องทีปกรต่อศาลอาญา และศาลรับฟ้อง โดยทนายความยื่นประกันตัวในชั้นพิจารณาคดี ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
คดีนี้ ศาลได้นัดสืบพยานรวมทั้งหมด 3 นัด โดยเป็นการสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 18 – 19 เม.ย. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 20 เม.ย. 2566 ทั้งนี้ อัยการได้นำพยานโจทก์เข้าสืบ 7 ปาก และทนายความได้นำพยานจำเลยเข้าสืบ 1 ปาก จนเสร็จสิ้น
ภาพรวมของการสืบพยาน: โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยนำเข้าข้อมูลที่หมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยการโพสต์ข้อความ พร้อมแฮชแท็ก ‘กษัตริย์มีไว้ทำไม’ พร้อมทั้งแชร์คลิปที่มีปกรูป ร.10 ด้านจำเลยต่อสู้เพียงโพสต์ตั้งคำถาม และไม่ได้เป็นเจ้าของคลิปวีดิโอที่แชร์
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยซึ่งเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก ได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ นําเข้าและเผยแพร่สู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยการแชร์คลิปวิดีโอจากยูทูบลงในเฟซบุ๊กของจําเลย ตั้งค่าการเข้าถึงเป็นสาธารณะ ซึ่งปรากฏภาพตัดต่อข้อความว่า “กษัตริย์มีไว้ทําไม” และมีการขีดทับสีแดงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่10 โดยมีข้อความหัวข้อวิดีโอที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ พร้อมโพสต์ข้อความว่า “#กษัตริย์มีไว้ทําไม ผู้มีบุญคุณต่อแผ่นดินคือเหล่าราษฎร…”
อัยการเห็นว่าข้อความและคลิปดังกล่าว เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทําให้รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกลบหลู่ และมีเจตนาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวไทยและอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
ทางด้านของจำเลย มีข้อต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้ทำภาพของรัชกาลที่ 10 ด้วยตนเอง ซึ่งคลิปวีดิโอที่โพสต์เป็นการแชร์มาจากยูทูบอีกทีหนึ่ง ตลอดจนการตั้งแฮชแท็กว่า ‘กษัตริย์มีไว้ทำไม’ เป็นเพียงการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ประชาชนสามารถตั้งคำถามได้
ผู้กล่าวหาจากกระทรวง DE — ได้รับมอบอำนาจและเป็นหนึ่งในผู้ตรวจสอบโพสต์ของจำเลย ร่วมกับตำรวจจาก ปอท. และผู้แทนกฎหมายรวม 4 ฝ่าย ทั้งหมดลงความเห็นว่าโพสต์เข้าข่าย ม.112
ศรัลก์ โคตะสินธ์ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ผู้รับมอบอำนาจจากปลัดกระทรวง ให้มาเป็นแจ้งความในคดีนี้
ศรัลก์เบิกความว่า พยานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของกระทรวง DE ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามการชุมนุม ในปี 2563 โดยพยานได้ตรวจสอบพบข้อความออนไลน์บนเฟซบุ๊กของจำเลย ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 และศูนย์ฯ ได้พบข้อความดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563
พยานเบิกความต่อไปว่า ตนเองเป็นผู้ตรวจสอบข้อความของจำเลย โดยจำเลยได้มีการโพสต์ภาพที่มีรอยขีดสีแดงทับบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 โดยมีหัวข้อวิดีโอที่เป็นข้อความวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ พร้อมโพสต์ข้อความว่า “#กษัตริย์มีไว้ทําไม ผู้มีบุญคุณต่อแผ่นดินคือเหล่าราษฎร…”
เมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าวแล้ว ก็พบว่า มีการเผยแพร่เป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งพยานได้เบิกความว่า ตนเองได้ประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่อีก 4 ฝ่าย เพื่อพิจารณาว่า โพสต์ดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ ประกอบด้วย
1.เจ้าหน้าที่กฎหมายจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2.เจ้าหน้าที่กองป้องกันและปราบปรามของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
3.เจ้าหน้าที่ตำรวจจากศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
4.เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.ปอท.
ทั้ง 4 ฝ่ายได้ลงความเห็นว่า ข้อความที่โพสต์เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 และการโพสต์เป็นการนำเข้าข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยพยานได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนตามบันทึกประจำวันไว้ แต่ใครจะเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้พยานไม่ทราบ และไม่เคยเจอหน้ามาก่อน
จากนั้น ศรัลก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานจบการศึกษาทางด้านนิติศาสตร์จริง แต่ไม่ได้เข้าอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีใดๆ ซึ่งตัวพยานเองก็ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป
เมื่อทนายถามว่า ตามที่พยานได้เบิกความไปว่ามีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการกระทำผิดจากการเข้าร่วมชุมนุม พยานต้องตรวจสอบผ่านโซเชียลมีเดียใดบ้าง ซึ่งพยานได้ตอบว่าสื่อที่ต้องเฝ้าระวังมีตั้งแต่ ทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก และยูทูบ
นอกจากนี้พยานยอมรับตามที่ทนายถามค้านว่า ในปี 2563 มีการชุมนุมเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และกลุ่มผู้ชุมนุมในขณะนั้น ก็มีทั้งคนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
เมื่อทนายจำเลยถามค้านว่า ยูทูบเป็นแพลตฟอร์มที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปอัปโหลดคลิปวีดิโอต่างๆ ได้ด้วยตนเอง โดยผู้อัปโหลดจะต้องทำการสมัครสมาชิกกับยูทูบไว้ก่อนใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ และยังทราบว่าในการใช้งานบนยูทูบมี 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือการอัปโหลดคลิปหรือ Live บนยูทูบ และการเข้าไปรับชมคลิปที่มีผู้อัปโหลดไว้
พยานยังยืนยันข้อเท็จจริงตามที่ทนายจำเลยถามค้านว่า หากในกรณีที่ผู้ใช้งานได้ทำการ Live บนแพลตฟอร์มดังกล่าวเสร็จสิ้น คลิปวีดิโอจะถูกบันทึกไว้เป็นวีดิโอที่สามารถดูย้อนหลังได้ โดยเจ้าของคลิปสามารถแก้ไข และสร้างปกคลิปได้หลังจากนั้น ทำให้ผู้ชมที่มารับชมคลิปย้อนหลังจะเห็นปกคลิปก่อนที่จะเห็นเนื้อหาของคลิปดังกล่าว
ซึ่งตามพยานหลักฐานโจทก์ก็ปรากฏว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นการแชร์คลิปวีดิโอจากยูทูบ ที่มีการถ่ายทอดสดและบันทึกไว้ให้สามารถดูย้อนหลังได้ โดยในภาพปกคลิปได้ปรากฏรูปรัชกาลที่ 10 พร้อมสัญลักษณ์ขีดเส้นทับ และมีชื่อคลิปที่เป็นการวิพากษ์วิจารณษกษัตริย์ เผยแพร่ผ่านช่องยูทูบชื่อ FAIYEN CHANNEL ซึ่งมีกำหนดค่าเป็นสาธารณะที่ผู้ใดก็สามารถเข้าถึงได้
ทนายจำเลยได้ถามพยานอีกว่า มีเพียงเจ้าของช่องเท่านั้นที่จะสามารถกำหนดค่าต่างๆ ได้ ไม่ใช่จำเลยในคดีนี้ใช่หรือไม่ ซึ่งพยานตอบว่า ใช่
ทนายได้ถามต่อไปว่า ในคลิปที่เป็นการถ่ายทอดสดจะสามารถตรวจสอบได้ว่า เริ่มต้นถ่ายทอดสดตั้งแต่เวลาใดถึงเวลาใด และเมื่อผ่านไปเป็นระยะเวลาหลายวัน ในรายละเอียดคลิปดังกล่าวจะระบุว่า โพสต์วันที่เท่าใด เดือนและปีไหน ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ในรายละเอียดดังกล่าวพยานไม่ทราบ และยังรับว่า พยานไม่ได้ตรวจสอบว่า จำเลยได้แชร์คลิปวีดิโอดังกล่าวไปที่เฟซบุ๊กของตนเองในขณะที่มีการถ่ายทอดสดอยู่ หรือหลังจากคลิปถูกบันทึกเป็นวีดิโอให้รับชมย้อนหลังแล้ว อีกทั้งพยานก็ไม่ได้ตรวจสอบว่า ใครเป็นเจ้าของช่องยูทูบดังกล่าวอีกด้วย
ทั้งนี้ อัยการได้ถามติงพยานว่า คำว่า Live คือการถ่ายทอดสด โดยในการแชร์คลิปวีดิโอจะเป็นการแชร์ลิงค์มาโพสต์นั้น จำเลยจะต้องกระทำด้วยตนเองหรือไม่ ซึ่งพยานตอบว่า ใช่ แต่พยานไม่ได้ตรวจสอบว่าจะมีบุคคลอื่นร่วมแชร์คลิปวีดิโอดังกล่าวด้วยหรือไม่ อย่างไร
.
ผู้ทำความเห็นให้ปิดกั้นเฟซบุ๊กของจำเลย — พิจารณาจากรายงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ไม่ทราบรายละเอียดว่าเจ้าของช่องยูทูบเป็นใคร
สัจจะ โชคบุญส่งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองปราบปราม ประจำสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีหน้าที่รับผิดชอบสอดส่องดูแลเว็บไซต์ที่มีการกระทำผิดกฎหมาย และปิดกั้นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอื่นๆ ที่ได้รับการร้องขอ ตลอดจนสนับสนุนข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน พยานจบการศึกษาในระดับปริญญาโท ด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ
สัจจะเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ในคดีนี้ พยานได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ว่ามีการโพสต์ที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ตามฟ้อง โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบว่า มีการโพสต์ข้อความในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ซึ่งพยานได้ทำการนำเสนอเรื่องให้มีการปิดกั้นเฟซบุ๊กของจำเลยตามกระบวนการทางกฎหมาย จากนั้นฝ่ายกฎหมายของกระทรวงได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าว
พยานอธิบายต่อไปถึงวิธีการสมัครเข้าใช้งานเฟซบุ๊กว่า จะต้องมีการลงทะเบียนด้วยอีเมล หรือเบอร์โทรศัพท์ เพื่อยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน โดยในการโพสต์จะสามารถตั้งค่าได้ 3 แบบ คือ โพสต์เป็นสาธารณะ, โพสต์ให้เห็นได้เฉพาะเพื่อน หรือโพสต์ให้เห็นได้เฉพาะเจ้าของบัญชีเท่านั้น และหากจะตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กว่าผู้ใช้งานมีตัวตนจริงหรือไม่ สามารถทำได้หลายช่องทาง ได้แก่ การตรวจสอบ IP Address, Copy Link โปรไฟล์ หรือพยานแวดล้อมของบัญชีเฟซบุ๊กนั้นๆ เช่น ภาพถ่ายต่างๆ หรือข้อความที่โพสต์ การใช้ภาษา ซึ่งจะต้องนำปัจจัยทั้งหมดมาวิเคราะห์ร่วมกัน
ทนายจำเลยถามค้านพยานในเวลาต่อมาว่า ในส่วนงานของพยานได้มีหน้าที่ในการเฝ้าระวังการกระทำผิดที่เกิดจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอย่างเดียวหรือไม่ พยานได้ตอบว่า พยานไม่ได้เป็นผู้มีหน้าที่เฝ้าระวังการกระทำผิดเกี่ยวกับทางการเมืองอย่างเดียว แต่พยานจะต้องติดตามและเฝ้าระวังสื่อลามกต่างๆ ด้วย
ในคดีนี้พยานไม่ได้เข้าไปดูหน้าโปรไฟล์เฟซบุ๊กของจำเลยด้วยตนเอง แต่พยานได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่อีกทีหนึ่งเท่านั้น ซึ่งตัวพยานสามารถตอบได้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานเอกสารเท่านั้น
เมื่อถามถึงภาพปกคลิปที่มีรูปของรัชกาลที่ 10 และข้อความตามฟ้องต่างๆ พยานยืนยันตามที่ทนายถามค้านว่า จะต้องเจ้าของบัญชียูทูบดังกล่าวเท่านั้น ถึงจะสามารถแก้ไขและเปลี่ยนแปลงภาพปกคลิปและชื่อคลิปได้ แต่พยานไม่ทราบในรายละเอียดว่า ในการตั้งค่าหน้าปกคลิป จะสามารถดึงภาพมาจากที่อื่นได้หรือไม่ และหากคลิปดังกล่าวเป็นคลิปถ่ายทอดสดที่มีการบันทึกไว้บนยูทูบให้ผู้ชมสามารถมาดูย้อนหลังได้ เจ้าของช่องจะสามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ แต่พยานได้ทำการปิดกั้นช่องดังกล่าวในยูทูบแล้ว
พยานไม่แน่ใจว่า จากการตรวจสอบ เจ้าของช่องที่ทำการเผยแพร่คลิปบนยูทูบจะเป็นใคร เนื่องจากพยานไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว
.
พยานนักวิชาการที่ให้ความเห็น — ชี้ภาพปกและวีดิโอคลิปเป็นการดูถูกเหยียดหยามกษัตริย์ว่าไม่มีประโยชน์ต่อสังคม
กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนในสาขากฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายสิทธิขั้นพื้นฐาน กฎหมายศาลปกครอง มีประสบการณ์เขียนหนังสือเกี่ยวกับการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริยในรัฐธรรมนูญและมาตรา 112 และเขียนบทความถึงการไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ 10 ข้อ ในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
กิตติพงศ์เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ ตำรวจได้เชิญพยานมาให้ความเห็นต่อโพสต์ข้อความ เนื่องจากพยานได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ไว้ โดยพยานดูโพสต์ของจำเลยแล้วเห็นว่า เป็นการกระทำที่เข้าข่ายมาตรา 112 และเมื่อดูภาพปกคลิปที่แชร์มาจากยูทูบก็พบว่า มีการมุ่งหมายถึงรัชกาลที่ 10 ว่าเป็นผู้ที่ใช้ภาษีอากรของประชาชนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของพระองค์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง
และพยานได้ทำความเห็นว่า หากประชาชนทั่วไปพบเห็นข้อความดังกล่าวตรงนี้ จะทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ดี ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ โดยเฉพาะเครื่องหมายเส้นสีแดงที่ขีดบนรูปของรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นภาพปกคลิปจากยูทูบ ก็เป็นการสื่อถึงการปฏิเสธสถาบันกษัตริย์ และคำว่า “ขยะสังคม” โดยทั่วไปก็ใช้ดูถูกเหยียดหยาม เป็นคนไม่มีประโยชน์ต่อสังคม
ส่วนคำว่า “ปรสิต” มีความหมายว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยเกาะกินกับสิ่งมีชีวิตตัวอื่น ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วย่อมหมายความได้ว่า กษัตริย์เป็นผู้เกาะกินประเทศไทย หรือสิ่งมีชีวิตที่ต่ำ ซึ่งเป็นการดูหมิ่นพระองค์อีกด้วย
ทั้งนี้ พยานให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า โพสต์ดังกล่าวของจำเลยมีความหมายชัดเจนว่า ต้องการจะสื่อสารถึงรัชกาลที่ 10 เพราะรูปประกอบชัดเจน โดยในข้อความที่จำเลยโพสต์มีปรากฏคำว่า ‘ภาษี’ พยานอธิบายว่า เป็นการพูดถึงว่ากษัตริย์ได้เป็นผู้ใช้ภาษีของประชาชน ซึ่งไม่เป็นความจริง และคำว่า ‘ราษฎร’ หมายถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งตามความหมายของกลุ่มผู้ชุมนุมคือ ราษฎรที่เป็นผู้เลี้ยงดูกษัตริย์ ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง
จากนั้น พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบว่า ช่วงที่เกิดเหตุในคดีนี้มีการเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย พยานเองได้ไปให้การในฐานะพยานโจทก์ ในคดีมาตรา 112 มาแล้วกว่า 10 คดี ซึ่งเป็นการไปให้ความเห็นทางวิชาการว่า การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 สำหรับข้อความตามฟ้องในคดีนี้ พยานไม่ทราบว่า เป็นข้อความที่ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หรือไม่
ทนายจำเลยถามว่า หากโพสต์ตามฟ้องไม่มีภาพรัชกาลที่ 10 ประกอบ ก็จะไม่สามารถบอกได้ว่าหมายถึงกษัตริย์องค์ใดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ แต่อธิบายใหม่ว่า ข้อความตามฟ้องหมายถึงรัชกาลที่ 10 เพราะภาพปกของคลิปวีดิโอ เป็นภาพที่ปรากฏรูปของในหลวงรัชกาลที่ 10 ชัดเจน
.
ประชาชนผู้ให้ความเห็นทั่วไป — ประชาชนจากกลุ่ม ศปปส. ชี้เป็นการจาบจ้วงสถาบันฯ ไม่สมควรตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของกษัตริย์
ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ อาชีพรับจ้างทั่วไป เบิกความว่า พยานจบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี สาขาจิตรกรรม วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ เนื่องจากในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 กลุ่ม ศปปส. นำโดยอานนท์ กลิ่นแก้ว ได้ไปยื่นหนังสือถึงกระทรวง DE ร้องเรียนเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ในทางสื่อออนไลน์
พยานได้รับการติดต่อจาก DE ในช่วงปี 2564 ให้เข้ามาเป็นพยานในคดีนี้ เนื่องจากเป็นผู้ประสานงานของ ศปปส. ทำหน้าที่คอยติดตามกลุ่มคนที่จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ทางอินเตอร์เน็ต
พยานได้ดูรูปและโพสต์ตามฟ้องจากพนักงานสอบสวนที่เรียกให้พยานเข้าให้ปากคำแล้วมีความเห็นตั้งแต่คำว่า กษัตริย์มีไว้ทำไม ซึ่งพยานคิดว่าไม่สมควรจะตั้งคำถามนี้ เนื่องจากในประเทศของเรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม และที่กล่าวหาว่ากษัตริย์ทรงกินภาษีประชาชน พยานก็เห็นว่า เป็นการใส่ร้ายกษัตริย์
สำหรับภาพปกคลิปที่เป็นรูปรัชกาลที่ 10 มีการขีดเส้นสีแดงคร่อมรูป ซึ่งตามความเข้าใจของพยาน เป็นการสื่อถึงการไม่ยอมรับ ไม่ต้องการกษัตริย์ อีกทั้งข้อความที่เป็นชื่อคลิป พยานมองว่า มันมีความรุนแรง คำว่า ‘กษัตริย์’ เป็นการหมายถึงกษัตริย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และคำว่า ‘ขยะ’ คือสิ่งปฏิกูล รวมถึงคำว่า ‘ปรสิตประเทศ’ ก็คือการเปรียบเทียบกับสัตว์ พยาธิ เมื่อนำเอาคำทั้งหมดมารวมกัน จึงเห็นได้ว่าเป็นการด้อยค่าเกียรติยศของรัชกาลที่ 10
เมื่อทนายจำเลยถามค้านพยานว่า พยานมาจากกลุ่ม ศปปส. ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2563 โดยเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชน ไม่ได้จดทะเบียนเป็นสถาบันหรือองค์กรใช่หรือไม่ ระพีพงษ์ยอมรับตามที่ทนายถาม ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า กลุ่มของพยานเป็นการรวมตัวกันของประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เพื่อติดตามและดำเนินการแจ้งความกับกลุ่มคนที่จาบจ้วงสถาบันฯ โดยทางกลุ่มมีหน้าที่ไปกล่าวโทษ แจ้งความในคดีมาตรา 112 กับผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 ซึ่งระบุว่าประชาชนต้องธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเข้าแจ้งความกับผู้ที่เห็นต่างแล้วกว่า 100 คดี เฉพาะพยานเองแจ้งความกว่า 50 คดี
ทนายจำเลยถามอีกว่า ในเมื่อพยานมาให้ปากคำในฐานะประชาชนทั่วไป แต่ตามคำเบิกความพยานมีประสบการณ์การเข้าเบิกความในคดีมาตรา 112 หลายคดีใช่หรือไม่ พยานตอบทนายว่า ตนเองได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากตำรวจมีรายชื่อของกลุ่มพยานและมีเบอร์ติดต่อกันอยู่แล้ว จึงมักเรียกไปให้ปากคำเป็นพยานอยู่บ่อยครั้ง
.
พนักงานสืบสวน — ยอมรับว่าไม่ได้มีการแจ้งสิทธิให้กับจำเลยทราบก่อนในการเข้าไปตรวจค้น ทั้งไม่ได้ตรวจสอบว่า ใครเป็นเจ้าของช่อง FAIYEN CHANNEL
พ.ต.ท.อาจินต์ วังวรรธนะ ชุดสืบสวน ประจำกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มีหน้าที่ในการสืบสวนและจับกุมคดีอาชญากรรมทุกประเภท เบิกความว่า คดีนี้ มีเหตุจากวันที่ 13 ต.ค. 2563 โดยมีเฟซบุ๊กโพสต์และแชร์คลิปวีดิโอตามฟ้อง ซึ่งพยานได้รับการร้องทุกข์จากกระทรวง DE ให้ทำการสืบสวนหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับโพสต์และภาพปกคลิปที่จำเลยได้แชร์มาตามฟ้อง โดยคลิปดังกล่าวเป็นการแชร์ลิงค์จากช่องยูทูบที่ชื่อว่า FAIYEN CHANNEL
หลังจากนั้น พยานได้ดำเนินการตรวจสอบโปรไฟล์เฟซบุ๊กของจำเลยที่ใช้ชื่อจริง โดยได้ปรากฏเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งเมื่อนำไปตรวจสอบข้อมูล Prompay ก็พบว่าเป็นชื่อและนามสกุลเดียวกัน นอกจากนี้ได้มีการตรวจสอบรูปภาพต่างๆ ในเฟซบุ๊กของจำเลยได้พบภาพถ่ายบัตรนักศึกษาวิชาทหาร ภาพถ่ายบัตรสมาชิก นปช. และมีการโพสต์ในลักษณะพาดพิงถึงสถาบันฯ อีกหลายข้อความ
พยานได้เบิกความถึงโพสต์ในวันอื่นๆ นอกจากโพสต์ตามฟ้อง โดยได้ปรากฏว่า จำเลยได้มีการโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2563 ถึงการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยปรากฏภาพวันเฉลิมถูกคลุมถุงดำบริเวณศีรษะ ใต้ภาพมีข้อความพาดพิงถึงกษัตริย์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการหายตัวไปของวันเฉลิม และมีข้อความอื่นๆ อีกหลายครั้งที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112
ซึ่งเมื่อทำการตรวจสอบต่อไป ในทะเบียนราษฎร์ของจำเลย พบว่าจำเลยมีภาพโปรไฟล์ที่ตรงกันกับในทะเบียนราษฎร์ จึงได้ทำการขอออกหมายค้น จากศาลอาญามีนบุรี ซึ่งได้ออกหมายค้นให้ในวันที่ 11 ส.ค. 2564 และได้เข้าไปทำการตรวจค้นบ้านของจำเลยในวันที่ 13 ส.ค. 2564 พบว่าจำเลยอยู่บ้าน จึงได้ทำการตรวจโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพบว่าโทรศัพท์ได้ผูกบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาจริง และจำเลยได้ยอมรับว่า บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของจำเลยจริง จากนั้นพยานได้นำภาพพยานหลักฐานให้จำเลยลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง
หลังการตรวจค้น พยานได้ทำบันทึกการตรวจค้นและบันทึกความยินยอมให้ตรวจสอบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ จากนั้นพยานได้รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้พนักงานสอบสวนในคดีนี้
ต่อมา ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานว่า เกี่ยวกับคดีนี้ บก.ปอท. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวน แต่ไม่ปรากฏชื่อพยานเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสืบสวนดังกล่าวใช่หรือไม่ พยานอธิบายว่า ตนเองได้รับการร้องขอให้เข้าร่วมเป็นคณะพนักงานสืบสวนภายหลังจากที่มีคำสั่งแต่งตั้งแล้ว
ทนายจำเลยถามต่อไปว่า การตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยในคดีนี้ พยานใช้เฟซบุ๊กของจำเลยเข้าไปตรวจสอบเองใช่หรือไม่ พยานตอบว่า จำเลยได้ตั้งค่าบัญชีเฟซบุ๊กเป็นสาธารณะที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ ซึ่งหมายความว่าผู้เข้าไปดูโปรไฟล์ของจำเลยจะมีบัญชีเฟซบุ๊กหรือไม่มีก็ได้
นอกจากนี้ พยานได้ยอมรับตามที่ทนายจำเลยถามว่า การตรวจสอบวันเวลาในการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก สามารถตรวจสอบได้จากการนำลูกศรบนหน้าคอมพิวเตอร์ไปชี้ที่ตัวชั่วโมงที่โพสต์ ซึ่งจะแสดงวันและเวลาที่โพสต์นั้นได้อัปโหลดลงบนเฟซบุ๊ก
พยานยืนยันว่า ผู้ใช้ยูทูบสามารถถ่ายทอดสดได้ โดยหากดูจากโพสต์ของจำเลย อาจจะเป็นการแชร์คลิปขณะที่มีการไลฟ์สดไปลงบนเฟซบุ๊ก หรือจำเลยอาจจะไปเห็นคลิปถ่ายทอดสดย้อนหลังแล้วนำมาโพสต์อีกทีหนึ่งก็ย่อมได้
พยานยอมรับตามที่ทนายจำเลยถามว่า ในการบันทึกคลิปวีดิโอให้รับชมย้อนหลัง เจ้าของช่องจะสามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลงภาพปกคลิปได้ นอกจากนี้ ถ้อยคำต่างๆ ที่ปรากฏในคลิปวีดิโอและบนปกคลิปวีดิโอเป็นการกำหนดค่าของเจ้าของช่องยูทูบดังกล่าวเอง อย่างไรก็ตาม พยานไม่ได้ตรวจสอบช่องยูทูบดังกล่าว ซึ่งในตอนนี้ได้ถูกปิดกั้นการเข้าถึงไปแล้ว แต่ในขณะที่พยานทำการสืบสวนนั้นคลิปยังไม่ถูกปิดกั้นการเข้าถึง
พยานยังได้ยอมรับว่า ไม่ได้มีการแจ้งสิทธิให้กับจำเลยทราบก่อนในการเข้าไปตรวจค้น แต่ได้ทำการแจ้งในภายหลังจากที่ได้ทำบันทึกการตรวจค้นแล้ว
.
ผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานทางเทคโนโลยี — เบิกความได้รับมอบหมายเพียงแค่ให้เข้าถึงโทรศัพท์เท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลในเฟซบุ๊กของจำเลย
ร.ต.ต.พีรยศ ใสสกุล กองกำกับการ 1 บก.ปอท. ผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานทางเทคโนโลยีในคดีนี้ เบิกความว่า พยานมีหน้าที่ตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน โดยพนักงานสอบสวนในคดีนี้ได้นำส่งมือถือของกลางมาให้พยานตรวจสอบว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่มีการล็อกอินในโทรศัพท์เครื่องดังกล่าว มีจำเลยเป็นเจ้าของจริงหรือไม่
จากการตรวจสอบ พยานพบว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาเป็นของจำเลยจริง ซึ่งมีการโพสต์ข้อความในลักษณะพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ และได้พบโพสต์ตามฟ้องจากโทรศัพท์ของกลาง มีการโพสต์รูปภาพ และข้อความต่างๆ ตามพยานหลักฐานที่ได้รับมาจริง โดยพยานได้พบอีเมลของจำเลยอีกด้วย
ต่อมา ร.ต.ต.พีรยศ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานจบการศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ก่อนจะมารับราชการตำรวจ ซึ่งในตำแหน่งงานของพยานมีหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเป็นการตรวจพิสูจน์อุปกรณ์ต่างๆ ตามที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้และร้องขอเท่านั้น
การตรวจสอบในคดีนี้ พยานได้แยกหน่วยความจำจากโทรศัพท์ลงมาในคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะใช้โปรแกรมเฉพาะทางในตรวจพิสูจน์ของกลาง แต่ก็ไม่ถึงขนาดสามารถจะดึงโพสต์ของจำเลยมาเก็บไว้ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ได้
ร.ต.ต.พีรยศ ยอมรับว่า คดีนี้พยานได้รับมอบหมายเพียงแค่ให้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ของจำเลยเท่านั้น แต่ไม่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้เข้าถึงข้อมูลบนบัญชีออนไลน์ ซึ่งการตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์ของกลางของจำเลยกับโพสต์ในเฟซบุ๊กเป็นคนละส่วนกัน
.
พนักงานสอบสวน — พยานโจทก์ทั้งหมด ไม่ทราบว่าใครจะสังกัดกลุ่มใดบ้าง หรือไปเบิกความกล่าวหาประชาชนในคดี ม.112 มาแล้วกี่คดี
พ.ต.ต.นัฎ จินดาโชติอมร สารวัตรสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้ เบิกความว่า เมื่อปี 2563 กระทรวง DE ได้ตรวจสอบพบบัญชีเฟซบุ๊กซึ่งโพสต์ข้อความและแชร์คลิปตามฟ้อง พยานจึงได้รับมอบหมายตามหนังสือแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ให้หาตัวผู้กระทำผิดซึ่งใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว
พยานได้ทำหนังสือถึงกระทรวง DE ให้ตรวจสอบว่า ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยหรือไม่ แต่ทางกระทรวงไม่สามารถตรวจสอบได้ พยานจึงได้หารือกับคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน จนกระทั่งมีการขอศาลออกหมายค้นเมื่อช่วงปี 2564
หลังการตรวจค้นที่พักของจำเลย เจ้าหน้าที่ได้ส่งมอบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้กับพยาน จากนั้นพยานได้สอบปากคำพยานบุคคลในคดีนี้ทั้งหมด และในวันที่ 23 ส.ค. 2564 พยานได้แจ้งข้อกล่าวหากับจำเลยซึ่งเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา โดยจำเลยได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น
พนักงานสอบสวนตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในการแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 พยานบรรยายพฤติการณ์คดีให้จำเลยทราบเพียงว่า จำเลยได้โพสต์ข้อความและแชร์ภาพที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ไม่ได้แจ้งว่า มีการแชร์ลิงค์จากคลิปวีดิโอบนยูทูบ เนื่องจากพยานเข้าใจในตอนแรกว่า เป็นเพียงภาพธรรมดา เมื่อดูรายละเอียดในภายหลังจึงพบว่า เป็นภาพปกคลิปที่จำเลยได้แชร์มาลงบนเฟซบุ๊ก
พยานยอมรับตามที่ทนายถามค้านว่า หลังจากได้พยานหลักฐานจากกระทรวง DE มา พยานก็ไม่เคยเข้าไปดูว่า มีคลิปปรากฏตามที่ระบุในพยานหลักฐานต่างๆ จริงหรือไม่ พยานไม่ทราบด้วยว่า พยานบุคคลอย่างกิตติพงศ์ จะเข้าให้การในฐานะพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112 มาแล้วกี่คดี และพยานจำไม่ได้ว่า ได้ไปติดต่อกิตติพงศ์มาเป็นพยานด้วยตนเองหรือไม่
ในส่วนของระพีพงษ์ที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ก็เป็นประชาชนที่เข้ามาติดต่อธุระที่ศูนย์ราชการ พยานจึงได้เชิญมาสอบปากคำเป็นพยานในคดีนี้ แต่พยานจำไม่ได้ว่า ระพีพงษ์เข้ามาติดต่อธุระในเรื่องอะไร และไม่ทราบว่า ระพีพงษ์เป็นผู้ประสานงานของ ศปปส. หรือไม่ และเป็นพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112 มาแล้วกี่คดี
.
ทีปกร — เบิกความชี้เพื่อสร้างคุณค่าให้สถาบันกษัตริย์ว่า การมีกษัตริย์มีประโยชน์อะไรบ้าง ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะคิดล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทีปกร อายุ 38 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นหมอนวดแผนไทยอิสระ โดยพยานได้เคยเปิดร้านนวดแผนไทยเป็นของตนเอง แต่ต่อมาเจอโรคระบาดโควิด – 19 ทำให้เศรษฐกิจซบเซาจึงต้องปิดกิจการลง ซึ่งปัจจุบันพยานได้รับงานนวดแผนไทยอิสระตามร้านต่างๆ แทน
ในคดีนี้ พยานยอมรับว่า เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องจริง โดยเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 พยานเป็นผู้พิมพ์ข้อความตามฟ้องด้วยตนเอง ส่วนที่มีการแชร์ลิงค์คลิปวีดิโอจากยูทูบนั้น เป็นความบังเอิญที่พยานได้เข้าไปเห็นในหน้าไทม์ไลน์ของยูทูบ ซึ่งปรากฏคลิปวีดิโอดังกล่าวขึ้นมา มีรายละเอียดพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ทำให้พยานเกิดความสนใจและกดเข้าไปฟังในคลิปดังกล่าว
ซึ่งพยานได้ฟังผู้จัดรายการพูดคุยกันถึงประวัติศาสตร์ในอดีตที่ประชาชนมีหน้าที่จ่ายภาษีอากรให้กับผู้ปกครองบ้านเมือง และได้มีการพูดถึงน้ำพักน้ำแรงของประชาชนที่สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้สถาบันการเมืองและสถาบันกษัตริย์ใช้บริหารราชการแผ่นดิน แต่เนื่องจากเป็นเวลาใกล้ปิดร้าน ตนจึงได้นำลิงค์วีดิโอดังกล่าวไปโพสต์แชร์ไว้บนหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง เพื่อที่จะได้เก็บไว้ดูต่อในภายหลังได้
ศาลได้ตั้งคำถามกับพยานเองว่า เหตุใดจึงได้โพสต์ข้อความไปในการแชร์วีดิโอด้วย พยานตอบว่า การที่พยานโพสต์ว่า กษัตริย์มีไว้ทำไม เป็นการตั้งคำถามถึงคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ที่มีมาตั้งแต่อดีต ส่วนราษฎรคือหมายถึงทุกคนในประเทศนี้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างประเทศชาติขึ้นมา
พยานอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ในอดีตประเทศไทยไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในคลิปวีดิโอดังกล่าวเป็นการตั้งคำถามและถอดเกล็ดประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทย และในปัจจุบันนี้มีกลุ่มคนบางกลุ่มได้พยายามแอบอ้างสถาบันฯ เพื่อทำลายชาติและสร้างความแตกแยกของคนในชาติ
ศาลถามอีกว่า ที่โพสต์แฮชแท็กกษัตริย์มีไว้ทำไม เป็นการให้คุณค่าอย่างไรต่อสถาบันกษัตริย์ พยานได้อธิบายว่า เป็นการตั้งคำถาม เพื่อสร้างคุณค่าให้สถาบันกษัตริย์ว่า การมีกษัตริย์มีประโยชน์อะไรบ้าง พยานไม่ได้มีความตั้งใจที่จะคิดล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่พยานโพสต์ข้อความดังกล่าวไป เพราะไม่อยากให้คนบางกลุ่มทำให้ประชาชนเข้าใจว่าประเทศนี้ยังเป็นของกษัตริย์อยู่แต่เพียงผู้เดียว แบบในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่มันเป็นของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน พยานแค่ต้องการจะหักล้างความคิดของคนบางกลุ่มที่บอกว่าประชาชนเป็นเพียงผู้อาศัยแผ่นดินอยู่เท่านั้น เพราะในความเป็นจริง เราเป็นเจ้าของประเทศนี้ร่วมกัน
ส่วนข้อความที่ว่า ประเทศนี้ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง พยานต้องการจะสื่อว่า ทุกคนมีส่วนในการสร้างประเทศชาติ และมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยประชาชนได้มอบอำนาจให้กษัตริย์ปกครองประเทศ ผ่านอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ดังนั้น ทั้งประชาชนและกษัตริย์ต่างเป็นที่พึ่งพิงของกันและกัน และเป็นกำลังสำคัญของประเทศนี้
เมื่อทนายจำเลยถามถึงการเข้าตรวจค้นบ้าน พยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ ตนเองอยู่บ้านกับบิดา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำภาพแคปหน้าจอเฟซบุ๊กของพยาน ซึ่งพยานได้ใช้ชื่อจริงมาให้ดู เจ้าหน้าที่พยายามให้พยานเปิดเฟซบุ๊กของตนเองในโทรศัพท์ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจนับ 10 นาย นอกจากนี้ยังสั่งให้พยานค้นโพสต์ต่างๆ ในหน้าโปรไฟล์ของบัญชีเฟซบุ๊ก แต่ก็ไม่พบสิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องการจะค้นหา เจ้าหน้าที่จึงได้พยายามขอรหัสเข้าเฟซบุ๊กจากพยาน แต่พยานจำไม่ได้ เจ้าหน้าที่จึงให้พยานได้ทำการล้างรหัสผ่านและสร้างรหัสใหม่ที่เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงได้
พยานเบิกความต่อศาลอีกว่า เอกสารที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเอามาให้ลงชื่อซึ่งเป็นภาพโปรไฟล์บัญชีเฟซบุ๊กของตนเองนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกเลยว่าจะใช้เป็นหลักฐานในคดี พยานจึงได้เซ็นไป รวมทั้งเซ็นยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ด้วย
เมื่อทนายจำเลยถามว่า พยานรู้หรือไม่ว่า ที่พยานเซ็นไปเป็นการยอมรับว่า พยานโพสต์ข้อความและแชร์คลิปตามฟ้องจริง พยานตอบว่า จำไม่ได้ว่าตนเองได้เซ็นเอกสารดังกล่าวไปเมื่อไหร่ เนื่องจากตำรวจไม่ได้แจ้งให้ทราบก่อนว่าเป็นเอกสารอะไร
สุดท้ายทนายจำเลยถามว่า รหัสผ่านเฟซบุ๊กที่มีการตั้งใหม่ มีเจ้าหน้าที่นับ 10 นายที่รู้รหัสดังกล่าวใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ และหากเจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะเข้าไปแก้ไขโพสต์ในบัญชีเฟซบุ๊กของพยานก็สามารถทำได้
จากนั้นทีปกรตอบอัยการถามค้านว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ในปี 2556 หลังจบการศึกษาได้ไปทำงานธุรการที่มูลนิธิคริสเตียนอยู่ 2 – 3 เดือน ก็ลาออกมาประกอบอาชีพค้าขายกับภรรยา มีบุตรด้วยกัน 1 คน
พยานเคยประกอบอาชีพเป็นธุรการฝ่ายกฎหมายให้กับธนาคารแห่งหนึ่ง แต่ประสบกับปัญหาทางสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพดังกล่าวต่อไปได้ จึงได้ลาออกและมาเรียนรู้ศาสตร์ด้านนวดแผนไทย และนำความรู้มาประกอบอาชีพจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน พยานมีรายได้ไม่แน่นอน จึงไม่เคยเสียภาษี เพราะไม่ถึงเกณฑ์ที่จะยื่นภาษีได้ นอกจากนี้พยานไม่เคยเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใด แต่เคยทำบัตรสมาชิก นปช. เมื่อปี 2553 ในส่วนการใช้เฟซบุ๊ก พยานจำไม่ได้ว่า ได้โพสต์เรื่องอะไรไปบ้าง ซึ่งตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่ส่งต่อศาล พยานก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า มีโพสต์ใดบ้างที่พยานโพสต์ด้วยตนเอง