วันที่ 19 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ทีปกร” (สงวนนามสกุล) หมอนวดอิสระ วัย 38 ปี ที่ถูกอัยการฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีโพสต์ข้อความและแชร์คลิปจากยูทูบ ตั้งคำถามถึงคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2563
คดีนี้ มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบอำนาจให้แจ้งความดำเนินคดีนี้ ทีปกรถูกตำรวจนอกและในเครื่องแบบจาก สน.นิมิตรใหม่ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ราว 10 นาย เข้าค้นบ้านพักย่านคลองสามวา พร้อมหมายค้นในช่วง 6 โมงเช้าของวันที่ 13 ส.ค. 2564 โดยไม่มีทนายความร่วมกระบวนการด้วย
ต่อมาในวันที่ 15 ก.พ. 2565 ชญาพร นาคะผดุงรัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นฟ้องทีปกรต่อศาลอาญา ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสด 90,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือกองทุนราษฎรประสงค์
คดีนี้ ศาลได้นัดสืบพยานรวมทั้งหมด 3 นัด โดยเป็นการสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 18 – 19 เม.ย. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 20 เม.ย. 2566 ทั้งนี้ อัยการได้นำพยานโจทก์เข้าสืบ 7 ปาก และทนายความได้นำพยานจำเลยเข้าสืบ 1 ปาก จนเสร็จสิ้น
อ่านบันทึกการสืบพยาน >>> บันทึกสืบพยาน: “ทีปกร” โพสต์ตั้งคำถาม #กษัตริย์มีไว้ทำไม พร้อมแชร์คลิปวีดิโอประวัติศาสตร์ภาษีประชาชนสร้างชาติ สู้ว่าไม่เข้าข่าย ม.112
.
ศาลพิพากษา “ทีปกร” มีความผิดตาม ม.112 ชี้การกระทำมีเจตนาตั้งใจบิดเบือนว่าผู้ทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินและสร้างประเทศนี้คือประชาชนไม่ใช่กษัตริย์ ซึ่งใช้จ่ายภาษีของประชาชน อันเป็นการจงใจสร้างความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์
วันนี้ (19 มิ.ย. 2566) เวลา 09.05 น. ที่ห้องพิจารณา 713 จำเลยและครอบครัวได้เดินทางมาพร้อมกัน และยังมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตเนเธอแลนด์ และสถานทูตแคนาดา เดินทางมาสังเกตการณ์คดีด้วย
ต่อมาเวลา 10.30 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยเรียกชื่อของทีปกรให้ลุกขึ้นยืนรายงานตัวต่อศาล และได้เรียกให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปใส่กุญแจมือของจำเลย ก่อนที่จะอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กจริง และจำเลยได้แชร์คลิปจากยูทูบตามฟ้อง พร้อมข้อความประกอบคลิปตั้งคำถามว่ากษัตริย์มีไว้ทำไม คดีนี้จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
เมื่อพิจารณาจากการกระทำของจำเลยในการโพสต์ข้อความ เป็นการกระทำที่มิบังควรยิ่ง และในการแชร์คลิปวิดีโอ ซึ่งมีข้อความวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ ซึ่งจำเลยรับว่าเป็นผู้ตั้งค่าและเผยแพร่สู่สาธารณะ และเป็นการทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าดูได้ ประกอบกับคำเบิกความพยานโจทก์ที่บอกว่าในการแชร์คลิปจากหน้าแรกของยูทูบ ซึ่งมีภาพหน้าปกคลิป ชื่อของคลิป ก็เป็นการสร้างความดึงดูดใจให้คนกดเข้าชม โดยไม่เลื่อนผ่านไป
การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ต้องการพิมพ์ข้อความและสื่อสารโดยตรงถึงรัชกาลที่ 10 และต้องการให้ประชาชนที่พบเห็น เข้าใจคำว่ากษัตริย์ในคลิปดังกล่าวหมายถึงรัชกาลที่ 10 และบิดเบือนทำให้เข้าใจว่าคนที่ทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินและสร้างประเทศนี้คือประชาชนไม่ใช่กษัตริย์ ซึ่งใช้จ่ายภาษีของประชาชน อันเป็นการจงใจสร้างความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็ไม่ใช่ความจริงอย่างที่จำเลยเข้าใจ
ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดูหมิ่นใส่ร้ายป้ายสี จ้องทำลายองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพระประมุขของประเทศ และจากพยานหลักฐานของโจทก์ก็น่าเชื่อได้ว่า จำเลยย่อมรู้อยู่แล้วว่าคลิปวิดีโอดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ของการหมิ่นประมาท อาฆาต มาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังแชร์เข้ามาในเฟซบุ๊กของตนเอง ซึ่งเปิดไว้ให้รับชมได้สาธารณะ
นอกจากนี้ ในขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 36 ปี จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ย่อมมีความรู้ที่จะสืบค้นข้อมูลแยกแยะได้ว่าสิ่งใดที่เป็นความจริง และเป็นความเท็จ และที่สำคัญชนชาติไทยรวมกันเป็นปึกแผ่น เป็นราชอาณาจักรไทย มีแผ่นดินให้อยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขจวบจนทุกวันนี้ บรรพบุรุษของชนชาติไทยในอดีตได้สละชีพเพื่อชาติ ต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินไทย กอบกู้เอกสารให้ลูกหลายไทย ต้องอาศัยความรัก ความสามัคคี ความกล้าหาญและความอดทน
ที่สำคัญจะต้องมีศูนย์รวมใจที่เหมือนเสมือนพลัง หรือผู้นำที่มีความสามารถในการปกครองและรบทำศึกสงคราม สถาบันกษัตริย์ไทยจึงมีบทบาทและคุณูปการ นำพาคนไทยสร้างชาติ รักษาเอกราช วัฒนธรรม ความเป็นไทยให้คงอยู่รอดมาช้านานนับพันปีจวบจนปัจจุบัน
และนำประเทศให้พัฒนาก้าวหน้า เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรักษาความชาติไว้ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ โดยกษัตริย์ในอดีตแต่ละยุคสมัย ทรงเป็นพระราชาตามคำสอนพระพุทธศาสนา และทรงไว้ซึ่งทศพิศราชธรรม เป็นแนวทางหลักในการปกครองประเทศ
ดังนั้น สถาบันกษัตริย์จึงเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของชาติ ซึ่งประกอบด้วย ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ที่ทำให้ชนชาวไทยทุกเชื้อชาติและหมู่เหล่าในราชอาณาจักรไทย ดำรงอยู่ด้วยความมั่นคงและผาสุข และจำเลยย่อมเติบโตในยุคของรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีคุณูปการอันใหญ่หลวงที่พระองค์ได้ทรงงานและความดีอันประเสริฐ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า
จำเลยย่อมได้เห็นพระราชกรณีกิจเหล่านั้นเป็นประจักษ์ และในยุคสมัยของรัชกาลที่ 10 ก็ทรงมีพระบรมราชโองการต่อประชาชนชาวไทย ความว่าเราจะสืบสานและรักษาต่อยอด และเราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร์ตลอดไป ซึ่งเป็นการสืบสานต่อยอดพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9
สถาบันกษัตริย์จึงเป็นความมั่นคงหลักของชาติตามประเพณีการปกครองของไทย และจะดำรงอยู่เพื่อประชาชนในชาติที่ขาดมิได้ ดังนั้นการที่จำเลยพิมพ์ข้อความและแชร์คลิป ย่อมเป็นการหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 และสร้างความกระทบทระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนที่มีความเคารพเทิดทูสถาบัน อันจะนำไปสู่ความแตกแยกที่สร้างความไม่มั่นคงในประเทศไทย และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
พยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบมาจึงเป็นการกล่าวอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นผิด ไม่อาจหักล้างการนำสืบของพยานโจทก์ได้ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทที่หนักที่สุดตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ริบของกลาง ไม่รอลงอาญา
หลังเสร็จการอ่านคำพิพากษา ศาลได้ถามถึงเจ้าหน้าที่สถานทูตว่าเป็นใครและเกี่ยวข้องกับคดีไหนในห้องพิจารณานี้ โดยเจ้าหน้าที่ได้ลุกขึ้นตอบว่าเป็นเพียงการมาสังเกตการณ์คดีเท่านั้น ซึ่งศาลได้ถามว่ามาสังเกตการณ์เพื่ออะไร หรือมีอะไรที่ไม่พอใจและเชื่อใจในกระบวนการศาลหรือไม่
และหากไม่เชื่อในคำพิพากษาของศาล ก็ขอให้จำเลยไปอุทธรณ์คดีต่อได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ตอบว่าไม่มีอะไร และขอเพียงแค่นั่งสังเกตการณ์เท่านั้น และเมื่อการอ่านรายงานกระบวนของคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทั้งหมดจึงได้กลับไป
ต่อมาเวลา 16.57 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำสั่งประกันตัว โดยจะต้องรอฟังผลต่อไป 2 – 3 วัน ทำให้ในวันนี้ทีปกรจะถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอฟังผลการประกันตัวต่อไป
.
อ่านบทสัมภาษณ์ทีปกร >>> “อุดมการณ์ผมไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนเดิม และอาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ” — ชวนอ่านความคิดของ “ทีปกร” ผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 จากการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์
.
ต่อมาวันที่ 21 มิ.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทีปกรระหว่างอุทธรณ์คดี โดยเห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์และกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง”
.