“อุดมการณ์ผมไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนเดิม และอาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ” —  ชวนอ่านความคิดของ “ทีปกร” ผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 จากการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์

“ผมชื่อทีปกร ทำอาชีพนวด แต่ว่าตอนนี้จะไปเป็นช่างตัดผมแล้ว มีแผนจะไปเปิดร้านตัดผมชาย ก่อนหน้านี้ก็เคยเปิดร้านนวดนะครับ แต่พอเจอโควิดก็ปิดกิจการไป” ทีปกรเริ่มต้นแนะนำตัวเอง ชายในวัย 38 ปีเล่าสาธยายแผนชีวิตของเขาออกมาด้วยความสุขุม และไม่ได้มีข้อกังวลใจใดๆ ถึงวันพิพากษาที่จะถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

ในวันที่ 19 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญาจะมีคำพิพากษาคดีของทีปกร ซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีที่โพสต์และแชร์คลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์

ทีปกรเล่าว่าเขาไม่ได้เตรียมใจที่จะเผชิญหน้ากับการถูกดำเนินคดี โดยเมื่อนึกย้อนไปวันแรกที่ได้รับรู้ว่าตนเองจะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เขาเล่าว่าตัวเองยังไม่รู้เหตุผลของการกระทำผิดที่แท้จริงด้วยซ้ำ “เจ้าหน้าที่เอาเอกสารมาให้เราเซ็น เป็นภาพที่เขาแคปออกมาจากเฟซบุ๊กเรา”

“เราก็ไม่รู้ว่าผิดอะไร แต่ก็เริ่มคิดในใจว่ามันน่าจะต้องเกี่ยวกับสถาบันฯ ซึ่งก็จริงด้วย เพราะตอนผมไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ ปอท. เขาก็ได้แจ้งมาตรา 112 จริงๆ”

มวลชนเสื้อแดง

ในระหว่างการสืบพยาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เบิกความกล่าวหาเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเมื่อถามถึงการต่อสู้ในปี 2553 ทีปกรเล่าว่าตนเองเป็นเพียงมวลชนคนหนึ่งเท่านั้น

“ผมเริ่มต้นลงถนนเมื่อปี 2553  จริงๆ ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 ผมมองว่ามันไม่มีความเป็นธรรม คือเขาจะหาเหตุผลอะไรก็ได้ที่จะใส่ความกับรัฐบาลที่มาจากฝ่ายประชาธิปไตย เหตุผลอะไรก็ได้ ทุกอย่างเลย แล้วก็ตั้งข้อกล่าวหากันเอง ตั้งพรรคพวกมาพิพากษาเอง”

“ในปีนั้น เราเห็นวันที่เขาสลายการชุมนุม เราเห็นการสังหาร เราเห็นศพที่ถูกเคลื่อนย้าย คนถูกยิง สมองกระจาย เราเห็นทั้งหมดมันก็สะเทือนใจ” ทีปกรเอ่ย เขาบอกว่ายังจำได้ดีในช่วงการสลายการชุมนุมปี 2553 ถึงแม้ตัวเองจะไม่ได้อยู่แนวหน้า แต่การเป็นหนึ่งในมวลชนมาตั้งแต่แรก เหตุการณ์ครั้งนั้นก็เป็นหนึ่งในบาดแผลต่อมวลชนอย่างเขาเหมือนกัน

ทีปกรบอกว่า หากประชาชนยังคงนิ่งเฉยอยู่ และไม่แสดงอะไรออกมาเลย ผู้มีอำนาจก็จะยิ่งนิ่งเฉยไปเรื่อยๆ การรัฐประหารจะเกิดขึ้นไม่จบไม่สิ้น ต่อให้อีกเป็นหนึ่งร้อยปีก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

แต่เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคใหม่ การออกมาเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ปี 2563 ได้สร้างความหวังอะไรให้กับเขาบ้างหรือไม่ เขาบอกว่า “การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 มันทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นนะ คนรุ่นใหม่มันตื่นแล้ว เขาไม่ได้งมงาย ไม่ได้ดักดานเหมือนคนรุ่นก่อน แล้วเขาก็มีความกล้าหาญที่จะพูดถึงต้นตอของปัญหาจริงๆ และผมเชื่อว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าเราไม่จัดการที่ต้นตอ ผมมองอย่างนั้น และขอยกย่องในความกล้าหาญของน้องๆ มากๆ”

ในวันที่ไม่มีใครกล้าทำคดีให้

ทีปกรต่อในช่วงที่ถูกดำเนินคดีว่า เขาได้พยายามไปขอความช่วยเหลือจากพรรคพวกที่ประกอบอาชีพทนายความ แต่กลับไม่มีใครรับทำคดีให้เลย เมื่อรู้ว่าเขาถูกดำเนินคดีในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “ตอนนั้นผมก็ติดต่อไป แต่ไม่มีใครกล้าทำคดีให้เลย เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าคู่กรณีเราเป็นใคร คือสู้ไปยังไงก็แพ้อยู่แล้ว”

“เขาพูดกับผมว่า มันเป็นคดีนโยบายที่ผู้มีอำนาจสั่งการ เราไปเปลี่ยนแปลงอะไรหรือจะสู้อะไรไม่ได้หรอก” ทีปกรบอก 

และเมื่อถามต่อว่า หากรู้อยู่แล้วว่าจะแพ้ ทำไมเขาถึงยังคิดที่จะขอให้ศาลได้มีการพิจารณาคดีต่อไป เนื่องจากในวันแรกของการสืบพยาน ศาลได้มีการพยายามเจรจาและพูดคุยกับเขาถึงปัญหาในคดีนี้

“ผมคิดนะว่า เราไม่รู้หรอกว่าเราจะแพ้หรือชนะ แต่ที่เราสู้ก็อยากยืนยันในข้อเท็จจริง และการพูดความจริงทำไมต้องผิด ทำไมเราต้องสร้างบรรทัดฐานเพี้ยนๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม”

ทีปกรอธิบายถึงเหตุผลที่เขาตัดสินใจไม่รับสารภาพ และยืนยันที่จะให้การสืบพยานในคดีนี้เกิดขึ้น เพราะอย่างน้อยที่สุด การที่ได้พูดอะไรบ้างก็ดีกว่าไม่ได้พูดอะไรออกไปเลย

นอกจากนี้ ทีปกรได้บรรยายความรู้สึกในช่วงที่มีการสืบพยานของคดีนี้ว่า ตัวเองก็มีความแปลกใจที่ศาลรับฟังพยานโจทก์ที่ค่อนข้างจะเป็น ‘พยานมืออาชีพ’ เมื่อขอให้เขาขยายคำดังกล่าว ทีปกรอธิบายว่า “มีพยานที่เป็นนักวิชาการจากธรรมศาสตร์ลำปาง กับพยานที่มาจาก ศปปส. คือทั้งสองคนไม่ได้มีความเป็นกลางทางการเมือง และพยานที่มาจาก ศปปส. ก็ได้พูดว่าตัวเขาได้ไปแจ้งข้อกล่าวหา ม.112 กับคนอื่นกว่า 50 คดีแล้ว และได้ไปเป็นพยานปรักปรำเขาด้วย คือความเป็นกลางทางการเมืองมันไม่มีอยู่แล้ว จะเอาพยานแบบนี้มากล่าวหาผมไม่ได้”

ทึปกรพูดต่อว่า หากให้สรุปง่ายๆ การนำกลุ่มบุคคลที่เป็นคู่กรณีกับเขา มาเป็นพยานโจทก์เบิกความกล่าวหากัน เพื่อให้เขาติดคุกนั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย 

ความคาดหวังต่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา

การเลือกตั้งในปี 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทีปกรเองก็เป็นหนึ่งพลเมืองไทยที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง และผลเลือกตั้งที่เพิ่งแล้วเสร็จก็ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง เขามีความคาดหวังมากน้อยแค่ไหนกับว่าที่รัฐบาลใหม่ในครั้งนี้ “จากที่ผมติดตามข่าว เขาก็มีอุดมการณ์กับเป้าหมายที่ชัดเจน และต้องการให้ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับสถาบันฯ มันลดลง”

“แต่ในตอนนี้ ผมยังไม่เห็นความเป็นไปได้ที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะขึ้นมามีอำนาจ เพราะไม่มีทางที่เราจะขอความเห็นใจจากผู้มีอำนาจได้ นอกเสียจากว่าประชาชนทั้งประเทศ จะสำนึกได้ว่าเราเป็นผู้ถูกกดขี่ ผู้ถูกปกครอง หรือไม่มีการแบ่งแยกสีเสื้ออีกแล้ว ในตอนนั้น ความสามัคคีของประชาชนจะเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ผมอยากคาดหวังกับประชาชนมากกว่า”

ถึงกระบวนการยุติธรรมไทย ก่อนวันฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112

“สำหรับผมแล้ว การจะไปขอร้องให้ศาลมีความยุติธรรมหรือทำตามกฎหมาย มันก็คงเป็นเรื่องแปลก” ทีปกรเล่าว่า ผู้พิพากษาเองก็ต้องผดุงความยุติธรรมอยู่แล้ว และกว่าจะเป็นมาเป็นศาลได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ 

“ในความรู้สึกของผม มันไม่มีความเป็นกลางอยู่จริงๆ แล้วการที่ผมถูกกล่าวหาในเคสนี้ แล้วเขาเป็นตัวแทนของคู่กรณี มันก็เหมือนที่น้องหยกพูด คือมันไม่มีความยุติธรรมเหลืออยู่แล้ว

“จนถึงทุกวันนี้ ผมก็ยังแปลกใจอยู่นะ ทำไมต้องเป็นเรา ผมก็ไม่รู้ว่า มีคนที่ไม่ชอบขี้หน้าเราส่วนตัว หรือว่าตอนนั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องอะไรที่คนไม่ชอบเรา เรื่องส่วนตัวหรือเปล่า เห็นจุดนี้ก็เลยหยิบไปแกล้ง ซึ่งถ้าเกิดมาตรา 112 นี้ อย่างน้อยที่สุดการจะฟ้องการจะแจ้งความมันเป็นเรื่องของคู่กรณีจริงๆ มันยังดีกว่าการที่ให้ประชาชน หรือใครก็ได้ จะหยิบตัวนี้ไปแกล้งกัน แล้วก็เจ้าหน้าที่ไม่มีทางที่จะปฏิเสธการรับฟ้อง การรับแจ้งความ ถ้าเป็นอย่างนี้ใครจะแกล้งใครก็ได้ด้วยมาตรานี้”

สุดท้าย ทีปกรได้ทิ้งท้ายไว้ว่าในด้านอุดมการณ์เขาไม่ได้เปลี่ยนแปลง การดำเนินคดีนี้ไม่ได้ส่งผมให้เขาเปลี่ยนความคิดตัวเอง แต่มันยิ่งเพิ่มพูนความกล้าหาญให้เขากล้าเผชิญหน้ากับทุกความอยุติธรรมเสียมากกว่า

“อุดมการณ์ผมไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนเดิม และอาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ เรารู้อยู่แล้วว่าองคาพยพของเผด็จการคืออะไร สำคัญที่สุดคือการทำงานทางความคิดของคน ไม่ใช่การโจมตีว่าเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้หรืออะไร ให้เขาคิดถึงข้อเท็จจริงว่าความจริงมันเป็นอย่างนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนไม่ว่าฝ่ายไหนเขาเชื่อในความจริง ถ้าเกิดเรายอมรับความจริง และเราเปิดตาที่จะรับฟัง การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นแน่นอน”

X