เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “คเชนทร์”
(สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี และ ขจรศักดิ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ส ในข้อหาหลัก คือ ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องเคอร์ฟิวของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ร่วมกันมี / ใช้วัตถุระเบิดในครอบครอง ซึ่งสามารถทำอันตรายต่อชีวิตและวัตถุได้ฯ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ จากกรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ30กันยา64 และถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดเข้าใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท ในช่วงหลังเที่ยงคืน ล่วงเข้าสู่วันที่ 1 ต.ค. 2564
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวตอนหนึ่งว่า “…ในเวลาประมาณ 02.00 น. ได้มีกลุ่มของผู้ชุมนุมรวมตัวกันและใช้วัตถุเพลิงขว้างปาบริเวณหน้า สน.พญาไท ซึ่งเจ้าหน้าที่ สน.พญาไท ได้แสดงกำลัง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ได้แยกย้ายกันบริเวณแยกพญาไท และใช้ระเบิดขวดปาไปที่ป้อมจราจรพญาไท แต่เจ้าหน้าที่ก็สามารถควบคุมเพลิงและดับไว้ทัน ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อป้อมจราจรบริเวณแยกพญาไทแต่อย่างใด”
อย่างไรก็ตาม เช้าวันที่ 8 ต.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมวัยรุ่นทั้งสองคน ที่บ้านพัก ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 7 ต.ค. 2564 พร้อมทั้งเข้าตรวจค้นที่พัก โดยไม่พบสิ่งผิดกฎหมายในห้องพักของคเชนทร์ ส่วนในห้องพักของขจรศักดิ์ ตำรวจพบระเบิดควัน (CS Smoke) 1 ลูก
นอกจากนี้ บันทึกการจับกุมยังระบุว่า คเชนทร์ได้ให้การเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 เวลาประมาณ 02.00 น. ขณะตนกําลังชุมนุมกับพวกอยู่ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ได้มีผู้ชักชวนไปหน้า สน.พญาไท จากนั้นได้รวมกลุ่มจักรยานยนต์ประมาณ 20 คัน มีเยาวชนไม่ทราบชื่อ นามสกุลจริง ซ้อนท้าย เมื่อไปถึง หน้า สน.พญาไท ตนได้เร่งคันเร่งรถ และบีบแตรเพื่อให้เกิดเสียงดัง และเยาวชนที่ซ้อนท้ายได้ลงจากรถไปดูเหตุการณ์ จากนั้นได้ใช้เส้นทางเดิมกลับไปที่สามเหลี่ยมดินแดง
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองตามหมายจับ ได้แก่ ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตราย, ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, ร่วมกันพาอาวุธไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และออกนอกเคหสถานในเวลาห้าม (22.00 – 04.00 น.) และได้แจ้งข้อหาขจรศักดิ์เพิ่มเติมว่า มียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ชั้นสอบสวนทั้งให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ภายหลังการสอบปากคำทั้งสองถูกขังอยู่ที่ สน.พญาไท โดยพนักงานสอบสวนจะนำตัวฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น (9 ต.ค. 2564) และไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยถูกคุมขังนาน 84 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวในวันที่ 31 ธ.ค. 2564
ซึ่งในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ได้ยื่นฟ้อง คเชนทร์ ในฐานะจำเลยที่ 1 และ ขจรศักดิ์ ในฐานะจำเลยที่ 2 ต่อศาลอาญา ในฐานความผิด ดังนี้
จำเลยที่ 1 ถูกกล่าวหาในข้อหาร่วมกันมี / ใช้วัตถุระเบิดในครอบครอง ซึ่งสามารถทำอันตรายต่อชีวิตและวัตถุได้ฯ, ร่วมกันมี / ใช้วัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ, ร่วมกันกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ฯ, ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายฯ, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป โดยผู้กระทำมีอาวุธฯ, ร่วมกันพกอาวุธไปในเมืองฯ, และฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องเคอร์ฟิวของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ในกรณีของจำเลยที่ 2 เขายังถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเพิ่มจากจำเลยที่ 1 อีก 2 ข้อหา ได้แก่ มีวัตถุระเบิดที่ออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ในครอบครองฯ และมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ เนื่องจากในขณะที่จับกุม ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าเจอวัตถุระเบิดและแก๊สน้ำตาที่จำเลยที่ 2
ย้อนอ่านคำฟ้อง >>> ฟ้องคดีการเมืองอีก 7 คดี: คดีเยาวชนไล่ประยุทธ์ เมืองนนท์ฯ – คดีทะลุแก๊ซ – คดีทะลุฟ้าสาดสี พปชร. – คดีม็อบร้องสิทธิเยียวยาโควิด |
ต่อมา ศาลได้นัดสืบพยานรวม 7 นัด โดยสืบพยานโจทก์ในวันที่ 31 ม.ค. – 3 ก.พ. 2566 และวันที่ 7 ก.พ. 2566 และสืบพยานจำเลยวันที่ 7 ก.พ., 11 – 12 พ.ค. 2566 จนเสร็จสิ้น ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ส.ค. 2566
15 ส.ค. 2566 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยทั้งสองคนมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษคเชนทร์ จำเลยที่ 1 จำคุก 10 ปี 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท, ขจรศักดิ์ จำเลยที่ 2 จำคุก 11 ปี 6 เดือน ปรับ 1,000 บาท
หลังศาลมีคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันทั้งสองในชั้นอุทธรณ์ต่อทันที แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ทำให้ในเย็นวันดังกล่าวคเชนทร์และขจรศักดิ์ถูกส่งตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างที่รอฟังผลประกันซึ่งคาดว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งใน 2 – 3 วัน
การคุมขังคเชนทร์และขจรศักดิ์ ทำให้จนถึงวันที่ 17 ส.ค. 2566 มีจำนวนผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่อยู่ในระหว่างต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวแล้วอย่างน้อย 11 คน