อย่าลืม “ธี” ถิรนัย: จากการ์ดม็อบอาชีวะ ถูกขังจนมีฝันใหม่ต้องเปลี่ยนประเทศให้ได้!

“ธี” ถิรนัย – นักกิจกรรมและการ์ดผู้ชุมนุมอาชีวะฯ อายุ 22 ปี หนึ่งในนักกิจกรรมคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในรอบปี 2566 พร้อมกับเพื่อนคู่คดี “มาย” ชัยพร ทั้งสองถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 ภายหลังศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี เพราะให้การรับสารภาพ ในคดีครอบครองวัตถุระเบิดปิงปอง ซึ่งถูกค้นพบก่อนมีการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64

ธี – ถิรนัย ปัจจุบันอายุ 22 ปี ก่อนถูกคุมขังประกอบอาชีพขายของออนไลน์ และขับรถรับ-ส่งอาหารไปด้วย จบการสูงสุดระดับชั้น ปวช. สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีวิบูลย์บริหารธุรกิจ ท่าพระ 

ธีอาศัยอยู่ที่บ้านของครอบครัวย่านพระราม 2 กรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็ก ครอบครัวพูดถึงเขาว่า ธีเป็นเด็กที่หัวดี เรียนเก่ง มีผลการเรียนอยู่ในระดับดีมาตลอด ตอนเด็กเขาฝันว่าเมื่อโตขึ้นอยากจะเป็น ‘ทหาร’ เพราะถูกปลูกฝังมาตลอดว่าผู้ชายต้องเข้มแข็ง ต้องเป็นทหาร ส่วนผู้หญิงต้องเป็นพยาบาล แต่ตอนนี้ธีบอกว่า ‘เปลี่ยนใจแล้ว’ 

แรงขับเคลื่อนลงถนนเคียงข้างมวลชน ในบทบาท ‘การ์ดผู้ชุมนุม’ ยืนยันไม่ได้ไปเพราะความสนุก

ภายหลังการบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ธีเห็นว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จนธุรกิจของครอบครัวได้รับผลกระทบ และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาหันมาติดตามสนใจเรื่องการเมืองมากยิ่งขึ้น 

“บ้านผมขายพวกอาหารทะเล ของแห้ง ย่าก็จะพูดตลอดว่า ‘ขายของไม่ดี’ ตอนนั้นโควิดระบาดด้วย ส่วนผมเพิ่งเรียนจบชั้น ปวช. กำลังจะเริ่มหางานทำเป็นหลักแหล่ง 

“ผมเพิ่งมาเห็นว่าประเทศนี้มันแย่ก็ตอนที่โตแล้วนี่แหละ แล้วผมก็คิดต่อว่าถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร มันจะเป็นแบบนี้ตลอดไปเลยเหรอ ผมเลยตัดสินใจออกไปร่วมการชุมนุม”

ครอบครัวของธีไม่ค่อยเห็นด้วยกับการตัดสินใจลงสู่เส้นทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาสักเท่าไหร่ ทุกคนมักจะคอยห้ามปราม แม้กระทั่งเพื่อนบ้านเองก็ด้วย ซึ่งธีก็มักจะตอบกลับไปในทำนองว่า “แล้วจะปล่อยให้มันเป็นแบบนี้ต่อไปเหรอ ผมออกไปเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม รู้ว่าตอนนี้เสียงพวกเรามันไม่ดัง แต่ถ้าออกมาพูดพร้อมกัน ส่งเสียงร่วมกันทั้งประเทศ มันก็จะดังมากพอ”

“แต่สุดท้ายเสียงของคนเป็นล้านๆ คนก็สู้เสียงของคนมีอำนาจแค่คนเดียวไม่ได้อยู่ดี …”

นอกจาก ผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอย่างที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ธีออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจัง นั่นคือ ‘แบงค์’ เพื่อนสนิทของธี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ยิงกระสุนยางเข้าที่บริเวณสะโพก ระหว่างการชุมนุมครั้งหนึ่งที่แยกเกียกกาย

ในความคิดของธี เขาเห็นว่า เริ่มแรกประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการเข้าร่วมชุมนุม เรียกร้องอย่างสงบ และปราศจากอาวุธ ทว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐบีบบังคับให้เลิกด้วยความรุนแรงหลายอย่าง ซึ่งธีคิดว่ามันไม่เป็นธรรม 

จากแรงผลักดันดังกล่าว ตั้งแต่ปลายปี 2563 ธีตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย อาชีวะปกป้องประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย เชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งธีก็ได้ตอบรับ หน้าที่หลักของธีเปลี่ยนไปเป็น ‘การ์ด’ คอยดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและป้องกันไม่ให้มือที่สามเข้ามาสร้างความวุ่นวายในกิจกรรมของประชาชน

จนเมื่อปี 2564 ธีและมายถูกจับกุมในคดีนี้ ซึ่งต่อมาศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้ติดกำไล EM แต่ธีก็ยังไปร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ้าง และยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ไม่ได้ออกไปม็อบเพื่อความสนุกสนานเหมือนที่หลายคนคิดแต่อย่างใด

“ถ้าประเทศชาติมันดี พวกผมคงไม่ต้องมาอยู่ในนี้”

“ออกไปม็อบแล้วได้อะไร?, ผมได้ยินคำนี้มาตลอด คนข้างนอกจะรู้มั้ยว่าพวกเราก็สู้เพื่อคนข้างนอกเหมือนกัน หวังว่าเขาจะไม่ลืมคนข้างในกันนะ …”

“ผมโดนจับข้อหาครอบครองระเบิดก็จริง แต่ผมออกไปร่วมชุมนุมเพราะอะไรล่ะ” ธีพูดด้วยท่าทางจริงจัง “ถ้าบ้านเมืองดี เศรษฐกิจดี ผมจะออกไปชุมนุมทำไม เราต้องมองที่ต้นเหตุสิ เพราะสุดท้าย ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสภาพบ้านเมืองแบบนี้เหมือนคนอื่น 

“อย่างที่บอกว่า ประเทศมันแย่ตอนที่ผมกำลังโตพอดี แล้วจะให้ผมยืนดูเฉยๆ เหรอ การต่อสู้มันมีหลายแบบนะพี่ แต่เรามีจุดประสงค์เดียวกัน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประเทศมันดีขึ้น”

เป้าหมายใหม่หลังถูกคุมขัง ฝันอยากเป็น ‘สส.’ เข้าสภาฯ ปฏิรูปกระบวนกระบวนยุติธรรม

ตั้งแต่ถูกคุมขังในคดีนี้ ทำให้ธีได้มีเวลาครุ่นคิดและทบทวนกับตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ตกผลึกได้ ธีบอกว่าอยากจะเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์หรือไม่ก็รัฐศาสตร์ และเจาะจงว่าต้องเป็นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย 

ธีมีเป้าหมายใหม่ว่า สักวันหนึ่งอยากจะเป็นผู้แทนราษฎร (สส.) จะได้มีโอกาสเข้าไปเปลี่ยนแปลงกฎหมายและผลักดันให้มีการปฏิรูปกระบวนยุติธรรมในรัฐสภาฯ 

“ดูประเทศที่เป็นอยู่ตอนนี้สิพี่ ถ้าผมออกไปได้ ผมจะไปเรียนมหาลัยฯ ให้จบ อยากเรียนสูงๆ ผมจะได้เข้าสภาฯ ไปเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ …”

“แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าผมจะทำได้มั้ย คือมีเพื่อนผมคนหนึ่ง มันอยากเข้า มธ. ก็เห็นมันตั้งใจอ่านหนังสืออยู่นานเลยนะ สุดท้ายมันก็ทำได้ ผมออกไปได้ผมคงพยายามอ่านหนังสือเยอะๆ เอาแรงผลักดันจากการถูกขังในเรือนจำนี่แหละ” 

“พูดกันตรงๆ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ตรงกับกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ คิดว่าออกไปผมคงมีแรงอ่านหนังสือเยอะเลย ถ้าตั้งใจคิดว่ายังไงก็ต้องทำได้ ถึงเป้าหมายมันจะดูยากก็ตาม ในเรือนจำก็มีหลายคนที่จบ ป.ตรี ป.โท มีความรู้เยอะๆ เขาก็บอกว่า ที่เขาทำอะไรยากๆ ได้เพราะเขาชอบ”

“ผมคิดว่า แม้การสอบเข้าธรรมศาสตร์จะยาก แต่ผมก็จะทำให้ได้ เพราะผมชอบมันจริงๆ” 

ความเห็นต่อโทษจำคุก 6 ปี และการถูกสั่งขังนานที่สุดในรอบปี 66 โดยไม่ได้สิทธิประกันตัว

แม้ในชั้นพิจารณาคดีทั้งสองจะให้การรับสารภาพ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก ทำให้ทั้งธีและมายถูกคุมขังเรื่อย แต่จนปัจจุบันก็ยังนับว่าเป็นการถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี ซึ่งตามกฎหมายยังสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาและฎีกาต่อไปได้ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลแล้ว รอเพียงศาลแจ้งกลับมาว่าจะนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันใด

อย่างไรก็ตาม แม้คดีของทั้งสองจะยังไม่สิ้นสุด แต่ศาลกลับมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา ขณะที่คดีอื่นที่มีพฤติการณ์คล้ายคลึงกันศาลกลับมีคำสั่งให้ประกัน อย่างคดีของ ‘เพชร’ พรพจน์ ‘บุ๊ค’ ธนายุทธ และ ‘นิว’ ปฏิมา ที่ถูกกล่าวหาว่าในข้อหา “ร่วมกันทำให้เกิดระเบิด, พกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร” จากเหตุถูกกล่าวหากรณีปาระเบิดปิงปองบริเวณบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงคืนวันที่ 10 เม.ย. 2565

คดีข้างต้น ทั้งสามให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผิดทุกข้อหา โดยไม่รอลงอาญาเช่นเดียวกับคดีของธีและมาย โดยศาลพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ศาลชั้นต้นส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องประกัน ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งให้ประกันตัวทั้งสาม 

ระหว่างรอคำสั่งประกันของศาลอุทธรณ์ ทั้งเพชรและบุ๊คถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และได้พบกับทั้งธีและมาย เมื่อต่อมาทั้งเพชรและบุ๊คได้ประกันตัวออก โดยถูกคุมขังเพียงแค่ 3 วัน ทำให้ธีและมายหดหู่ใจเป็นอย่างมาก

ธีได้แสดงความเห็นกรณีนี้ไว้ว่า

“ทำไมโทษมันน้อยกว่าผมล่ะพี่ คดีผมน่ะ ระเบิดมันยังอยู่ในกระเป๋า ยังไม่ได้เอาออกมาทำอะไรด้วยซ้ำ ตกลงศาลใช้มาตรฐานเดียวกันในการตัดสินคดีรึเปล่า

“ก็หวังแหละเรื่องประกันตัว แต่รู้ว่ามันยาก เลยบอกตัวเองไม่ให้หวังมาก ผมอยากลองเขียนเหตุผลการยื่นประกันตัวเอง เผื่อจะทำให้ศาลเห็นใจผมมากขึ้น”

อีกอย่างคือเรื่องโทษจำคุกที่ศาลตัดสิน ทั้งธีและมายเห็นตรงกันว่า เป็นอัตราโทษที่สูงมากจนเกินไป ซึ่งเพื่อนผู้ต้องขังในเรือนจำแทบทุกคนก็บอกว่า ศาลมีธงในคดีพวกเขาตั้งแต่ต้นแล้วหรือไม่ มิหนำซ้ำยังไม่ให้ประกันตัวสักทีอีกด้วย

พฤติการณ์คดี: ถูกจับครอบครองระเบิดปิงปอง ก่อนศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี

ช่วงเดือน ส.ค. จนถึง ต.ค. 2564 มีการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระ “ทะลุแก๊ส” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบจะรายวัน ที่บริเวณบริเวณแยกดินแดง ทำให้พื้นที่ในรัศมีโดยรอบมีการตั้งด่านตรวจและการดูแลความสงบเรียบร้อยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เห็นอยู่หลายจุด  

29 ส.ค. 2564 ตามบันทึกจับกุมระบุว่า เวลาประมาณ 12.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับคำสั่งให้ตั้งจุดตรวจด่านความมั่นคง ที่บริเวณหน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ถนนนครสวรรค์ แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต 

ต่อมา เวลาประมาณ 14.30 น. ชัยพรขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยมีธีรนัยนั่งซ้อนท้ายมาด้วย โดยขับมาจากแยกเทวกรรม มุ่งหน้าไปแยกนางเลิ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เรียกให้มีการหยุดรถเพื่อทำการตรวจค้น ก่อนจะพบว่า ในกระเป๋าสะพายของชัยพรมีระเบิดปิงปอง จำนวน 2 ลูก และพบว่าใต้เบาะรถมีระเบิดปิงปองอีกจำนวน 8 ลูก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยึดไว้เป็นของกลางและควบคุมตัวทั้งสองไปดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้ง 

30 ส.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังชัยพรและธีรนัยต่อศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขังได้ แต่ต่อมาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง ด้วยหลักทรัพย์คนละ 10,000 บาท พร้อมกับให้ติดกำไล EM  

19 พ.ย. 2564 อัยการยื่นฟ้องชัยพรและธีรนัย 1 ข้อหา ในฐานความผิด “ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย” ระบุว่า ระเบิดปิงปองในครอบครองทั้ง 10 ลูกที่ถูกตรวจค้นเจอนั้น อัยการเห็นว่าเป็น ‘ระเบิดแสวงเครื่อง’ อยู่ในสภาพใช้ทำการระเบิดได้ และสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บสาหัสได้หากถูกอวัยวะสำคัญ อีกทั้งยังสามารถทำอันตรายต่อวัตถุและทรัพย์สินได้ ในระยะไม่เกิน 2 เมตร 

ช่วงเดือน ก.พ. 2566 คดีเข้าสู่การสืบพยาน ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ รวม 2 นัด ในนัดสุดท้ายซึ่งพยานโจทก์ปากสุดท้ายกำลังจะขึ้นเบิกความ ชัยพรและธีรนัยตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ตอนนั้นพวกเขาคิดเพียงแต่ว่าถ้ารับสารภาพแล้วก็มีโอกาสที่ศาลจะพิพากษาให้รอการลงโทษเอาไว้ (รอลงอาญา)

15 ก.พ. 2566 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกทั้งสองคนละ 6 ปี แต่ลดกึ่งหนึ่ง เนื่องจากให้การรับสารภาพ คงเหลือจำคุก 3 ปี ชัยพรและธีรนัยถูกคุมขังมาตั้งแต่วันนั้น โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน 

14 มิ.ย. 2566 ทนายความยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีของชัยพรและธีรนัยแล้ว พร้อมกับยื่นประกันตัวทั้งสองในวันถัดมา  ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องเช่นเดิม โดยระบุเหตุผลเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาว่า

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่ปรากฏเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม …”

X