อิสรภาพที่ยังริบหรี่: คทาธรถูกขังใกล้ครบปี – ทัตพงศ์ถูกขังหนสอง – ถิรนัยและชัยพรเปิดเหตุผลกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2566 ทนายความเดินทางไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยม “ต๊ะ” คทาธร, “ธี” ถิรนัย และ “มาย” ชัยพร ในวันที่ 3 มี.ค. ทนายความยังได้เข้าเยี่ยม “แน็ค” ทัตพงศ์ ซึ่งถูกคุมขังเป็นหนที่ 2 แล้ว ทั้งที่เพิ่งถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในเวลาไม่ถึง 1 เดือน ครั้งนี้เขาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีหลังจากอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี โดยก่อนหน้านี้ทัตพงศ์ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนจนครบผัดฝากขังเป็นเวลา 84 วันเต็ม แต่อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง จึงได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังทั้ง 4 รายข้างต้นนี้ คือ ผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง 4 รายสุดท้ายที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในระลอกนี้  โดยคทาธรและทัตพงศ์ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ส่วนถิรนัยและชัยพรถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

“ต๊ะ” คทาธร: ศาลยังคงไม่ให้ประกัน แม้เคยสั่งให้สืบเสาะเพิ่มเติม ขณะถูกขังใกล้ครบ 1 ปีเต็มที

ต๊ะเล่าว่า “วันพฤหัสฯ ที่แล้ว (23 ก.พ.) ผมไปศาลมาครับ เจอแต่พนักงานคุมประพฤติ เขาก็ถามเกี่ยวกับเรื่องวันเกิดเหตุว่าเป็นยังไง การชุมนุมเริ่มต้นได้ยังไง ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ไหม และเขาก็ให้ดูเอกสารรักษาสถานภาพการเป็นนักเรียนเทคนิคฯ ของผม”

“คุยกับพนักงานคุมประพฤติไปประมาณชั่วโมงกว่าๆ ได้ ผมไม่ได้กังวลอะไรเกี่ยวกับการสืบเสาะฯ วันนั้นนะครับ เพราะเรื่องที่พูดไปเป็นความจริงอยู่แล้ว”

“ตอนนี้ผมอยากออกไปข้างนอกมากแล้วครับ คงจะทำอะไรได้มากกว่านี้”

ต๊ะนับว่าเป็นผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการเมืองที่คุมขังเป็นเวลานานที่สุดในระลอกนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2565 ปัจจุบันถูกคุมขังนานกว่า 328 วันแล้ว (ณ วันที่ 4 มี.ค. 2566) 

ด้านความคืบหน้าของการยื่นขอประกันตัว ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ทนายความได้ยื่นขอประกันคทาธรต่อศาลอาญา โดยต่อมาศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจ ซึ่งพนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะฯ และทำความเห็นสรุปเสนอต่อศาลไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา

ภายหลังศาลได้รับความเห็นสรุปสำนวนสืบเสาะจากพนักงานคุมประพฤติแล้ว ศาลไม่ได้มีคำสั่งว่าจะให้ประกันหรือไม่ทันที โดยศาลได้ให้เจ้าหน้าที่ศาลติดต่อมายังทนายความเพื่อให้ยื่นประกันตัวคทาธรใหม่อีกครั้ง เพื่อที่ศาลจะได้พิจารณารายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติดังกล่าวประกอบการมีคำสั่งว่าจะให้ประกันหรือไม่ต่อไป 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นประกันตัวคทาธรอีกครั้ง โดยภายในเย็นวันเดียวกันนั้นศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเช่นเดิม โดยอ้างว่าคดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 7 มี.ค. 2566 ประกอบกับยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลสั่งไว้ในนัดพิจารณา คำร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นนี้จึงให้ยกคำร้อง 

ผลจากคำสั่งดังกล่าวทำให้คทาธรจะยังคงถูกคุมขังระหว่างพิจารณาต่อไป แม้ “ต๊ะ” คทาธร จำเลยในคดีเดียวกันที่เคยถูกคุมขังพร้อมกันมาตั้งแต่ต้นจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 2566 อย่างไรก็ตาม หากในเวลา 1 เดือนเศษนี้คทาธรยังคงไม่ได้สิทธิประกันตัว ในวันที่ 11 เม.ย. 2566 เขาจะถูกคุมขังครบ 1 ปีเต็มพอดี

อ่านเพิ่มเติม: อย่าลืม “ต๊ะ” คทาธร:  หนึ่งในผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังยาวนานที่สุดในปี 2565

“มาย” ชัยพร: รู้สึกตกใจกับคำพิพากษา – สั่งไม่ให้ประกัน เผยยังมีเรื่องต้องสะสางข้างนอกอีกหลายอย่าง 

ตอนนี้มายถูกย้ายตัวให้มาอยู่ที่แดน 6 แล้ว เขาบอกว่าเริ่มปรับตัวกับเรือนจำได้แล้ว เหตุผลสำคัญเพราะได้พูดคุยกับ “เอ” กฤษณะ ผู้ต้องขังในคดีสหพันธ์รัฐไท ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลฎีกามีคำพิพากษายืนจำคุกเป็นเวลา 3 ปี ในฐานความผิด “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 การได้คุยกับเอทำให้มายรู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาก ต่างจากช่วงแรกๆ ที่มายจะชอบคิดฟุ้งซ่าน คิดมากจนปวดหัว และยังรู้สึกไม่ค่อยอยากอาหารด้วย

ชีวิตในแดน 6 ช่วงกลางวันมายจะชอบไปดูเพื่อนๆ ผู้ต้องขังเล่นหมากรุกกัน หรือไม่ก็จะใช้เวลาอ่านหนังสือที่ชอบเกือบตลอดทั้งวัน ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติพระเกจิอาจารย์และนวนิยาย

สิ่งที่ทำให้มายกังวลใจที่สุดในตอนนี้ คือ “ครอบครัว” มายบอกว่าเป็นห่วงพ่อกับแม่มาก วันที่ศาลมีคำพิพากษา เขารู้สึกว่ากะทันหันมาก เพราะยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังไม่ได้จัดการ ทั้งภาระการผ่อนจ่ายรถ การทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว และธุระส่วนตัวอีกหลายๆ อย่าง มายจึงอยากได้รับสิทธิประกันตัวเพื่อออกมาสะสางเรื่องต่างๆ ให้คลี่คลายก่อน

มายเล่าย้อนถึงชีวิตก่อนหน้านี้ว่า ตั้งแต่โดนจับและศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยต้องติดกำไล EM ทำให้ชีวิตของมายลำบากมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการหางานทำที่ยากขึ้นและชีวิตอนาคตที่ดูจะมืดมนกว่าเดิม 

มายเปิดใจว่า จริงๆ อยากจะเรียนต่อในระดับชั้น ปวส. แต่ก็ไม่กล้าสมัครลงเรียนสักที เพราะกลัวว่าระหว่างเรียนไปหากต้องจำคุกจะกลายเป็นว่าเงินค่าเทอมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนก็จะสูญเปล่าทันที 

มายฝากขอบคุณแบมและตะวันที่วางเดิมพันชีวิตของตัวเองเพื่อช่วยเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคน จริงๆ มายก็อยากจะที่ยืนหยัดกับแบมและตะวันด้วยการประท้วงอดอาหารและน้ำเหมือนกัน แต่เขากังวลว่าจะมีผลต่อสุขภาพตามมาหลังจากนั้น แล้วจะทำให้ไม่มีความสามารถในการดูแลพ่อกับแม่ มายสารภาพว่ารู้สึกผิดมากๆ ที่เหมือนกับตัวเองไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อทุกคน

เรื่องเกี่ยวกับคดีความ มายได้บอกไว้ว่าช่วงที่ตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพรู้สึกลำบากใจอย่างมาก เพราะช่วงนั้นมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจน้อยมาก ตอนนั้นคิดเพียงแต่ว่าถ้ารับสารภาพแล้วก็มีโอกาสที่ศาลจะพิพากษาให้รอการลงโทษเอาไว้ (รอลงอาญา) แต่เขาไม่เคยคิดเลยว่าศาลจะตัดสินให้จำคุกสูงถึง 3 ปี วันอ่านพิพากษาคนรอบข้างรู้สึกตกใจกันหมด ว่าทำไมศาลต้องสั่งให้จำคุกมากขนาดนี้ด้วย มิหนำซ้ำยังสั่งไม่ให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาอีกด้วย  

“เหมือนศาลมีธงมาแล้ว มันไม่มีความยุติธรรมเลย” 

ทนายความผู้เข้าเยี่ยมบอกว่า วันนี้มายดูร้อนใจเกี่ยวกับคดีความมากๆ และจะคอยถามถึงความคืบหน้าของคดีความและการยื่นประกันตัวอยู่ตลอดเวลา

“ธี” ถิรนัย: เปิดเหตุผลกลับคำให้การเป็น ‘รับสารภาพ’ ทั้งที่ก่อนหน้ามุ่งสู้คดีเต็มที่  

ธีถูกย้ายมาคุมขังอยู่ที่แดน 5 แล้ว เขาบอกว่ายังสบายดี แต่รู้สึกเครียดเรื่องความเป็นอยู่และการนอนในเรือนจำนิดหน่อย 

ธีเล่าย้อนไปในช่วงที่ตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพว่า วันนั้นเป็นวันสุดท้ายของการสืบพยานโจทก์ ตอนแรกทั้งเขาและมายตั้งใจว่าจะสู้คดีให้จนถึงที่สุด โดยได้ตระเตรียมพยานฝ่ายจำเลยไว้พร้อมหมดแล้ว แต่ในวันนั้นเองเขามีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นผู้จับกุมในคดีนี้ 

ตำรวจคนดังกล่าวเข้ามาถามธีถึงแนวทางในการสู้คดีว่า “จะเอายังไง” เขาจึงตอบกลับไปว่า “จะสู้คดีต่อครับ” จากนั้นตำรวจได้พูดว่า

“สู้ต่อ … มันจะไม่เสี่ยงเหรอ รับสารภาพไปเลยสิ คดีแค่นี้เอง เป็นความผิดครั้งแรกด้วย ยังไงศาลก็ให้รอลงอาญา ไม่ติดคุกหรอก” 

หลังจากนั้นธีจึงได้ไปปรึกษามายกับทนายความถึงทางเลือกในการกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ โดยทนายยอมรับการตัดสินใจหากทั้งสองจะตัดสินใจรับสารภาพ ทั้งธีและมายคิดว่าคดีความจะได้ยุติโดยเร็ว แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าศาลพิพากษาให้จำคุกสูงถึง 6 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 3 ปี เพราะให้การรับสารภาพ 

“โทษมันมากเกินกว่าที่คิดไว้มาก ผมสงสารมายมาก มายไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาเป็นแค่คนขับรถมอเตอร์ไซค์ไปในวันนั้นก็เท่านั้น”

ธีบอกอีกว่า รู้สึกเป็นห่วงคนในครอบครัวมาก โดยเฉพาะคุณย่าที่มักจะร้องไห้ทุกวัน ธีรู้ว่าคนที่บ้านไม่มีใครรับได้กับการที่เขาถูกคุมขังครั้งนี้เลยสักคน ธีบอกทิ้งท้ายแล้วว่า เขาอยากออกไปทำงานและเรียนต่อระดับชั้น ปวส. แล้ว ขอให้ช่วยเรื่องการยื่นประกันตัวและอุทธรณ์คำพิพากษาให้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม: ม็อบ29สิงหา วันที่ คฝ. สลายชุมนุม “เยาวชนทะลุแก๊ส” โดยไม่มีอำนาจ แต่จับ 37 ราย ดำเนินคดี 29 ราย เป็นเยาวชน 13 ราย

“แน็ค” ทัตพงศ์: การถูกขังหนสองหลังเพิ่งได้ปล่อยตัวไม่ถึงเดือน สร้างความสับสน-คำถามสารพัดต่อกระบวนการยุติธรรม

ภาพแน็คในวันที่ได้รับปล่อยตัวชั่วคราวก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 ภาพจาก livereal

แน็คดูมีท่าทีเครียดและกังวลใจมาก เขาเน้นย้ำให้ช่วยหาคำตอบเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องคดีความหลายอย่าง เพราะไม่เข้าใจว่าเหตุใดศาลถึงไม่ให้ประกันตัว ทั้งที่ช่วงที่ผ่านมามีผู้ต้องขังหลายคนที่ถูกกล่าวหาในคดีลักษณะคล้ายกันได้ประกันตัวอยู่หลายคน 

การได้ออกจากเรือนจำไปแล้วและต้องกลับเข้ามาอีกในระยะเวลาอันสั้นเพียงไม่ถึง 1 เดือน ทำให้แน็ครู้สึกเครียดยิ่งกว่าครั้งแรกที่ถูกคุมขังเสียอีก

“เข้ามาแล้วผมจะสู้คดียังไง ออกไปหาหลักฐานก็ไม่ได้ อยากจะรับสารภาพไปเลยให้จบๆ ผมทนอยู่ในเรือนจำแบบไม่มีกำหนดว่าจะได้ออกไปเมื่อไหร่แบบนี้ไม่ได้จริงๆ …”

การเข้าเยี่ยมในครั้งนี้ทนายความใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอธิบายให้แน็คเข้าใจกระบวนการยุติธรรมและขั้นตอนการสู้คดีอย่างละเอียดอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม: ศาลอาญาไม่ให้ประกัน “ทัตพงศ์” กลับเข้าเรือนจำอีกครั้งหลังอัยการยื่นฟ้อง ขณะให้ประกัน “จักรี” ระหว่างอุทธรณ์ ชี้ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง 2566

เปิดสถิติยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง ภายหลังการปฏิบัติการประท้วงอดอาหารน้ำ –  อดนอนของนักกิจกรรม

X