เปิดสถิติยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง ภายหลังการปฏิบัติการประท้วงอดอาหารน้ำ –  อดนอนของนักกิจกรรม

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 3 คน 

.

ผู้ต้องขังคดีการเมืองระลอกปี 2565 ทั้งหมด 11 ราย ถูกคุมขังยาวนานข้ามปี และ 4 รายขอประกันตัวมากกว่า 18 ครั้ง มี 3 รายถูกขังระหว่างพิจารณาคดีทะลุ 300 วัน

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565  คทาธร – คงเพชร (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกจับในกรณีมีระเบิดไว้ในครอบครอง ในขณะเดินทางเข้าร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 กลายเป็นผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังและไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมายาวนานที่สุดในรอบปี กว่า 302 วัน 

ทั้งนี้ จากการเก็บสถิติข้อมูลการยื่นประกันตัวทั้งสองคน พบว่ามีการยื่นประกันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2565 จนถึงวันที่ 6 ก.พ. 2566 กว่า 16 ครั้ง โดยในการยื่นประกันครั้งแรก ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสอง ระบุคำสั่ง ‘พิเคราะห์แล้วเห็นว่าความผิดที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีได้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ยกคำร้อง’ 

และตั้งแต่นั้น ศาลก็มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวของคงเพชรและคทาธรเรื่อยมา โดยแทบทั้งหมดระบุคำสั่ง ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ 

ต่อมาในวันที่ 9 ก.พ. 2566 ศาลอาญาได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงในกรณีของ ‘คงเพชร’ หลังมารดาของคงเพชร ได้เป็นผู้ยื่นขอประกันตัว และยื่นใบรับรองสภาพการศึกษาของจำเลยประกอบ โดยระบุคำสั่ง ‘พิเคราะห์แล้ว ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ และกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ปวช. 3 และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เชื่อว่าหากให้ประกันตัวจำเลยแล้วจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 

จึงอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างพิจารณา โดยวางหลักประกัน 100,000 บาท พร้อมติดอุปกรณ์กำไล EM’

คงเพชรได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำ ในวันที่ 10 ก.พ. 2566  ซึ่งเป็นการสิ้นสุดระยะเวลาคุมขังตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงระหว่างพิจารณา เป็นเวลา 306 วัน หรือกว่า 10 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในคดีเดียวกันนี้ ศาลยังคงคำสั่งไม่ให้ประกันตัวคทาธร โดยปัจจุบันทนายความได้เข้ายื่นขอประกันตัวคทาธรมากกว่า 18 ครั้งแล้ว ซึ่งในวันที่ 20 ก.พ. 2566 ทนายได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์

ก่อนที่ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน  ศาลได้มีคำสั่งให้สืบเสาะพฤติกรรมคทาธร ระบุว่า “เห็นควรให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติรายงานผลการสืบเสาะและพินิจต่อศาลภายในระยะเวลา 15 วัน โดยให้สืบเสาะทั้งประวัติการศึกษา และการประกอบอาชีพของจำเลย ก่อนเกิดเหตุ และพฤติการณ์แห่งคดีโดยรวม” ทำให้คทาธรจะยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนกว่าการสืบเสาะจะแล้วเสร็จ ศาลถึงจะพิจารณาคำร้องขอประกันตัวต่อไป 

ในขณะเดียวกัน วันที่ 10 ก.พ. 2566 ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ประกันตัว สมบัติ ทองย้อย  ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมากว่า 11 ครั้ง ก่อนที่ศาลฎีกาจะอนุญาตให้ประกันในคดีดังกล่าวในครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 

ทั้งนี้ สมบัติยังไม่สามารถออกจากเรือนจำได้ทันที เนื่องจากศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันสมบัติในคดีหมิ่นประยุทธ์ ซึ่งได้มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 แต่ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวอีกครั้งในวันดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวสมบัติในคดีมาตรา 112 แล้ว โดยระบุคำสั่งที่ตรงข้ามกันกับศาลอุทธรณ์ว่า “จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์” และศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งส่งให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

จนวันที่ 9 ก.พ. 2566 ศาลอุทธรณ์จึงได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวสมบัติในคดีหมิ่นประยุทธ์ โดยระบุคำสั่งมีใจความสำคัญว่า “การที่ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตในอีกคดีหนึ่ง จึงมีพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ศาลเห็นว่าควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยวางเงินสด 70,000 บาท หากผิดสัญญาประกันจะทำการริบไว้” ทำให้ในช่วงหัวค่ำวันดังกล่าว สมบัติได้ถูกปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการสิ้นสุดการคุมขังที่มีระยะเวลาร่วมกว่า 288 วัน หรือ 9 เดือนเศษ

ย้อนอ่านข่าวได้ประกันของสมบัติ >>> ศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัว “สมบัติ” คดีหมิ่นประยุทธ์ สิ้นสุดการคุมขังกว่า 288 วัน ส่วนศาลอาญาให้ประกัน “คงเพชร” หลังยื่นเอกสารเพิ่มเติม

พรพจน์ แจ้งกระจ่าง ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2565 จากที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้า กรมทหารราบที่ 1 โดยพรพจน์ได้เข้ามอบตัวที่ สภ.เมืองพิษณุโลก  

และถูกคุมขังเรื่อยมาตั้งแต่วันที่เข้ามอบตัว โดยทนายความได้พยายามยื่นประกันตัวพรพจน์ เพื่อให้เขาได้ออกมาสู้คดีในระหว่างพิจารณาคดีกว่า 12 ครั้ง ศาลอาญายังคงระบุคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา 

ต่อมา ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในคดีนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2566  ก่อนพบว่าพรพจน์มีหมายขังในคดีอื่นอยู่อีก 2 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #ม็อบ13ตุลา64 และคดีที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิดช่วงการชุมนุมที่ดินแดงอีกหนึ่งคดี โดยในวันที่ 20 ก.พ. 2566 

ต่อมา ทั้งศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว เก็ท, ใบปอ และพรพจน์  ไม่ต้องติดอุปกรณ์ EM โดยในคดีแรกให้วางหลักทรัพย์ประกัน 50,000 บาท และคดีหลังวางหลักประกัน 100,000 บาท

แน็ก — ทัตพงศ์ เขียวขาว ในคดีนี้ แน็กถูกจับกุมเนื่องจากเดินทางผ่านด่านตรวจเช็กประวัติ ก่อนเข้าเส้นทางรักษาความปลอดภัยของการประชุม APEC เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 และถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวเนื่องกับการครอบครองวัตถุระเบิดและยุทธภัณฑ์ในช่วงการชุมนุมของทะลุแก๊ส บริเวณถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564

แน็กถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนและยื่นประกันตัวกว่า 10 ครั้ง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากถูกฝากขังจนครบ 7 ผัดตามที่กฎหมายอนุญาตให้ขังได้ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566

นอกจากนี้ ในคดีของผู้ชุมนุมจากกลุ่มทะลุแก๊สเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ผู้ชุมนุมกว่า 12 รายถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กว่าหลายเดือน จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง เพื่อขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือม็อบ #ราษฎรเดินไล่ตู่ ในช่วงวันที่ 11, 14 และ 15 มิ.ย.2565 ก่อนศาลอุทธรณ์จะให้ประกันตัว 8 ราย ในวันที่ 29 ก.ย. 2565 แต่ยังคงคุมขังผู้ชุมนุมอีก 4 ราย ได้แก่ ณัฐพล, วัชรพล, จตุพล และพลพล เรื่อยมา 

ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด ในวันที่ 16 ก.พ. 2566 หลังศาลสั่งให้สืบเสาะประวัติการศึกษา – การประกอบอาชีพของจำเลยทั้ง 4 ราย พบว่าจำเลยทั้งหมดไม่มีพฤติการณ์หลบหนี 

ศาลได้ระบุคำสั่ง ‘พิเคราะห์จากรายงานการสืบเสาะและพินิจของเจ้าหน้าที่คุมประพฤติแล้ว อนุญาตให้จำเลยทั้งหมดประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ประกันคนละ 70,000 บาท และให้ติดอุปกรณ์กำไล EM’ 

.

ภาพ ไข่แมวชีส

ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้เป็นการสิ้นสุดการคุมขัง กลุ่มนักกิจกรรมทะลุแก๊สทั้ง 4 รายนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการยื่นขอประกันตัวมากที่สุดในระลอกปี 2565 กว่า 18 ครั้ง และทั้งหมดได้ถูกคุมขังมานานกว่า 240 วัน โดยเริ่มถูกคุมขังในช่วงวันที่ 14-17 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา โดยขณะนี้คดีของทั้งสี่คนอยู่ระหว่างรอการสืบพยานในช่วงวันที่ 25-26 เม.ย. 2566

ย้อนอ่านข่าว >>> ศาลอาญาให้ประกันตัว “4 ทะลุแก๊ส” หลังถูกขังระหว่างพิจารณาข้ามปี

.

สถานการณ์ยื่นประกันตัวในช่วงการประท้วงอดอาหาร – น้ำ ของตะวัน-แบม และสิทธิโชค ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. – 20 ก.พ. 2566

จากการเก็บข้อมูลสถิติ จำนวนครั้งที่ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง ภายหลังสถานการณ์ของตะวัน – แบม  ที่ได้ยื่นถอนประกันตัวเองและอดอาหาร – น้ำ เพื่อยืนหยัดตาม 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คืนสิทธิประกันตัว, ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิก ม.112 – ม.116 และสิทธิโชคที่ถูกพิพากษาในคดีมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 2 ปี 4 เดือน ซึ่งได้เริ่มประท้วงอดอาหารตั้งแต่วันแรกที่ถูกคุมขังเมื่อ 17 ม.ค. 2566 และภายหลังได้เริ่มอดน้ำร่วมด้วย ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง

ต่อมา ศาลฎีกาได้อนุญาตให้ประกันตัวสิทธิโชค ในวันที่ 10 ก.พ. 66 ระบุคำสั่ง “พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่สูงมากนัก และจำเลยเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ตีราคาประกัน 130,000 บาท”

นอกจากนี้ กรณีของเก็ทและใบปอ ศาลอาญาก็ได้ให้ประกันตัวพร้อมกับพรพจน์ เมื่อ 20 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมาโดยศาลได้กำหนดเงื่อนไขประกันตัว “ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ  ในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดี หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือกระทำการหรือร่วมทำกิจกรรมใดๆ  ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่างการปล่อยชั่วคราว และให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วันภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น”

รวมหลักประกันทั้งหมดในวันดังกล่าว 630,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ผลของคำสั่งประกันตัว ทำให้เป็นการสิ้นสุดการคุมขังผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้ง 3 ราย โดยพรพจน์ ถูกขังนาน 315 วัน และเก็ท – ใบปอ ถูกขังร่วม 43 วัน

ย้อนอ่านข่าวได้ประกันนักกิจกรรม 3 คน >>> ศาลให้ประกันตัว “เก็ท – ใบปอ – พรพจน์” และสั่งสืบเสาะคทาธร ส่วนถิรนัย-ชัยพร ส่งศาลอุทธรณ์พิจารณา

ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เก็บรวบรวมข้อมูลสถิติการยกคำร้องขอประกันและการอนุญาตให้ประกันตัวนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ดังต่อไปนี้

ข้อมูลลงวันที่ 20 ก.พ. 2566

ชื่อผู้ต้องขังสถานะจำนวนครั้งที่ประกันรวมหมายเหตุ
วัชรพล, จตุพล, พลพล, ณัฐพลคุมขังระหว่างพิจารณาคดีศาลอาญา 5 ครั้ง
ศาลอุทธรณ์ 1 ครั้ง
6 ครั้งได้รับการประกันตัว เมื่อ
20 ก.พ.66
คงเพชรคุมขังระหว่างพิจารณาคดีศาลอาญา 6 ครั้ง
ศาลอุทธรณ์ 1 ครั้ง
7 ครั้งคงเพชร ได้รับการประกันตัว
เมื่อ 9 ก.พ.66
ทัตพงศ์ เขียวขาวคุมขังระหว่างสอบสวนศาลอาญา 5 ครั้ง
ศาลอุทธรณ์ 1 ครั้ง
6 ครั้งครบฝากขัง 84 วัน เมื่อ
8 ก.พ.66
เอก (นามสมมติ)คุมขังระหว่างพิจารณาคดีศาลอาญา 4 ครั้ง4 ครั้งได้ประกัน
เมื่อ 3 ก.พ. 2566 
พรพจน์ แจ้งกระจ่างคุมขังระหว่างพิจารณาคดีศาลอาญา 4 ครั้ง4 ครั้งได้รับการประกัน
เมื่อ 20 ก.พ. 66
สมบัติ ทองย้อยคุมขังระหว่างอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ 3 ครั้ง3 ครั้งได้รับการประกัน 9 ก.พ. 66
สิทธิโชค เศรษฐเศวตคุมขังระหว่างอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ 4 ครั้ง4 ครั้งได้รับการประกัน
เมื่อ 10 ก.พ. 66
(สิ้นสุดอดอาหาร 25 วัน)
อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุลคุมขังระหว่างอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ 2 ครั้ง
ศาลฎีกา 1 ครั้ง
3 ครั้งได้ประกัน
เมื่อ 4 ก.พ. 2566
คทาธรคุมขังระหว่างพิจารณาคดีศาลอาญา 8 ครั้ง
ศาลอุทธรณ์ 2 ครั้ง
10 ครั้งศาลสั่งสืบเสาะ 15 วัน
เก็ท – ใบปอคุมขังระหว่างพิจารณาคดีศาลอาญา 2 ครั้ง2 ครั้งได้รับการประกันตัว เมื่อ 20 ก.พ.66
ถิรนัย – ชัยพรคุมขังระหว่างอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ 2 ครั้ง2 ครั้งรอคำสั่งประกันจากศาลอุทธรณ์ 2 – 3 วัน

ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาในคดีของ คทาธร (สงวนนามสกุล) ต่อไป และเขากลายมาเป็นผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังและไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมายาวนานที่สุดในรอบปี มากกว่า 300 วัน 

ส่วนในคดีของถิรนัยและชัยพร จากกรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 และถูกจับกุมกรณีพกพาระเบิดปิงปองไว้ในครอบครอง หลังทั้งสองคนได้รับสารภาพในชั้นพิจารณาคดี ศาลอาญาได้มีพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 ลงโทษจำคุก 6 ปี ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา และไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

การยื่นคำร้องขอประกันในวันนี้ ศาลได้ส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้องขอประกันตัว ซึ่งจะใช้เวลา 2 – 3 วัน จึงจะทราบคำสั่ง

X