ศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัว 8 ทะลุแก๊ส – นักกิจกรรมดินแดง ให้ติดกำไล EM และวางเงินคนละ 1 หมื่น

วันที่ 29 ก.ย. 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำสั่งประกันตัวนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุแก๊ส และนักกิจกรรมดินแดง 8 คน ประกอบไปด้วย “ภูมิ” ศศลักษณ์,“ใหญ่” พิชัย, “โอม” ใบบุญ,“ดิว” สมชาย, หนึ่ง เกตุสกุล, “หิน” อัครพล และ “หยก” วรวุฒิ หลังถูกฟ้องจากกรณีเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง เพื่อขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันยิงพลุไฟใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ส่วนกรณีของ “คิม” ธีรวิทย์ ที่ถูกดำเนินคดีเดียวกัน ได้มีทนายความส่วนตัวให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในชั้นพิจารณาคดี คาดว่าจะยื่นประกันตัวต่อไป

.

จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้น ปฏิบัติต่อจำเลยทั้งหมดเสมือนว่าเป็นผู้กระทำผิด ทั้งที่คดียังไม่มีการพิพากษาถึงที่สุด

ในคดีนี้ ทนายความได้ขอยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 7 คน เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565  หลังศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา ซึ่งในคำร้องอุทธรณ์ ได้เสนอหลักประกันเป็นเงินสดจำนวนคนละ 70,000 บาท พร้อมยินยอมติดอุปกรณ์กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และยินยอมให้แต่งตั้งผู้กำกับดูแล อีกทั้งจำเลยทั้งหมดยินยอมรับเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนดทุกประการ และมีใจความสำคัญ ระบุด้วยว่า

คดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลในข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีอาวุธ และร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ร่วมกันมั่วสุมและใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง ตลอดจนทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต

เหตุในคดีนี้ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2565 ซึ่งเป็นกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ขังในคดีความทางการเมืองทั่วประเทศ และในกิจกรรมดังกล่าว ผู้ชุมนุมได้เดินทางไปที่บ้านพักของนายกรัฐมนตรี เพียงเพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง และยุบสภา รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น 

ทั้งนี้ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า “กรณีมีความผิดที่ผู้ต้องหาทั้ง 8 คนถูกกล่าวหา เป็นการใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อันถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง มีอัตราโทษสูง” จำเลยขอเรียนว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลได้กระทำความผิด (Presumption of Innocemce) ซึ่งคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นได้พิพากษาเด็ดขาดไปก่อนแล้วว่าจำเลยทั้งหมดกระทำความผิด และไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งเป็นการปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนว่าเป็นผู้กระทำผิดไปแล้ว ทั้งที่ในคดีนี้ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแต่อย่างใด

ต่อมาในวันนี้ ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น โดยอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 7 คน มีรายละเอียดระบุ ดังนี้ กรณีจำเลยที่ 1 – 5 และ 7 – 8 ส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง โดยคำสั่งศาลอุทธรณ์ ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมดให้วางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 10,000 บาท พร้อมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) กรณีผิดสัญญาประกันปรับห้าหมื่นบาทถ้วน ทั้งนี้หลักทรัพย์ประกันตัวของทั้งหมดมาจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

หลังจากมีคำสั่ง ทางเจ้าหน้าที่ศาลยังระบุให้นายประกันนำญาติของจำเลยแต่ละราย รายละ 2 คน พร้อมเอกสารหลักฐานยืนยันว่ามีความเกี่ยวพันเป็นญาติกันไปทำเรื่องการประกันตัวที่ศาลอาญาด้วย

ผลของคำสั่งศาลอุทธรณ์ ยังต้องติดตามการประสานงานญาติของจำเลยแต่ละรายเพื่อวางหลักทรัพย์ในการประกันตัว หากทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ จะสิ้นสุดการคุมขัง 105 วัน ของสมาชิกทะลุแก๊สและนักกิจกรรมดินแดง ทั้ง 7 คน

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 17.05 น. ญาติและครอบครัว ในฐานะนายประกันของจำเลย มาพร้อมตามกำหนดนัดศาลและวางเงินประกันคนละ 10,000 บาท ทำให้ในวันนี้จำเลยทั้งหมดจะได้ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายในเย็นนี้ ทั้ง 7 คน

ต่อมาเวลาราว 19.00 น. จำเลยทั้ง 7 คน ประกอบไปด้วย “ภูมิ” ศศลักษณ์,“ใหญ่” พิชัย, “คิม” ธีรวิทย์ ,“ดิว” สมชาย, หนึ่ง เกตุสกุล, “หิน” อัครพล และ “หยก” วรวุฒิ ได้เดินออกมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยทนายความส่วนตัวของคิมได้เปิดเผยว่า ตนได้ยื่นคำร้องขอประกันคิมทันที เมื่อทราบว่าศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ประกันนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุแก๊สในคดีเดียวกันนี้

อย่างไรก็ตาม “โอม” ใบบุญ ไม่ได้รับการปล่อยตัวในคืนวันดังกล่าวพร้อมกับเพื่อนๆ เนื่องจากว่ามีหมายขังจากศาลแขวงดุสิตอยู่ ซึ่งทนายต้องทำเรื่องประกันตัวโอมในวันถัดไป

เช้าวันที่ 30 ก.ย. 2565 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวโอมทันที  โดยศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยสาบานตน ทำให้โอมได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำภายในเย็นวันนี้

.

X