วันที่ 30 ส.ค. 2565 เวลา 15.25 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง “ร็อก ธนรัตน์” นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุแก๊ส เป็นครั้งที่ 7 และยังยื่นขอประกันตัว ในคดีที่เขาถูกจับกุมพร้อมเยาวชนอายุ 17 ปี และตำรวจแจ้งดำเนินคดีเป็นจำนวน 7 ข้อกล่าวหา โดยมีข้อหาหลักคือ การครอบครองระเบิดลูกกระทบ, ตระเตรียมวางเพลิง และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีอาวุธ ในกรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ19มิถุนา65 หรือ “คาร์ม็อบไปบ้านประยุทธ์” บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2565 ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังต่อและไม่ให้ประกันตัว
ย้อนอ่านเหตุการณ์จับกุม >>> 2 ผู้ชุมนุม ถูก คฝ.ทำร้าย ก่อนจับเหตุ “คาร์ม็อบไปบ้านประยุทธ์” กล่าวหา “ร่วมกันเตรียมวางเพลิงฯ” ก่อนศาลไม่ให้ประกัน 1 ราย
.
คัดค้านการฝากขัง “ร็อก” ต่อ พร้อมขอให้ศาลไต่สวน เนื่องจากตำรวจไม่มีเหตุอันควรที่ต้องฝากขังผู้ต้องหาอีก
ในคดีนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาไว้เป็นระยะเวลา 12 วัน มาต่อเนื่องถึงครั้งที่ 6 ฝ่ายผู้ต้องหาได้ยื่นคัดค้านการฝากขังต่อในครั้งที่ 7 โดยขอให้ศาลเบิกตัวผู้ต้องหามาเข้าร่วมการพิจารณาคดีในครั้งนี้ด้วย โดยยืนยันว่าการคุมขังผู้ต้องหาไว้เกินกว่าความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี คำร้องโดยสรุประบุว่า
1. กระบวนการสอบสวนในคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามคำให้การผู้ต้องหา การพิมพ์ลายนิ้วมือ ล้วนแล้วแต่ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ส่วนเหตุผลตามคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นการรอผลตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือ การรอตรวจสอบประวัติการต้องโทษ และการรอเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้บังคับบัญชา ล้วนแล้วแต่เป็นการดำเนินการที่พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องหาไว้
2. ในคดีนี้ ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน เนื่องจากผู้ต้องหาต้องการต่อสู้คดีทั้งในทางข้อเท็จจริงและทางกฎหมาย การขังผู้ต้องหาไว้ย่อมส่งผลให้เกิดอุปสรรคต่อการพยายามรวบรวมหลักฐานเพื่อต่อสู้ในคดีและการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา
3. ปัจจุบันผู้ต้องหา กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. และมีภาระหน้าที่ต้องเข้ารับการศึกษาตามหลักสูตรที่ได้ลงทะเบียนไว้ ซึ่งปัจจุบันผู้ต้องหาขาดเรียนมานานกว่า 72 วัน และมีสถานะขาดเรียนแล้ว เนื่องจากถูกคุมขังอยู่ในระหว่างสอบสวนในคดีนี้
.
ศาลอนุญาตให้ฝากขัง “ร็อก” ต่อ 12 วัน แม้ผู้ร้องจะแถลงยืนยันว่าไม่สามารถทำสำนวนคดีส่งฟ้องได้ทันก่อนผัดที่ 8
เวลา 13.40 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยให้พนักงานสอบสวนขึ้นเบิกความ ซึ่งผู้ร้องได้แถลงต่อศาลว่า ยังไม่ได้รับรายงานการตรวจพิสูจน์หลักฐาน หลังได้ส่งวัตถุระเบิดของกลางไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐาน และได้ส่งน้ำมันและแอลกอฮอล์ที่ตรวจยึดได้เป็นของกลาง ไปตรวจพิสูจน์ว่าเป็นสารเคมีที่เป็นวัตถุไวไฟ อันเป็นวัตถุพยานในข้อหาตระเตรียมวางเพลิง
ทั้งนี้ ทนายความได้ถามว่า กระบวนการต่างๆ เป็นขั้นตอนภายในของพนักงานสอบสวน หากไม่ขังร็อกไว้ก็สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งผู้ต้องหาในคดีนี้ยังเป็นเพียงนักศึกษา มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีประวัติการกระทำผิดมาก่อน และไม่มีอิทธิพลในการเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานใดๆ
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนรับว่าได้เสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้บังคับบัญชาในเบื้องต้นแล้ว แต่ ในคดีนี้ ถึงแม้จะยื่นฝากขังครบทั้ง 8 ผัด พนักงานสอบสวนก็ไม่สามารถทำสำนวนคดีส่งฟ้องได้ทัน เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินการสอบปากคำผู้ต้องหาอีกราย ซึ่งเป็นเยาวชนในคดีนี้
อย่างไรก็ตาม หลังการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น ศาลได้อ่านคำสั่ง โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พนักงานสอบสวนจำเป็นที่จะต้องรอผลการตรวจสอบพิสูจน์วัตถุระเบิด น้ำมันและแอลกอฮอล์ของกลาง เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น จึงมีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมผู้ต้องหาต่อไป อนุญาตให้ขังผู้ต้องหาตามขอ กำชับให้พนักงานสอบสวนรีบสอบสวนให้เสร็จโดยเร็ว”
เมื่อศาลอนุญาตให้ฝากขังร็อกต่อ ทนายความจึงได้ทำเรื่องขอประกันโดยทันที ซึ่งในคำร้องขอประกันตัว มีใจความสำคัญระบุไว้ ดังนี้
1. ผู้ต้องหาประสงค์ที่จะยินยอมให้ติดอุปกรณ์ EM เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี และขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตาม ซึ่งผู้ต้องหายินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลทุกประการ
2. ผู้ต้องหาขอเสนอให้น้าของผู้ต้องหา และเป็นบุคคลที่ผู้ต้องหาให้ความเคารพนับถือเป็นผู้กำกับดูแล ในการช่วยเหลือและติดตามผู้ต้องหาให้มารายงานตัวต่อศาลตามนัด
ต่อมาในเวลา 16.03 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวร็อก ธนรัตน์ ระบุว่า “ศาลเคยสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเหตุผลชัดเจนแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา ยกคำร้อง”
ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2565 จนถึงวันนี้ (30 ส.ค. 2565) ร็อกถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเป็นระยะเวลา 73 วันแล้ว