การต่อสู้คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “เอีย” เด็กวัย 12 ปี ถูกฟ้อง “ร่วมชุมนุมเสี่ยงแพร่โรค-ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว” จากการปั่นจักรยานไปรับข้าวแจกใน #ม็อบ13กันยา64 

วันที่ 18 ก.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีของ เอีย เด็กชายวัย 14 ปี  ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการปั่นจักรยานไปรับข้าวแจกในการชุมนุม #ม็อบ13กันยา บริเวณแยกดินแดง เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 โดยขณะเกิดเหตุอายุ 12 ปี 4 เดือนเศษ นับเป็นเด็กอายุน้อยที่สุดที่ทราบว่าถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

คดีนี้ มีการสืบพยานในวันที่ 10 พ.ค. 2566 ก่อนเริ่มการสืบพยานโจทก์ ผู้พิพากษาและพนักงานอัยการได้ขอให้เอียพิจารณาเรื่องการรับสารภาพและเข้ามาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา อย่างไรก็ตามเอียยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่เข้ามาตรการใดๆ

การสืบพยานจึงเริ่มขึ้น โดยโจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมดรวม 3 ปาก ได้แก่ ร.ต.อ.สมิทธิ์ เข็มครุฑ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เข้าจับกุม, ส.ต.ต.อดิศักดิ์ อังธนุ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เข้าจับกุม และ พ.ต.ท.สุรพล จันทร์สมศักดิ์ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ในขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 1 ปาก ได้แก่ เอีย จำเลยอ้างตนเป็นพยาน

.

ทบทวนไทม์ไลน์การถูกจับกุม-ถูกดำเนินคดี

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 เวลา 17.00 น. บริเวณแยกดินแดง มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ชุมนุม หลังการประกาศยุติบทบาทชั่วคราวของเพจ “ทะลุแก๊ส” ปรากฏกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระมารวมตัวอยู่ที่แยกดินแดง เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และเพื่อทวงยุติธรรมให้กับผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมจากครั้งก่อนๆ 

เวลาประมาณ 22.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า มีการจับกุมประชาชน รวมจำนวน 11 ราย ไปที่ สน.พหลโยธิน แบ่งเป็นเยาวชน 4 ราย และเอียซึ่งเป็นเด็กอายุเพียง 12 ปี อีก 1 ราย ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่อีก 6 ราย พบว่ามีสื่ออิสระจาก “สำนักข่าวราษฎร”, เพจ “ปล่อยเพื่อนเรา” และแพทย์อาสาเคลื่อนที่เร็ว รวม 3 ราย ถูกจับกุมระหว่างการทำหน้าที่ในการชุมนุมด้วย

เอียถูกตั้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดเรื่องเวลาเคอร์ฟิว โดยเอียยืนยันที่จะไม่เซ็นเอกสารใดๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจำต้องถ่ายรูปตอนยื่นสำเนาเอกสารให้แทน พร้อมกับบันทึกวิดีโอตอนสอบปากคำ ต่อมาเอียได้รับการปล่อยตัวไป ในเวลา 2.30 น.

วันที่ 14 ก.ย. 2564 เวลา 12.30 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ตรวจสอบการจับกุมเอียและเยาวชนที่ถูกจับกุมรวม 5 ราย ตามคำร้องของ ร.ต.อ.พิเชษฐ์ กัดฟัก พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ต่อมามีคำสั่งว่า การจับเยาวชนทั้งห้าเป็นไปโดยชอบ และให้ออกหมายควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน แต่อนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน 

ต่อมาในวันที่ 7 ก.ค. 2565 นพเดช ตระกูลดิษฐ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 1 ได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 เวลาประมาณ 21.30 น. ซึ่งอยู่ในระหว่างวันและเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยได้ออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 4.00 น. วันรุ่งขึ้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้มาร่วมชุมนุมที่บริเวณหน้าสำนักงานเขตดินแดง ซอยมิตรไมตรี 2 อันเป็นการร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 25 คน ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

.

ภาพรวมการต่อสู้คดีและการสืบพยาน

ก่อนเริ่มกระบวนการสืบพยาน ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 เวลา 9.00 น. เอียและยายซึ่งเป็นผู้ปกครองได้เดินทางมาศาลตามนัด ณรงค์ พรหมอยู่ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะ ได้อธิบายคำฟ้องให้แก่จำเลยฟัง และสอบถามว่าจะให้การรับสารภาพเพื่อเข้ามาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาหรือไม่ โดยให้เวลาจำเลย ผู้ปกครอง และที่ปรึกษากฎหมายพูดคุยกันเป็นเวลา 5 นาที

ภายหลังการปรึกษาหารือ เอียยืนยันหนักแน่นว่า เขารับว่าอยู่ในเหตุการณ์วันที่ 13 ก.ย. 2564 แต่ต้องการต่อสู้ว่า การกระทำไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษากล่าวว่า ขอให้เอียอย่าถือทิฐิ เรายังเด็กสามารถเข้ามาตรการฟื้นฟูได้ ความคิดของเราไม่ผิด แต่ในบางช่วงวุฒิภาวะอาจยังไม่เพียงพอ ศาลจะเข้ามาช่วยดูแล โดยในการเข้ามาตรการฯ เอียไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และจะมีกิจกรรมให้ศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ประกอบวิชาชีพในอนาคต ทุกสิ่งทุกอย่างมีทางแก้ไข ไม่มีใครรู้อนาคต แต่ปัจจุบันเอียยังมีอนาคตที่สดใสอยู่

พนักงานอัยการกล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้เอียอย่ามองว่า เราทำผิดหรือถูก เนื่องจากไม่มีใครรู้ผลของคดี ไม่รู้ว่าหากมีการสืบพยาน ตำรวจจะเบิกความว่าอย่างไร มาตรการพิเศษฯ เป็นมาตรการสมานฉันท์และช่วยเหลือ ในคดีผู้ใหญ่ไม่มีมาตรการพิเศษฯ ขอให้เอียปรับทัศนคติ ให้โอกาสตนเองเพื่ออนาคต  เมื่อเรื่องเกิดขึ้นแล้วก็ควรมองไปข้างหน้า

พนักงานอัยการยังระบุว่า เมื่อเอียเข้าไปอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยในห้วงเวลาดังกล่าว แม้พฤติการณ์จะเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่การลักทรัพย์ ไม่ใช่การฆ่าคนตาย แต่โทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นโทษหนัก 

หลังจากนั้น ผู้พิพากษาจึงเรียกพนักงานอัยการ ที่ปรึกษากฎหมาย ผู้ปกครอง และเอีย ไปคุยกันบริเวณหน้าบัลลังก์อีกครั้งประมาณ 10 นาที ในท้ายที่สุด เอียยังคงยืนยันให้มีการสืบพยานต่อไป 

.

สองตำรวจผู้จับกุมระบุจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุถึง 21.30 น. ไม่มีภาพถ่ายหรือวิดีโอบ่งชี้เวลา ไม่เห็นจำเลยก่อนเข้าจับกุม ค้นตัวไม่พบอุปกรณ์ชุมนุม ไม่พบอาวุธ ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย

ร.ต.อ.สมิทธิ์ เข็มครุฑ เบิกความตอบพนักงานอัยการว่า พยานเกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมผู้ชุมนุม ขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่มาช่วยราชการเป็นตำรวจควบคุมฝูงชน มีหน้าที่ช่วยควบคุมฝูงชนในที่ชุมนุมตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

วันเกิดเหตุ คือ วันที่ 13 ก.ย. 2564 พยานเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ก่อนการชุมนุม พยานอยู่ที่กรมดุริยางค์ทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต มีการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงและซอยมิตรไมตรี 2 กรณีที่การชุมนุมเริ่มมีการใช้ความรุนแรง ผู้บังคับบัญชาจะแจ้งต่อพยาน

พยานเบิกความว่า การชุมนุมเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 16.00 น. มีการรวมกลุ่มและใช้ความรุนแรงโดยการปาประทัดเป็นระยะ ในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมอยู่ประมาณ 200 คน และก่อนเวลา 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการประกาศแจ้งเตือนให้เลิกชุมนุม โดยให้เวลาผู้ชุมนุมในการแยกย้าย ถ้าไม่แยกย้ายก็จะมีการตั้งแนวและเข้าจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ 

หลังมีการประกาศเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปควบคุมผู้ชุมนุมและเข้าจับกุม พบจำเลยอยู่ในพื้นที่ชุมนุม บริเวณซอยมิตรไมตรี 2  ในเวลาประมาณ 21.30 น. จึงเข้าจับกุม เนื่องจากจำเลยเป็นเด็ก ในการจับกุมจึงแค่ควบคุมตัว ไม่ได้ใส่กุญแจมือ

ในที่เกิดเหตุมีแสงเพียงพอ พยานมองเห็นจำเลยได้ชัดเจน จำเลยแต่งตัวด้วยเสื้อยืดคอกลมสีดำ ไม่ทราบว่าใส่กางเกงอะไร พยานได้ค้นตัวจำเลย ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย 

พยานเบิกความต่อไปว่า หลังจับกุม พยานนำตัวจำเลยส่งให้พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ในบันทึกจับกุมระบุว่า จำเลยร่วมกันชุมนุมในพื้นที่ห้ามชุมนุม และในการจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธ

พยานเบิกความยืนยันว่า ในขณะเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และจำเลยอยู่ในที่ชุมนุมตั้งแต่ก่อนหน้าจนถึงช่วงเวลาจับกุม

ที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า การชุมนุมมีวัตถุประสงค์เรียกร้องเรื่องการเมือง แต่ตั้งแต่ช่วงเย็นถึงค่ำ ไม่ปรากฏว่ามีการเรียกร้องอะไร เป็นกลุ่มวัยรุ่นขับมอเตอร์ไซค์รวมตัวกัน 

พยานเบิกความว่า ประมาณ 19.00 น. เริ่มขว้างปาประทัดและสิ่งของในกลุ่ม เผายางเส้นและสิ่งของบนพื้นถนน แต่ไม่มีการทำลายสิ่งของทางราชการ จนกระทั่งเวลา 19.00 ถึง 21.00 น. ผู้บังคับบัญชามีการประกาศให้แยกย้ายเรื่อยๆ โดยมีการประกาศตลอดเวลา 

พยานไม่ทราบว่า ในเวลา 19.00 น. เศษ มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมหรือไม่ พยานอยู่ในที่เกิดเหตุจนกระทั่งการชุมนุมเสร็จสิ้น ประมาณ 21.00 ถึง 22.00 น. แต่ทราบว่าในเวลา 21.00 น. มีการปะทะกันระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนกับผู้ชุมนุม 

พยานเบิกความว่า แยกดินแดงกับซอยมิตรไมตรี 2  ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร ในเวลา 16.00 ถึง 19.00 น. เศษ มีการปราศรัยของผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ส่วนซอยมิตรไมตรี 2  ซึ่งเป็นบริเวณที่จับกุมจำเลย มีคนยืนอยู่ไม่เยอะ ไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่ ในช่วงเวลาเกิดเหตุมีคนอยู่ประมาณ 60 – 100 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมอเตอร์ไซค์ 

พยานเบิกความรับว่า ในช่วงเวลา 19.00 ถึง 21.30 น. ไม่เห็นตัวจำเลย เห็นจำเลยตอนเวลา 21.30 น. ขณะที่เข้าจับกุม ในบันทึกจับกุมระบุช่วงเวลาที่จับกุมจำเลยบนหัวกระดาษ จำเลยปฏิเสธการลงชื่อในเอกสารบันทึกจับกุม ซึ่งพยานทำขึ้น

พยานเบิกความว่า พื้นที่ชุมนุมเป็นสถานที่เปิดโล่ง ไม่มีหลังคา ซอยมิตรไมตรี 2  กว้างประมาณ 6 เมตร บริเวณที่จับกุมจำเลยกว้างประมาณ 8 เมตร ขณะจับกุมช่วง 21.30 น. มีคนอยู่ประมาณ 20 กว่าคน 

พยานเบิกความต่อไปว่า จำเลยไม่ใช่แกนนำหรือผู้ปราศรัย ไม่เห็นจำเลยเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ ใช้ความรุนแรง หรือก่อความวุ่นวาย ขณะที่เข้าจับกุมไม่ปรากฏว่าจำเลยพกอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการชุมนุม ไม่ปรากฏว่าจำเลยพบสิ่งของหรืออาวุธที่จะก่อความวุ่นวายหรือความรุนแรง

พนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความตอบว่า ในขณะเกิดเหตุมีกฎหมายห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00 ถึง 4.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้เลิกชุมนุมตั้งแต่ 21.00 น. และเริ่มเข้าจับกุมเวลา 21.30 น. โดยจับจำเลยได้ในเวลา 21.30 น. จับผู้ชุมนุมรวมกันได้ประมาณ 20 คน แต่พยานจำรายชื่อไม่ได้

.

ส.ต.ต.อดิศักดิ์ อังธนุ  เบิกความตอบพนักงานอัยการว่า พยานเกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมผู้ชุมนุม ขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นผู้บังคับบัญชาหมู่ กองกำกับการอารักขา 2 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ

พยานเบิกความลำดับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุเช่นเดียวกับ ร.ต.อ.สมิทธิ์ เข็มครุฑ ก่อนเบิกความเพิ่มเติมว่า หลังจับกุมตัวจำเลย ได้นำตัวส่งไปที่ สน.พหลโยธิน เนื่องจาก สน.ดินแดง อันตราย เกรงว่าจะมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือชิงตัวผู้ต้องหา จึงนำตัวจำเลยไปส่งที่ สน.พหลโยธิน ที่อยู่ไกลออกไป 

พยานเบิกความว่า จำเลยอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมมีการขว้างปาสิ่งของและระเบิด

ที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า การชุมนุมเริ่มในเวลา 16.00 น. เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 22.00 ถึง 23.00 น. หรือมากกว่านั้น การชุมนุมเป็นการรวมตัวของผู้ชุมนุมบริเวณดินแดง จำไม่ได้ว่ามีการเรียกร้องเรื่องอะไร ไม่มีผู้ปราศรัยและไม่มีแกนนำ มีผู้ชุมนุมประมาณ 200 คน เริ่มตั้งแต่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงถึงซอยมิตรไมตรี 2 

พยานอยู่ที่กรมดุริยางค์ทหารบกตั้งแต่เวลา 13.00 น. ผู้ชุมนุมมีการปาระเบิดและสิ่งของตั้งแต่เวลา 16.00 น. พยานออกจากกรมดุริยางค์ฯ เวลาประมาณ 21.00 น. 

พยานเบิกความว่า ตั้งแต่ 16.00 ถึง 21.30 น. ไม่เห็นจำเลย พยานเห็นจำเลยครั้งแรกในขณะที่เข้าจับกุม พยานเห็นจำเลยอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม แต่จำเลยจะขว้างปาสิ่งของหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ ขณะจับกุม จำเลยไม่มีอาวุธ ไม่มีระเบิด ไม่มีอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการชุมนุม 

พยานเบิกความรับว่า ขณะจับกุมจำเลย ไม่มีเอกสารภาพถ่ายหรือวีดีโอที่บ่งชี้ระยะเวลาจับกุมได้ว่าเป็นเวลา 21.30 น. 

การชุมนุมในวันนั้นจะมีการแจกอาหาร แจกของ หรือมีแม่ค้ามาขายของหรือไม่นั้น พยานไม่เห็น

พยานเบิกความว่า ตั้งแต่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงถึงซอยมิตรไมตรี 2 เป็นสถานที่เปิดโล่ง ตอนที่จับกุม จำเลยใส่หน้ากากหรือไม่นั้น พยานจำไม่ได้ 

พยานไม่ทราบว่า จำเลยมีมอเตอร์ไซค์หรือไม่ และจำเลยเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุอย่างไร พยานก็ไม่ทราบ

พนักงานอัยการถามติง 

พยานเบิกความตอบว่า พยานอยู่ในกรมดุริยางค์ทหารบกจนถึงเวลา 21.00 น. เห็นเหตุการณ์แค่จากกรมดุริยางค์ฯ แต่จะมีการปราศรัยที่สามเหลี่ยมดินแดงหรือไม่ พยานไม่ยืนยัน

พยานยืนยันว่า มองเห็นเหตุการณ์ที่ซอยมิตรไมตรี 2  ซึ่งห่างจากกรมดุริยางค์ฯ ประมาณ 100 เมตร เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมในซอยมิตรไมตรี 2  จุดประทัดและปาระเบิดอยู่เรื่อยๆ จนถึงขณะจับกุม

พยานเบิกความว่า มีการเตรียมการจับกุมตั้งแต่เวลา 20.45 น. ซึ่งมีการประกาศให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับบ้าน หากเกินเวลา 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยมีการเข้าควบคุมสถานการณ์ในเวลาประมาณ 21.30 น.

พยานแจ้งข้อหาร่วมชุมนุมกับจำเลยเพราะอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม

.

พนักงานสอบสวนระบุเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธหรือใช้ความรุนแรง ไม่มีภาพถ่ายหรือวิดีโอบ่งชี้เวลาจับกุม ที่ปรึกษากฎหมายขอเปิดวิดีโอขณะสอบปากคำ พบว่าไม่มีเสียง

พ.ต.ท.สุรพล จันทร์สมศักดิ์ เบิกความตอบพนักงานอัยการว่า พยานเกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ขณะเกิดเหตุ เป็นรองผู้กำกับการสอบสวน สน.ดินแดง มีหน้าที่สอบสวนคดีอาญาในเขตพื้นที่ที่มีอำนาจ

พยานเบิกความว่า ในวันที่ 14 ก.ย. 2566 เวลา 2.00 น. ขณะรับหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้รับแจ้งว่า ร.ต.อ.สมิทธิ์ เข็มครุฑ ซึ่งขณะนั้นเป็นตำรวจควบคุมฝูงชน ได้จับกุมจำเลย อายุ 12 ปี ส่งตัวไป สน.พหลโยธิน พยานจึงติดตามไปตรวจสอบ

พยานแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดและฝ่าฝืนเคอร์ฟิวกับจำเลย เนื่องจากตอนนั้นจำเลยยังเป็นเด็กชายจึงให้ผู้ปกครองมารับตัวกลับไป และส่งตัวให้ศาลตรวจสอบการจับในช่วงเช้า

พยานเบิกความว่า ในวันดังกล่าวมีการพิมพ์ลายนิ้วมือจำเลย มีการสอบสวนพยานคนอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ในประเด็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือไม่ แต่ไม่มีการสอบปากคำจำเลย โดยสอบปากคำจำเลยในวันที่ 25 ต.ค. 2564

พยานเบิกความว่า มีการแจ้งสิทธิ แจ้งข้อกล่าวหา และทำบันทึกคำให้การจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธ ระบุว่า จำเลยขี่จักรยานมาจากเตาปูนเพื่อมาดูการชุมนุมแถวกรมดุริยางค์ทหารบกและสามเหลี่ยมดินแดง ในช่วงเวลา 20.30 น. เศษ มีผู้ชุมนุมเป็นผู้ใหญ่เพศชายเอาจักรยานของจำเลยไป เมื่อได้คืนจำเลยจะใช้จักรยานขี่กลับบ้าน จักรยานก็โซ่หลุด ไม่สามารถปั่นได้ ทำให้ถูกตำรวจจับกุม 

พยานเบิกความต่อไปว่า จำเลยเล่าว่าผู้ชุมนุมเอาจักรยานไปก่อนที่จะถูกจับกุม จำเวลาได้ไม่แน่นอน เมื่อจักรยานปั่นไม่ได้ จำเลยจึงลงคลองแถวนั้น ตำรวจเข้าควบคุมตัวจำเลยโดยการเรียกขึ้นมา ไปกรมดุริยางค์ทหารบก จากนั้นจึงพาไป สน.พหลโยธิน 

พยานยืนยันว่า คำให้การของจำเลยมีการลงชื่อจำเลย ที่ปรึกษากฎหมาย และผู้ปกครอง และมีการบันทึกภาพวีดีโอขณะสอบปากคำจำเลยตามกฎหมาย

ที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ มีการขว้างปาประทัด พยานจำไม่ได้ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นตั้งแต่เวลากี่โมงถึงกี่โมง แต่ส่วนมากเกิดขึ้นตอนเย็นเป็นต้นไป

พยานเบิกความรับว่า จากการสอบสวนไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นแกนนำ ผู้ปราศรัย หรือผู้จัดการชุมนุม ไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ความรุนแรง ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือใช้อาวุธในการชุมนุม ไม่ปรากฏรูปภาพหรือบันทึกวีดีโอเป็นหลักฐานว่าจำเลยถูกจับกี่โมง มีเพียงบันทึกการจับกุมเท่านั้น ไม่มีอะไรบ่งชี้ระยะเวลาจับกุม ในการตรวจค้น พยานรับว่าจำเลยไม่มีอาวุธ และไม่มีอุปกรณ์สำหรับการชุมนุมติดตัว 

พยานจำไม่ได้ว่า ในวันเกิดเหตุการชุมนุมเริ่มต้นกี่โมง แต่ส่วนมากจะเริ่มตอน 17.00 น. และในวันดังกล่าวจะมีการปิดถนนหรือไม่ พยานจำไม่ได้

พยานเบิกความว่า จำเลยให้การว่า ในเวลา 20.30 น. เศษ เหตุการณ์ที่มีผู้ชุมนุมเอาจักรยานไป จักรยานโซ่หลุด และจำเลยหลบลงไปข้างคลอง และถูกจับกุม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันทันที พยานไม่ได้สอบปากคำไว้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ 20.30 น. ถึงกี่โมง

พยานเบิกความว่า ตั้งแต่เริ่มชุมนุมจนถึงเหตุการณ์จับกุม ไม่มีการถ่ายภาพหรือวีดีโอว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมในฐานะผู้ชุมนุมหรือไม่ 

ในการสอบปากคำ พยานได้ความว่า จำเลยเดินทางมาที่เกิดเหตุเพียงคนเดียว

ที่ปรึกษากฎหมายขออนุญาตศาลเปิดดูพยานหลักฐานซึ่งเป็นวิดีโอถ่ายทำขณะที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลย ปรากฏว่าวิดีโอดังกล่าวมีเพียงภาพเคลื่อนไหว ไม่มีเสียง ตลอดระยะเวลาถ่ายทำ 11.59 นาที

พนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความตอบว่า ในขณะเกิดเหตุมีกฎหมายกำหนดเวลาเคอร์ฟิว ในเวลา 21.00 ถึง 4.00 น. เท่าที่พยานจำได้ มีการจับกุมจำเลยหลังเวลา 21.00 น. เป็นต้นไป และมีการส่งมอบตัวจำเลยให้พนักงานสอบสวนในเวลา 2.00 น. 

พยานเบิกความว่า คำให้การของจำเลยมาจากที่จำเลยเล่า และพยานเป็นคนบันทึก คลิปวีดีโอขณะสอบปากคำมีเสียง แต่ไม่แน่ใจว่าหายไปตอนบันทึกลงแผ่นวีดีโอหรือไม่ โดยในการสอบสวนไม่มีอะไรผิดปกติ หากมีเหตุการณ์ผิดปกติ ที่ปรึกษากฎหมายคงประท้วงและปฏิเสธไม่ลงลายมือชื่อ ที่ปรึกษากฎหมายในตอนนั้นเป็นทนายความจากศูนย์ทนายความฯ

.

หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น ผู้พิพากษาได้เรียกเอียไปคุยอีกครั้ง โดยสอบถามว่าจะเปลี่ยนใจเข้ามาตรการพิเศษฯ หรือไม่ เอียยืนยันขอสืบพยานจำเลยต่อไป 

.

จำเลยอ้างตนเป็นพยานระบุปั่นจักรยานไปที่ชุมนุมเพื่อรับข้าวแจก เมื่อไปถึงเหตุการณ์วุ่นวาย กลับบ้านไม่ได้จนกระทั่งถูกจับกุม ขณะถูกสอบสวนไม่ทราบว่ามีการบันทึกภาพและเสียงหรือไม่

เอีย ซึ่งเป็นจำเลยอ้างตนเป็นพยาน เบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายว่า ก่อนวันเกิดเหตุไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมมาก่อน เคยแค่เพียงขับรถผ่านการชุมนุมบริเวณแยกเกียกกาย 

ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 17.00 น. พยานดูไลฟ์สดในเฟซบุ๊กผ่านโทรศัพท์มือถือของตัวเอง พบว่ามีการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง และเพื่อนที่อยู่ห้วยขวางโทรมาบอกว่าในการชุมนุมมีข้าวให้กิน ในเวลา 18.00 น.  พยานจึงปั่นจักรยานออกจากบ้าน บริเวณตรอกข้าวสาร จะไปเอาข้าวที่บริเวณดินแดง โดยพยานขับจักรยานไปบนถนนราชวิถี มุ่งหน้าไปทางสามเหลี่ยมดินแดง ถึงจุดหมายในเวลาประมาณ 19.00 น. 

พยานเบิกความต่อไปว่า เมื่อไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง เห็นผู้ชุมนุมวิ่งมาจากทางสามเหลี่ยมดินแดง ตะโกนว่า “กระสุนยางมาแล้ว” จึงพยายามขับจักรยานหลบ แต่ถอยกลับบ้านไม่ได้เพราะผู้ชุมนุมวางล้อยางขวางบนถนน ต่อมาเพื่อนมาถึง จึงพาพยานไปเอาข้าวและไปนั่งกินบริเวณแฟลตดินแดง

หลังจากนั้น พยานปั่นจักรยานไปซอยมิตรไมตรี 2 เจอแท็กซี่เอาหมวกกันน็อคและหน้ากากกันแก๊สสวมให้ เหตุที่พยานไปทางซอยมิตรไมตรี 2 ก็เพื่ออ้อมไปทาง สน.ดินแดง เลี้ยวขวาออกตรงสวนป่า เพื่อกลับบ้าน แต่บริเวณสวนป่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจและด้านหลังก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมตามมาจึงไม่กล้าไปต่อ พยานจึงวนกลับมาทางซอยมิตรไมตรี 2 แต่ตอนนั้นแทบไม่มีผู้ชุมนุม มีเพียงสื่ออิสระกับแพทย์อาสา พยานจึงจอดจักรยานและคุยโทรศัพท์กับแม่เพื่อถามว่าจะกลับทางไหนดี

ต่อมามีผู้ชุมนุมประมาณ 30-50 คน เข้ามาปาประทัด ยิงพลุ ทำให้พยานออกจากซอยมิตรไมตรี 2 ไม่ได้ เนื่องจากผู้ชุมนุมลากถังขยะมาปิดกั้น จนเวลา 20.30 น. มีกลุ่มวัยรุ่นมาขอยืมจักรยานไป เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาทางซอยมิตรไมตรี 2 กลุ่มวัยรุ่นได้โยนจักรยานของพยานทิ้งลงข้างคลอง พยานจึงลงไปจะเอาจักรยาน พบว่าจักรยานโซ่หลุด ในขณะที่พยานพยายามต่อโซ่ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเอาปืนมาจี้ที่พยานให้เดินขึ้นจากคลอง พยานถูกอุ้มขึ้นรถ 6 ล้อไปที่กรมดุริยางค์ทหารบก  โดยเจ้าหน้าที่ได้อุ้มจักรยานขึ้นไปด้วย

พยานเบิกความต่อไปว่า ตนถูกอุ้มย้ายมาที่รถกระบะของตำรวจ ถูกยึดโทรศัพท์ใส่ถุงซิป แต่ได้คืนในวันรุ่งขึ้นก่อนไปศาล และถูกนำตัวไป สน.พหลโยธิน ในกลุ่มคนที่ถูกจับมามีคนมีโทรศัพท์ พยานจึงได้โทรหาแม่ ต่อมาแม่และทนายความจึงเข้ามาหาที่ สน.พหลโยธิน

พยานยืนยันว่า ไปที่ชุมนุมเพื่อเอาข้าวเท่านั้น แต่เมื่อไปถึงเหตุการณ์วุ่นวาย ไม่สามารถออกไปไหนได้ เนื่องจากเริ่มมีการปิดถนน ก่อนพยานถูกตำรวจจับในเวลาประมาณ 20.30 น. พยานใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

พยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการยิงกระสุนยางมาจากทางกรมดุริยางค์ทหารบก ในระหว่างที่ปั่นจักรยานก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนยางยิงมาทางพยานจนโดนรถจักรยาน และมีเสียงระเบิดตั้งแต่ปั่นจักรยานถึงสามเหลี่ยมดินแดงจนถึงตอนโดนจับ

พยานเบิกความว่า วันที่ไปให้ปากคำที่ สน. ดินแดง ในเดือนตุลาคม จำได้แค่ว่ามีกล้องติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการบันทึกเสียงและภาพเคลื่อนไหวหรือไม่ พยานไม่ทราบ 

พนักงานอัยการถามค้าน 

พยานเบิกความตอบว่า วันที่ไปให้การมีแม่และที่ปรึกษากฎหมายอยู่ด้วยตลอดเวลา

พนักงานอัยการกล่าวว่า คำให้การในชั้นสอบสวนของพยานระบุว่า พยานเคยไปชุมนุม 2 ครั้ง คือ แยกเกียกกาย และครั้งที่โดนจับในคดีนี้

พยานเบิกความตอบว่า ตนทราบว่ามีการชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดง และสมัครใจไปที่เกิดเหตุ โดยรู้จากไลฟ์สดในเฟซบุ๊กและเพื่อน พยานออกจากบ้านในเวลาประมาณ 18.00 น.  ถึงที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 19.00 น. ระยะเวลาตั้งแต่เจอเพื่อนจนถึงตอนกินข้าวถึงเวลาประมาณ 20.30 น. และถูกยืมจักรยานในเวลาประมาณ 20.30 น. อย่างไรก็ตามตอนนั้นพยานไม่ได้ดูนาฬิกา ดูแค่ตอนจับกุม

พนักงานอัยการกล่าวว่า แสดงว่าตำรวจไม่ได้จับพยานตอน 20.30 น. เนื่องจากเวลาจะทับกัน

พยานเบิกความตอบว่า บริเวณที่พยานไปรับข้าวมีคนอยู่เยอะ ประมาณ 150 กว่าคน ตอนนั้นพยานไม่ทราบว่าการชุมนุมเป็นความผิด

ที่ปรึกษากฎหมายถามติง

พยานเบิกความตอบว่า พยานกินข้าวตอนประมาณ 20.00 น.  และเหตุการณ์ตั้งแต่พยานถูกยืมจักรยาน ลงไปที่ข้างคลอง และถูกตำรวจเข้าจับกุมเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน

.

ข้อสังเกตเรื่องการบันทึกภาพและเสียงในการสอบสวนเด็กและเยาวชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีข้อสังเกตทางกฎหมายว่า การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ในคดีความผิดที่มีอัตราโทษจําคุก การถามปากคําเด็กนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคําดังกล่าวซึ่งสามารถนําออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 133 ทวิ ประกอบมาตรา 134/2 

นอกจากนี้ ป.วิ.อ. มาตรา 139 วางหลักไว้ว่า ให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึก เอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกเอกสารทั้งหลาย ซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสํานวนไว้ ซึ่งย่อมหมายรวมถึงบันทึกภาพและเสียงการถามปากคําผู้ต้องหาที่เป็นเด็กด้วยเช่นกัน

เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า บันทึกวิดีโอการถามปากคําเอียที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งถูกนำมารวมในสำนวนเป็นพยานหลักฐานในคดี ปรากฏเพียงภาพเคลื่อนไหวแต่ไม่มีเสียง จึงมีข้อน่าพิจารณาว่าจะทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

กรณีบันทึกภาพและเสียงในการสอบสวนเด็กและเยาวชนเกิดเสียหายในชั้นพิจารณา เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 837/2563 วางบรรทัดฐานไว้ว่า เมื่อได้ความตามบันทึกคําให้การของเด็กหญิง ก. ที่จัดทําเป็นหนังสือว่าในการถามปากคํา มีสหวิชาชีพตามที่กฎหมายกําหนดร่วมอยู่ด้วย มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคําเด็กหญิง ก. ต่อหน้าสหวิชาชีพไว้ในแผ่นวีดิทัศน์แล้ว ดังนี้จึงเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างครบถ้วน การสอบสวนพยานเด็กดังกล่าวย่อมชอบด้วยกฏหมาย แม้ต่อมาภายหลังไฟล์ภาพและเสียงซึ่งบันทึกไว้ในแผ่นวีดิทัศน์ดังกล่าวเสียหายไม่สามารถเปิดดูได้ ก็หาทําให้การสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย กลายเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปไม่

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายฯ มีข้อสังเกตว่า จากข้อเท็จจริงในกรณีของเอีย บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและทางการนำสืบในชั้นพิจารณา ไม่ได้ความปรากฏชัดว่าพนักงานสอบสวนได้บันทึกทั้งภาพและเสียงในระหว่างการสอบปากคำ ดังนั้นกรณีจึงแตกต่างจากกรณีในคำพิพากษาฎีกาข้างต้น เนื่องจากยังมีข้อพิจารณาว่าการสอบสวนอาจเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรก ซึ่งอาจส่งผลต่อการรับฟังเป็นพยานหลักฐาน

.

.

อ่านบทสัมภาษณ์ของเอีย >>> “เอีย” เด็กแสบมาดทะเล้นขวัญใจชาวม็อบวัย 12 ปี กับ 2 คดีการเมืองที่มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี

ย้อนอ่านข่าวการจับกุม >>> #ม็อบ13กันยา จับกุม 11 ราย เป็นสื่ออิสระ-แพทย์อาสารวม 3 ราย ทั้งยังจับเด็ก 12 ปี หลังปั่นจักรยานมาดูม็อบ

X