พิพากษาจำคุกรวม 1 ปี 6 เดือน “รังสรรค์ – ปราณี”  ในข้อหาหลัก “มีเสื้อเกราะ – มั่วสุมเกิน 10 คน” เหตุชุมนุมดินแดง #ม็อบ29สิงหา64 ก่อนให้ประกัน

วันที่ 7 ก.ย. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดี “มียุทธภัณฑ์ – พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – มั่วสุมเกิน 10 คน” ของ “รังสรรค์” จำเลยที่ 1 และ “ปราณี” จำเลยที่ 2 (สงวนนามสกุล) อายุ 51 และ 47 ปี คู่สามีภรรยาที่ถูกจับกุมและตรวจค้นรถยนต์ บริเวณสะพานข้ามสามเหลี่ยมดินแดง ในเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564

ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกรวมคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 1,000 บาท ระบุว่า พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกัน เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมชุมนุม ส่วนพยานของจำเลยไม่มีน้ำหนัก ไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้

.

ย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุ เวลา 19.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน 10 นาย เข้าจับกุมทั้งสอง บรรยายพฤติการณ์การจับกุมว่า หลังชุดควบคุมฝูงชนสั่งให้ผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงเลิกการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เลิก เจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมรักษาความสงบในพื้นที่ และติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้งสองซึ่งเป็นผู้ร่วมชุมนุมได้ขณะขับรถออกจากที่ชุมนุม หลังตรวจค้นรถพบถังน้ำมัน มีน้ำมัน ¼ ของถัง, ขวดน้ำดื่มบรรจุน้ำมัน 10 ขวด, หน้ากากกันแก๊ส 1 อัน, เสื้อเกราะกันกระสุน 1 ตัว และอื่นๆ รวมทั้งพบหน้ากากอนามัยปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถด้านหน้าและหลัง จึงยึดไว้เป็นของกลางพร้อมรถยนต์รวม 9 รายการ พร้อมทั้งตรวจยึดโทรศัพท์ไอโฟนและซัมซุง รวม 2 เครื่อง ไว้เป็นวัตถุพยาน อ้างว่า ใช้ในการถ่ายรูปและนัดหมายเข้าร่วมการชุมนุม

เจ้าหน้าที่ตํารวจแจ้งข้อหา 5 ข้อหา ประกอบด้วย “ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย โดยมีอาวุธ ตามป.อ. มาตรา 215, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแต่ผู้นั้นไม่เลิก ตามป.อ. มาตรา 216, ร่วมกันมีซึ่งยุทธภัณฑ์ (เสื้อเกราะ) ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ฯ และร่วมกันนำวัสดุปิดบังป้ายทะเบียน ตาม พ.ร.บ.รถยนต์”

ต่อมาในวันที่ 15 มี.ค. 2565 อานนท์ ปราการรัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4) สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา ก่อนมีการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 8 – 10 ส.ค. 2566

ในวันแรกของการสืบพยาน จำเลยทั้งสองรับสารภาพในข้อหาตาม พ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ฯ และ พ.ร.บ.รถยนต์ฯ แต่ในข้อหาอื่นๆ ทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธ

.

วันนี้ (7 ก.ย. 2566) เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 813 จำเลยทั้งสองเดินทางฟังคำพิพากษา ต่อมาผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษา สามารถสรุปได้ดังนี้ 

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันเกิดเหตุอยู่ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ วันที่ 29 ส.ค. 2564 มีการนัดชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส บริเวณดินแดง เวลาประมาณ 15.40 – 19.30 น. มีผู้ชุมนุมเข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 300 คน ไม่มีการจัดให้มีมาตรการป้องกันโรค มีการจุดประทัด ปาระเบิดปิงปอง ตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยุติ คฝ. จึงเข้าควบคุมพื้นที่และสลายการชุมนุม

จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะ มีจำเลยที่ 2 นั่งข้างคนขับ ปิดป้ายทะเบียนโดยใช้หน้ากากอนามัย เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจค้น พบเสื้อเกราะ ส่งตรวจพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาต ในข้อหาครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหานำวัสดุปิดบังป้ายทะเบียน จำเลยให้การรับสารภาพ จึงรับฟังได้ว่ากระทำความผิดจริง

ส่วนในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยมีอาวุธ โจทก์มีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความในทำนองเดียวกันว่า สถานที่จับกุมจำเลยทั้งสองอยู่ใกล้สามเหลี่ยมดินแดง ตรวจค้นรถยนต์กระบะพบเสื้อเกราะ และหน้ากากกันแก๊ส จำเลยทั้งสองขับรถมาจากทางที่ชุมนุม ใช้หน้ากากอนามัยปิดป้ายทะเบียน ซึ่งหากไม่ได้ร่วมชุมนุมก็ไม่มีความจำเป็นต้องปิดป้ายทะเบียน เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมชุมนุม

ทนายความถามค้านได้ความว่า พยานเห็นจำเลยทั้งสองครั้งแรกในตอนจับกุม เชื่อไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนร่วมใช้ประทัด ปาระเบิด หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

จำเลยทั้งสองนำสืบว่า ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม โดยไปทำงานติดตั้งลิฟต์ตั้งแต่เวลา 9.00 – 18.30 น. มาทำงานโดยรับแจ้งผ่านทางไลน์ กำลังขับรถกลับบ้าน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเอาตู้คอนเทนเนอร์มาปิดเส้นทาง แจ้งให้ไปทางอื่น จึงเปลี่ยนเส้นทาง จนถูกตรวจค้นและจับกุม 

คำให้การในชั้นสอบสวนระบุว่า จำเลยทั้งสองออกจากที่ทำงานกำลังจะกลับบ้าน แต่จำเลยไม่มีหลักฐานหรือพยานบุคคลมาแสดง พยานของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ ฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่า ในข้อหาตาม พ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ฯ ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี และข้อหาตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 1,000 บาท ตามลำดับ

ส่วนข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ป.อ. มาตรา 215 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด คือ มาตรา 215 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี คงลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 1,000 บาท ให้ริบเสื้อเกราะ และหน้ากากอนามัย

หลังศาลมีคำพิพากษา รังสรรค์และปราณีถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันที ก่อนที่นายประกันจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันจำนวนคนละ 100,000 บาท โดยหลักทรัพย์ดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

X