ศาลเยาวชนฯ พิพากษา “เอีย” มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุปั่นจักรยานไปรับข้าวแจกใน #ม็อบ13กันยา64 แต่อายุ 12 ปีเศษ จึงไม่ต้องรับโทษ ให้ว่ากล่าวตักเตือน-ปล่อยตัว

วันที่ 18 ก.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “เอีย” เด็กชายวัย 14 ปี  ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการปั่นจักรยานไปรับข้าวแจกในการชุมนุม #ม็อบ13กันยา บริเวณแยกดินแดง เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 โดยขณะเกิดเหตุอายุ 12 ปี 4 เดือนเศษ นับเป็นเด็กอายุน้อยที่สุดที่ทราบว่าถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การชุมนุมบริเวณแยกดินแดง เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 ที่เป็นเหตุให้เอียถูกดำเนินคดี เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ชุมนุม หลังการประกาศยุติบทบาทชั่วคราวของเพจ “ทะลุแก๊ส” ปรากฏกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระมารวมตัวอยู่ที่แยกดินแดง เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และเพื่อทวงยุติธรรมให้กับผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมจากครั้งก่อนๆ 

คดีนี้ มีการสืบพยานในวันที่ 10 พ.ค. 2566 ทั้งก่อนและหลังการสืบพยานโจทก์ ผู้พิพากษาและพนักงานอัยการได้ขอให้เอียพิจารณาเรื่องการรับสารภาพและเข้ามาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา อย่างไรก็ตามเอียยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่เข้ามาตรการใดๆ

.

ย้อนอ่านบันทึกสืบพยานในคดีนี้ >>> การต่อสู้คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “เอีย” เด็กวัย 12 ปี ถูกฟ้อง “ร่วมชุมนุมเสี่ยงแพร่โรค-ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว” จากการปั่นจักรยานไปรับข้าวแจกใน #ม็อบ13กันยา64 

.

เวลา 10.00 น. หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 2 เอียเดินทางมาศาลพร้อมยายซึ่งเป็นผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ เข้าร่วมสังเกตการณ์

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ศาลระบุว่า อนุญาตให้แค่จำเลย ผู้ปกครอง และผู้รับมอบฉันทะจากที่ปรึกษากฎหมายเท่านั้นที่เข้าห้องพิจารณาได้

ในส่วนของตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งยื่นคำร้องขอเข้าห้องพิจารณาคดีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนนั้น ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต เนื่องจากการพิจารณาคดีอาญาของเด็กและเยาวชนเป็นการพิจารณาคดีแบบปิด

ต่อมาองค์คณะผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษาให้ฟัง สามารถสรุปได้ดังนี้

พิเคราะห์พยานโจทก์และจำเลยตามวันเวลาฟ้อง ในวันที่ 13 ก.ย. 2566 อยู่ในช่วงมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำเลยอยู่สามเหลี่ยมดินแดงและตะโกนว่า “กระสุนยางมาแล้ว” จำเลยรู้อยู่แล้วว่ามีการชุมนุม แต่ไม่ยอมออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวจำเลยได้ในที่เกิดเหตุ ที่จำเลยอ้างว่าปั่นจักรยานมารับข้าวนั้น ฟังไม่ขึ้น 

เห็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (1), (2) และมาตรา 18 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 12 ปีเศษ จึงยังไม่ต้องรับโทษ

พิเคราะห์รายงานของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีเห็นว่า ขณะดำเนินคดี จำเลยกำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีผู้ปกครองดูแล จึงว่ากล่าวตักเตือนและปล่อยตัวไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (1)

สำหรับองค์คณะผู้ทำคำพิพากษาได้แก่ ณรงค์ พรหมอยู่, ลือเดช ทับทิมพรรณ์, โสภณ ฮาวบุญปั๋น และนงลักษณ์ ลักษณะโภคิน

องค์คณะผู้อ่านคำพิพากษาในวันนี้ได้แก่ ณรงค์ พรหมอยู่, ลือเดช ทับทิมพรรณ์, จริยา ชูเอกวงศ์ และ ญาใจ ธนภรรคภวิน

คดีนี้ เอียต่อสู้ว่าในวันเกิดเหตุ ตนเพียงแต่ปั่นจักรยานไปที่ชุมนุมเพื่อรับข้าวแจก เมื่อไปถึงเหตุการณ์วุ่นวายและจักรยานโซ่หลุด ทำให้ไม่สามารถกลับบ้านได้ จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. จับกุม ขณะเดียวกัน ในการสืบพยานคดีนี้ ยังมีปัญหาพยานหลักฐานซึ่งเป็นวิดีโอถ่ายทำขณะที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลย ปรากฏว่ามีเพียงภาพเคลื่อนไหว ไม่มีเสียง ตลอดระยะเวลาถ่ายทำ 

X