อย่าลืมพรพจน์: การใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำครั้งที่ 2 และวันที่ผมยังไม่ได้รับการประกันตัว

#อย่าลืมฉัน

“เพชร” — พรพจน์ แจ้งกระจ่าง นักกิจกรรมวัย 50 ปี ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังเขาถูกออกหมายจับและเข้ามอบตัว เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2565 กรณีถูกกล่าวหาจากเหตุร่วมปาระเบิดปิงปองบริเวณสนามหญ้าหน้าประตูกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ พร้อมกับ “บุ๊ค ธนายุทธ” นริศ (นามสมมติ) และ “ปฏิมา” ซึ่งถูกตั้งข้อหาว่า ร่วมกันทำให้เกิดระเบิด และพาอาวุธเข้าเมืองโดยไม่มีเหตุอันควร เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 ภายหลังบุ๊คและปฏิมาได้รับการประกันตัว เหลือเพียงพรพจน์ที่ศาลยังคงยกคำร้องการขอประกันเขาอยู่เรื่อยมา

ชีวิตส่วนตัว เขาไม่ต่างจากคนทั่วๆ ไป ก่อนที่พรพจน์จะหันมาสนใจการเมือง เขามีอาชีพเป็นครูอาสาบนดอยที่ห่างไกลในจังหวัดเชียงราย ตลอดจนในพื้นที่ชนบทต่างๆ และเป็นเสาหลักของครอบครัว อีกทั้งต้องดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม

การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรพจน์ เขาเล่าว่าตัวเองเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในปี 2563 พร้อมกับเยาวชนปลดแอก และนักศึกษาที่ออกมาต่อต้านอำนาจเผด็จการของประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเขาให้ความเห็นว่า ตัวเองเป็นเพียงแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่อยากจะเห็นสังคมที่ดีกว่า และไม่ต้องการให้ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกแล้ว

พรพจน์ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน 2 คดี ก่อนที่จะเข้าร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มทะลุแก๊ส จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2564 เขาได้เข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ17ตุลา64 จนถูกจับกุมจากการถูกกล่าวหาว่า ร่วมปาระเบิดใต้ทางด่วนดินแดง และไม่ได้รับการประกันตัว ระหว่างถูกคุมขัง พี่สาวของพรพจน์ให้ข้อมูลว่า เชื้อวัณโรคของเขาได้กำเริบอีกครั้ง และติดโควิด – 19 ในขณะที่อยู่ในเรือนจำอีกด้วย

การใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำครั้งแรก  พรพจน์เล่าว่ามีน้ำหนักตัวลด เครียด วิตกกังวลเป็นอย่างมาก จนต้องถูกส่งตัวไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นเวลาร่วมเดือน ก่อนได้รับการประกันตัวหลังจากยื่นคำร้องขอประกันในครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 รวมระยะเวลาถูกขังในเรือนจำทั้งสิ้น 132 วัน

แต่ครั้งนี้ พรพจน์ต้องหวนกลับเข้าสู่เรือนจำเป็นครั้งที่ 2 และเป็นการถูกจองจำที่ยาวนานกว่าการถูกคุมขังในครั้งแรกคือกว่า 140 วันแล้ว การเผชิญหน้ากับชีวิตในเรือนจำไม่เคยสร้างความคุ้นเคยใดๆ ให้กับพรพจน์ได้เลย

ขณะที่พรพจน์ได้ถูกย้ายเข้าไปอยู่ในแดน 8 หรือแดนพยาบาล เขาเล่าให้ฟังว่าเหตุที่ถูกย้ายว่า เนื่องจากมีอาการไอ เจ้าหน้าที่มีการเอาเสมหะไปตรวจทุกอาทิตย์ และได้เอ็กเรย์ปอดไปแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ย้ายเข้ามาที่แดนพยาบาล เนื่องจากต้องเฝ้าระวังโรค

ทั้งนี้ จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ‘วัณโรค’ เป็นโรคติดต่อ ซึ่งสามารถติอต่อผ่านทางอากาศได้ด้วยการหายใจ การจาม หรือการไอ ตลอดจนการใช้ชีวิตอยู่กับผู้ป่วยวัณโรคเป็นระยะเวลานาน และการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แอดอัด ยิ่งส่งผลต่อความเสี่ยงจะแพร่เชื้อและติดโรคได้สูงมาก โดยเฉพาะพื้นที่อย่างในเรือนจำ

พรพจน์ยังได้เล่าถึงอาหารของเรือนจำ “ไม่ต่างจากแดนอื่นมาก เลยกินไม่ค่อยได้ จะกินแต่ของเยี่ยมที่แฟนฝากมาให้ มีขนมปังให้กิน พอได้ประทังชีวิต อยู่นี่กินอาหารแค่ 1 มื้อ และยังกินยาหลังอาหาร 6 เม็ด เช่นเดิม”

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ทนายความได้เข้าเยี่ยมพรพจน์ และพบว่าน้ำหนักของเขาลดลงไปกว่า 3 กิโลกรัมแล้ว เนื่องจากกินข้าวได้น้อยลง โดยในแต่ละวัน เขาจะกินข้าวเพียง 1 มื้อเท่านั้น

ต่อมาในวันที่ 30 ส.ค. 2565 ทนายความได้เข้าเยี่ยมพรพจน์อีกครั้ง  เขาเล่าว่าตอนนี้ตัวเองเป็นนักโทษคดีการเมืองคนเดียวที่ได้อยู่แดน 8 เมื่อถามถึงอาการเจ็บป่วยที่มีอยู่ เขาบอกว่าอาการป่วยวัณโรคยังคงมีอยู่ หมอให้กินยาเข้าเดือนที่ 7 แล้ว

การใช้ชีวิตในเรือนจำมาเกิน 100 วัน ทำให้พรพจน์ต้องหาอะไรทำมากกว่านั่งให้เวลาผ่านพ้นไปอย่างเปล่าประโยชน์ เขาบอกว่า “ตอนนี้ลงกองงานสวัสดิการ ดูแลพวกห้องสมุด โรงเลี้ยง แต่พอทำงานหนักๆ ก็มีอาการปวดหลัง” 

ทั้งนี้ พรพจน์แจ้งไว้ด้วยว่า ถ้าได้ยื่นประกันตัว ก็พร้อมจะรับเงื่อนไขการติดกำไล EM และเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลกำหนด

X