1 มี.ค. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 3 นักกิจกรรม “ทะลุแก๊ซ” ได้แก่ “ไพฑูรย์” (สงวนนามสกุล) “สุขสันต์” (สงวนนามสกุล) จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน โดยการขว้างวัตถุคล้ายระเบิดใส่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่แยกดินแดง จากการชุมนุม #ม็อบ11กันยา64 และพรพจน์ แจ้งกระจ่าง จากกรณีถูกกล่าวหาว่า ร่วมปาระเบิดบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2564 หรือ #ม็อบ17ตุลา64
ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไพฑูรย์และสุขสันต์เป็นครั้งที่ 6 โดยระบุว่า คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเนื่องจากไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และประสงค์จะสู้คดีให้ถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และเชื่อมั่นว่าศาลจะอำนวยความยุติธรรมให้จำเลยได้ อีกทั้งจำเลยไม่มีพฤติกรรมหลบหนี ในวันถูกจับกุมก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้น ณัฐพงษ์ นามโคตร ผู้ต้องหาซึ่งถูกจับกุมดําเนินคดีในชั้นตำรวจในคดีเดียวกันกับจําเลยทั้งสองนี้ ศาลอาญาก็ได้มีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2564 ตีราคาหลักประกัน 35,000 บาท พร้อมกับให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) มีเพียงจําเลยทั้งสองนี้เท่านั้นที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ
ปัจจุบัน ไม่ปรากฏการทำกิจกรรมการชุมนุม อีกทั้งจําเลยถูกขังตามหมายขังของศาลนี้มาเป็นระยะเวลามากกว่า 150 วันแล้ว ได้รับความยากลําบากในการใช้ชีวิตโดยปราศจากอิสรภาพเป็นอย่างมาก ทำให้ตระหนักได้ว่า จะไม่กระทำการให้ถูกฟ้องเป็นคดีอีก หากศาลอนุญาตให้ประกัน จำเลยพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัด และจะกลับไปประกอบสัมมาอาชีพรับจ้างที่บ้านเกิด โดยมีญาติผู้ใหญ่คอยดูแล
เช่นเดียวกับการยื่นประกันในครั้งที่ผ่านมา คำร้องยังย้ำเหตุผลสำคัญว่า ในขณะนี้เอง สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่ยุติ โดยเฉพาะในเรือนจำ จำเลยทั้งสองก็เคยติดเชื้อมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพจนปัจจุบัน และล่าสุดยังพบว่าจําเลยที่ 2 (สุขสันต์) ติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำอีกครั้ง หากจําเลยยังถูกคุมขังในเรือนจำอีกต่อไป จะทําให้จําเลยมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องได้รับอันตรายจากการติดเชื้อโควิดอยู่รํ่าไป เนื่องจากสภาพแออัดของเรือนจำ
ขณะที่คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของพรพจน์ แจ้งกระจ่าง ซึ่งเป็นการยื่นประกันครั้งที่ 5 ระบุว่า พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดี เป็นการกล่าวหาของพนักงานสอบสวนแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังไม่ผ่านการพิสูจน์โดยศาล ระบุเหตุการณ์โดยเลื่อนลอย เคลือบคลุม ไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า จําเลยในคดีนี้คนใดได้กระทําการอันเป็นความผิดอย่างไรบ้าง ซึ่งการกล่าวว่าบุคคลใดกระทําความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญานั้นต้องตีความโดยเคร่งครัด และมีพยานหลักฐานเพียงพอ
จําเลยเป็นเสาหลักของครอบครัว มีภาระหน้าที่ในการหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว ทั้งยังต้องดูแลมารดา พาไปหาหมออยู่เป็นประจําเนื่องจากมารดาของจำเลยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม
ที่สำคัญ ขณะที่จําเลยถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ นั้น จําเลยได้รับเชื้อวัณโรคขั้นรุนแรง จึงต้องถูกส่งตัวไปตรวจที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์และถูกส่งตัวกลับมารักษาที่แดนรักษาพยาบาล โดยต้องถูกกักตัวที่ห้องกระจกเป็นเวลาหลายวัน ทําให้จําเลยน้ำหนักลด เครียด วิตกกังวลอย่างยิ่ง ประกอบกับจําเลยเคยติดเชื้อจากโรคระบาดโควิด-19 ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ มาก่อน จนต้องถูกส่งตัวไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นเวลาร่วมเดือน หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
เวลา 16.00 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสาม ระบุเหตุผลโดยสรุปว่า จำเลยถูกขังเป็นเวลานานแล้ว โอกาสที่จำเลยจะไปก่อเหตุซ้ำมีน้อย จึงไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว โดยพรพจน์ได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินประกัน 50,000 บาท ขณะที่สุขสันต์และไพฑูรย์ได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินคนละ 270,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
จนถึงวันที่ 1 มี.ค. 2565 ไพฑูรย์และสุขสันต์ถูกคุมขังรวมทั้งสิ้น 151 วัน ขณะที่พรพจน์ถูกคุมขังรวมทั้งสิ้น 132 วัน
อิสรภาพเพียงก้าวออกจากรั้วเรือนจำ ก่อนอายัดตัวไพฑูรย์ต่อเหตุจับกุมและค้นบ้านเมื่อ 1 ต.ค. 64 กล่าวหาร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดในครอบครองโดยผิดกฎหมาย
เวลา 21.00 น. ภายหลังไพฑูรย์ ซึ่งเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด-19 และสุขสันต์ ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 และยังไม่หายดี ได้รับการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง เดินทางเข้าอายัดตัวไพฑูรย์ไปดำเนินต่อในทันที โดยมีทนายความติดตามไปเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ขณะที่สุขสันต์ยังต้องถูกกักตัวอีก 2 วัน ในอาคารกักตัวซึ่งอยู่นอกรั้วเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยตำรวจ สภ.บางบัวทอง จะมาอายัดตัวอีกครั้งภายหลังได้รับการปล่อยตัว
เมื่อทนายความเดินทางไปถึง สภ.บางบัวทอง จึงทราบรายละเอียดในบันทึกจับกุมว่า ไพฑูรย์ถูกอายัดตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 1 ต.ค. 2564 โดยพนักงานสอบสวน สภ.บางบัวทอง ได้หนังสือส่งไปแจ้งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 เพื่อขออายัดตัวทั้งไพฑูรย์และสุขสันต์ตามหมายจับดังกล่าวไปดำเนินคดีต่อหากทั้งสองได้รับการปล่อยตัว
ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 ทนายความได้ยื่นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าว ให้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาไพฑูรย์และสุขสันต์ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อประกันสิทธิในฐานะผู้ถูกจับและจำเลยให้ได้รับสิทธิในการดำเนินคดีอาญาที่รวดเร็วและเป็นธรรม แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้ 1 เดือน จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2565 พนักงานสอบสวน สภ. บางบัวทอง ก็ไม่ได้เดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองในเรือนจำ และเข้าอายัดตัวไพฑูรย์ในทันทีที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ
โดยในวันนี้ (2 มี.ค. 2565) เวลา 10.00 น. ร้อยตำรวจเอกศุภลักษณ์ พรมวงษ์ พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์คดีและข้อกล่าวหาให้ไพฑูรย์ทราบว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 ประมาณ 04.40 น. ตำรวจจับกุมสุขสันต์ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 29 ก.ย. 2564 จากนั้นเวลาประมาณ 06.30 น. ตำรวจจึงนำสุขสันต์ไปค้นบ้านพักที่บางบัวทอง จ.นนทบุรี โดยแสดงหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี พบไพฑูรย์ภายในบ้าน จากการตรวจค้น พบทั้งวัตถุคล้ายระเบิด, ประทัดบอลไล่นก, ดินประสิว, ลูกแก้ว, และพลุไฟ ทั้งคู่รับว่าเป็นอุปกรณ์ใช้ประกอบการทำระเบิดเพื่อนำไปใช้ในการชุมนุม โดยก่อนหน้านี้นำไปใช้ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564
พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันทำและร่วมกันมีระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ไพฑูรย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 4 เม.ย. 2565
จากนั้นพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องของฝากขังไพฑูรย์ครั้งที่ 1 ระบุว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานอีก 6 ปาก, รอผลการตรวจสอบของกลาง และผลการตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือ จึงขอฝากขังไพฑูรย์มีกำหนด 12 วัน ระหว่างวันที่ 2- 13 มี.ค. 2565 ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี และขอคัดค้านการประกันตัวเพราะคดีมีอัตราโทษสูง หากให้ประกันผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี
ต่อมาเวลา 16.45 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งให้ประกันไพฑูรย์ กำหนดหลักประกัน 100,000 บาท โดยทนายความใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน ศาลกำหนดนัดให้มารายงานตัวในวันที่ 25 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (3 มี.ค. 2565) สุขสันต์จะครบกำหนดกักตัวโควิด-19 ซึ่งตำรวจ สภ.บางบัวทอง จะอายัดตัวไปดำเนินคดีในคดีเดียวกับไพฑูรย์นี้
หลังศาลอาญาและศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งให้ประกันพรพจน์, ไพฑูรย์ และสุขสันต์ ทำให้ยังมีผู้ต้องขังในคดีที่มีเหตุจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ซึ่งยังไม่ได้การประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีอีกอย่างน้อย 2 คน คือ ทวี เที่ยงวิเศษ และจิตรกร (สงวนนามสกุล) ซึ่งล่าสุดศาลอาญายังคงยืนยันไม่ให้ประกันตัว แม้ทั้งสองถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาตรา 112
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี
“พรพจน์” ถูกขังจนติดวัณโรค พี่สาวหวั่นร่างกายน้องไม่ไหว 2 เดือนก่อนเพิ่งหายโควิดหลังติดในเรือนจำ
ยื่นประกัน 2 #ทะลุแก๊ซ “ไพทูรย์-สุขสันต์” อีกครั้ง วาง 5.4 แสน หลังสุขสันต์ติดโควิดในเรือนจำ ศาลยังยืนยัน “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง”