23 ก.พ. 2565 – ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 2 นักกิจกรรม “ทะลุแก๊ซ” ได้แก่ “ไพฑูรย์” (สงวนนามสกุล) และ “สุขสันต์” (สงวนนามสกุล) อีกครั้ง ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน โดยการขว้างวัตถุคล้ายระเบิดใส่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่แยกดินแดง ในระหว่าง #ม็อบ11กันยา64
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนัดตรวจพยานหลักฐานในคดี หลังอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 แต่ศาลได้เลื่อนออกไป เนื่องจากสุขสันต์ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่สามารถเบิกตัวมาศาลได้ ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสอง โดยยินยอมให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) พร้อมวางหลักทรัพย์คนละ 54,000 บาท อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้อง ระบุว่า ระหว่างสอบสวนศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว ในชั้นนี้ กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
ในการยื่นประกันครั้งล่าสุดนี้ ทนายความได้ขอวางเงินประกันสูงถึงรายละ 270,000 บาท พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเนื่องจากไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และประสงค์จะสู้คดีให้ถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และเชื่อมั่นว่าศาลจะอำนวยความยุติธรรมให้จำเลยได้ อีกทั้งจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง สามารถติดตามได้โดยง่าย การคุมขังจําเลยไว้เป็นการกระทําที่เกินสมควรแก่เหตุและเกินความจําเป็น ทำให้จำเลยไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ที่มากไปกว่านั้น พยานหลักฐานทั้งหมดก็ได้อยู่ที่โจทก์แล้ว จำเลยไม่สามารถเข้าไปก่อความยุ่งเหยิงได้
นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองถูกคุมขังเป็นเวลากว่า 144 วันแล้ว ได้รับความยากลําบากอย่างมาก ทำให้ตระหนักได้ว่า จะไม่กระทำการให้ถูกฟ้องเป็นคดีอีก หากศาลอนุญาตให้ประกัน จำเลยพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัด และจะกลับไปประกอบสัมมาอาชีพรับจ้างที่บ้านเกิด โดยมีญาติผู้ใหญ่คอยดูแล
คำร้องขอประกันยังอ้างถึงหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอาญาของไทยว่า จำเลยยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ศาลยังไม่มีคำตัดสินว่ามีความผิด ย่อมต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้ อีกทั้งจำเลยทั้งสองยังไม่มีพฤติการณ์ใดที่จะเข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
คำร้องยังได้แสดงเหตุผลสำคัญว่า ในขณะนี้เอง สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดยังไม่ยุติ และพบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก ในระหว่างการถูกคุมขัง จำเลยทั้งสองก็เคยติดเชื้อมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพจนปัจจุบัน และในนัดพิจารณาครั้งล่าสุด เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ไม่สามารถเบิกตัวจําเลยที่ 2 มาศาลได้เนื่องจากมีผลตรวจ ATK พบว่าติดเชื้อโควิดซ้ำอีกครั้ง ทั้งนี้ หากจําเลยยังถูกคุมขังในเรือนจำอีกต่อไป จะทําให้จําเลยมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องได้รับอันตรายจากการติดเชื้อโควิดอยู่รํ่าไป เนื่องจากสภาพแออัดของเรือนจำ
อย่างไรก็ตาม ในเวลาราว 17.00 น. ของวันเดียวกันนั้นเอง พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด ยังมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวไพฑูรย์และสุขสันต์ ให้เหตุผลว่า ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ไพฑูรย์และสุขสันต์ถูกฟ้องในข้อหาว่า ร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ฯ, ร่วมกันจัดกิจกรรมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้เลิก และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังหรือมีอาวุธ โดยหลังถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 และตำรวจขออำนาจศาลฝากขังในวันต่อมา ทั้งสองไม่เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยทนายความได้ยื่นประกันมาแล้ว 5 ครั้ง เป็นการยื่นประกันหลังอัยการฟ้องคดีแล้ว 3 ครั้ง โดยที่อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แต่ศาลก็ยังไม่อนุญาต
อนึ่ง จนถึงวันที่ 24 ก.พ. 2565 ยังมีผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดี ในคดีที่มีเหตุจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 6 คน โดย “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ เพิ่งได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวเป็นรายล่าสุด