จับ 3 วัยรุ่น 1 เยาวชน กลุ่ม “ก็มาดิแก๊ส” โยงปาระเบิดใส่ คฝ. #ม็อบ11กันยา 2 รายถูกตั้งข้อหาพยายามฆ่า – ศาลไม่ให้ประกัน

1 ต.ค. 2564 ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงบ่าย กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล สนธิกำลังกับชุดสืบและตำรวจหน่วยอื่น เข้าจับกุมวัยรุ่นและเยาวชนรวม 4 ราย หลัง สน.ดินแดง ขอศาลออกหมายจับ โดยกล่าวหาว่า เป็นกลุ่มที่ร่วม #ม็อบ11กันยา ที่แยกดินแดง และโยนระเบิดใส่ คฝ. จนได้รับบาดเจ็บ 4 นาย 

2 ราย ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15 ปี 1 ราย ถูกตั้งข้อหา เป็นซ่องโจร พร้อมทั้งข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมก่อความวุ่นวาย, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้เลิก และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังหรือมีอาวุธ ขณะที่วัยรุ่นอีก 2 ราย ถูกตั้งข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ฯ และข้อหาอื่นเช่นเดียวกับ 2 รายแรก ยกเว้นข้อหาเป็นซ่องโจร โดย 1 ใน 2 ราย ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้โยนระเบิดใส่ ส.ต.ต.ธนาวุฒิ จิรคเชนทร์ จนได้รับบาดเจ็บสาหัสมีเลือดออกในสมอง  

เย็นวันนี้ (2 ต.ค. 2564) ศาลอาญาและศาลเยาวชนฯ ให้ประกันผู้ต้องหา 2 ราย ที่ไม่มีข้อหาพยายามฆ่า แต่ไม่ให้ประกันผู้ต้องหาอีก 2 ราย ทำให้ทั้งสองถูกควบคุมตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทำให้จำนวนผู้ต้องขังในคดีอันเนื่องมาจากจากการแสดงออกทางการเมือง เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 13 คน      

ทั้งนี้ #ม็อบ11กันยา นับเป็นการชุมนุมที่ คฝ.ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง มีการยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้เข้าร่วมชุมนุมบริเวณปากซอยมิตรไมตรี ทั้งมีการยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาเข้าไปในแฟลตดินแดงนานกว่า 40 นาที ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยในแฟลตดังกล่าวได้รับผลกระทบ ทั้งทางร่างกาย และห้องพักได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังถูกปิดกั้นการทำหน้าที่ ถูกข่มขู่ และมีการจับกุมประชาชนมากถึง 77 ราย เป็นเยาวชน 11 ราย หลายรายได้รับบาดเจ็บ โดยแพทย์ พยาบาลอาสา และอาสากู้ภัย จำนวน 25 ราย ถูกจับกุมไปด้วยก่อนได้รับการปล่อยตัว เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนหลายประการ และทำให้หลายกลุ่มออกแถลงการณ์ประณาม 

.

จับ 4 ราย ไม่มีทนายอยู่ร่วมทำบันทึกจับกุม กระจายสอบปากคำ 3 สน. ปล่อยทนายรอ 6 ชม.

ราว 15.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีวัยรุ่นกลุ่ม “ก็มาดิแก๊ส” ถูกจับอยู่ที่ สน.ดินแดง เมื่อทนายความติดตามไปถึงประมาณ 16.00 น. ตำรวจได้ทำบันทึกจับกุมเสร็จแล้ว โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม ทราบจากผู้ถูกจับว่าชื่อ ณัฐพงษ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี ยังศึกษาอยู่ ถูกจับแถวบ้าน ตั้งแต่ช่วงเช้า แต่เขาติดต่อญาติไม่ได้ เนื่องจากไม่มีโทรศัพท์

ต่อมาประมาณ 18.36 น. ทนายความพบ วุฒิ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกจับมาจาก ซ.เพชรเกษม 16 ตามหมายจับของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง เป็นผู้ขอออกหมายจับ ภายหลังจับกุมนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สน.ท่าพระ จากนั้นจึงส่งตัวมาที่ สน.ดินแดง เจ้าของคดี

บันทึกการจับกุมของทั้งสอง ระบุว่า ทั้งสองถูกจับตามหมายจับในข้อหาเดียวกัน ได้แก่ ร่วมกันจัดกิจกรรมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, เป็นซ่องโจร, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้เลิก และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังหรือมีอาวุธ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210, 215, 216 และ 138 ประกอบ 140) 

โดยณัฐพงษ์ถูกจับตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1588/2564 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2564 เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมสนธิกำลังจากหลายหน่วย ทั้งชุดสืบของ บช.น. และ สน.ดินแดง, ตำรวจน้ำ, ตำรวจปราบปรามยาเสพติด เข้าจับกุมที่บ้านพักในเขตภาษีเจริญ เวลา 10.30 น. นำตัวมาทำบันทึกจับกุมที่ สน.ดินแดง ในเวลา 11.50 น. บันทึกจับกุมยังระบุด้วยว่า ชั้นการจับกุม ณัฐพงษ์ให้การรับสารภาพในข้อเท็จจริง แต่ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาตามหมายจับ 

ส่วนวุฒิถูกจับในเวลา 13.40 น. โดยชุดสืบของ บช.น.รวม 7 นาย ตามหมายจับของศาลเยาวชนฯ ลงวันที่ 29 ก.ย. 2564 เช่นเดียวกัน  ชั้นจับกุม วุฒิไม่ได้ให้การใดๆ โดยมีพ่อลงชื่อเป็นพยาน แต่ไม่มีที่ปรึกษากฎหมายเข้าร่วม ภายหลังพบที่ปรึกษากฎหมายที่ สน.ดินแดง วุฒิให้ข้อมูลว่า ตำรวจได้ยึดโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง และแท็บเล็ตอีก 1 เครื่อง ไปตรวจสอบ แต่เขาไม่ได้ให้ความยินยอม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงค่ำทนายความไม่ได้รับการชี้แจงอย่างชัดเจนว่า พนักงานสอบสวนคนใดจะทำหน้าที่สอบปากคำผู้ต้องหา เป็นเวลานาน ก่อนเจ้าหน้าที่จะแจ้งว่า การสอบปากคำจะเริ่มขึ้นหลังเที่ยงคืน เนื่องจากพนักงานสอบสวนจะเข้าเวรตอนเที่ยงคืน 

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีณัฐพงษ์และวุฒิจากเหตุการณ์การชุมนุมที่ดินแดงเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 ใจความโดยสรุปว่า วันเกิดเหตุผู้ต้องหาและพวกรวม 10 คน ได้นัดหมายมารวมตัวกันที่ซอยเพชรเกษม 36 แล้วขับขี่จักรยานยนต์ 5 คัน สวมปลอกแขนด้านซ้าย รถคันแรกถือธงสีแดงเป็นสัญลักษณ์ ไปร่วมชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ต่อมา ตํารวจควบคุมฝูงชนได้เข้าควบคุมพื้นที่ ทำให้กลุ่มผู้ต้องหากับพวกหลบหนีไป โดยระหว่างการหลบหนีได้ขว้างระเบิดใส่ตํารวจควบคุมฝูงชน เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ 4 นาย รวมทั้ง ส.ต.ต.ธนาวุฒิ จิรคเชนทร์ ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณใบหน้าและศีรษะ มีเลือดออกในสมองและฐานกะโหลกแตกร้าว 

ชั้นสอบสวนณัฐพงษ์และวุฒิให้การปฏิเสธ และจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หลังสอบปากคำเสร็จเวลาประมาณตีสอง ทั้งสองถูกคุมขังที่ สน.ดินแดง ต่อ กระทั่งช่วงสายของวันนี้ (2 ต.ค. 2564) พนักงานสอบสวนจึงนำตัวณัฐพงษ์ไปฝากขังที่ศาลอาญา และนำตัววุฒิไปตรวจสอบการจับที่ศาลเยาวชนฯ ในช่วงเที่ยง  

คฝ.ยกกำลังติดตามผู้ชุมนุมเข้าไปในซอยข้างแฟลตดินแดง #ม็อบ11กันยา (ภาพโดยประชาไท)

นอกจากการจับกุมณัฐพงษ์และวุฒิ ก่อนหน้านั้นในช่วงเช้าตรู่วันที่ 1 ต.ค. 2564 มีรายงานข่าวว่า ตำรวจชุดสืบสวนของ บช.น., บช.ภ.2 และ บช.ภ.7 ได้ร่วมกันจับกุม 2 วัยรุ่น ระบุว่าเป็นกลุ่ม “ก็มาดิแก๊ซ” ได้แก่ สุขสันต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี ที่หน้าเซเว่นอิเลฟเว่น สาขาอร่ามศรี และจับกุมไพฑูรย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี ที่บ้านพักใน อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1589/2564 และ 1590/2564 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2564 โดยกล่าวหาว่า เป็นคนขว้างระเบิดใส่ คฝ.ที่ดินแดง เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 จน คฝ.บาดเจ็บสาหัส 

ทั้งสองถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ฯ, ร่วมกันจัดกิจกรรมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้เลิก และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังหรือมีอาวุธ

รายงานข่าวระบุว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 21.36 น. มีการรวมกลุ่มของบุคคลบริเวณซอยต้นโพธิ์ โดยกลุ่มคนดังกล่าวได้ใช้ความรุนแรง และต่อสู้ขัดขวางกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีคนร้ายใส่เสื้อสีดำ ตัวอักษรด้านหลังเสื้อสีขาวรูปตัวเอ็กซ์ได้ใช้ระเบิดปาใส่  ส.ต.ต.ธนาวุฒิ จิรคเชนทร์ ผบ.หมู่ บก.อคฝ. จนเป็นเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัสมีแผลฉีกขาดบริเวณหน้าและบริเวณตาขวา มีเลือดออกในสมอง และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 

ต่อมา ตำรวจชุดสืบสวนทำการสืบสวนภาพจากกล้องวงจรปิด จนสามารถยืนยันได้ว่า วันเกิดเหตุผู้ต้องหาทั้งสองเดินทางมาร่วมชุมนุมกันที่หน้ากรมดุริยางค์ทหารบก ต่อมาได้เข้าไปในซอยต้นโพธิ์ พบ ส.ต.ต.ธนาวุฒิ และไพฑูรย์ได้โยนระเบิดใส่ ส.ต.ต.ธนาวุฒิ ก่อนร่วมกันหลบหนีโดยรถจักรยานยนต์  

ทั้งนี้ ในช่วงค่ำ ศูนย์ทนายฯ จึงได้รับแจ้งว่า ไพฑูรย์ถูกนำตัวไปสอบสวนที่ สน.ห้วยขวาง แต่ยังไม่มีทนายความ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายฯ จึงเดินทางไปเข้าร่วมสอบปากคำ แต่พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง เจ้าของคดี ได้เริ่มสอบปากคำไปบ้างแล้ว และบันทึกว่า ไพฑูรย์ให้การปฏิเสธ ทนายความได้ขอให้พนักงานสอบสวนแก้ไข โดยระบุเพิ่มเติมในบันทึกคำให้การว่า จะขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง แต่พนักงานสอบสวนไม่แก้ไขให้ ไพฑูรย์และทนายความจึงไม่ลงชื่อในบันทึกคำให้การ 

ส่วนในบันทึกจับกุมซึ่งตำรวจชุดจับกุมจัดทำตั้งแต่ช่วงเช้า โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม ระบุว่า ในชั้นจับกุม ไพฑูรย์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา 

ด้านสุขสันต์ มีข้อมูลว่า ถูกนำตัวแยกไปสอบปากคำที่ สน.พหลโยธิน โดยมีทนายความจากสภาทนายความเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม ญาติของสุขสันต์ไม่ได้รับแจ้งว่า เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหนจนกระทั่งกลางดึก 

.

ตำรวจค้านประกันตัว ก่อนศาลให้ประกัน 2 ราย ในรายวัยรุ่นให้ติด EM – ห้ามทำผิดซ้ำ ไม่ให้ประกัน 2 วัยรุ่น

ก่อนเที่ยงวันนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ควบคุมตัวไพฑูรย์จาก สน.ห้วยขวาง และสุขสันต์จาก สน.พหลโยธิน ไปศาลอาญาเพื่อขอฝากขัง 

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังณัฐพงษ์, ไพฑูรย์ และสุขสันต์ เป็นสำนวนเดียวกัน โดยท้ายคำร้องได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสามในระหว่างการสอบสวน 

เช่นเดียวกับคำร้องตรวจสอบการจับวุฒิ พนักงานสอบสวนก็ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว หรือหากศาลปล่อยชั่วคราวก็ขอให้กําหนดเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด โดยอาจห้ามมิให้กระทําความผิดในลักษณะนี้ หรือก่อความวุ่นวาย หรือมีการมั่วสุมกันอีก 

กรณีของวุฒิ เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักประกันวงเงิน 8,000 บาท ซึ่งพ่อของวุฒิได้วางเงินประกันเบื้องต้น 2,000 บาท และจะชำระส่วนที่เหลือภายในวันที่ 15 ต.ค. 2564 ศาลกำหนดนัดรายงานตัวที่สถานพินิจฯ บางนา และรายงานตัวต่อศาล ในวันที่ 6 ต.ค. และ 23 พ.ย. 2564 ตามลำดับ

ส่วนที่ศาลอาญา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน โดยกรณีณัฐพงษ์ ได้เสนอวางหลักประกันเป็นเงินสด 35,000 บาท พร้อมทั้งติดกำไลอิเลคทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) กรณีของไพฑูรย์ ซึ่งถูกตั้งข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ได้เสนอวางหลักประกันเป็นเงินสด 54,000 บาท พร้อมทั้งติด EM เช่นกัน  

เวลา 19.00 น. อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวณัฐพงษ์เพียงคนเดียว โดยให้วางหลักประกันตามที่ยื่นคำร้อง ทั้งกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำผิดซ้ำในทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน  โดยนัดให้มาศาลเพื่อติด EM ในวันที่ 5 ต.ค. 2564 และนัดรายงานตัววันที่ 19 พ.ย. 2564

แต่ไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวไพฑูรย์และสุขสันต์ ระบุว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ความผิดตามที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง ประกอบกับผู้ต้องหาทั้งสองมีหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีอยู่แล้ว หากให้ปล่อยชั่วคราวไป อาจจะหลบหนี อีกทั้งพนักงานสอบสวนได้คัดค้าน

ทั้งนี้ หมายจับศาลจังหวัดนนทบุรีตามคำสั่งดังกล่าว คาดว่าสืบเนื่องจากกรณีเข้าจับกุมไพฑูรย์ที่บ้านพักใน อ.บางบัวทอง ชุดจับกุมได้เข้าตรวจค้นตามหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 30 ก.ย. 2564 พบวัตถุคล้ายระเบิดพันด้วยเทปพันสายไฟสีดำ จำนวน 25 ลูก

นอกจากนี้ คำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ยังระบุชื่อผู้ชุมนุมอีก 2 ราย ว่าร่วมกันกับณัฐพงษ์และสรวุฒิปาระเบิดใส่ คฝ. คาดว่าทั้งสองถูกศาลออกหมายจับจากกรณีนี้เช่นกัน

หลังศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกัน ทำให้ไพฑูรย์และสุขสันต์ถูกควบคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขังนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในทันที และทำให้จำนวนผู้ต้องขังในคดีอันเนื่องมาจากจากการแสดงออกทางการเมือง เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 13 คน หลังนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า 3 ราย “ไดโน” นวพล ต้นงาม, วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ และ ปวริศ แย้มยิ่ง ซึ่งยื่นประกันอีกครั้งในวันนี้ยังไม่ได้ประกัน ส่วน เวหา แสนชนชนะศึก ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver.เกรี้ยวกราด” ได้รับการประกันตัว

>> “ผู้ต้องขังทางการเมือง” อย่างน้อย 9 คน เป็นเยาวชน 1 ราย ถูกขังระหว่างการดำเนินคดี 

.

Cr.ภาพประกอบเรื่อง มติชนออนไลน์

X