แซม สาแมท นักกิจกรรมไร้รัฐ/สัญชาติ ยื่นขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร ยันรัฐไทยมีพันธกิจต้องช่วยเหลือตามหลัก กม. ทั้งในและระหว่างประเทศ

11 มี.ค. 2565 – ที่เทศบาลนครนนทบุรี ทนายความพร้อมด้วย แซม สาแมท นักกิจกรรมทางการเมือง ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกเทศมนตรี นครนนทบุรี ขอให้ดำเนินการเพิ่มชื่อแซมในทะเบียนราษฎรเพื่อขจัดความไร้รัฐ เหตุเพราะแม้แซมจะเกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี มีบิดาเป็นคนไทย แต่ขาดเอกสารในการรับรองสัญชาติ ทำให้เขาอยู่ในสถานะคล้ายกับคนไร้รัฐ

>>>  เปิดเรื่องราวผู้ต้องขัง #ม็อบ28กุมภา “แซม สาแมท” ชายไร้สัญชาติที่ออกมาสู้เพื่อความเท่าเทียม

>>>  ‘แซม สาแมท’: 96 วันของนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้  กับวีรกรรมล้านแปดของกะเทยในเรือนจำ

นอกจากหนังสือถึงนายกเทศมนตรีนครนนทบุรี ยังมีการแนบเอกสารอื่นๆ อีกเพื่อประกอบการพิจารณา ได้แก่ บันทึกข้อเท็จจริงของผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับแซม เพื่อยืนยันว่าเขาอาศัยอยู่ในประเทศไทยจริง, สัญญาห้องเช่าที่แซมอาศัยอยู่, ใบเสร็จค่าเช่าห้อง, บันทึกการตรวจสภาพห้อง และส่วนสุดท้ายคือความเห็นทางกฎหมายและการรับรองตัวบุคคลกรณีแซม

สำหรับเนื้อหาในหนังสือถึงนายกเทศมนตรีนครนนทบุรี มีเนื้อหาระบุว่า ทางโครงการคลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจาก แซม สาแมท เนื่องจากยังไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรและยังไม่ได้รับการรับรองสัญชาติตามกฎหมาย

จากการลงพื้นที่ (จังหวัดสระแก้ว – บ้านเกิดของแซม) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สอบพยานบุคคล และตรวจสอบข้อกฎหมาย พบว่า แซม สาแมท เป็นคนไร้รัฐ (Undocumented Stateless person) ไม่มีเอกสารแสดงตน (Undocumented person) และอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ในเบื้องต้น ภายใต้ บทบัญญัติมาตรา 38 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ประกอบ หนังสือสั่งการ ที่ มท 0809.2/ว156 ลว 13 พฤษภาคม 2563 หน่วยงานเทศบาลนครนนทบุรีจึงเป็นหน่วยงานที่มีอํานาจหน้าที่ในการจัดทําเอกสารแสดงตน (ประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร) เพื่อขจัดความไร้รัฐ และไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่แซม

ในการนี้ ทางคลินิกกฎหมายฯ จึงขอความอนุเคราะห์ให้ดําเนินการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรแก่แซม

เอกสารส่วนต่อมาคือบันทึกคำให้การข้อเท็จจริงของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับแซม รวมทั้งหมด 4 ราย – ผู้ใหญ่บ้านในเขตที่แซมอยู่อาศัย ยืนยันว่าแซมได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวพร้อมกับแม่ซึ่งเป็นคนกัมพูชาจริง, เพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันซึ่งแซมเคยไปอาศัยอยู่ด้วยพักหนึ่ง, นายจ้างซึ่งรับแซมไปทำงานด้วยที่จังหวัดจันทบุรีเป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปี และคนสุดท้ายคือเพื่อนที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าอาคารเดียวกันกับแซม ภายหลังจากที่เขาเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ โดย 3 ใน 4 ราย ยืนยันว่าแซมเป็นผู้มีความประพฤติดี เรียบร้อย

ความเห็นทางกฎหมายและการรับรองตัวบุคคล กรณีแซม: รัฐไทยมีหน้าที่รับรองสัญชาติ / ตัวตนให้กับบุคคลในรัฐตามกฎหมายทั้งสากล-ในประเทศ

ในส่วนของเอกสารฉบับนี้ ระบุว่า จากการลงพื้นที่ของหน่วยงานจากทั้งสองมหาวิทยาลัย และทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้มีการสอบข้อเท็จจริงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับแซม พบว่า แซมเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎร ตามมาตรา 39 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551

จากการสอบข้อเท็จจริงของผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับแซม ประกอบกับคำบอกเล่าของเจ้าตัว พบว่า มารดาของแซมเป็นคนกัมพูชาที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย บิดาเป็นคนสัญชาติไทย พื้นเพจังหวัดเพชรบูรณ์ อย่างไรก็ตาม เอกสารรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ซึ่งออกโดยโรงพยาบาลที่แซมคลอดไม่สามารถติดตามได้ บิดาเองก็หายไปจากครอบครัว โดยที่มารดาก็ไม่ได้กล่าวถึงอีก

ขณะนี้ แซมอยู่ระหว่างการหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเป็นบุตรของบิดา (เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา) แซมอยู่อาศัยในประเทศไทยมาโดยตลอด โดยปราศจากเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล แซมจึงเป็นผู้มีสถานะตามกฎหมายเป็น “คนไร้รัฐ” หรือ “บุคคลผู้ไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคค” (Undocumented person) และไร้สัญชาติ (Undocumented Stateless person)

ภายใต้หลักกฎหมาย ที่ว่า บุคคลจะต้องได้รับการรับรองเป็นบุคคคลตามกฎหมาย ตามพันธกรณีระหว่างประเทศตามข้อ 15 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประกอบกับ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกฎหมายภายในของประเทศไทย คือ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ ที่ 2 พ.ศ. 2551 มาตรา 38 วรรคสอง ประกอบกับหนังสือสั่งการของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท 0309.8/ว156 ลว 13 พฤษภาคม 2563) 

ดังนั้น หน่วยงานทะเบียนราษฎรจึงเป็นผู้มีอํานาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐให้แก่บุคคล โดยจะต้องจัดทําทะเบียนคนอยู่ ประเภททะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน บัตรประจําตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร โดยกําหนดเลขประจําตัวสิบสามหลัก (ขึ้นต้นด้วยเลข 0 และหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 00) ให้แก่บุคคลไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล/คนไร้รัฐ

เมื่อแซมมีข้อเท็จจริงครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกําหนด กล่าวคือ ประการแรก เป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ และยังไม่ได้รับการรับรองสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดา เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิสูจน์ 

ประการที่ 2 เป็นบุคคลที่มีภูมิลําเนาเป็นหลักแหล่งในประเทศ ปรากฎตามข้อเท็จจริงและพยาน เท่ากับมีภูมิลําเนาตามกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 

และประการที่ 3 ไม่มีเอกสารราชการของประเทศใดที่แสดงว่าเป็นคนชาติหรือราษฎรของประเทศใด เพราะมารดาของแซมก็ไม่ได้รับรองความเป็นสัญชาติกัมพูชาให้กับแซม

ดังนั้น “รัฐไทย” โดยการดําเนินงานของหน่วยงานทะเบียนราษฎร ได้แก่ สํานักงานเขต หรือสํานักทะเบียนท้องถิ่น หรือสํานักทะเบียนอําเภอ ซึ่งแซมปรากฏตัว ย่อมมีหน้าที่ในการปฏิบัติตามอํานาจภายใต้บทบัญญัติมาตรา 38 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ในการแก้ปัญหาความไร้รัฐ ให้แก่แซม โดยดําเนินการจัดทําเอกสารแสดงตนประเภท “บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” (ทะเบียนคนอยู่ บัตรประจําตัวและกําหนดเลขประจําตัวสิบสามหลัก) โดยจะต้องดําเนินการภายในกรอบเวลาที่กฎหมายกําหนดในระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทย ยังไม่เสร็จสิ้น

ทั้งนี้ เอกสารความเห็นทางกฎหมายฉบับนี้ทําขึ้นเพื่อรับรองว่า แซม สาแมท เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องประมาณ 12 ปี (ตามพยานหลักฐานที่พอจะรวบรวมได้ในเบื้องต้น) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายต่อไป

หลังการยื่นคำร้องและเอกสารหลักฐานต่างๆ ยังต้องติดตามการพิจารณาของเทศบาลนครนนทบุรีต่อไป

X