ความเห็นทางกฎหมายต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพในการแสดงความเห็นของกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 106 คน ใน 8 กรณี
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เดือนมกราคม – เมษายน 2561
- สืบเนื่องจากการประกาศให้แผนดำเนินงานของรัฐบาลคสช. ในปี 2561 มีประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งวาระแห่งชาติ ที่หน่วยงานตลอดจนองคาพยพทุกภาคส่วนของรัฐต้องปกป้อง ส่งเสริม คุ้มครอง และรับรองให้หลักสิทธิมนุษยชนเกิดผลได้จริง ซึ่งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามที่กรอบกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อย่างกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (ICCPR) กำหนดไว้ และรัฐไทยอนุวัติการกฎหมายดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในกฎหมายภายในประเทศหลายฉบับ รวมถึงในรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมอยู่ในนิยามของคำว่า “สิทธิมนุษยชน” ที่รัฐบาล คสช. วางหลักจะให้การสนับสนุนเป็นวาระแห่งชาติในปีนี้
- อย่างไรก็ตาม จากการเก็บข้อมูลการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน นับตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน 2561 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. จัดการเลือกตั้งทั่วไป และถ่ายโอนอำนาจจากการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งนำโดยทหารและ คสช. กลับคืนสู่ประชาชน กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งรับมอบอำนาจโดยตรงมาจาก คสช. เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีต่อ “กลุ่มผู้ชุมนุม” และ “แกนนำผู้ชุมนุม” ในความผิดอาญาฐานต่าง ๆ จำนวนอย่างน้อย 8 กรณี ซึ่งครอบคลุมการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนี้มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้วอย่างน้อย 106 คน ทั้งนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ทนายความ นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไป คดีทั้งหมดอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ และภายในระยะเวลาอันกระชั้นชิด บางส่วนของผู้ถูกกล่าวหาถูกจับกุม หรือถูกออกหมายจับ หรือถูกนำตัวไปขออนุญาตต่อศาลเพื่อฝากขังอีกด้วย
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารในปี 2557 และรวบรวมข้อมูลการใช้อำนาจของทหารซึ่งละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนนับตั้งแต่ช่วงระยะเวลาดังกล่าว จึงจัดทำข้อสังเกตบางประการและความเห็นทางกฎหมายต่อการดำเนินคดีกับประชาชนทั้ง 8 กรณี ดังนี้
เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออก
- สิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในข้อบทที่ 21 และข้อบทที่ 19 ของ ICCPR นั้น ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 และมาตรา 34 ซึ่งโดยหลักแล้ว รัฐต้องประกันว่าบุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตลอดทั้งมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ซึ่งเสรีภาพทั้งสองประการนี้มักใช้ควบคู่กันในการสื่อสาร การให้ข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล และการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐอื่น นอกจากนี้ เสรีภาพดังกล่าวยังเป็นฐานสำคัญที่ทำให้การใช้สิทธิทางการเมืองอื่นมีประสิทธิภาพ เช่น ก่อให้เกิดการใช้สิทธิเพื่อรณรงค์การเลือกตั้ง และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม
- อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิในเสรีภาพดังกล่าวย่อมมีข้อยกเว้นได้ โดยรัฐสามารถออกกฎหมายหรือใช้กฎหมายมาจำกัดการใช้เสรีภาพของประชาชนได้ แต่ด้วยเหตุผลเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนเท่านั้น นอกจากนี้ ในข้อบทที่ 21 ยังกำหนดเพิ่มเติมว่า กฎหมายซึ่งออกหรือใช้เป็นข้อยกเว้นดังกล่าว ต้องทำเท่าที่จำเป็นและเป็นที่ยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น
- ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลและ คสช. ทั้งกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้วอย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดอาญาในพระราชบัญญัติอื่น เช่น พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ตลอดทั้งกฎหมายใหม่ซึ่งออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และผลจากการใช้อำนาจโดยตรงของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 อย่างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 กลายเป็นชุดกฎหมายที่มีเจตนารมณ์หรือถูกบังคับใช้ให้มีผลโดยตรงต่อการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนมาตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา
- หากพิจารณามูลเหตุจูงใจในการจัดการชุมนุมของทั้ง 8 กรณี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ข้อเรียกร้องหลักของผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ คือการขอให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็วที่สุด และบางส่วนของการชุมนุม เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เพราะด้วยข้อเท็จจริงประกอบกับระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้อ้างสภาวะการณ์ฉุกเฉินในการเข้าควบคุมการบริหารงานประเทศ แต่กลับเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป อันเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเจตจำนงค์ของตัวเองในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยอีกครั้ง ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นกระบวนการที่สังคมประชาธิปไตยทั่วไปยอมรับและให้คุณค่า
- ดังนั้นแล้ว การใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งทั่วไป และการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล คสช. โดยผู้ชุมนุมทั้ง 8 กรณี จึงสอดคล้องและได้รับการรับรองว่าสามารถกระทำได้ ทั้งตามข้อบทที่ 19 ข้อบทที่ 21 ของ ICCPR ประกอบกับมาตรา 44 และมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 รัฐซึ่งหมายความถึงองคาพยพทุกส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม จึงมีหน้าที่ในการปกป้อง ส่งเสริม คุ้มครอง และรับรองให้สิทธิทั้งสองประการดังกล่าวเกิดผลได้จริง
- อย่างไรก็ตาม ชุดกฎหมายซึ่งถูกนำมาบังคับใช้เป็นข้อยกเว้นเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กลับกลายเป็นเครื่องมือที่ให้รัฐหยิบยกมากล่าวอ้างว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อทั้งข้อบทใน ICCPR และตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพราะข้อยกเว้นดังกล่าวได้รับการตราเป็น “กฎหมาย” (ไม่ว่าจะออกโดยหัวหน้า คสช. หรือสภานิติบัญญัติก็ตาม) และได้รับการบังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และศาลแล้ว
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นว่าแม้รัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จะมีข้อยกเว้นในการจำกัดสิทธิสอดคล้องกับ ICCPR แต่การคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมนั้นต้องทำให้บรรลุผลจริงในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งตราโดยไม่ผ่านกระบวนการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน และยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง จนทำให้ปัจจุบันประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิชุมนุมได้ ย่อมขัดต่อเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย และขัดต่อพันธกรณีใน ICCPR
- นอกจากนี้ ในเนื้อหาของกฎหมายทั้งสองฉบับ รวมถึงความผิดทางอาญาฐานอื่นอย่างมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ยังได้รับการบัญญัติหรือตีความอย่างกว้างขวาง เช่น คำว่า “ชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง” ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 อาจหมายความถึงการปราศรัยโจมตีต่อต้านรัฐบาล ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้ว คือการวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลที่ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในการบริหารงานของรัฐบาลใดย่อมสามารถกระทำได้ หรือ “การร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือแสดงความเห็นโดยสุจริต” ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา อาจหมายความถึงการออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อเรียกร้องให้รัฐจัดการเลือกตั้งทั่วไปและยุติบทบาทการบริหารประเทศตามสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้ เป็นต้น
การควบคุมตัวโดยพลการ
- เมื่อพิจารณาประกอบกับความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ลำดับที่ 34 (General Comment No.34) และ ความเห็นของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการคุมขังโดยพลการ (The Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งให้ข้อสังเกตต่อกรณีที่มีการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคล ที่แม้จะเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศ แต่หากกฎหมายนั้นนิยามหรืออนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลได้อย่างกว้างขวาง หรือเป็นการจับหรือควบคุมตัวอันขัดแย้งหรือเป็นผลมาจากการใช้สิทธิมนุษยชนอื่นของบุคคลนั้น กรณีดังกล่าวถือเป็นการจับกุมหรือควบคุมตัวโดยพลการตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง ICCPR ในข้อบทที่ 9 เช่นเดียวกัน
- ดังนั้นแล้ว การจับกุมหรือควบคุมตัวไม่ว่าทางใดทางหนึ่งต่อประชาชน ซึ่งใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่แม้รัฐจะอ้างว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายและใช้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมปกติเป็นผู้ดำเนินการ แต่ชุดกฎหมายข้างต้นกลับให้นิยามและอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับกุมหรือควบคุมตัวได้อย่างกว้างขวาง การจับกุมผู้ถูกกล่าวหาบางคน เช่น นายรังสิมันต์ โรม, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายอานนท์ นำภา และนายเอกชัย หงส์กังวาน จึงเป็นการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการเช่นเดียวกัน
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การแจ้งข้อกล่าวหาต่อประชาชนทั้ง 106 คน ตลอดทั้งการดำเนินการตาม “กฎหมาย” ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่รัฐกล่าวอ้าง เป็นการจำกัดสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงความเห็นเกินกว่าที่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่ประชาชนถูกกล่าวหา อีกทั้งยังกระทบถึงสาระสำคัญของการใช้เสรีภาพดังกล่าวอย่างมีนัยยะสำคัญ จนประชาชนไม่อาจใช้เสรีภาพนั้นได้อีก เพราะอาจถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีได้ทุกเมื่อ และอาจนำมาสู่เหตุการณ์จับกุมหรือควบคุมตัวโดยมิชอบตามที่กล่าวมาข้างต้น ในกรณีนี้ รัฐ ตลอดทั้งกระบวนการยุติธรรมของรัฐ จึงกลายเป็นผู้ละเมิดสิทธิของประชาชน แทนที่ปกป้อง ส่งเสริม คุ้มครอง และรับรองให้สิทธิมนุษยชนของประชาชนเกิดผลได้จริง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ตามที่ให้การรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศ ICCPR และตามที่ได้ประกาศไว้ให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ
ข้อเสนอแนะ
- ด้วยเหตุและผลที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้รัฐไทย โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ปกป้องและคุ้มครองเสรีภาพชุมนุม โดยยุติการดำเนินคดีกับผู้ซึ่งใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และยุติการคุกคามและละเมิดสิทธิในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนในทุกรูปแบบโดยไม่มีเงื่อนไข ตลอดทั้งเคารพการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน และยอมรับว่าสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่จำเป็นและต้องสามารถกระทำได้บนวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อ่านเพิ่มเติม
ปฏิบัติการเยี่ยมบ้านคนอยากเลือกตั้ง เพิ่มอุณหภูมิแล้งร้อนให้ประเทศไทยhttps://tlhr2014.com/?p=6958
“3 ปี สิ่งเสมือนกฎหมาย” ให้อำนาจทหารกว้างขวาง ขาดการตรวจสอบ ในนาม “คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58” https://tlhr2014.com/?p=6768
คนอยากเลือกตั้งพัทยา (PTY12) เข้ารับทราบข้อหาเพิ่มอีก 5 คน ตร.นัดส่งอัยการ 10 พ.ค.นี้
ศาลยกคำร้องฝากขัง 3 ผู้ต้องหา ARMY57 หลังถูกออกหมายจับ
ศาลยกคำร้องหลังพสส.ขอศาลออกหมายจับ 7 ผตห.แกนนำ RDNคนอยากเลือกตั้ง
ออกหมายจับ! 7 ผู้ชุมนุม ‘อยากเลือกตั้ง’ หน้า ทบ. ละเมิดสิทธิการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
อัยการเลื่อนฟังคำสั่งสองคดีคนอยากเลือกตั้ง นัดใหม่ 23 พ.ค. ทั้ง ‘MBK39-CMU06’
เปิดคำให้การ ‘ชำนาญ จันทร์เรือง’ พยาน ‘MBK39’ ชี้เลือกตั้งปีนี้เป็นไปได้
ศาลสั่งปล่อยผู้ต้องหาคดีคนอยากเลือกตั้งกองทัพบก