เมื่อวันที่ 10 ต.ค.60 ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญต่อพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ในคดีของ 5 นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีการติดแผ่นป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร”ที่ฝาผนังห้องประชุมศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา เมื่อวันที่ 18 ก.ค.60
ในคดีนี้ ผู้ต้องหาทั้งห้าคน ได้แก่ นายชยันต์ วรรธนะภูติ, นางภัควดี วีระภาสพงษ์, นายนลธวัช มะชัย, นายชัยพงษ์ สำเนียง และนายธีรมล บัวงาม ได้ถูกกล่าวหาว่าการติดแผ่นป้ายดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ โดยผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพิ่มเติมจำนวน 5 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของผู้ต้องหา
(ภาพจาก TCIJ)
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับการคุ้มครองทั้งในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
คำให้การโดยสรุป ผศ.ดร.จันทจิราเห็นว่าว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เป็นต้นมา จนถึงรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 มาตรา 34 ได้ให้การรับรองเสรีภาพชองบุคคลในการแสดงความคิดเห็นไว้อย่างชัดแจ้ง ทั้งโดยบัญญัติไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญ และโดยปริยาย ตามพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนามผูกพันแล้ว โดยเฉพาะตามข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UDHR) และข้อ 19 ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองและคุ้มครองนี้ ย่อมมีผลบังคับผูกพันสถาบันของรัฐโดยตรงทุกองค์กร ในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่สำคัญๆ ในระดับที่เป็นสากลตามหลักสิทธิมนุษยชนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยพิจารณานำเอาหลักการในพันธกรณีระหว่างประเทศมาพิจารณาประกอบกับตัวบทรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคดีโดยตรง ดังปรากฏในคำวินิจฉัยที่ 12/2555 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2555
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติยังได้จัดทำ “ความเห็นทั่วไปหมายเลข 34” ว่าด้วยสาระสำคัญของข้อบทที่ 19 เสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ตามกติกา ICCPR อธิบายเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออกว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการพัฒนาบุคลิกภาพและคุณภาพชีวิตของบุคคล เป็นเสรีภาพที่ประสานเป็นเนื้อเดียวกันกับเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม และสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน เสรีภาพชนิดนี้มีความจำเป็นและเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตย
ทุกสังคม เสรีภาพในการคิดและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและเป็นพาหนะสำหรับการแลกเปลี่ยนและการพัฒนาความคิดเห็นของบุคคลให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป เสรีภาพทั้งสองเป็นเงื่อนไขอันจำเป็นสำหรับการควบคุมบังคับให้หลักความโปร่งใสและหลักความรับผิดชอบของรัฐเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
คณะกรรมการฯ เห็นว่ารัฐภาคีไม่อาจพรากหรือทำลายเสรีภาพชนิดนี้ ไปจากประชาชนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่อาจจัดทำข้อสงวนหรือข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามข้อบทที่ 19 นี้ เป็นการทั่วไปได้ การที่รัฐจัดทำข้อสงวนเป็นการทั่วไปสำหรับเสรีภาพในการแสดงออกหรือเผยแพร่ความคิดเห็นของบุคคลถือว่าเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของ ICCPR อย่างชัดแจ้ง ซึ่งคณะกรรมการฯ มีสิทธิที่จะจัดทำรายงานความเห็นเสนอต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ขององค์การสหประชาชาติต่อไปได้ และประเทศไทยอาจได้รับผลร้ายจากการละเมิดเสรีภาพตามมาตราดังกล่าวในทางระหว่างประเทศ
คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการจำกัดเสรีภาพ
แม้รัฐธรรมนูญและ ICCPR จะมีบทอนุญาตให้รัฐจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ แต่การจำกัดเสรีภาพฯ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการต่อไปนี้
1) การจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนจะกระทําได้โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น และกฎหมายที่ว่านี้ต้องเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งตราขึ้นโดยรัฐสภา สำหรับคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ นี้ไม่ได้ตราขึ้นโดยรัฐสภา จึงขาดความชอบธรรมทางการเมือง นอกจากนี้ ปัจจุบันความในข้อ 12 ของคำสั่ง คสช.ดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยผลของการประกาศใช้บังคับกฎหมายใหม่ คือพระราชบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
2) การจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต้องกระทำภายใต้วัตถุประสงค์ที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศให้อำนาจเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญและ ICCPR ในข้อ 19 วรรค 3 พบว่าได้กําหนดขอบวัตถุประสงค์ในการจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้เพียง 2 ประการคือ เพื่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเพื่อการสาธารณสุขหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และพระราชบัญญัติที่มีบทจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนจะต้องระบุวัตถุประสงค์ข้างต้นข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้ออย่างชัดเจนในกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
3) การจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต้องกระทําเท่าที่จําเป็น (Necessary) ตามหลักความได้สัดส่วน (proportional principles) ซึ่งคําว่า “จําเป็น” นั้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้วางเงื่อนไขการพิจารณาเป็น 2 ประการ กล่าวคือ
(ก) การจํากัดเสรีภาพนั้นจำเป็นต้องกระทำเป็นเรื่องเร่งด่วน (Pressing) หรือไม่ หรือเป็นความจําเป็นอย่างแท้จริง (Substantial Need) หรือไม่
(ข) มาตรการที่กําหนดขึ้นเพื่อจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น จําเป็นจะต้องมีความเชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผลกับวัตถุประสงค์ที่มุ่งคุ้มครองที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งในกรณีนี้รัฐจําเป็นที่จะต้องวางมาตรการข้อจํากัดนั้นอย่างระมัดระวัง เพื่อมิให้มาตรการนั้น ๆ รุกล้ำเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจนกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิ
ในแง่นี้ การกำหนดลักษณะการกระทำผิดที่กว้างเกินไปและเป็นการทั่วไปเกินไป ถือว่าขัดต่อหลักความจำเป็นตามหลักความได้สัดส่วน คําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของบุคคล แต่การกำหนดฐานความผิดมีลักษณะทั้ง “กว้างเกินไป” กล่าวคือคำว่าการ “ชุมนุมทางการเมือง” ไม่มีความหมายที่แน่นอนชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้บุคคลสามารถเข้าใจและกำหนดพฤติกรรมของตนเองได้ว่าการชุมนุมอย่างไรเป็นการชุมนุมทางการเมืองซึ่งเป็นความผิดและจะได้รับโทษ
นอกจากนี้ ยังมีลักษณะเป็น “การทั่วไปเกินไป” เพราะเหตุว่าเพียงการชุมนุมกัน ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ก็เป็นความผิดตามคำสั่งฉบับนี้ทันที ซึ่งข้อเท็จจริงทุกวันมีผู้คนชุมนุมกันทั้งในที่ส่วนบุคคล (private place) และที่สาธารณะ (public place) เกินกว่า 5 คนเสมอๆ จึงเห็นว่ามาตรการที่ข้อ 12 ของคำสั่งฯ กําหนดขึ้นเพื่อจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมนั้น ไม่มีความเชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผลกับวัตถุประสงค์ที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศมุ่งคุ้มครอง
จะเห็นความบกพร่องนี้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบบทบัญญัติข้อ 12 กับกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์และมาตรการใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง ได้แก่ มาตรา 215 ประมวลกฎหมายอาญา ที่บัญญัติว่า
“ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ฯลฯ”
เห็นได้ว่ามาตรา 215 มีการกำหนดองค์ประกอบความผิดที่ใช้ถ้อยคำชัดเจนในระดับที่บุคคลธรรมดาสามารถเข้าใจได้ และสามารถกำหนดการกระทำของตนได้ถูกต้อง และข้อสำคัญการจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมตามมาตรา 215 นั้นมีความเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ที่มุ่งคุ้มครอง อันได้แก่ ความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อย และสวัสดิภาพความปลอดภัยของบุคคลที่สาม จึงมีความเห็นว่าบทบัญญัติข้อ 12 ของคําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศฯ (ICCPR) ข้อบทที่ 19
แม้กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมจะตราขึ้นภายใต้สถานการณ์พิเศษ เช่นว่า ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินหรือการประกาศกฎอัยการศึกก็ตาม บทบัญญัติของกฎหมายนั้นก็ยังจำเป็นต้องมีความชัดเจนแน่นอน
นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ มีมติให้ถือว่ากฎหมายลักษณะดังต่อไปนี้ไม่สอดคล้องต้องกันกับข้อยกเว้นข้อบทที่ 4 ของ ICCPR ได้แก่ กฎหมายที่อนุญาตให้ระงับหรือห้ามเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวมีขึ้นเพื่อประโยชน์มหาชน ถูกต้องตามกฎหมาย และที่ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติ หรือกฎหมายที่ให้ดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าว นักวิชาการ นักวิจัย นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม นักสิทธิมนุษยชน หรืออื่น ๆ
ดังนั้น เห็นว่าการที่ประเทศอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินหรือใช้กฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ไม่เป็นเหตุให้รัฐได้รับยกเว้นหรือตั้งข้อสงวนหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติข้อบทที่ 19 ของพันธกรณีระหว่างประเทศ (ICCPR)
คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อมีพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
ผศ.ดร.จันทจิรายังระบุว่าคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 ในช่วงที่รัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับ และก่อนการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา
ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับแล้ว ตามหลักการใช้การตีความกฎหมายย่อมถือว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 สิ้นผลไปโดยปริยาย ไม่สามารถใช้บังคับกับประชาชนได้นับแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา ตามหลัก “กฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าซึ่งมีเนื้อหาอย่างเดียวกัน”
นอกจากนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติให้การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคําสั่งของ คสช.หรือหัวหน้าคณะ คสช. ให้กระทําได้โดยทำเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งก็มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะออกมาใช้บังคับแล้ว
เมื่อพิจารณาเหตุผลทั้งสองประการประกอบกัน จึงสรุปได้ว่าปัจจุบันคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ไม่มีสภาพบังคับกับประชาชนแล้ว เนื่องจากถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 279 ผศ.ดร.จันทจิราจึงเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าคนไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม
เสรีภาพสำคัญยิ่งสำหรับงานประชุมวิชาการ: เปิดคำให้การ ‘อานันท์ กาญจนพันธุ์’ ในคดีไทยศึกษา
นักวิชาการรัฐศาสตร์-สื่อสารมวลชน เข้ายื่นคำให้การพยานในคดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’
อัยการแขวงยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดี 5 ผู้ต้องหากรณีไทยศึกษา นัดรายงานตัวอีกครั้ง 24 ต.ค.
ประมวล 18 แถลงการณ์-จม.เปิดผนึกทั้งไทยและเทศ ร้องยุติดำเนินคดี 5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษา