อัยการยังไม่มีคำสั่งคดีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” นัดรายงานตัวใหม่ 25 ม.ค.61

25 ธ.ค. 60 เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 5 ผู้ต้องหาในคดีติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมไทยศึกษา ได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ตามนัดหมาย หลังจากเซ็นชื่อรายงานตัว ทางอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 25 ม.ค.61 โดยระบุว่าทางผู้กล่าวหาได้นำพยานเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ โดยยังเหลือพยานอีก 1 ปาก จึงให้เลื่อนการนัดหมายออกไปอีกครั้ง

บรรยากาศในการเข้ารายงานตัวของผู้ต้องหาทั้ง 5 คนวันนี้ ยังคงมีผู้มาให้กำลังใจจำนวนมาก ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชน รวมทั้งยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามสังเกตการณ์ร่วมอยู่ด้วย ทางอัยการยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่าทางเจ้าหน้าที่ทหารได้มีการเข้ามาสอบถามความคืบหน้าของคดีเป็นประจำทุกเดือน โดยครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการเลื่อนฟังคำสั่งอัยการเป็นครั้งที่ 5 ตั้งแต่พนักงานสอบสวนมีการส่งสำนวนให้อัยการ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 60

ในการรายงานตัวครั้งนี้ ทางนายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม ได้ติดภารกิจ ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาได้ แต่ได้ทำหนังสือแจ้งกับทางอัยการเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว และจะได้เข้ารายงานตัวต่อไปในภายหลัง

คดีนี้มี ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ได้รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ ต่อผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ได้แก่  ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายธีรมล บัวงาม ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีการติดแผ่นป้ายมีข้อความว่า “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ฝาผนังห้องประชุมศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาเมื่อวันที่ 18 ก.ค.60

ก่อนหน้านี้ ทางฝ่ายผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้พนักงานสอบสวนสอบพยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพิ่มเติมจำนวน 6 ปาก เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ ซึ่งต่อมาได้นำพยานทั้งหมดเข้าให้การจนครบถ้วนแล้ว

            อ่านสรุปคำให้การพยานแต่ละปากได้ ดังต่อไปนี้

1) เสรีภาพสำคัญยิ่งสำหรับงานประชุมวิชาการ: เปิดคำให้การ ‘อานันท์ กาญจนพันธุ์’ ในคดีไทยศึกษา

2) นักวิชาการรัฐศาสตร์-สื่อสารมวลชน เข้ายื่นคำให้การพยานในคดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’

3) นักวิชาการกฎหมายให้การคดีไทยศึกษา ชี้คำสั่งหน.คสช.3/58 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อมีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

4) นักวิชาการภาษาศาสตร์ให้การคดี “ไทยศึกษา” ชี้การยกข้อความออกจากบริบท เพื่อเน้นการต่อต้านรัฐบาล ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน

 

 

 

X