เปิดคำให้การ 5 ผู้ต้องหาคดีติดป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานไทยศึกษา

1 ก.ย. 60 เวลา 10.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ 5 นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล ซึ่งถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีการติดแผ่นป้ายมีข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ฝาผนังห้องประชุมศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ขณะเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา เมื่อวันที่ 18 ก.ค.60 ได้นัดหมายเดินทางเข้ายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวน

(ภาพผู้ต้องหาและทนายความ หลังจากการเข้ายื่นคำให้การต่อพนักงานสอบสวน)

ในคดีนี้ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ ก่อนมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา และเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาทั้งห้าคนได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา และทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมได้นัดหมายเดินทางมายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร

ในคดีนี้ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกกล่าวหาเป็นผู้ต้องหาที่ 1, นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ เป็นผู้ต้องหาที่ 2, นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ต้องหาที่ 3, นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ต้องหาที่ 4 และนายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม เป็นผู้ต้องหาที่ 5

ผู้ต้องหาทั้งห้าคนได้ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมีรายละเอียดของคำให้การโดยสรุปดังนี้

 

ทั้งห้าคนเป็นผู้เข้าร่วมงานประชุมไทยศึกษา ซึ่งต้องลงทะเบียนเข้าร่วมงาน

คำให้การระบุว่างานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) เป็นงานประชุมวิชาการในระดับระหว่างประเทศ ซึ่งมีหัวข้อเกี่ยวข้องกับประเทศและสังคมไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุกสามปีต่อครั้งหมุนเวียนกันไปในประเทศต่างๆ โดยเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ที่มหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย  และในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่

ลักษณะการจัดงาน เป็นงานประชุมที่มีนักวิชาการมาเสนอบทความทางวิชาการ  ที่มีลักษณะเป็นงานปิด  กล่าวคือ  ผู้เข้าร่วมงานจะต้องสมัครลงทะเบียนล่วงหน้า และชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ตามอัตราค่าธรรมเนียมที่ผู้จัดกำหนด  ผู้เข้าร่วมงานทุกคนจะต้องลงทะเบียนแจ้งชื่อ นามสกุล สังกัด และหมายเลขโทรศัพท์  ณ  บริเวณจุดรับลงทะเบียนด้านหน้าก่อนทางเข้าห้องประชุมก่อนเสมอ  โดยเมื่อลงทะเบียนแล้วจะได้รับบัตรเข้างานซึ่งมีลักษณะเป็นป้ายคล้องคอ  ระบุชื่อและนามสกุลของผู้เข้าร่วมงาน  หากบุคคลใดไม่ลงทะเบียนบริเวณโต๊ะลงทะเบียนหน้างานหรือไม่ได้รับอนุญาตจากผู้จัดงานจะไม่สามารถเข้าภายในงานได้

การประชุมวิชาการนานาชาตินี้จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักและไม่มีล่ามหรือเครื่องแปลจัดให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม  ผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จะต้องเตรียมล่ามและอุปกรณ์แปลภาษามาเอง โดยตลอดทั้งงานมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมจำนวน 1,224 คน เป็นชาวไทยจำนวน 814 คน เป็นชาวต่างชาติจำนวน 410 คน และมีการนำเสนอผลงานวิชาการจำนวนทั้งสิ้น  202 เวทีย่อย

ในการจัดงาน ได้รับความร่วมมือระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการตั้งคณะทำงานจัดการประชุมที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีอาจารย์ ดร.ชยันต์  วรรธนะภูติ  เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้วย ทั้งผู้ต้องหาที่ 1 ยังเป็นรองประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุม ทำหน้าที่ประสานงานนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้กล่าวปาฐกถานำ วิทยากร ผู้แทนสถานทูตและสถาบันการศึกษาที่เป็นภาคีร่วมจัด เป็นผู้คัดเลือกบทคัดย่อของบทความวิชาการเนื้อหาที่จะนำเสนอในงานประชุม จัดกำหนดการและเวทีการประชุมในแต่ละห้องประชุมย่อย และอำนวยการในการประชุมตลอดงาน

ภาพอ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ กล่าวปิดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 18 ก.ค.60 (ภาพจากเพจของงานประชุมไทยศึกษา)

ขณะที่ผู้ต้องหาที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ และร่วมเป็นวิทยากรในงานประชุม ขณะที่ผู้ต้องหาที่ 3 และที่ 4 ร่วมเป็นอาสาสมัครในคณะผู้จัดงาน (Staff) มีหน้าที่ดูแลการจัดการประชุมและรับผิดชอบประสานงานในห้องประชุมย่อยต่างๆ โดยผู้ต้องหาทุกคนมีบัตรผู้เข้าร่วมประชุม และมีข้อมูลการนำเสนองานวิชาการในสูจิบัตรงานประชุมนานาชาติไทยศึกษา เป็นพยานหลักฐานยืนยัน

 

ภาพภัควดี วีระภาสพงษ์ เข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อเกี่ยวกับเบน แอนเดอสัน นักวิชาการอาวุโสผู้ล่วงลับ วันที่ 15 ก.ค.60 (ภาพจากเพจของงานประชุมไทยศึกษา)

เจ้าหน้าที่ทหารเข้าแทรกแซงงานประชุม ทำให้ผู้เข้าร่วมบางส่วนถือกระดาษยืนยันเสรีภาพทางวิชาการ

ในระหว่างการประชุมตั้งแต่วันที่ 15 ถึงวันที่ 18  กรกฎาคม 2560  มีเจ้าหน้าที่ทหารแต่งกายในเครื่องแบบทหาร  และมีบุคคลลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่  จำนวนประมาณ 20 คน เข้ามาในพื้นที่ประชุมโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้จัดงานทราบ  ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน  และไม่มีบัตรผู้เข้าร่วมงาน

กลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาภายในบริเวณที่จัดงานโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการยินยอมจากผู้จัดงาน  ได้ทำการถ่ายภาพเฉพาะเจาะจงผู้นำเสนอบทความวิชาการและผู้เข้าร่วมประชุม  และสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมประชุม  ได้ทำการบันทึกเสียงการนำเสนอของวิทยากรและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม  และพูดคุยโทรศัพท์เสียงดังขณะที่มีการนำเสนอบทความวิชาการในห้องประชุม

พฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่พฤติกรรมของผู้ที่จะเข้ามาร่วมประชุมตามปกติ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเกิดความอึดอัดและวิตกกังวล  ทั้งยังทำลายบรรยากาศของเวทีประชุมวิชาการที่จำเป็นต้องนำเสนอหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเปิดกว้าง  การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการแทรกแซงการจัดการประชุมทางวิชาการและกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอย่างร้ายแรง  ซึ่งในเวทีวิชาการระดับโลกถือว่าเป็นการเสียมารยาทในการประชุม

ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม ผู้ต้องหาทั้งห้าได้เข้าร่วมงานประชุมตามปกติ ต่อมาในเวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาพักการประชุมของห้องประชุมย่อย ผู้ต้องหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4  ซึ่งได้พบเห็นว่ามีการแทรกแซงและรบกวนการประชุมจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ และในเวลานั้นได้รับคำบอกกล่าวจากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศแสดงความอึดอัดและวิตกกังวล

ภาพเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบในบริเวณที่จัดงานประชุมไทยศึกษา นำเสนอโดยยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงสรุปการประชุมไทยศึกษาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

ผู้ต้องหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4  จึงได้นำกระดาษเอสี่ที่มีข้อความว่า “เวทีวิชาการ  ไม่ใช่ค่ายทหาร” มาถือในบริเวณหน้าห้องประชุมย่อยเพื่อแสดงออกให้เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาแทรกแซงการประชุม ซึ่งเป็นการทำลายบรรยากาศของเวทีวิชาการที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ  ได้ตระหนักถึงความไม่พอใจของผู้เข้าร่วมประชุมทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ  อีกทั้ง ยังเป็นแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการในฐานะนักวิชาการและนักศึกษา โดยมีนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้าร่วมงานได้ถ่ายภาพผู้ต้องหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4  ขณะถือกระดาษดังกล่าว  โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที  หลังจากนั้นได้แยกย้ายกันไป

ในส่วนของผู้ต้องหาที่ 1  ไม่ได้รับทราบและไม่ได้ร่วมดำเนินการเกี่ยวกับนำกระดาษเอสี่ดังกล่าวแต่อย่างใด  และไม่ทราบว่าผู้ใดนำมาติดภายในงาน  แต่เนื่องจากได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ประชุมฯ ให้ไปตรวจสอบว่ามีผู้นำกระดาษเอสี่ซึ่งมีข้อความว่า “เวทีวิชาการ  ไม่ใช่ค่ายทหาร” มาติดบริเวณห้องประชุมย่อยภายในงาน และจะมีเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33  มา

เมื่อเวลาประมาณ 15.20 น.  ผู้ต้องหาที่ 1 จึงไปบริเวณที่มีข้อความดังกล่าวติดอยู่  และนั่งรอพบเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ  ระหว่างที่นั่งรอนั้น  มีบุคคลอื่นมาถ่ายภาพผู้ต้องหาที่ 1  โดยไม่ได้ตั้งใจให้ถ่ายภาพและไม่ทราบว่าจะมีการนำไปเผยแพร่แต่อย่างใด  ผู้ต้องหาที่ 1 รอเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 15 นาที  ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารมาพบผู้ต้องหาที่ 1 ตามที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ประชุมฯ แจ้งไว้แต่อย่างใด  และเนื่องจากผู้ต้องหาที่ 1 ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเตรียมพิธีปิดการประชุมต่อ  จึงออกจากบริเวณดังกล่าวและไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ อีก

ผู้ต้องหาที่ 1  เห็นว่าข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” เป็นข้อความบอกเล่าปกติทั่วไป  ไม่ได้มีเนื้อหาที่ส่อไปในทางการเมืองหรือมีความหมายเป็นการต่อต้าน  ยุยง  ปลุกปั่น  หรือเป็นการปลุกระดมทางการเมือง ประกอบกับผู้ต้องหาที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดงานซึ่งได้ให้คำสัญญาต่อผู้เข้าร่วมงานว่า  เวทีวิชาการจะต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและไม่ควรมีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมจะชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าใจ  แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารไม่มาพบ จึงไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับข้อความดังกล่าวอีก

ส่วนผู้ต้องหาที่ 5 หลังจากการนำเสนอบทความวิชาการแล้ว ได้เข้าร่วมการเสวนาที่ห้องประชุมย่อย จนถึงเวลาประมาณ 15.50 น.  จึงได้พบเห็นข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ติดอยู่ก่อนแล้ว  โดยผู้ต้องหาที่ 5 ไม่ได้ร่วมติดและไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้นำมาติด  ผู้ต้องหาที่ 5  เห็นว่ามีบุคคลที่มีลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่ มาถ่ายภาพผู้นำเสนอและผู้เข้าร่วมงานในห้องประชุม และอัดเสียงการประชุม  ผู้ต้องหาที่ 5 รู้สึกอึดอัด และเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่เหมาะสมต่อพื้นที่ทางวิชาการที่จะต้องเปิดกว้างทางความคิดเห็น  ผู้ต้องหาที่ 5  จึงไปถ่ายภาพกับข้อความดังกล่าว  เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการในการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้  เนื่องจากเห็นว่าเสรีภาพทางวิชาการในการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้กำลังถูกลิดรอน

การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้าดังกล่าวข้างต้น  ไม่ได้เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน เพื่อเจตนารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่ได้กระทำในพื้นที่เปิด  ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง  จึงไม่ใช่การชุมนุม  และไม่ได้ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป  แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นและเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการโดยสงบและสุจริต  ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว  ก็ไม่ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาล  ยุยง  ปลุกปั่น  หรือเป็นการปลุกระดมทางการเมือง  ไม่มีบุคคลใดนำข้อความหรือภาพของผู้ต้องหาทั้งห้ากับข้อความว่า “เวทีวิชาการ  ไม่ใช่ค่ายทหาร” ไปเผยแพร่ขยายผลเพื่อให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบแต่อย่างใด

การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้าดังกล่าวข้างต้น  จึงไม่ใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และไม่ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาล  ยุยง  ปลุกปั่น  หรือเป็นการปลุกระดมทางการเมือง อันจะถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง  จึงไม่เป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ 3/2558 ข้อ 12 และไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

 

ยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ  อันได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

คำให้การระบุต่อว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้า  เป็นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนและปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ที่ถือเป็นภารกิจของนักวิชาการหรือนักศึกษาในสังคมไทยที่ต้องยืนยันถึงความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการ  ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492  เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน  ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการไว้ตามมาตรา  34  และรับรองเสรีภาพในการชุมนุม  ไว้ในมาตรา 44

ทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยังได้รับการรับรองไว้ในข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  แห่งองค์การสหประชาชาติ  ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี นับแต่ปี พ.ศ. 2539 ทำให้ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศดังกล่าว

เมื่อพิจารณาการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นทั้งโดยทั่วไปและในทางวิชาการ อันล้วนได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศก็ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า  การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้า  ที่ได้แสดงออกเพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการเช่นนี้ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยสุจริต

ประกอบกับที่ผ่านมารัฐบาลได้ยืนยันมาโดยตลอดว่ารัฐบาลจะเคารพต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตามหลักการของสหประชาชาติ การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้า จึงเป็นไปโดยชอบธรรมและได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน  และไม่เป็นความผิดอาญา

หากกิจกรรมเช่นนี้ ถูกตีความว่าเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย  ก็ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางวิชาการจำนวนมากอันมีวัตถุประสงค์เพื่อความงอกงามทางปัญญาและเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่อาจดำเนินการได้ด้วยเช่นกัน  กรณีย่อมไม่มีกฎหมายที่ชอบธรรมใดประสงค์ให้เกิดผลเลวร้ายเช่นนี้ขึ้น

 

คำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องการชุมนุม ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว 

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558  ข้อ 12  และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมเหมือนกัน  ดังนั้น  การออกพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  มาบังคับใช้ภายหลัง  จึงมีผลทำให้กฎหมายใหม่ยกเลิกฎหมายเก่า  ดังนั้น  ขณะเกิดเหตุคดีนี้จึงอยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558  ข้อ 12  ถูกยกเลิกไปแล้ว

เมื่อการติดกระดาษที่มีข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” และถ่ายภาพร่วมกับข้อความดังกล่าวกระทำขึ้นหน้าห้องประชุมของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่  อันเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมทางวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13  โดยผู้เข้าร่วมงานทุกคนจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมงาน  บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ลงทะเบียนไม่สามารถเข้าร่วมงานได้  อันเป็นสถานที่ปิด  การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้าจึงไม่ใช่การชุมนุม  เนื่องจากเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ใช่แสดงออกต่อบุคคลทั่วไป  และไม่ได้เปิดให้บุคคลอื่นเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้  หากประชาชนทั่วไปจะเข้าไปใช้ศูนย์ประชุมนานาชาติจะต้องขออนุญาตผู้ครอบครอง  ไม่ใช่สถานที่ที่ประชาชนจะเข้าไปใช้โดยพลการได้โดยชอบธรรม  และไม่ใช่สถานที่ที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์  สถานที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่สาธารณะ  ดังนั้น  การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้าจึงไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะตามคำนิยาม  และไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่อย่างใด

 

ประสงค์นำพยานนักวิชาการ 5 คน มาให้ปากคำเพิ่มเติม

ในท้ายคำให้การ ผู้ต้องหาทั้งห้าคนยังระบุกับพนักงานสอบสวนว่าประสงค์จะนำพยานบุคคลโดยเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทั้งทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ จำนวนทั้งหมด 5 คน มาให้ปากคำเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ซึ่งจะได้ระบุวันมาพบพนักงานสอบสวนต่อไป

สำหรับพยานนักวิชาการทั้ง 5 คน ได้แก่ 1.ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์  อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. ดร.จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 3. ผศ.ดร.จันทจิรา  เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,  4. รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์  อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 5. รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ทั้งนี้หลังจากเข้ายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว พนักงานสอบสวนได้นัดหมายผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ให้เข้าพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งในวันที่ 11 กันยายน 2560 เวลา 10.00น. ต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เหตุอาจก่อกระแสต่อต้าน รบ.ในเชิงลบ

ออกหมายเรียก 5 นักวิชาการ-น.ศ. ฝ่าฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง กรณีกิจกรรมในงานไทยศึกษา

 

X