5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษายื่นขอความเป็นธรรม ร้องให้อัยการสั่งสอบพยานนักวิชาการเพิ่มเติม

11 ก.ย. 60 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 5 ผู้ต้องหาในคดีไทยศึกษา ซึ่งถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีการติดแผ่นป้ายมีข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ฝาผนังห้องประชุมศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ขณะเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา เมื่อวันที่ 18 ก.ค.60 ได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือกตามนัดหมาย จากนั้นอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้ง ในวันที่ 15 ก.ย. 60  เวลา 13.30 น.

(ภาพผู้ต้องหาทั้ง 5 ขณะเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการแขวง)

ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ในคดีนี้ ได้แก่ 1. ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, 3. นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 4. นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5. นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

เมื่อวันที่ 1 ก.ย.60 ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวน โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา (ดูสรุปคำให้การคดีไทยศึกษา) และยังได้ขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เพิ่มเติมจำนวน 5 คน ต่อมา ทางพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก ได้ระบุว่าเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ประชุมของทางจังหวัดเชียงใหม่ได้มีมติให้พนักงานสอบสวนสั่งฟ้องคดีนี้ต่ออัยการ และให้นัดหมายผู้ต้องหาไปส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการศาลแขวงในวันนี้

ในการเข้ารายงานตัวครั้งนี้ ผู้ต้องหาพร้อมกับทนายความได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้กับพนักงานอัยการศาลแขวงด้วย เพื่อขอให้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาอ้างก่อนหน้านี้

หนังสือร้องขอความเป็นธรรมระบุว่าทางผู้ต้องหาได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนและอ้างบุคคลให้สอบปากคำในฐานะเป็นพยานเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนคำให้การของผู้ต้องหาทั้งห้า แต่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนยังมิได้สอบพยานบุคคลตามที่ผู้ต้องหาทั้งห้าอ้างแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ต้องหาได้ให้การเอาไว้ ผู้ต้องหาทั้งห้าจึงยังมีความประสงค์จะขออ้างพยานบุคคลเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131 ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

สำหรับพยานนักวิชาการที่ทางผู้ต้องหาขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบเพิ่มเติมก่อนหน้านี้ ได้แก่

  1. อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  4. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อได้รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม จากผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ไว้แล้ว ทางอัยการแขวงจะทำการพิจารณาประเด็นสำคัญในคดีว่าจะต้องทำการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีกหรือไม่ แล้วส่งเรื่องไปยังอธิบดีอัยการภาค 5 เพื่อพิจารณาเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมต่อไป  จากนั้นได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้ง ในวันที่ 15 ก.ย. 60  เวลา 13.30 น.

สำหรับคดีนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ กับพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก โดย ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่

การกล่าวหาดำเนินคดีกับ 5 นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลในคดีนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยมีสถาบันหรือองค์กรทางวิชาการ สิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคม ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ ได้ออกแถลงการณ์หรือออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีไทยศึกษานี้ กว่า 70 องค์กร และมีนักวิชาการ หรือภาคประชาสังคม ทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่างน้อย 1,071 รายชื่อ ร่วมกันลงชื่อเรียกร้อง รวมแล้วมีแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึก อย่างน้อย 18 ฉบับ ที่ร่วมแสดงออกถึงการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการในกรณีนี้ (ดูในรายงาน)

ในส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท คดีจะอยู่ในอำนาจพิจารณาโดยศาลแขวง ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดคำให้การ 5 ผู้ต้องหาคดีติดป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานไทยศึกษา

แจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เหตุอาจก่อกระแสต่อต้าน รบ.ในเชิงลบ

ประมวล 18 แถลงการณ์-จม.เปิดผนึกทั้งไทยและเทศ ร้องยุติดำเนินคดี 5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษา

X