วันที่ 15 ก.ย.60 เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ทาง 5 ผู้ต้องหาในคดีไทยศึกษาได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ตามการนัดหมายรายงานตัวเพื่อผัดฟ้องเป็นครั้งที่ 4 แต่ก่อนนั้นอัยการได้เชิญ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติผู้ต้องหาที่ 1 เข้าพบกับหัวหน้าฝ่ายข่าวมทบ.33 โดยมีการพูดคุยร่วมชั่วโมง ก่อนนัดหมายรายงานตัวครั้งต่อไปในวันที่ 21 ก.ย. 60 เวลา 13.30 น.
(ภาพดร.ชยันต์หลังถูกเชิญเข้าพูดคุยกับทหารหน่วยข่าว)
ผู้ต้องหาทั้ง 5 ได้แก่ 1. นายชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, 3. นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรี คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 4. นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5. นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม ซึ่งถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีการติดแผ่นป้ายมีข้อความว่า “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ฝาผนังห้องประชุมศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาเมื่อวันที่ 18 ก.ค.60
ทั้งห้าคนได้เดินทางเข้ารายงานตัวตามนัดหมายของอัยการแขวงจังหวัดเชียงใหม่ แต่ก่อนที่ผู้ต้องหาทั้ง 5 จะได้เซ็นรับทราบนัด นายมนตรี นามขาน อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ได้เชิญ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้ต้องหาที่ 1 เพียงคนเดียว เข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร ได้แก่ พ.อ.สุรศักดิ์ สุขแสง หัวหน้าฝ่ายข่าวจากมลฑลทหารบกที่ 33 ภายในห้องทำงานของอัยการ หลังจากการพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ดร.ชยันต์และอัยการได้เดินออกมา โดยแจ้งว่าเป็นเพียงการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ และไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการพูดคุยได้
ทางอัยการชี้แจงว่าขั้นตอนต่อไปคือการนัดหมายผู้ต้องหาเข้ามาผัดฟ้องครั้งที่ 5 เป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 ก.ย. 60 เวลา 13.30 น. แต่เนื่องจากคดีนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 5 ได้ร้องขอความเป็นธรรม และเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะ อัยการแขวงจะทำการส่งสำนวนไปยังอธิบดีอัยการภาค 5 เพื่อพิจารณาและมีความเห็นทางคดีต่อไป ซึ่งทำให้การนัดหมายหลังจากนัดหน้าจะมีระยะเวลาขยายออกไปโดยไม่มีกำหนด โดยระหว่างนั้นพนักงานสอบสวนก็จะทำการสอบสวนพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาทั้ง 5 ได้ทำการร้องขอ จนเสร็จสิ้นต่อไป
ทั้งนี้ตามมาตรา 7 และมาตรา 9 ของพ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีอาญาในศาลแขวงฯ กำหนดให้อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง แต่อาจผัดฟ้องได้ 5 ครั้ง ครั้งละ 6 วัน รวมเป็น 30 วันหากพ้นกำหนด 30 วันแล้ว ห้ามมิให้อัยการฟ้องคดี ยกเว้นได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดหรืออธิบดีอัยการหรืออธิบดีภาค
สำหรับการร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาทั้ง 5 นั้นในการเข้ารายงานตัวก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 60 ผู้ต้องหาพร้อมกับทนายความได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้กับพนักงานอัยการศาลแขวงด้วย เพื่อขอให้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติมซึ่งเป็นนักวิชาการในสาขาต่างๆ จำนวน 5 คน โดยล่าสุดอัยการได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบพยานบุคคลเพิ่มเติมได้แล้ว ทำให้ทางทนายความจะทยอยนัดหมายนำพยานนักวิชาการเข้าให้การต่อไป
ทั้งนี้ในคดีนี้ มีร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ได้รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดคำให้การ 5 ผู้ต้องหาคดีติดป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานไทยศึกษา
แจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เหตุอาจก่อกระแสต่อต้าน รบ.ในเชิงลบ
ประมวล 18 แถลงการณ์-จม.เปิดผนึกทั้งไทยและเทศ ร้องยุติดำเนินคดี 5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษา
5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษายื่นขอความเป็นธรรม ร้องให้อัยการสั่งสอบพยานนักวิชาการเพิ่มเติม