แถลงการณ์: เรียกร้องให้คสช.ยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44

ตามที่ปรากฎข่าวการเข้าค้นบ้านพักและการคุกคามผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายพื้นที่ของเเต่ละภูมิภาค ซึ่งพบอย่างน้อยใน 2 จังหวัดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเเละทหารกระทำการดังกล่าวโดยอ้างว่าใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เเละคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559  คือ จ.พะเยา  ที่เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย เเละเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย ร่วมกันเข้าตรวจค้นบ้านพักของนายพุทธ สุนันต๊ะ คนของ ดร.ไพโรจน์ ตันบรรจง ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดพะเยา พรรคเพื่อไทย และใน จ.แม่ฮ่องสอน ที่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าตรวจค้นบ้านพักนายนิรันดร์ จันทร์แค้น นายกสภาอบต.ห้วยผา อ.เมือง และนายสมศักดิ์ ณ มาตคำ นายกสภา อบต.หมอกจำแป่ อ.เมือง ทีมหาเสียงของนายสมบัติ ยะสินธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดแม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายสมศักดิ์เปิดเผยว่ายังมีคนของพรรคประชาธิปัตย์ถูกตรวจค้นในช่วงเวลาเดียวกันกว่า 20 ราย นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นโดยไม่อ้างกฎหมายใดอีกอย่างน้อย 2 กรณี เช่นในจ.นครพนม ซึ่งเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 มีชายฉกรรจ์ 5 คน สวมเสื้อแจ็คเก็ตสีดำ ผมสั้นเกรียน บุกเข้าไปที่บ้านของนายสมบูรณ์ นาคะอินทร์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเป็นคนสนิทของนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดนครพนม พรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่า “มาตรวจสอบเเละป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียง” แต่ไม่ยอมให้รายละเอียดหน่วยงานที่สังกัด อีกทั้งยังบันทึกภาพบ้านและรถยนต์ที่จอดในบ้านทุกคัน นอกจากนั้นในจ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 62 ยังมีทหารพร้อมด้วยตำรวจสันติบาลราว 30 นาย เข้าตรวจสอบสถานที่เป้าหมายหลายจุดในพื้นที่ โดยอ้างว่าอาจมีการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงเกิดขึ้น เเละยังเข้าตรวจสอบร้านค้าของนางกาญจนา เจริญนนทสิทธิ์ รองประธานสภาเทศบาลเมืองบางบัวทอง จ.นนทบุรี น้องสะใภ้ของนายวันชัย เจริญนนทสิทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดนนทบุรี พรรคเพื่อไทย อีกด้วย

ต่อมา 20 มีนาคม พ.ศ. 2562 พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบเรียบร้อยยุติการใช้อำนาจคุกคามพรรคอื่น ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังสมาชิกในทีมหาเสียงถูกตรวจค้นบ้านพัก อย่างไรก็ตาม พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กลับออกมาชี้แจง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2562 ว่า การดำเนินการหลายกรณีที่ผ่านมาเป็นการเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยใช้กฎหมายปกติ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่าอาจมีการกระทำผิดกฏหมายเลือกตั้ง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้มาตรา 44 เข้ากลั่นแกล้งแต่อย่างใด เเต่มีทหารเข้าร่วมในบางกรณีเพื่อป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง การประสงค์ร้ายต่อคู่แข่งทางการเมือง และป้องปรามการก่อเหตุหรือก่อกวนที่อาจกระทบต่อการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์การเข้าตรวจค้นที่จังหวัดพะเยาซึ่งปรากฏจากบันทึกการเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ระบุว่าอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 ซึ่งขัดแย้งกับคำชี้แจงของโฆษก คสช.อย่างชัดเจน

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงมีความเห็นต่อกรณีเข้าตรวจค้นดังกล่าวต่อไปนี้

  1. เจ้าหน้าที่ทหารไม่มีอำนาจหน้าที่ใดเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งหรือป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง การปฏิบัติการดังกล่าว แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมด้วยแต่ไม่ปรากฎว่าการตรวจค้นในเเต่ละจุดนั้นมีหมายค้นหรือแจ้งข้อกล่าวหาใด การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายลักษณะเป็นการคุกคามและสร้างความหวาดกลัวต่อผู้สมัครและผู้ที่เกี่ยวข้อง
  2. แม้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 จะให้อำนาจ “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” ในการเข้าตรวจค้นสถานที่ บุคคลหรือยานพาหนะได้โดยไม่มีหมาย แต่การเข้าตรวจค้นนั้นจะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่ามีบุคคลหรือทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ในการกระทำความผิดตามรายละเอียดในท้ายคำสั่ง 27 ประเภท และหากเนิ่นช้าไปบุคคลและทรัพย์สินจะถูกโยกย้ายหรือเปลี่ยนสภาพ ซึ่งบัญชีท้ายคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 นั้นไม่มีความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งระบุไว้ เจ้าหน้าที่ทหารจึงไม่อาจกล่าวอ้างมาตรา 44 มาใช้ในกรณีดังกล่าวได้ และหากมีการตรวจค้นโดยอ้างมาตรา 44 นั้นก็ย่อมถือว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การเข้าตรวจค้นบ้านพักตลอดทั้งการคุกคามบุคคล ทั้งผู้สมัคร บุคคลที่เกี่ยวข้อง และนักกิจกรรมทางการเมืองของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของการเลือกตั้งที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นหนึ่งในผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นปฏิบัติการที่ไม่อาจยอมรับได้ท่ามกลางสภาวะที่ประชาชนมีข้อสงสัยต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐว่าขัดต่อหลักนิติรัฐมาตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจนำมาซึ่งการขัดขวางเเละสร้างอุปสรรคต่อการจัดตั้งเลือกตั้งที่เสรีเเละเป็นธรรม เพราะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย ยังคงมีอำนาจในการบังคับบัญชาหน่วยงานใดๆภายใต้สังกัดรวมถึงเจ้าหน้าที่ทหาร

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เเละคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 ในทันที และหากพบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ว่ากรณีใดให้มอบหมายเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

X