แถลงการณ์ กรณีควบคุมตัวบุคคลที่ใส่หรือมีเสื้อยืดสีดำ

ตามที่เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมตัวบุคคลอย่างน้อยสองรายจากกรณีใส่หรือมีเสื้อยืดสีดำ ลายโลโก้สี่เหลี่ยมสีขาวสลับแดง ไปจากบ้านพักย่านประเวศและสมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 ซึ่งขณะนี้ นางวรรณภา (สงวนนามสกุล) ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 11  โดยไม่มีสิทธิในการเข้าถึงทนายความ (อ่านข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ที่ ทหารให้ลูกและ กสม.เข้าเยี่ยม ‘สาววินมอเตอร์ไซค์ลูกสอง’ ขายเสื้อยืด อาจคุมตัวถึง 7 วันแล้วส่งดำเนินคดี)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นดังต่อไปนี้

1. การควบคุมตัวโดยไม่มีการแจ้งเหตุในการควบคุมตัว ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยศาล และไม่มีสิทธิในการพบทนายความ นั้นทำให้บุคคลขาดหลักประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพ  รูปแบบการจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งขัดต่อข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อันรับรองว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้

2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้มีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานตามวาระฉบับที่ 2 ของประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ว่า รัฐไทยควรจะปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการโดยทันที และจัดให้พวกเขาเข้าถึงการเยียวยาอย่างเต็มที่ ทั้งยังควรปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายและการปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อย่างไรก็ตาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการควบคุมตัวบุคคลอย่างต่อเนื่อง

เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า “การควบคุมตัวโดยไม่ชอบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่ทหาร  เหตุการณ์ไม่ปกติเหล่านี้ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติซึ่งไม่อาจยอมรับได้ รัฐมีหน้าที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าการกระทำใดเป็นความผิดก็ควรที่จะดำเนินการไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเราเรียกร้องให้ปล่อยตัว นางวรรณภา และผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากเหตุดังกล่าวในทันที”

 

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

X