ศาลยังยืนไม่ให้ประกันตัว 3 สมาชิกทะลุฟ้า อ้างผิดเงื่อนไขประกัน แม้เงื่อนไขกำหนดหลังเกิดเหตุคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง

นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าและประชาชนรวม 14 ราย ถูกออกหมายจับในคดีทำกิจกรรมหน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 เนื่องจากไม่ได้ไปตามนัดส่งตัวอัยการ ทั้งหมดจึงได้เข้ามอบตัวตามหมายจับ แต่ตำรวจกลับอ้างว่าสำนวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังไม่ส่งอัยการ จึงจะยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมด ต่อมาศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา 3 ราย โดยระบุเหตุว่าได้ฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวในคดีชุมนุมคณะราษฎรอีสาน 13 ต.ค. 63 ทั้งที่การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ในคดีที่ถูกขอฝากขัง

ในวันนี้ ศาลยังยืนยันคำสั่งไม่ให้ประกันตัวดังกล่าวเช่นเดิม แม้ทนายความยื่นประกัน พร้อมยืนยันว่าการนำเงื่อนไขที่กำหนดภายหลังมาบังคับใช้กับการกระทำที่ได้เกิดขึ้นไปก่อน ในทางที่เป็นโทษ ไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องหาทั้งสามอย่างยิ่ง

.

ตำรวจอ้างสำนวนยังไม่เสร็จส่งอัยการ จึงส่งฝากขังทั้ง 14 คน ก่อนศาลไม่ให้ประกันตัว 3 ราย

วานนี้ (1 ต.ค. 64) เวลา 9.30 น. ผู้ถูกดำเนินคดีเหตุปราศรัยและสาดสี ที่หน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 จำนวน 14 ราย ได้เดินทางเข้ามอบตัว หลังตำรวจแจ้งว่ามีการไปขอศาลออกหมายจับ เนื่องจากทั้งหมดไม่ได้เดินทางมาตามนัดส่งตัวให้กับอัยการ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 64

สำหรับคดีนี้มีผู้ต้องหา 18 ราย นำโดย “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เหตุจากการที่กลุ่มทะลุฟ้านัดหมายไปรับนักกิจกรรมและประชาชนที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุมหน้าสโมสรตำรวจ และได้มีการทำกิจกรรมปราศรัย สาดสีป้ายที่หน้า สน.ทุ่งสองห้อง และทำประติมากรรมจากแผงเหล็กที่ตำรวจนำมากั้น

ผู้ถูกออกหมายเรียก 13 ราย ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 64 ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย และร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และ 215

ในการเข้ามอบตัวตามหมายจับ เดิมเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าจะให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน แต่ต่อมา พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ มีสวัสดิ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 รักษาการแทนผู้กำกับ สน.ทุ่งสองห้อง ได้แจ้งว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาทั้ง 14 คน ไปขอฝากขังที่ศาลอาญา โดยตำรวจระบุว่าสำนวนคดียังไม่เสร็จ ยังไม่สามารถส่งตัวให้กับอัยการได้ เลยจะยื่นขอฝากขังแทน

ตำรวจได้มีการทำบันทึกจับกุมทั้ง 14 คน และยื่นขอฝากขังที่ศาลอาญา เป็นระยะเวลา 12 วัน โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งยังระบุคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างเหตุผลว่าเนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ประกอบพฤติการณ์ในการกระทำของผู้ต้องหาไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ทั้งการร่วมกิจกรรมชุมนุมโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ทำให้เกิดความเสี่ยงการระบาดของโรคติดต่อ นอกจากนี้การชุมนุมดังกล่าวยังมีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน จนเป็นเหตุให้ตำรวจบาดเจ็บ หากให้ปล่อยตัวไว้ เกรงว่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าเหตุผลดังกล่าวมีลักษณะคัดลอกมาจากคำร้องในคดีอื่น ที่ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีเหตุการณ์ที่หน้า สน.ทุ่งสองห้อง แต่อย่างใด โดยเฉพาะกรณีอ้างว่ามีการทำร้ายตำรวจชุดควบคุมฝูงชน ซึ่งไม่มีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในคดีนี้แต่อย่างใด

.

.

ต่อมาศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 14 คน โดยวางหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

จนเวลาประมาณ 17.00 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา 11 คน แต่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว 3 ราย ได้แก่ “ไดโน” นวพล ต้นงาม, วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ และ ปวริศ แย้มยิ่ง

คำสั่งลงนามโดยอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุว่า ห้ามผู้ต้องหาทั้ง 11 คน ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวกระทำการในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมในกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในบ้านเมืองอีก มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการผิดสัญญาประกัน  ส่วนผู้ต้องหาอีกสามคน ทราบตามรายงานเจ้าหน้าที่ว่าเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวจากศาลนี้ในคดีหมายเลขดำที่ 2305/2564 ซึ่งศาลได้กำหนดข้อห้ามดังกล่าวไว้ แต่ผู้ต้องหาทั้ง 3 นี้ยังกระทำในลักษณะที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก ดังนั้นจึงน่าเชื่อว่าหากให้ปล่อยชั่วคราวไปผู้ต้องหาทั้ง 3 ดังกล่าวน่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีกจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ทั้งนี้ ในคดีหมายเลขดำที่ 2305/2564 ดังกล่าว คือคดีชุมนุมของ “คณะราษฎรอีสาน” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีจำเลยจำนวน 18 ราย ถูกสั่งฟ้องคดีที่ศาลอาญาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 (ยกเว้น “แอมมี่” ไชยอมร ที่ถูกสั่งฟ้องวันที่ 29 กันยายน 2564) โดยนวพล, วชิรวิชญ์ และปวริศ อยู่ในกลุ่มจำเลยในคดีนี้ด้วย และศาลได้ตั้งเงื่อนไขการประกันตัวหลังการรับฟ้องคดีในวันดังกล่าว ซึ่งการฟ้องคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังการถูกดำเนินคดีในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง ไปแล้ว จึงน่าสังเกตว่ากรณีไม่ใช่การผิดเงื่อนไขการประกันตัวแต่อย่างใด

ผลคำสั่งดังกล่าว ทำให้สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าทั้งสามคนถูกนำตัวไปคุมขังในคืนที่ผ่านมา สำหรับผู้ต้องหาที่ได้รับการประกันตัว ศาลนัดรายงานตัวต่อไปในวันที่ 18 พ.ย. 64 

.

ศาลยังยืนไม่ให้ประกัน แม้ยื่นชี้แจง “ไม่เป็นธรรมที่นำเงื่อนไขที่กำหนดภายหลังมาบังคับใช้กับการกระทำที่เกิดก่อน”

วันนี้ (2 ต.ค. 64) เวลา 10.00 น. ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าทั้งสามคนที่ศาลอาญาอีกครั้ง โดยขอวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 35,000 บาท

คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ยืนยันในว่าคดีหมายเลขดำที่ 2305/2564 ที่ศาลอ้างถึงนั้น พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวและกำหนดเงื่อนไข แต่เหตุแห่งการแจ้งข้อกล่าวหาในคดีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 จึงเป็นการนำเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นภายหลังมาบังคับใช้กับการกระทำที่ได้เกิดขึ้นไปก่อนแล้ว ในทางที่เป็นโทษต่อผู้ต้องหานั้น ไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องหาทั้งสามอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น คำร้องยังยืนยันว่าพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เคยใช้ข้อกล่าวหาแห่งคดีนี้ เป็นเหตุในการร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสามคน ในคดีของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลได้วินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหา มีส่วนร่วมในการนำป้ายผ้าที่มีคำว่าประยุทธ์ออกไป มาติดไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง สาดสีที่ป้าย และนำแผงกั้นเหล็กไปทำประติมากรรม เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวน คำร้องขอถอนประกันตัวของพนักงานสอบสวนจึงยังรับฟังไม่ได้ 

ต่อมาเวลา 17.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสามคน ระบุว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม คำสั่งลงนามโดย อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา 

.

X