บันทึกเยี่ยมยาใจ ทะลุฟ้า: “อยากให้ผู้พิพากษามาเรียนรู้ความเป็นอยู่ในเรือนจำ ว่าพื้นที่นี้ลดทอนความเป็นมนุษย์มากๆ”

20 ตุลาคม 2564 ‘ยาใจ ทะลุฟ้า’ หรือทรงพล สนธิรักษ์ ถูกฟ้องในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 และศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าร้ายแรง ทั้งจำเลยมีพฤติการณ์ที่ก่อเหตุซ้ำหลายคดี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือหลบหนี 

เนื่องจาก 21-24 ตุลาคม 2564 เป็นวันหยุดยาว และ การยื่นเอกสารให้ผู้ต้องขังเซ็นใบแต่งทนายความต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งวันทำการ วันเปิดทำการวันแรก เราจึงได้แต่เพียงยื่นเอกสาร และวันที่ 26 ตุลาคม 2564 จึงมีโอกาสได้เยี่ยมยาใจเป็นครั้งแรก 

ยาใจลงมาในชุด PPE สีขาว สวมหน้ากากอนามัย เขาต้องพยายามสอดโทรศัพท์เข้าไปในชุดที่คลุมถึงศีรษะ จนหมวกร่นมาปิดบังใบหน้า เรียกว่าทุลักทุเลพอสมควรกว่าจะจัดท่าทางในการคุยกันและเริ่มบทสนทนา

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ยาใจถูกควบคุมตัว ยาใจถูกดำเนินคดีแรก ในคดีชุมนุมคณะราษฎรอีสาน #ม็อบ13ตุลา จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563  ครบรอบหนึ่งปีในเดือนเดียวกัน เขากลับมาอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นหนที่สอง จากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในนาม “ทะลุฟ้า”

.

อาหารในเรือนจำเป็นการลดทอนความเป็นคนมาก

“ยังงงอยู่เลย”  เป็นคำตอบแรกที่ยาใจตอบเราหลังถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง “ผมเข้ามาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลา ในห้องขังที่กักตัวด้วยกันมีกัน 13 คน ผมไม่ได้เตรียมใจไว้ก่อน วันนั้นอยู่ใต้ถุนศาลเจ้าหน้าที่แค่บอกว่าศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ต้องไปเรือนจำก่อน ผมไม่ได้เจอใครเลย” ยาใจเล่าย้อนไปถึงวันที่ทราบคำสั่ง 

“ตอนนี้อยู่ในช่วงปรับตัวพออยู่คนเดียวต้องเข้มแข็งมาก แต่ก็ได้เพื่อนในห้องคุยกันได้เรื่อยๆ วันแรกๆ จะยากหน่อย ทั้งเรื่องของใช้ และอาหาร โดยเฉพาะเรื่องอาหาร อาหารในเรือนจำเป็นการลดทอนความเป็นคนมาก ทานไม่ได้เลย ของใช้และอาหารแห้ง คุณไดโน่และพี่อาทิตย์ ก็ส่งมาให้บ้างเพราะอยู่แดนเดียวกัน แต่ว่าในห้องเดียวกันมีทั้งหมด 13 คน ก็ต้องแบ่งของให้คนอื่นด้วย”

เนื่องจากพวกเขาเข้าไปในช่วงวันหยุดยาว ญาติยังไม่ทราบเลขผู้ต้องขัง จึงยังไม่สามารถสั่งของออนไลน์กับทางเรือนจำได้ และสิ่งของที่สั่งจะถึงผู้ต้องขังในวันถัดไป ยังไม่ได้ในทันที วันที่เราพบยาใจจึงยังไม่ได้รับสิ่งของใดๆ จากภายนอกเลย 

“ทั้งห้อง 13 คน เข้ามาใหม่ทั้งหมดเลย ทำให้อาหารไม่พอ พอหมดช่วงบ่ายสองก็ไม่ได้ทานอะไร ทำให้นอนไม่หลับ ความจริงมีขนมอยู่เล็กน้อยที่เพื่อนส่งมาให้ แต่ก็เกรงใจเพื่อนร่วมห้องที่ไม่มีของทาน ทำให้ห้าถึงหกวันที่ผ่านมาหิวนอนไม่หลับ แต่ก็กินพอให้ผ่านไป”

ยาใจเล่าให้ฟังว่า “พอมาอยู่ในเรือนจำครั้งนี้ได้คุยกับคนในนี้ เห็นว่าหลายคนเข้ามาแบบไม่สมควรต้องมาถูกดำเนินคดีหรือถูกขังเลย ในฐานะที่เราเรียนนิติศาสตร์ก็ให้คำปรึกษาทางกฎหมายไปบ้าง”

.

นักกิจกรรม ผู้ฝันว่ากฎหมายมีไว้สร้างความเท่าเทียม ไม่ใช่กดขี่

คดี #ม็อบ13ตุลา เป็นคดีแรกของเขาก็จริง แต่ก่อนหน้านั้น ยาใจก็ช่วยจัดกิจกรรมมาก่อนและยังไม่เคยถูกดำเนินคดี  “ผมเริ่มทำกิจกรรมมาจากกลุ่มอันมี (Unme of Anarchy) หลังจากพี่ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ออกจากคุก มาอยู่บ้านมวย (ชมรมมวย) ทำให้รู้จักพี่ไผ่”

“พี่ไผ่อยากให้น้องๆ ในบ้านมวยเป็นพื้นที่ของนักกิจกรรมด้วย จึงชวนไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ไปช่วยชาวบ้านที่อำเภอบ้านไผ่ในช่วงกันยายนปี 2562 ตอนนั้นเห็นว่าไม่มีหน่วยงานรัฐลงไปช่วยเลย กลุ่มเราก็ลงไปช่วยชาวบ้านทำความสะอาดบ้าน แต่ตอนนั้นก็ยังคิดว่าทำไมต้องเป็นพวกเรา ทำไมไม่มีหน่วยงานมาช่วยเหลือชาวบ้าน นอกจากนี้ก็การไปเรียนรู้ปัญหาและช่วยเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนกรณีสร้างโรงงานน้ำตาล ช่วงเดือนตุลาคมปี 2562”

หลังจากนั้นก็ทำกิจกรรมมาเรื่อยๆ ยาใจบอกว่าไม่คิดว่าตัวเองจะมาถึงจุดนี้เช่นกัน แม้ก่อนหน้าถูกจับกุมครั้งแรก เขาจะทำกิจกรรมทางการเมือง อย่างการไปร่วมฟังการพิจารณาคดีไต่สวนการควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมายของทิวากร, กิจกรรม “นอนแคมป์ไม่นอนคุก” ช่วงสิงหาคม 2563  และไปร่วมชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ที่สนามหลวง  แต่ยาใจบอกว่า “ผมเปลี่ยนจริงๆ หลังโดนจับวันที่ 13 ตุลาคม 2563 หลังโดนจับ ผมไม่เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะพึ่งได้”

หลังออกจากเรือนจำในช่วงนั้น ยาใจยังคงทำกิจกรรมต่อเนื่อง ได้มาอยู่กรุงเทพ ได้มาช่วยจัดกิจกรรมต่างๆ จนกระทั่งมีกิจกรรมเดินทะลุฟ้าในช่วงกุมภาพันธ์ 2564 และมีการตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า พวกเขาจึงใช้ชื่อ “ทะลุฟ้า” มาตั้งแต่นั้น

“ตอนนี้ไม่ได้เสียใจอะไร เพราะเห็นว่าถ้าเรารู้ถึงปัญหา ยังไงก็ต้องออกมาสู้ ไม่ควรปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นต่อไป ผมเชื่อว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ ผมอยากเห็นสังคมที่มองคนเท่ากันปฏิบัติกันอย่างเท่าเทียม เชื่อว่าต้องทำกฎหมายที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกฎหมาย กฎหมายไม่ได้มีไว้กดขี่ เราควรมีรัฐสวัสดิการให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ของรัฐได้”

.

อยากเป็นผู้พิพากษา เพื่อสร้างความเป็นธรรม

เมื่อถามถึงเรื่องการเรียน ยาใจแจ้งว่า ตอนนี้เรียนอยู่ปี 5 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เทอมนี้เขาไม่ได้ลงทะเบียนเรียน แต่เขาเหลือวิชาลงในเทอมสองเพียงสองตัว มหาวิทยาลัยน่าจะเปิดช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

ยาใจเล่าว่า “ตอนแรกที่เรียนกฎหมายเพียงแค่ต้องการอยากรู้กฎหมาย และไม่ถูกละเมิด ไม่ถูกใครเอาเปรียบ ตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าอยากเป็นอะไร แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วนะว่าอยากเป็นผู้พิพากษา เพราะผมอยากให้เกิดความยุติธรรม ผมเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมสร้างความเป็นธรรมได้ แต่คนในระบบต้องไม่ทำเพื่อตัวเอง ตอนนี้คนในกระบวนการยุติธรรม ทำงานเพื่อให้ได้มีสถานะ มีอาชีพ มากกว่าเพื่อรักษาความเป็นธรรม”

เราถามถึงความรู้สึกเขาตอนนี้ที่ต้องอยู่ในฐานะผู้ต้องขัง “ตอนนี้รู้สึกเจ็บปวดและอยากให้ทุกคนจดจำว่ากระบวนการยุติธรรมมันไม่เคยให้ความเป็นธรรมกับใคร” 

สุดท้ายเมื่อถามว่าในฐานะนักศึกษากฎหมาย อยากฝากอะไรถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพในอนาคต ยาใจตอบว่า “อยากให้ผู้พิพากษามาเรียนรู้ความเป็นอยู่ในเรือนจำ ว่าพื้นที่นี้ลดทอนความเป็นมนุษย์มากๆ อยากให้ผู้พิพากษามีหัวใจ มีเหตุมีผลมีความเป็นธรรม ไม่ใช่ยึดตัวบทกฎหมายอย่างเดียว”

ไม่แปลกใจเลยที่เขายอมอด เพราะเกรงใจเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันที่ไม่มีของทาน

ไม่แปลกใจเลยที่เขาใช้วิชาความรู้มาช่วยเพื่อนผู้ต้องขัง

และในวันใดวันหนึ่งที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสำเร็จ เราอาจจะไม่แปลกใจ ที่มี “ทรงพล สนธิรักษ์” ลงชื่อในคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยระหว่างการพิจารณาคดี เพราะกฎหมายสันนิษฐานว่าพวกเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ก็เป็นได้

เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

26 ตุลาคม 2564

.

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ไม่ให้ประกัน “ยาใจ ทะลุฟ้า” กรณีสาดสีป้าย สน.ทุ่งสองห้อง ศาลอ้าง พฤติการณ์คดีร้ายแรง เกรงจะไปก่อเหตุอันตราย

.

X