นฤเบศร์-พิชัย-จิตรกร: ตัวตนและความฝันของคนทะลุแก๊ซ ผู้ยังถูกคุมขัง

มากกว่าเดือนแล้ว ที่ผู้นิยามตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของมวลชนอิสระ ‘ทะลุแก๊ซ’ สูญเสียอิสรภาพ ผู้ต้องหา 6 คนที่ทนายความได้เข้าเยี่ยมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พบว่าพวกเขาเป็นมากกว่าเพียงคนที่ถูกจับ แล้วถูกยัดเข้าไปในห้องขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว 

นฤเบศร์, พิชัย และจิตรกร เป็นผู้ถูกคุมขังสามรายที่สะท้อนเสียงออกมาจากกรงขัง พวกเขาเป็นใคร ทำไมตัดสินใจมาร่วมชุมนุม และความคิดฝันของพวกเขาคืออะไร ชวนทำความรู้จักพวกเขามากขึ้น 

นฤเบศร์: เด็กช่างกลบุรีรัมย์ ผู้ขับมอเตอร์ไซต์มาร่วมทะลุแก๊ซ

นฤเบศร์ (สงวนนามสกุล) หนุ่มวัย 26 ปี มองกล้องบันทึกภาพและเสียง ผ่านโทรศัพท์มือถือสีดำแบบตั้งโต๊ะมาจากด้านในแดนควบคุมตัวที่ 2 ซึ่งเป็นแดนเฝ้าระวังโรคไวรัสโควิด-19 เขาพูดกับทนายด้วยเสียงที่แฝงไว้ด้วยความกังวลพอควร เมื่อถามว่าช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน 

“ผมอยู่กับยายมาตั้งแต่จำความได้ครับ” เขาเริ่มแบบนั้นและเล่าถึงระดับการศึกษาว่าเรียนจบชั้นมัธยมต้นและต่อการศึกษาสายอาชีพด้านช่างกลในจังหวัดบุรีรัมย์ หลังเรียนจบช่าง เขาลองเปิดอู่ซ่อมรถอยู่พักหนึ่งและเลิกกิจการไป สายตาของเขาดูเสียดายอู่แรกที่เขาปลุกปั้นมากับมือไม่น้อย 

“ผมทำรถมาพักหนึ่งหลังเรียนจบ รวมตัวกับรุ่นน้อง 7-8 คน อู่ทำหมด ทั้งปิดควันดำ ทำให้เครื่องแรงขึ้น แต่งรถ เปลี่ยนสายไฟ แต่ร้านมันไปไม่รอด ก็ปิดกันไป” 

เขาพูดต่อด้วยน้ำเสียงยอมรับว่าเขาก็เกเรเรื่อยมาหลังจากนั้น เพราะต่างจังหวัดไม่มีอะไรทำ ค่อนข้างน่าเบื่อ เขาจึงไปกับเพื่อนบ้าง และไปหาของกินให้ยายบ้าง 

เมื่อถามว่าไปตลาดหรือที่ว่าหาของกินให้ยาย นฤเบศร์ตอบกลับว่า “ไม่ครับ ไปนา ไปใส่บ่วงดักหนู ก็ได้หนูนา ไปยิงนกก็ได้นก ก็เอามาทำของกินกับยายครับ”

นฤเบศร์ดูสดชื่นขึ้นมานิดหนึ่ง เมื่อถามถึงเหตุที่เข้ามาร่วมชุมนุมที่ดินแดง “พอมีม็อบที่กรุงเทพฯ ผมก็อยากมาชุมนุมด้วย ผมก็โทรศัพท์ชวนเพื่อนมากัน ขับมอเตอร์ไซด์มาจากต่างจังหวัดด้วยกันหลายสิบคน แล้วก็มารวมกับพวกรุ่นพี่อาชีวะครับ” เขาเล่าว่าเพื่อนเขาหลายคนถูกจับและทยอยถูกส่งกลับต่างจังหวัด มีแต่เขาที่ยังติดอยู่ในเรือนจำนี้ 

ข่าวการถูกควบคุมตัวระหว่างชั้นสอบสวนของนฤเบศร์ในช่วงสถานการณ์ชุมนุมและจับรายวันที่ดินแดงในกรุงเทพ อาจจะยังเดินทางไปไม่ถึงยายอันเป็นที่รักของเขาที่บุรีรัมย์ เพราะทุกครั้งที่ถามว่าจะฝากอะไรถึงยายหรือไม่ เขายืนยันแค่ว่าเป็นห่วงยายมาก เขาไม่อยากให้ยายเป็นกังวลกับเรื่องของเขา 

“ยายคงไม่คิดว่าผมต้องติดคุกครับ หากแกรู้ แกจะกังวล เรื่องเงินที่มาประกันตัว แค่เงินหมื่นก็ไม่มีครับ ผมไม่อยากให้ใครติดต่อยายเลย” นฤเบศร์พูดถึงยาย แต่ยังแฝงไว้ด้วยความกังวล และคิดหาทางออกทั้งปวงไม่ได้ว่าเขาจะหาเงินแสนมาจากไหนเพื่อประกันตัวออกจากเรือนจำนี้ เขาจึงสื่อสารกับทนายความเป็นนัยว่าครอบครัวเขาอาจไม่มีเงินมาประกันตัว    

เมื่อถามถึงความใฝ่ฝันหรือคาดหวังในการออกมาเคลื่อนไหวของเขาคืออะไร หากวันหนึ่งเขาได้ออกจากเรือนจำเขาจะไปทำอะไร เขาคิดอยู่สักพัก “ผมมีความฝันว่าอยากเรียนหนังสือต่อครับ ให้มีวุฒิการศึกษามากกว่านี้ ผมอยากเป็นช่างกลครับ” 

พิชัย: หนุ่มช่างยนต์ ผู้หาเลี้ยงตัวเองมาตลอด ช่วยดูแลน้องร่วมชุมนุมดินแดง

พิชัย (สงวนนามสกุล) หนุ่มวัย 30 ปี เป็นอีกคนที่ทนายความได้เข้าเยี่ยม แต่ยังมีเวลาพูดคุยเรื่องราวชีวิตกับเขาไม่มากนัก เนื่องจากต้องเตรียมข้อมูลเรื่องการขอประกันตัว  

พิชัยระบุว่าเขาจบการศึกษาระดับ ปวช. สาขาช่างยนต์ในกรุงเทพฯ แล้วเขาก็ต้องไปเกณฑ์ทหารหนึ่งปี ก่อนออกมาดิ้นรนหางานทำในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

“ผมทำงานหลักๆ ที่ห้างสรรพสินค้า ล่าสุดทำงานที่แผนกไฟในห้างใจกลางกรุงนี้แหละ ทำอยู่ 4-5 เดือน ก็ต้องออก ช่วงที่ห้างปิดโควิดกัน แล้วผมก็มาวิ่งส่งอาหารแทน” 

พิชัยเล่าถึงครอบครัวเขาว่า พ่อกับแม่นั้นแยกกันอยู่ตั้งแต่เขายังเด็ก ตัวเขาเองต้องย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น โดยมาอาศัยอยู่กับน้า และตอนนี้ แม่ของเขาที่อยู่ในต่างจังหวัดก็เสียชีวิตลงแล้ว ชีวิตของเขาจึงเหมือนกับคนกรุงเทพฯ เต็มตัว ทั้งที่เรียน ทำงาน และการทำกิจกรรมในเมืองหลวง 

ในส่วนการไปร่วมชุมนุมที่ดินแดง พิชัยพูดหลายครั้งถึงการไปดูแลเพื่อนรุ่นน้องที่ร่วมชุมนุมบริเวณนั้น  ในวันที่เขาถูกจับ พิชัยเล่าว่า หลังจากรถมอเตอร์ไซด์ของเขากับเพื่อนอีกสองคนล้มลง ตำรวจสายตรวจจำนวน 7-8 นาย ก็เข้าถึงตัวเขา จับคอและกระชากคอเสื้อเขาให้นั่งลง จนใบหน้าของพิชัยกระแทกกับพื้น มีรอยถลอก เลือดออก จนมีชายที่เป็นวินมอเตอร์ไซด์และมีทักษะหน่วยกู้ภัยด้วย เข้ามาช่วยห้ามเลือดให้เขา ทั้งที่ใบหน้าและขา เขายังพบต่อมาอีกว่าตัวเองโดนยิงด้วยกระสุนยางตรงด้านหลังอีกด้วย 

ทั้งนี้ นฤเบศร์และพิชัยถูกจับกุม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 06.00 น. บริเวณแยกราชประสงค์ โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมกันขว้างวัตถุคล้ายระเบิด ใส่รถยนต์สายตรวจ สน.ลุมพินี ถูกแจ้ง 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง, ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน, ร่วมกันทำให้เกิดเสียงหรือการกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร 

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวมาแล้ว 43 วัน   

จิตรกร: หนุ่มผู้มีชีวิตลำพัง หาเลี้ยงชีพเองแต่วัยรุ่น วาดฝันเปิดร้านแฮมเบอร์เกอร์

สำหรับจิตรกร (สงวนนามสกุล) หนุ่มวัย 22 ปี ท่าทางคล่องแคล่วเกินอายุ สบตาขี้เล่น เขาลูบขนแมวบนเก้าอี้สีขาวรอการพูดคุยกับทนายความภายในแดนควบคุมตัวที่ 2  

“ครอบครัวผม พ่อเสียแล้ว แม่แยกทางกันไปแล้ว สรุปๆ ประมาณบ้านแตกสาแหรกขาด” เขาขยายความต่อว่า “ผมมีพ่อบุญธรรมเลี้ยง แต่แกก็มาเสียตอนผมอายุ 18-19 ปี ผมเลยออกมาอยู่คนเดียวให้รู้แล้วรู้รอด” 

หลังจากนั้นการงานอาชีพอันหลากหลายก็พรั่งพรูออกมาจากปากเขา จิตรกรบอกว่าเขาออกจะเป็นคนไร้บ้าน ทำทั้งตกปลาเพื่อยังชีพ ทำงานรับจ้างเป็นช่างทาสีบ้าง ทำความสะอาดบ้าง เขาบอกด้วยว่างานอาสากู้ภัยก็เคยทำ 

“รายได้ที่ผมได้ ต่ำสุดสองพันบาท มากสุดที่เคยได้ก็เป็นหมื่นนะ แต่บางเดือนไม่ได้เลยก็มี” 

จิตรกรเล่าว่าเขาเคยมีโอกาสมาเยี่ยมเยือนในเรือนจำบ้างแล้ว จากคดีก่อนหน้านี้ จึงปรับตัวได้ดีกว่าเพื่อนคนอื่นที่เข้ามาจากกรณีทะลุแก๊ซสิบกว่าคน เขาบอกว่าชีวิตช่วงหลัง มีคนมาคอยติดตามอยู่เรื่อย ด้วยความที่เป็นคนมีคดีมาก่อน ทำให้พบว่ามีตำรวจนครบาลคอยติดตาม โดยคดีชุมนุมที่เขาถูกกล่าวหาคดีแรกๆ เป็นคดีที่เขาถูกจับกุมในการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา64 ที่มีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังศาลหลักเมือง ก่อนได้รับการประกันตัวในคดีนั้น

ส่วนการชุมนุมที่ดินแดง จิตรกรก็แวะเวียนมาร่วมกับกลุ่มเพื่อนและรุ่นน้อง เขาบอกถึงหน้าที่ในการดูแลรุ่นน้องผู้ชุมนุมคนอื่นอยู่บ้าง  

เมื่อถามถึงความใฝ่ฝันในชีวิตของเขา แรกๆ จิตรกรตอบว่า “ผมไม่มีแผนในชีวิต ผมมีนกเป็ดเทศ ตัวเดียว ก็สุขใจ” เขาบอกว่านกเป็ดเทศนี้มีที่มา “มันชื่อ ‘โทนี่’ นะครับ ตัวขาว หัวแดง ผมโดนหลอกขายมา แพงด้วย คนขายบอกว่าเป็ดแมนดาริน เลี้ยงไปเลี้ยงมาตัวใหญ่เกือบเท่าห่าน” เป็ดเทศตัวนี้มีคนรับเลี้ยงให้เขา จิตรกรเล่าว่าเขาดูจะไร้บ้าน ก็เอาไปฝากคนอื่นที่มีบริเวณบ้านไว้แทน 

แต่พอเล่าๆ ไป จิตรกรก็เผยความฝันเล็กๆ ของเขาว่า “ผมมีความฝันอยู่นะ ผมอยากเปิดร้านอาหาร ทำแบบแฮมเบอร์เกอร์ แบบ food street และอยากลองทำช่อง YouTube แบบเดินทางไปเรื่อยด้วย ผมทำอาหารเป็น แฮมเบอร์เกอร์เนี่ย พ่อบุญธรรมทำให้กินตั้งแต่ตอนเด็ก อาหารอิตาเลี่ยนกินมาเยอะ และผมก็ชอบทำแกงกะหรี่ ขนมจีนน้ำยาด้วย”

ก่อนจากกัน จิตรกรฝากและย้ำให้สั่งอาหารและเครื่องใช้จำเป็นให้เขาหน่อย เขาแจ้งว่าเอาไว้เผื่อเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย และเผื่อเหลือเผื่อขาด 

ทั้งนี้ จิตรกรถูกจับกุมที่หน้าคอนโดบริเวณดินแดง จาก #ม็อบ6ตุลา ในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ถูกตำรวจ สน. พหลโยธิน แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา “มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ก่อนศาลอาญา รัชดา ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ทำให้จิตรกรถูกควบคุมตัวมาแล้ว 41 วัน  

บันทึกเยี่ยม 

พฤศจิกายน 2564, เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

—————————————

ดูข้อมูลผู้ถูกคุมขังทางการเมือง วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 มีผู้ถูกคุมขังในคดีทางการเมืองไม่น้อยกว่า 25 คน https://tlhr2014.com/archives/37675

X