บันทึกเยี่ยม ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์: “เกมส์ยังไม่ Over ยังมีอีกหลายครั้งที่เราต้องสู้”

“ปาอาหารหมา” หน้าสภ.คลองหลวงวันที่ 14 ม.ค. 64 คืนวันจับกุมสิริชัย นาถึง จากการพ่นสี เป็นคดีมาตรา 112 ล่าสุดของ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จากนอก ซึ่งเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 8 ของเขาแล้ว 

หลังการถกเถียงกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ขอนำบุคคลผู้ไว้วางใจเข้าร่วมการรับทราบข้อหา และรอเวลาให้ไฟที่เรือนจำกลับมาดำเนินการได้ (ทราบมาว่าไฟที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ดับมาเป็นหนที่ 5 แล้ว) ทำให้ทนายความและเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมารอที่เรือนจำตั้งแต่ 9.00 น. กว่าจะได้พบตัวไมค์ก็กว่า 13.30 น.ไปแล้ว  

การรอคอยกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมโดยไม่จำเป็น ความจริงวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ปทุมวัน เตรียมมาแจ้งข้อหาไมค์อีกคดีหนึ่ง แต่ดูจากข้อกล่าวหาแล้ว หลายข้อหาที่ตำรวจเตรียมจะแจ้งนั้นไม่เกี่ยวข้องกลับเขาเลย เขาจึงขอให้ทางตำรวจสน.ปทุมวัน กลับไปทบทวนข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานที่มีก่อน ทำให้เขายังไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้ในวันนี้ 

ภายหลังจากกระบวนการทางกฎหมายเสร็จสิ้น เราถามถึงกิจวัตรประจำวัน ไมค์เล่าให้ฟังว่า เขาต้องตั้งแต่ประมาณ 5.30 น. ก่อนจะได้ทานข้าวเช้าประมาณ 7.00 น. และจะได้ทานอาหารเย็นประมาณ 14.00 น. ไมค์บอกว่าเขายังไม่ได้ต้องทำงานอะไรในเรือนจำเพราะอยู่ในช่วงกักตัวภายในเรือนจำ เพราะกลุ่มผู้ต้องขังคดีการเมืองต้องออกศาลบ่อย เมื่อกลับเข้ามาก็ต้องกักตัวใหม่อีก 

ไมค์ตั้งขอสังเกตว่าเมื่อเทียบกับช่วงที่เค้าเข้าเรือนจำเมื่อตุลาคมปี 2563 คุณภาพของอาหารและความสะอาดของเรือนจำดีขึ้น รวมถึงมีน้ำดื่มให้ จากที่ปีที่แล้ว ผู้ต้องขังต้องดื่มน้ำประปาจากก๊อก หรือต้องใช้เงินซื้อน้ำขวดเอา

“สิ่งที่ไม่ค่อยดีคือมีหนังสือน้อย หนังสือจะสามารถยืมได้วันละเล่ม จะใช้เวลายืมได้ในช่วงซื้อของ ได้อ่านแต่หนังสือเท่าที่มีในห้องสมุดของเรือนจำ แต่ไม่รู้ข่าวสารใดๆ เลยหากไม่มีทนายความมาเยี่ยม”

เราถามความรู้สึกของไมค์หลังจากถูกควบคุมตัวที่เรือนจำเข้าสู่วันที่ 25 แล้ว เขาพูดคุยด้วยสีหน้าไม่ได้เคร่งเครียดอะไร “รู้สึกเริ่มปรับตัวในเรือนจำได้ ชินกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยที่รู้อยู่แล้วว่าต้องเข้ามาเหมือนเล่นเกมส์ รู้อยู่แล้วว่าต้องมีแพ้ มีชนะ แต่ไมค์ว่ายังไม่ถึงจุดจบของเกมส์ เกมส์ยังไม่ Over ยังมีอีกหลายครั้งที่เราต้องสู้ และเปลี่ยนแผนต่อสู้ได้เสมอ”

เราเล่าให้ไมค์ฟังว่าวันก่อนที่ไปเยี่ยมรุ้ง รุ้งบอกว่าไมค์ร้องไห้ “อ้อ วันนั้นที่ศาล (29 มีนาคม 2564) ร้องไห้เพราะรู้สึกว่าทำไมเราต้องเป็นเหมือนขอทาน อ้อนวอนกับสิ่งที่ควรจะได้ เรารู้สึกว่าทุกคนต้องนั่งอ้อนวอนเพื่อขออิสรภาพกับผู้ที่เรียกตัวเองว่าผู้ผดุงความยุติธรรม

“วันนั้นอึดอัดกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาก ใช้ทรัพยากรมาในการควบคุมตัวเราในวันดังกล่าว ทำเป็นเรื่องใหญ่มาก ใช้จำนวนรถหลายคัน ใช้เจ้าหน้าที่ในการตรวจควบคุมตัวเรา 2 ถึง 3 คน เพื่อไม่ให้เราชูสามนิ้วซึ่งจำกัดสิทธิเรามาก ทำให้รู้สึกอึดอัด มันเป็นการใช้ทรัพยากรที่เปลืองมาก

“ก่อนหน้านี้ ไมค์ไม่เคยร้องไห้เลย ทุกครั้งที่ผมเห็นเพื่อนร้องไห้ ผมจะให้กำลังใจเขาเสมอ จะบอกว่า ความยุติธรรมที่เราตะโกนเรียกร้อง เพราะว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรมที่แท้จริง เช่น สิทธิในการประกันตัวตามสิทธิของผู้ต้องหา ทุกคนที่สู้อยู่ขณะนี้พร้อมแสดงความบริสุทธิ์ใจในการต่อสู้คดี ทุกครั้งที่มีหมายเรียกหมายนัดศาล เรายินดีไปต่อสู้ในกระบวนการ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกักขังเราในเรือนจำ

“ไมค์ขอให้กระบวนการยุติธรรมจงรักษาไว้ซึ่งหลักการมากกว่าคำสั่งของบุคคลใด เมื่อไรก็ตามที่ตุลาการทำหลักการหล่นหาย ก็เท่ากับว่ากฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์แล้ว แบบนี้สังคมไทยจะอยู่ได้อย่างไร และการที่พวกเราออกมาต่อสู้เรียกร้องนั้นเป็นการปกป้องสิ่งที่ควรปกป้อง ซึ่งก็คือหลักการความยุติธรรม ตัวท่านที่เป็นตุลาการ ก็ต้องร่วมกันปกป้องหลักการนี้ด้วย”

สุดท้ายเราถามถึงความเห็นของเขาเรื่องการเคลื่อนไหวภายนอก ไมค์เห็นว่า “การต่อสู้ของคนรุ่นเก่า ไม่ใช่ภาระของคนรุ่นใหม่ แต่เป็นหน้าที่ที่เค้าทำมา แต่ยังไม่สำเร็จ รวมถึงเป็นหน้าที่ของคนในสังคมที่ต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลง และการต่อสู้ในปัจจุบัน ก็ไม่ได้อยู่เพียงแค่จำนวนมวลชนที่มาร่วมชุมนุม แต่อยู่ที่ความคิดและอุดมการณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยน ทุกการต่อสู้ล้วนมีความหมายของมัน ทุกความพยายามล้วนเป็นสิ่งที่ดี

“จะมีอีก 100 คน 1000 คน 10,000 คน 100,000 คน ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่ใช่เพราะเขาทำผิดกฏหมาย แต่เพราะเป็นความเสื่อมของกฎหมาย”

 

เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

1 เมษายน 2564

วัน April Fool Day แต่ที่บันทึกมาคือเรื่องจริง

 

X