อัยการสั่งฟ้องสองคดีปี 63: คดีชุมนุม ‘คณะราษฎรอีสาน’ – คดี ‘สาดสีปาไข่’ ทวงถามทหารล็อกคอผู้ชุมนุม

ช่วงปลายเดือนกันยายน อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีชุมนุมทางการเมืองสำคัญสองคดี โดยเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองช่วงปี 2563 ได้แก่ คดีชุมนุมของคณะราษฎรอีสาน เพื่อรอการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีจำเลย 18 ราย และคดีสาดสี-ปาไข่ หน้า ม.พัน 4 พล.1 รอ. เพื่อทวงถามความเป็นธรรมกรณีทหารล็อกคอผู้ชุมนุมรายหนึ่งที่ถ่ายรูปป้ายหน้ากองพัน เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563

.

ฟ้อง 18 ผู้ร่วมชุมนุมคณะราษฎรอีสาน 11 ข้อหา

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดอาญา 10 มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ชุมนุม “คณะราษฎรอีสาน” จำนวน 17 คน จากการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 ก่อนการนัดชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค. 2563 เพื่อเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาล ต่อศาลอาญา

กลุ่มราษฎรอีสานส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาปักหลักรอการชุมนุม และเรียกการรวมตัวในวันนั้นว่า “นอนรอม็อบ” แต่ในวันดังกล่าวตำรวจได้มีการสลายการชุมนุมโดยอ้างว่าจะมีขบวนเสด็จผ่าน ทำให้มีผู้ถูกจับกุมจำนวน 21 คน ก่อนนำตัวขออำนาจศาลฝากขัง ในเวลานั้นศาลอาญาและศาลแขวงดุสิต ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้มีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ 19 คน ส่วนเยาวชน อายุ 17 ปี จำนวน 1 คน ศาลได้อนุญาตประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์

พนักงานอัยการได้บรรยายฟ้อง จําเลยทั้งสิบเจ็ดกับพวก ร่วมกันจัดตั้งเวทีปราศรัยชั่วคราว ขนาดประมาณ 1 X 2 เมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร จํานวน 1 เวที พร้อมนํารถยนต์กระบะ จํานวน 2 คัน มาจอดขวางในช่องทางเดินรถที่ 1 และที่ 2 จากซ้ายมือ ฝั่งหน้าร้านแม็คโดนัลด์ บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นทางสาธารณะ และเคลื่อนย้ายแผงเหล็กกั้นที่เจ้าหน้าที่ตํารวจได้นํามาใช้กั้นบริเวณทางเท้า เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนลงมารวมกลุ่มชุมนุมกันบนพื้นผิวจราจรบนถนนราชดําเนินกลาง

ผู้ชุมนุมมีการติดป้ายผ้าที่แผงเหล็กมีข้อความว่า “หยุดคุกคามประชาชน” “มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง” “ยกเลิก ม.112” และ “ยกเลิกรับบริจาคโดยราชกุศล” ในคำฟ้องยังระบุมีตำรวจเป็นผู้เสียหายรวม 16 ราย จำนวน 13 ราย เครื่องแบบเสียหายจากการโดนสาดสีและมีทรัพย์สินเสียหาย รวมมูลค่าทั้งหมด 82,400 บาท และอีก 3 รายถูกทำร้ายร่างกาย

ทั้งหมดถูกฟ้องจำนวน 11 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่

1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โทษจำคุกไม่ 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ชุมนุมโดยก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทําให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินเหตุอันควร ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ

4.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ประกอบมาตรา 140 ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป

5. พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

6. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

7. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท

8. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท 

9. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

10. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท

11. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน โทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ยื่นประกันตัวคนละ 35,000 บาท รวมเป็นเงิน 595,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยกำหนดเงื่อนไข 2 ข้อ คือ 1.ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา 2. ห้ามก่อความวุ่นวายหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดใดที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 1 พ.ย. 2564 เวลา 09.00 ที่ศาลอาญา


ต่อมาอัยการยังสั่งฟ้อง ‘แอมมี่’ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ในวันที่ 29 ก.ย. 2564 ในคดีเดียวกันนี้ ทำให้รวมมีจำเลยในคดีทั้งหมด 18 ราย ส่วน “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกแยกสำนวนคดีไปอีกคดีหนึ่ง 

.

สั่งฟ้อง รุ้ง-ไบรท์-ภูมิ 4 ข้อหา เหตุทวงถามเรื่องทหารทำร้ายประชาชนหน้ากองพันทหารม้า

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง  พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายเยาวชนและครอบครัว 1 ได้ขออนุญาตอัยการสูงสุดเพื่อสั่งฟ้อง ‘ภูมิ หัวลำโพง’ นักกิจกรรมเยาวชนอายุ 17 ปี ใน 4 ข้อกล่าวหา

คดีนี้สืบเนื่องจากกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 หน้ากองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 รอ.) โดย ‘ไมค์’ ภาณุพงษ์ จาดนอก, ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ‘นัท’ ณัฐชนน ไพโรจน์, ‘ไบรท์’ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ซึ่งเดินทางมาทวงถามเรื่องการลงโทษ 3 พลทหารที่ล็อกคอมวลชนที่ไปถ่ายรูปหน้ากองพัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 ขณะภาคประชาชนเดินขบวนนำ 100,732 รายชื่อของประชาชนที่เข้าชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปยื่นที่รัฐสภา โดยในวันดังกล่าวไม่มีใครออกมาพบ จึงมีกิจกรรมการปราศรัย-ปาไข่-สาดสี ที่ด้านหน้าป้ายกองพัน

ต่อมา พ.ท.อิทธิศักดิ์ เสนตา ผบ.ม.พัน 1 พล.1 รอ. มอบหมายให้ ร.อ.สําเนา ดําเนื้อดี นายทหารเวร ม.พัน 4 พล.1 รอ. เข้าแจ้งความต่อ ไมค์’ ภาณุพงษ์ จาดนอก, ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ‘นัท’ ณัฐชนน ไพโรจน์, ‘ไบร์ท’ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ธนชัย เอื้อฤาชา, ฉัตรมงคล วัลลีย์ และ ‘ภูมิ’ เยาวชนอายุ 17 ปี ที่ สน.เตาปูน และทั้งหมดได้ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 3,4 และ 16 พ.ย. 2563 โดยทั้งหมดให้การปฎิเสธ

ภายหลังพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายเยาวชนและครอบครัว 1 ได้ขออนุญาตอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดี โดยระบุว่าภูมิได้ร่วมทำกิจกรรมปราศรัยในลักษณะที่เป็นการแสดงความคิดเห็นตําหนิการทําหน้าที่ของกําลังพลในหน่วยกองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 และ ร่วมกันกระทําการนําสีทาที่ป้าย และนำไข่ไก่ขว้างปาเข้าไปในบริเวณกองพันทหาร

อัยการได้สั่งฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทําด้วยประการใดๆ ให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนทรัพย์

ก่อนที่ศาลเยาวชนได้อนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่หากทำผิดสัญญาประกันจะถูกปรับ 5,000 บาท โดยศาลนัดถามคำให้การอีกครั้ง วันที่ 8 พ.ย. 2564 เวลา 8.30 น. 


ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 อัยการยังมีคำสั่งฟ้อง ‘ไบรท์’ ชินวัตร จันทรกระจ่าง และ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ศาลแขวงดุสิต โดยทั้งสองถูกฟ้องใน 4 ข้อหา เช่นเดียวกัน โดยมีการบรรยายฟ้องระบุถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม ว่าทําให้ประตูรั้วทางเข้าและป้ายชื่อหน่วยกองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นทรัพย์ของกองทัพบก ได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงินรวมจํานวน 45,990 บาท

ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวทั้งสองคน โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท พร้อมนัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 17 มกราคม 64 เวลา 09.00 น.


ในคดีนี้ยังมี ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ธนชัย เอื้อฤาชา และ ฉัตรมงคล วัลลีย์ ซึ่งยังไม่ถูกฟ้องเข้ามา 

.

X