Thailand 4.0 สิทธิมนุษยชนบนการคุกคาม We walk เดินมิตรภาพ

Thailand 4.0 สิทธิมนุษยชนบนการคุกคาม We walk เดินมิตรภาพ

การคุกคามการเดินจากกรุงเทพฯ ถึง จ.ขอนแก่น ของ “we walk…เดินมิตรภาพ” พบว่า มีการคุกคามอย่างน้อย 19 จังหวัด ทั้งในภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือ รวมอย่างน้อย 28 กรณี กับ 2 คดี ในขณะที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ

 

  • มิให้กระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวางในการใช้เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้ร่วมชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 19 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชน การดูแลการชุมนุมสาธารณะ และการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเคร่งครัดจนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 อันเป็นวันสิ้นสุดการชุมนุมสาธารณะ”

ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” ก่อนการพิพากษา เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 61 จากกรณีที่เครือข่าย People Go Network ได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งขอให้ศาลออกมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน กรณีที่เครือข่ายฯ จัดกิจกรรม We walk เดินมิตรภาพ โดยการเดินเท้ารณรงค์เป็นเวลา 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. – 17 ก.พ.2561 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยัง จ.ขอนแก่น เพื่อรณรงค์ใน 4 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเด็นที่สอง เรื่องการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธ์พืช ประเด็นที่สามเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน และประเด็นที่สี่ เรื่องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: รู้จักเครือข่าย People Go ให้มากขึ้น: จากคำประกาศทวงสิทธิความเป็นพลเมือง สู่เดินมิตรภาพ)

ถูกเจ้าหน้าที่ได้ขัดขวางการเดิน ค้นรถ ติดตามถ่ายรูป กดดันวัดไม่ให้ขบวนเดินเข้าพัก ทั้งยังมีการแจ้งความดำเนินคดีผู้ร่วมกิจกรรมรวม 8 ราย โดย พ.ท.ภูษิต คล้ายหิรัญ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ยังคงติดตามการเดินมิตรภาพ คอยถ่ายรูป ถ่ายทะเบียนรถผู้เข้าร่วม ถ่ายวิดีโอ โดยใช้รถติดตามที่ไม่ติดป้ายทะเบียน เจ้าหน้าที่ยังใช้การโทรศัพท์กดดันจนหลายแห่งยกเลิกการให้กลุ่ม We Walk ใช้พื้นที่เพราะเกิดความกังวล รวมถึงการไปติดตามประชาชนผู้เข้าร่วมเดินขบวนถึงที่บ้าน ทั้งก่อนเข้าร่วมและหลังเข้าร่วมกิจกรรม และห้ามไม่ให้มาร่วมเดิน เจ้าหน้าที่บางคนไม่แจ้งชื่อหรือเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อผู้จัดกิจกรรหรือประชาชนที่เข้าร่วม จึงเป็นคำถามว่าพฤติการณ์เหล่านี้ของเจ้าหน้าที่ ถือว่าเป็นการปิดกั้นหรือขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมหรือไม่

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ คือเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหาร แต่ตลอดระยะการเดินมิตรภาพ ทหาร รวมทั้ง กอ.รมน. กลับแฝงตัวปะปนมากับกลุ่มตำรวจ จึงถือว่าเป็นการจงใจละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ประสงค์เข้าร่วมเดินกับ we walk

ทั้งนี้ การคุกคามออกแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและหลังศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จากการรวบรวมกรณีการคุกคามการเดินจากกรุงเทพฯ ถึง จ.ขอนแก่น ของ “we walk…เดินมิตรภาพ” พบว่า มีการคุกคามอย่างน้อย 19 จังหวัด ทั้งในภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือ รวมอย่างน้อย 28 กรณี กับ 2 คดี ดังนี้

 

ก่อนศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

กรุงเทพมหานคร มีการปิดกั้นไม่ให้ขบวนเดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แม้ผู้จัดจะมีการแจ้งจัดกิจกรรมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะแล้ว จนเป็นเหตุให้มีการแจ้งความดำเนินคดีผู้ร่วมกิจกรรมรวม 8 ราย

จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 61กลุ่ม we walk ถูกเจ้าหน้าที่กดดันตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น. โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาบริเวณที่พักในวัดลาดทราย ตะโกนถามหาหัวหน้ากลุ่ม โดยระบุว่า อยากคุยด้วย แต่ไม่มีใครตอบรับ จนกระทั่งเวลาประมาณ 05.00 น. ก็มีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 100-200 คน และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่า 20 คน เข้ามาที่บริเวณวัดลาดทราย ต.ลำไทร อ.วังน้อย

เวลา 06.00 น. เครือข่ายฯ เริ่มทะยอยออกจากวัด เพื่อเริ่มกิจกรรมการเดินในวันที่สอง พบว่า มีการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่ปากทาง เรียกรถทุกคัน โดยขอตรวจและถ่ายรูปสำเนาทะเบียนรถ บัตรประชาชน และซักถามประวัติทุกคน รถคันสุดท้ายซึ่งเป็นรถสวัสดิการ ขนสัมภาระที่จำเป็น และน้ำ สำหรับแจกจ่ายให้ทีมเดิน ออกจากวัดในเวลาประมาณ 07.00 น. แต่ถูกกักไว้และมีการตรวจค้นรถและควบคุมตัวฝ่ายสวัสดิการรวม 4 คน นำโดย พล.ต.ต.สมหมาย ประสิทธิ์ ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา  โดยอ้างอำนาจทหาร ไม่ต้องมีหมายค้น

ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เอกชัย อิสระทะ ผู้ร่วมเดิน we walk ได้เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองห้ามไม่ให้ขบวน we walk พักค้างคืนที่วัดโนนมะกอก ต.ดอนหวาย อ.โนนสูง 3 คืน โดยอ้างว่าเนื่องจากทางอำเภอและจังหวัดไม่ค่อยสบายใจ ทั้งที่เจ้าอาวาสอนุญาตแล้ว (ที่มา: ประชาไท )

นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งจากเครือข่าย  People Go เพิ่มเติมว่าขณะที่ได้เดินทางมาถึงวัดโนนมะกอก ตำบลดอนหวาย อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่ตัวแทนกลุ่มเข้าพบเจ้าอาวาสเพื่อนมัสการขอพักค้างคืนที่วัดเป็นเวลา 3 คืน ซึ่งทางเจ้าอาวาสได้อนุญาตให้ตามความต้องการ

หลังจากนั้นได้มีบุคคลอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ราชการฝ่ายปกครองประมาณ 10 คนเข้ามาชี้แจงว่า ต้องการอำนวยความสะดวกให้กับขบวนเดินมิตรภาพ พร้อมระบุว่าจากมติที่ได้มีการประชุมกันระหว่าง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อำเภอ ตำรวจ และทหาร มีมติว่าอนุญาตขบวนเดินมิตรภาพหยุดพักค้างคืนที่วัดโนนมะกอกได้เพียงแค่ 1 คืนเท่านั้น ไม่สามารถให้อยู่ได้ถึง 3 คืน เนื่องจากทางอำเภอและจังหวัดไม่ค่อยสบายใจ พร้อมระบุโดยท่าทีข่มขู่เจ้าอาวาสวัด(โดยการชี้หน้า) ว่าการจะอนุญาตให้คนนอกพื้นที่เข้าพักที่วัดไม่ได้เป็นการตัดสินใจของเจ้าอาวาสเพียงผู้เดียว แต่ขึ้นอยู่กับฝ่ายปกครองในพื้นที่ด้วย

ในระหว่างการพูดคุยมีการอ้างถึงว่าอาจจะมีชาวบ้านที่ไม่พอใจกลุ่มเดินมิตรภาพมาก่อกวนทำให้เกิดความวุ่นวาย

ต่อมาก่อนที่ We walk จะเดินมาถึงจ.ขอนแก่น ได้รับแจ้งจากเครือข่าย People Go ว่านายสวาท อุปฮาด แกนนำชาวบ้านในเครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารโทรถามตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. โดยถามว่าอยู่ไหน จะมาร่วมเดินกับ we walk ไหม และวันที่ 9 ก.พ. เพื่อนบ้านของสวาท ที่ อ.น้ำพอง โทรแจ้งว่ามีทหาร 6 คน รถ 2 คันเข้ามาที่บ้าน ถามหาว่าไปไหน อยู่ที่ไหน พร้อมทั้งเดินถ่ายรูปรอบบ้าน และเดินไปเดินมาอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงจึงกลับ ต่อมาช่วงวันที่ 14-16 ก.พ. ทหารก็เข้าไปหานายสวาทที่บ้านทุกวัน พร้อมทั้งจดชื่อคนที่พบในบ้านทุกคน ทั้งที่นายสวาทไม่ได้อยู่บ้าน

อีกทั้งทหารยังได้ติดตามกลุ่มคนเสื้อแดงใน 3 จังหวัดคือ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม และ จ.อำนาจเจริญ เพื่อสอบถามว่าจะไปเข้าร่วมกิจกรรมของ We walk ไหม ถ้าไปจะไปกี่คน จะเดินทางยังไง มีใครไปบ้าง แต่ทางกลุ่มเสื้อแดงทั้ง 3 จังหวัด ได้ยืนยันกับทหารว่าไม่ได้ไปร่วมเดิน หรือถ้าไปก็เป็นเพียงการไปให้กำลังใจเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสิทธิของประชาชน

จ.หนองบัวลำภู เจ้าหน้าที่ตำรวจโทรหาครอบครัวของนักศึกษาคนหนึ่งที่มาร่วมเดินมิตรภาพ และเข้าไปพบที่บ้าน แจ้งไม่ให้มาร่วมเดินอีก

และ จ.สกลนคร กิตติมา ขุนทอง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เปิดเผยว่า มีทหารโทรไปแจ้งอธิการบดีว่า มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไปร่วมกิจกรรม We walk เมื่อวันที่ 10 ก.พ. และให้อธิการบดีทำรายงานถึงแม่ทัพภาค 2 เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งจากเครือข่าย People Go ว่าสมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน จ.สกลนคร ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย และโรงไฟฟ้าชีวมวล เปิดเผยว่า ตั้งแต่ไปร่วมกิจกรรมเดินมิตรภาพ ได้มีเจ้าหน้าที่แสดงตัวว่าเป็นทหารและตำรวจเฝ้าติดตามทางโทรศัพท์หลายครั้ง ทั้งยังเดินทางมาที่หมู่บ้านโดยปรากฏตัวชัดเจน รวมแล้ว 5 ครั้ง มีการนำภาพถ่ายของสมาชิกกลุ่มฯ ที่ไปร่วมเดินมาให้ชาวบ้านในหมู่บ้านดูเพื่อตรวจสอบว่าชื่ออะไร ประกอบอาชีพอะไร ที่อยู่ปัจจุบันอยู่ที่ไหน ใช้รถเลขทะเบียนอะไร โดยในการมาแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่ได้เดินตระเวนถามไปยังร้านค้า บ้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านชาวบ้าน

ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 2 นายไปที่บ้าน ศตานนท์ ชื่นตา สมาชิกกลุ่มคัดค้านโปแตชในอำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร โดยสอบถามเกี่ยวกับการมาร่วมเดิน we walk เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นอกจากนี้หลังจากที่ศตานนท์มาร่วมกิจกรรมกับ We walk อีกเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ก็มีบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นตำรวจ เข้าไปถามหาศตานนท์ที่บ้าน ซึ่งมีแต่แม่อยู่ โดยถามว่าศตานนท์ไปไหน ทำอะไรอยู่ไหน และช่วงวันที่ 16-17 ก.พ. ศตานนท์ไปไหน ด้านแม่ของศตานนท์ ได้ตอบว่าไม่ทราบ ชายคนดังกล่าวจึงได้ออกไปโทรศัพท์และพูดว่าศตานนท์ไม่ได้อยู่บ้านพัก หลังจากนั้นจึงกลับมาพูดกับแม่ของศตานนท์ว่า อย่าโกหกนะ ถ้าศตานนท์ไปทำอะไรผิดกฎหมายจะไม่รับรองความผิดนะ จากกรณีดังกล่าวศตานนท์จึงได้ไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานการถูกคุกคาม เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ สภ.คำตากล้า

อัครวินท์ กุลภา นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาลัยราชภัฏสกลนคร ซึ่งเปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่สันติบาล 2 นาย ไปหาตนที่บ้าน จ.นครพนม หลังจากร่วมกิจกรรมเดินของ we walk แต่ในวันดังกล่าวอัครวินท์ ไม่ได้อยู่บ้าน เนื่องจากอยู่มหาวิทยาลัย มีแต่ ตา แม่ ยายเจ้าหน้าที่ได้นำรูปถ่ายตอนเดิน We walk แถว อ.บ้านไผ่ มาให้ทางครอบครัวตนดู พร้อมกับถามตาของตนว่า คนในรูปนี้ใช่หลานตาไหม พร้อมทั้งบอกกับครอบครัวว่า อัครวินท์ เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นแกนนำชุมนุม และปาขวดสร้างสถานการณ์ที่กรุงเทพฯ ถ้ายังทำกิจกรรมแบบนี้อยู่จะติดแบล็คลิสต์ ไปสมัครงานที่ไหนไม่ได้ และอย่าให้ลูกไปอีก ให้ตั้งใจเรียน เขาเอาจริง

ด้านอัครวินท์ยืนยันว่าตนไม่ได้ไปปาขวดสร้างสถานการณ์ที่กรุงเทพฯ อย่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้าง ตนเพียงไปร่วมเดินกับ We walk เท่านั้น เพราะตนเห็นด้วยกับ 4 ประเด็นที่ we walk สื่อสารและตนเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำอยู่ไม่ผิดเพราะเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งศาลก็สั่งคุ้มครองชั่วคราวอีกด้วย

ขณะที่ อาคม ศรีบุตตะ สมาชิกกลุ่มดาวดิน ถูกเจ้าหน้าที่สันติบาลไปหาที่บ้านที่จ. นครพนม สองครั้ง โดยครั้งแรก ขณะที่we walk เดินถึง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น มีเจ้าหน้าที่สันติบาล 2 นาย ไปถามพ่อของตนว่าเห็นอาคมไหม เป็นห่วงเดี๋ยวทหารจะลงมาหาที่บ้าน ครั้งที่สองมีสันติบาลไปหาที่บ้านอีกครั้งและขอที่อยู่และเบอร์โทรของอาคม กับพ่อของตน พร้อมกับบอกว่าอย่าเพิ่งให้อาคมกลับบ้าน

ด้านเครือข่ายสมัชชาคนจน กรณีที่สาธารณประโยชน์กุดทิง จังหวัดบึงกาฬ ณตฤณ ฉอ้อนศรี รองเลขานุการสมัชชาคนจนฯ ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายรูปทะเบียนรถ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ก.พ. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบหนึ่งในชุดสืบสวน สภ.เมืองบึงกาฬ มาหาคนขับรถตู้ที่ชาวบ้านเช่าถามว่า ใครเป็นคนว่าจ้างรถตู้และพาชาวบ้านไปกี่คน ใครบ้าง ประสานงานกันยังไง จากนั้น ตำรวจก็ขอเบอร์โทรศัพท์ของคนขับรถตู้ไว้ โดยอ้างว่าเผื่อมีอะไรจะได้โทรมาสอบถาม พร้อมทั้งขอชื่อชาวบ้านที่ไปร่วมเดินกับคนขับรถตู้ทั้งหมด 12 คน

นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งจากเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารไปติดตามสอบถามข้อมูลจากผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและองค์กรภาคประชาสังคมในหลายจังหวัด เช่น จ.ศรีสะเกษ จ.กาฬสินธุ์ จ.สุรินทร์ จ.ยโสธร เกี่ยวกับการเข้าร่วมกิจกรรมเดินมิตรภาพ

ด้วยการโทรไปสอบถามกับทางโรงพยาบาลที่เครือข่ายสังกัดอยู่ โดยขอรายชื่อสมาชิกเครือข่าย ขอถ่ายบัตรประชาชน และติดตามสมาชิกเครือข่ายถึงที่บ้าน ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเริ่มถูกติดตามตั้งแต่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ เคารพสิทธิ์ประชาชน หยุดคุกคามข่มขู่ หยุดใช้การแจ้งความไม่ชอบธรรม และก่อนหน้านี้ประธานเครือข่ายฯ จังหวัดศรีสะเกษ เคยถูกเรียกเข้าไปพบพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดศรีสะเกษ (พมจ.ศรีสะเกษ) โดยระบุ ว่ามีทหารมาสอบถามข้อมูลของเครือข่ายฯ และถามว่าทำไมมีชื่อเครือข่ายฯ ร่วมในแถลงการณ์ดังกล่าว เครือข่ายฯมีประเด็นอะไรเกี่ยวข้องกับ we walk ประธานเครือข่ายฯ จึงได้อธิบาย พมจ. ว่า เกี่ยวข้องประเด็นที่เครือข่ายฯ สนใจและทำงานมาอย่างต่อเนื่องคือ เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ

ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จังหวัดกาฬสินธุ์ หนึ่งในองค์กรเครือข่ายให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” ตนเองถูกสันติบาล และเจ้าหน้าที่จากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ ทั้งโทรศัพท์และเข้าไปพบที่ศูนย์ประสานสานของกลุ่มเกือบทุกวัน สอบถามว่า กลุ่มจะไปร่วมเดินไหม และเดินเพื่ออะไร เมื่อตนเองก็บอกว่าจะไป เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า อย่าไปเยอะ จะยากในการดูแล พร้อมทั้งถ่ายรูปตนเองไปด้วย

จ.สุรินทร์ มีรายงานจากมูลนิธิสุขภาพชุมชน อีกหนึ่งองค์กรที่ลงชื่อในแถลงการณ์ให้รัฐบาลเคารพสิทธิประชาชน และหยุดคุกคามข่มขู่ ปรากฎมีทหาร 2 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าไปที่มูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. และพูดคุยกับประธานกรรมการมูลนิธิฯ สอบถามว่ามีคนไปร่วมเดินหรือไม่ และเรียกร้องอะไร ประธานกรรมการมูลนิธิสุขภาพชุมชนจึงอธิบายถึง 4 ประเด็นหลักที่ประชาชนต้องการมีส่วนร่วม ใช้เวลาพูดคุยอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยทหารแจ้งว่าเขาแค่มาดูแลความปลอดภัยให้ ไม่ได้จะมาคุกคาม

จ.ยโสธร มีตำรวจโทรศัพท์ไปหา ประธานกลุ่มสายใยรัก อ.ทรายมูล ว่า ใช่ประธานกลุ่มหรือไม่ และถามว่าวันที่ 17 ก.พ. กลุ่มจะไปร่วมเดินที่ขอนแก่นหรือไม่ จะไปอย่างไร ไปกี่คน

ด้านผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เปิดเผยว่าหลังมามาร่วมกิจกรรมเดินมิตรภาพในวันที่ 16-17 กพ. ขณะกำลังขับรถเดินทางจาก จ.ขอนแก่นเพื่อกลับบ้านที่จ.ศรีสะเกษ ได้รับโทรศัพท์จากครอบครัว บอกเล่าเหตุการณ์ที่ทหารและตำรวจไปพบครอบครัวที่บ้าน โดยแจ้งว่า ติดตามจากหมายเลขทะเบียนรถที่ไปจอดในวัดป่าอดุลยาราม ที่ใช้จัดกิจกรรม We walk วันสุดท้าย และยังได้สอบถามข้อมูลของตนและครอบครัวอย่างละเอียด

ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารไปหาครอบครัวของ ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ที่บ้านใน จ.สุรินทร์ ในช่วงปลายเดือน ม.ค. 61 ซึ่งเป็นช่วงที่ตนยังไม่ได้เข้าร่วมเดินกับ we walk โดยทหารในเครื่องแบบ 4 นาย เข้าไปสอบถามพ่อของตนว่า ภานุพงศ์ได้เข้าร่วมกิจกรรมเดินไหม นอกจากนี้ทหารยังพูดเรื่องคดีที่ภานุพงศ์ต้องขึ้นศาลทหารอีกสองคดี คือคดีพูดเพื่อเสรีภาพฯ และคดีชูป้ายคัดค้านครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ให้กับทางครอบครัวของตนฟัง ซึ่งภานุพงศ์กล่าวว่า การที่ทหารไปหาตนที่บ้านทำให้ ครอบครัวของตนรู้สึกกังวลใจ จึงไม่อยากให้ทหารเข้าไปรบกวนที่บ้านอีก

ขณะที่สมาชิกส่วนหนึ่งของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย เข้าร่วมการเดินมิตรภาพตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ ในวันที่ 20 ม.ค. ด้วย สมาชิกอีกส่วนหนึ่งซึ่งยังอยู่ที่หมู่บ้านก็ถูกทหาร ตำรวจ โทรศัพท์หา สอบถามว่า จะเข้าร่วมเดินไหม ไม่เข้าร่วมได้ไหม โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ากลัวชาวบ้านจะถูกจับ เมื่อสมาชิกกลุ่มฯ อธิบายว่า ที่ไปเดินเพราะไม่อยากให้สร้างเหมือง เจ้าหน้าที่บอกว่า ไปทำอย่างอื่นได้ไหมที่ไม่ใช่ไปร่วมเดิน นอกจากนี้วัน17 ก.พ. หลังจากเสร็จกิจกรรม we walk สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบถ่ายทะเบียนรถก่อนเดินทางกลับบ้าน

ด้านสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 21 ม.ค.61 มีตำรวจชุดสืบสวนจังหวัดและปลัดอำเภอบำเหน็จณรงค์ โทรศัพท์ถามคนขับรถตู้ ว่าจะไปชุมนุมกับเขาด้วยหรือเปล่า ซึ่งคนขับรถตู้ตอบว่า เขาแค่รับจ้างเหมาให้ขับรถมา ไม่ได้ร่วมชุมนุม ตำรวจยังได้ส่งรูปสมาชิกกลุ่มฯ มาให้คนขับรถตู้คนดังกล่าวดู พร้อมทั้งถามชื่อ ทั้งนี้ คนขับรถตู้เปิดเผยความรู้สึกว่า ตนรู้สึกกังวลว่าจะโดนปรับเหมือนรับจ้างเหมาคนมาให้กำลังใจยิ่งลักษณ์

นอกจากนี้ บุญช่วย โสสีทา ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ห้วยเสือเต้น-โคกหินขาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เล่าว่าเมื่อวันที่ 8 ก.พ. มีรองผู้กำกับ สภ.น้ำพอง โทรหาตนและถามว่า อยู่ที่ไหน จะไปเดินไหม มีคนชวนไปไหม เขาเอาเสื้อมาแจกรึป่าว มีหนังสือมาเชิญไหม และถ้าจะไปเดินให้โทรแจ้งทางตำรวจก่อน จะได้รายงานนาย เพราะถ้าไปไม่แจ้งก่อนนายจะด่าผม ด้านบุญช่วยบอกกับตำรวจว่ายังไม่รู้ว่าตนจะไปรึป่าว ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. มีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจไปหาตนที่บ้านประมาณ 5 นาย ที่บ้าน แต่ตนไม่ได้อยู่บ้านและตนทราบข่าวจากภรรยาว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปถามว่าตนอยู่ไหน ได้ไปเดินกับwe walk ไหม จากนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่เห็นตนอยู่ที่บ้าน จึงได้โทรหาตนและถามว่าอยู่ที่ไหน ตนตอบไปว่า อยู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จากนั้นตนก็วางสาย

ในช่วงสุดท้ายของการเดินมิตรภาพ คืนวันที่ 16 ก.พ. เวลา 23.00 น. หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น ได้ถือเอกสารมาบอกกับขบวนเดินมิตรภาพว่า จังหวัดไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 17 ก.พ. เพื่อทำกิจกรรม ด้านทีม We Walkกล่าวว่า ถือว่าไม่รับรู้หนังสือดังกล่าว เนื่องจากว่าผิดจากเนื้อหาที่คุยกันไว้เรื่องแจ้งการเดินทางเพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและเรื่องการขอใช้พื้นที่กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เพื่อทำกิจกรรม

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็มาในยามวิกาล นอกจากนี้ มข. ก็ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ เพื่อทำกิจกรรมเสวนาในวันที่ 17 ก.พ. โดยให้เหตุผลว่าต้องไปขออนุญาตมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร ก่อน จึงทำให้กิจกรรมวันสุดท้ายของ “We Walk…เดินมิตรภาพ” ต้องมาจัดที่วัดป่าอดุลยาราม ที่อยู่ใกล้กับ มข.แทน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่มาคอยสังเกตการณ์ภายในงาน เดินถ่ายรูปทะเบียนรถทุกคันที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

และในภาคเหนือมีกรณีการคุกคามกลุ่มคนที่เข้าร่วมเดินกับ We walk รวมถึงการแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่ออกมาให้กำลังใจกิจกรรมดังกล่าว อย่างน้อย 3 กรณี ดังนี้

กรณีชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง จาก อ.งาว จ.ลำปาง ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ในพื้นที่ ได้ไปร่วมกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” หลังจากชาวบ้านเดินทางกลับมาที่หมู่บ้านได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.งาว ประมาณ 3-4 นาย นำโดยสารวัตรสืบสวนของ สภ.งาว ได้เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน และได้สอบถามถึงชาวบ้านที่ไปร่วมเดินว่าอยู่บ้านหลังไหนบ้าง หลังจากนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาพูดคุยกับตัวแทนชาวบ้านรายหนึ่ง พยายามสอบถามรายชื่อชาวบ้านที่ไปร่วมเดินทั้งหมด ช่วงเวลาที่ไปเดิน วิธีการไปเดิน แต่ตัวแทนชาวบ้านปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล โดยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ก็เห็นจากข่าวหรือสื่อออนไลน์ได้อยู่แล้ว สามารถไปรวบรวมได้เอง ในช่วงต่อมาตลอดกิจกรรม We Walk เจ้าหน้าที่ยังพยายามโทรศัพท์มาหาตัวแทนชาวบ้านอีกหลายครั้งแต่ชาวบ้านไม่ได้รับโทรศัพท์

กรณีพระอาจารย์ยงยุทธ ทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ไปร่วมเดินกับ we walk ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่ามาจาก สภ.สรอย จำนวน 3 นาย เดินทางมาที่วัด โดยสอบถามหาพระอาจารย์ แต่เด็กที่วัดได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าพระอาจารย์ยังไม่ได้เดินทางกลับวัด ตำรวจจึงได้ขอเบอร์โทรศัพท์ไป เด็กที่วัดจึงได้แจ้งมาทางพระอาจารย์ว่ามีตำรวจมาติดตามตัว จากนั้นจึงได้มีสารวัตรจาก สภ.สรอย โทรศัพท์ติดต่อมาหาพระอาจารย์ ทางเจ้าหน้าที่ระบุว่าโทรมาเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ว่าพระอาจารย์ได้ไปร่วมกิจกรรมการเดินจริงหรือไม่ และท่านอยู่ที่วัดนี้จริงหรือไม่ เนื่องจากตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีคำสั่งเข้ามาให้ติดตามตรวจสอบ ทางพระอาจารย์ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่าท่านได้ไปร่วมเดินจริง แต่ไปเพื่อให้กำลังใจพี่น้องชาวบ้าน เป็นการไปร่วมเดินธรรมดา ไม่ได้ไปต่อต้านบุคคลใด และไม่คิดว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด (อ่านข้อมูลเพิ่ม ที่นี่ )

และกรณีนักศึกษาและชาวบ้าน อ.ภูซาง จังหวัดพะเยา ถูกดำเนินคดี จากการทำกิจกรรมเดินและถือป้ายสนับสนุนกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” โดยทหารมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อชาวบ้านและนักศึกษา รวมทั้งหมด 14 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาที่อยู่ที่ สภ. จำนวน 11 ราย (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม ที่นี่)

เห็นได้ว่า แม้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมตามกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น ยังถูกคุกคามและถูกดำเนินคดี

อีกทั้งการกระทำของเจ้าหน้าที่ยังขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
(International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 17.บุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน หรือการติดต่อสื่อสารโดย
พลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ และจะถูกลบหลู่เกียรติและชื่อเสียงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ และข้อ 19.บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท ซึ่งกติการระหว่างประเทศดังกล่าว ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีด้วย

จึงเป็นเรื่องตลกร้ายและดูจะย้อนแย้ง เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานงานวันสิทธิมนุษยชนสากล และกล่าวปาฐกถาพิเศษเพื่อประกาศ “วาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 61 ที่ผ่านมา ว่าปัจจุบันเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญเพราะเป็นหลักการสากลที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับที่จะช่วยทำให้เกิดสันติภาพและความเจริญก้าวหน้าต่อมวลมนุษยชาติ ทั้งนี้รัฐบาลมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนานาประเทศ และมุ่งหวังให้ประเทศไทยเกิดความสงบสุข สันติสุข ให้ทุกคนมีความรักสามัคคี รู้สิทธิ รู้หน้าที่ เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น โดยคำนึงถึงหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declarations of Human Rights) (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่: ประชาไท )

 

X