วันที่ 20 ก.พ. 2566 ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองจำนวน 6 ราย ได้แก่ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ ใบปอ ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังถูกศาลสั่งถอนประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2566, “พรพจน์ แจ้งกระจ่าง”, “คทาธร” และ “ถิรนัย, ชัยพร (สงวนนามสกุล)” ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุระเบิด
.
ศาลให้ประกันตัว “เก็ท – ใบปอ” ผู้ต้องขังจากการถูกถอนประกัน และ “พรพจน์” หนึ่งในผู้ต้องขังที่ถูกขังข้ามปี ทะลุ 300 กว่าวัน
ทนายความได้ยื่นประกันในกรณีของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กรณี ปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 และ “ใบปอ” นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ใน 3 กรณี โดยในคดีที่ศาลอาญาจากการแชร์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับงบสถาบันกษัตริย์ และ ทำโพลเรื่องการใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ จากเพจ “ทะลุวัง” เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565 และในคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้จากกรณี ทำโพลขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565
ในคำร้องขอประกันของเก็ท มีใจความสำคัญระบุว่า จำเลยประสงค์ที่จะยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท และในคดีนี้ จำเลยได้มีปัญหาสุขภาพเนื่องจากอดนอนเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2566 จนถึงปัจจุบัน (20 ก.พ. 2566) มาเป็นระยะเวลา 14 วัน หรือมากกว่า 336 ชั่วโมงแล้ว เก็ทมีอาการเจ็บหน้าอก มือสั่นตลอดเวลา และแขนขาอ่อนแรง มีการตอบสนองช้า และรับประทานอาหารได้น้อย ในการยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยครั้งนี้ จึงเป็นการขอประกันเพื่อให้จำเลยได้ออกมาเข้ารับการรักษา ตลอดจนเพื่อต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ดังนั้นการให้ประกันตัวจำเลยในครั้งนี้ จึงไม่อาจก่ออุปสรรคหรือสร้างความเสียหายต่อการดำเนินคดีในชั้นศาลได้แต่อย่างใด
ในส่วนคำร้องขอประกันของใบปอ มีใจความสำคัญระบุว่า ในคดีที่ศาลอาญา จำเลยประสงค์วางหลักทรัพย์คดีละ 90,000 บาท และในคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงและเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือ โดยจำเลยเป็นเพียงนักศึกษา ย่อมไม่มีอิทธิพลเข้าไปยุ่งหยิงหรือเป็นอุปสรรคต่อพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ อีกทั้งในคดีทั้ง 3 คดีหลักฐานได้อยู่ในการรวบรวมของอัยการโจทก์แล้วทั้งสิ้น
และในคดีของพรพจน์ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2566 ในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการปาระเบิดปิงปองที่บริเวณ สนามหญ้าด้านหน้า กรมทหารราบที่ 1 แต่ทนายได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่า พรพจน์มีหมายขังในคดีอื่นอยู่อีก 2 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #ม็อบ13ตุลา64 และคดีที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิดอีกหนึ่งคดี โดยในวันที่ 20 ก.พ. 2566 ทนายความได้เข้ายื่นขอประกันในสองคดีดังกล่าว วางหลักทรัพย์ประกัน 100,000 บาท
ต่อมา ทั้งศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว เก็ท, ใบปอ และพรพจน์ ไม่ต้องติดอุปกรณ์ EM และให้วางหลักทรัพย์ตามคำร้องที่ยื่นต่อศาล แต่ในคดีชุมนุม 13 ต.ค. 2564 ของพรพจน์ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลให้วางหลักทรัพย์ 50,000 บาท
กรณีของเก็ทและใบปอ ศาลอาญาได้กำหนดเงื่อนไขประกันตัว “ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดี หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือกระทำการหรือร่วมทำกิจกรรมใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่างการปล่อยชั่วคราว และให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วันภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น”
ส่วนคดีของพรพจน์ กำหนดเงื่อนไข “ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดี หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองในระหว่างการปล่อยชั่วคราว และให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วันภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น”
รวมหลักประกันทั้งหมด 630,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ผลของคำสั่งประกันตัว ทำให้เป็นการสิ้นสุดการคุมขังผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้ง 3 ราย โดยพรพจน์ ถูกขังนาน 315 วัน และเก็ท – ใบปอ ถูกขังร่วม 43 วัน
.
ผู้ต้องขังอีก 3 ราย: คทาธร ศาลให้สั่งสืบเสาะพฤติการณ์ก่อน ส่วนถิรนัย-ชัยพร ศาลส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณส
ในคดีของคทาธร (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกจับในกรณีมีระเบิดไว้ในครอบครอง ในขณะเดินทางเข้าร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 กลายเป็นผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังและไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมายาวนานที่สุดในรอบปี มากกว่า 300 วัน
ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกัน มีใจความสำคัญระบุว่า ในคดีนี้มีความประสงค์วางหลักทรัพย์ 100,000 บาท อีกทั้งในคดีนี้ จำเลยที่ 2 หรือ คงเพชร ก็ได้รับการประกันตัวออกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 2566 จึงไม่มีเหตุสมควรให้คุมขังจำเลยที่ 1 หรือ คทาธร ไว้อีก
นอกจากนี้ จำเลยประสงค์ให้บิดา เข้ามาเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวที่มีความน่าเชื่อถือได้ว่าจะพาจำเลยมาตามนัดศาล และควบคุมไม่ให้จำเลยหลบหนี หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้
ก่อนในเวลา 17.00 น. ศาลได้มีคำสั่งให้สืบเสาะพฤติกรรมคทาธร ระบุว่า “เห็นควรให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติรายงานผลการสืบเสาะและพินิจต่อศาลภายในระยะเวลา 15 วัน โดยให้สืบเสาะทั้งประวัติการศึกษา และการประกอบอาชีพของจำเลย ก่อนเกิดเหตุ และพฤติการณ์แห่งคดีโดยรวม” ทำให้คทาธรจะยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนกว่าการสืบเสาะจะแล้วเสร็จ ศาลถึงจะพิจารณาคำร้องขอประกันตัวต่อไป
ส่วนในคดีของถิรนัยและชัยพร จากกรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 และถูกจับกุมกรณีพกพาระเบิดปิงปองไว้ในครอบครอง หลังทั้งสองคนได้รับสารภาพในชั้นพิจารณาคดี ศาลอาญาได้มีพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 ลงโทษจำคุก 6 ปี ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา และไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา
การยื่นคำร้องขอประกันในวันนี้ ศาลได้ส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้องขอประกันตัว ซึ่งจะใช้เวลา 2 – 3 วัน จึงจะทราบคำสั่ง