“กฤษณะ” จำเลยคดีสหพันธรัฐไท ผู้ต้องใส่ EM มากว่า 4 ปีแล้ว นานที่สุดตั้งแต่มีรัฐประหาร 57

กฤษณะ (สงวนนามสกุล) วัย 36 ปี จำเลยคดีการเมืองที่ถูกตั้งเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ใส่กำไล EM ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นเวลามากกว่า 4 ปี นับว่าเป็นผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองที่ถูกติดกำไลนี้นานที่สุดเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูล 

กฤษณะยึดมั่นในเป้าหมายของตัวเองที่ว่า “ต้องการให้ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” ในอดีตเมื่อครั้งปี 2553 เขาเคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง กระทั่งได้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นนายกฯ และกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้งเมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2557 เรื่อยมาจนกระทั่งถูกดำเนินคดีนี้เมื่อปี 2561

การตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในคดีนี้ทำให้ชีวิตของกฤษณะพลิกผันไปโดยสิ้นเชิง เขาถูกไล่ออกจากงาน ไม่มีใครรับเข้าทำงานอีก ถูกติดตามคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ สูญเสียบทบาทหัวหน้าครอบครัว กลายเป็นผู้ไม่มีรายได้ ถูกตีตราจากคนรอบข้าง เพราะถูกให้ใส่ EM จนไม่กล้าเข้าสังคม มิหน้ำซ้ำยังสร้างแผลกดทับบริเวณที่สวมใส่อีกด้วย 

หากวันที่ 30 พ.ย. 2565 นี้ศาลฎีกามีคำสั่งยืนจำคุก 3 ปี ตามศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น กฤษณะจะถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำทันที ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะถูกกล่าวหาว่าแจกใบปลิวและมีเสื้อที่มีสัญลักษณ์ “สหพันธรัฐไท” ไว้ในครอบครอง 

ถูกอุ้มจับกักขังค่ายทหาร จนท.เวียนเค้นข้อมูล ถูกตบ-ด่าหยาบ ตลอด 7 วัน   

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ช่วงเช้ามืดของวันที่ 30 ส.ค. 2561 ขณะที่กฤษณะและภรรยากำลังถอยรถออกจากประตูบ้านเพื่อเตรียมออกเดินทางไปทำงาน จู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ทั้งนอกและในเครื่องแบบประมาณ 20 นาย กรูเข้ามาล้อมหน้าบริเวณบ้านและเข้าจับกุมกฤษณะที่กำลังนั่งอยู่ภายในรถทันที

เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและพยายามขอรหัสผ่านจากกฤษณะ โดยทหารบอกว่าเขาโพสต์เฟซบุ๊กต่อต้าน คสช. จากนั้นได้ค้นบ้านและยึดของเกี่ยวกับองค์การสหพันธรัฐไท ได้แก่

  1. ใบปลิวประมาณ 400 แผ่น และสติ๊กเกอร์ประมาณ 40 แผ่น ใบปลิวกับสติ๊กเกอร์มีใจความว่า สหพันธรัฐ คือการกระจายอำนาจ ประชาชนอยู่ดีกินดี
  2. เสื้อยืดสีดำหน้าอกซ้ายมีรูปธงสีขาวแดง ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์องค์การสหพันธรัฐไท ด้านหน้าเขียนตัวหนังสือว่า Federation ด้านหลังเขียนตัวหนังสือว่า Staff จำนวน 9 ตัว
  3. คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค 1 เครื่อง ยี่ห้อเอเซอร์
  4. มือถือ 2 เครื่อง ยี่ห้อโซนี่และโนเกีย 

เจ้าหน้าที่ตรวจคอมพิวเตอร์ และมือถือของเขา โดยได้ดูดข้อมูลจากคอมพิวเตอร์และมือถือ ทั้งข้อมูลกลุ่มไลน์ เฟซบุ๊ก และรูปภาพต่างๆ ที่อยู่ในเครื่องทั้งหมด รวมทั้งเบอร์โทรที่อยู่ใน contact ด้วย เจ้าหน้าที่ให้เขาลงชื่อในบันทึกตรวจค้น แต่ไม่ได้ให้สำเนาไว้ให้ เหตุการณ์ดำเนินไปประมาณครึ่งวัน ทหารจึงได้นำตัวตนขึ้นรถฟอร์จูนเนอร์สีขาวมุ่งหน้าไปค่ายทหาร

“ตอนนั้นรู้สึกช็อกว่าเกิดอะไรขึ้น…”

ขนาบสองข้างเป็นเจ้าหน้าที่ กฤษณะถูกปิดหน้าด้วยผ้าขนหนูผืนหนา ตอนนั้นเขาได้ยินจากปากเจ้าหน้าที่ว่าจะพาไปค่ายทหารเป็นเวลา 7 วัน “ตอนอยู่บนรถ เราก็พยายามอยู่เงียบๆ ไป เราถูกปิดตา ตอนนั้นเรารู้สึกปล่อยวางมาก สิ้นหวังมากว่าทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ คิดว่าคงไม่รอดแน่ๆ คิดว่าคงจะไม่รอดกลับไปหาภรรยาแล้ว เพราะช่วงนั้นมีคนถูกอุ้มหาย ถูกฆ่าหลายคน”

เมื่อไปถึงค่ายทหาร มทบ.11 กฤษณะถูกพาเข้าไปยังห้องๆ หนึ่งทันที เขาเล่าว่า ห้องนั้นไม่มีหน้าต่าง มีห้องน้ำในตัว มีฉากกั้น มีเตียงนอน มีเก้าอี้ ตรงข้ามเตียงนอนจะเป็นชุดโซฟารับแขก และจะมีทหาร 2 นาย คอยยืนเฝ้าอยู่ในห้องตลอดเวลา

“ไม่นานก็มีคนเข้ามาคุยกับเราเรื่องเกี่ยวกับการเมือง รายละเอียดเยอะเหมือนกัน พยายามเค้นถามว่าใครที่เป็นแนวร่วมกับเราบ้าง มีการพูดจาข่มขู่ ใช้คำหยาบคาย และมีการทำร้ายร่างกายเราด้วย” ระหว่างการถูกเค้นถามครั้งหนึ่ง เขาถูกเจ้าหน้าที่ใช้มือตบที่บริเวณต้นคอ 1 ครั้ง ถือเป็นการใช้ความรุนแรงครั้งที่รุนแรงที่สุดเท่าที่กฤษณะจำได้

“ตอนนั้นเหมือนเขาจะถามเอาข้อมูลบางอย่างจากผม แต่ผมไม่รู้จริงๆ เขาก็เลยโมโหผมมาก…”

กฤษณะถูกขังอยู่ในค่ายทหารเป็นเวลาทั้งสิ้น 7 วัน ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่รัฐก็จะแวะเวียนกันเข้ามาคุย สอบปากคำตลอดทุกวัน ครั้งละประมาณ 3-4 นาย 

“ตลอดเวลาที่ต้องอยู่ในห้องนั้นทำให้ผมรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกแล้ว รู้สึกอยากจะฆ่าตัวตายตลอดเวลา อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน เหมือนเราถูกกดดันจนไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว…” 

“มันรู้สึกสิ้นหวัง มองไม่เห็นโอกาสรอดออกมาจากตรงนั้นเลย”

ตลอดเวลาที่อยู่ข้างในนั้น กฤษณะไม่รู้เลยว่าวันเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่แล้ว เขาใช้วิธีสังเกตจากการที่เจ้าหน้าที่เอาอาหารมาให้ในแต่ละมื้อแทน ถึงจะรู้ว่าวันขณะนั้นคือช่วงเวลาใดของวันแล้ว

“อยู่ในนั้นผมทำได้แค่ 2 อย่าง คือ พยายามจะนั่งสมาธิแล้วก็นอน”

กระทั่งเข้าสู่วันที่ 7 ของการถูกกักตัว กฤษณะถูกพาตัวไปกองปราบปรามเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและถูกคุมขังอยู่ที่นั่นอีกเป็นเวลา 2 วัน จากนั้นจึงถูกฝากขังระหว่างชั้นสอบสวนอยู่ที่เรือนจำอีกเป็นเวลานานถึง 18 วัน 

ต่อมาเมื่อได้ประกันตัว ศาลได้กำหนดหนึ่งในเงื่อนไขของการปล่อยตัวชั่วคราว คือ ให้ใส่กำไล EM มาจนถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นเวลานานมากกว่า 4 ปีแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน ปี 2561 

หลังมีคดีถูกไล่ออกจากงานประจำ ไม่มีที่ไหนรับเข้าทำงานอีก สุดท้ายจำใจเป็น ‘ผู้ว่างงาน’  

หลังถูกจับกุมและดำเนินคดีนี้เมื่อปี 2561 กฤษณะถูกบริษัทที่เขาทำงานอยู่ปลดออกจากการเป็นพนักงานขับรถทันที ไม่มีแม้กระทั่งการเรียกไปสอบถามถึงข้อเท็จจริงในคดีที่ถูกกล่าวหา ไม่มีแม้กระทั่งการเยียวยาหรือชดเชยความเสียหายจากการต้องสูญเสียงานประจำและรายได้เลยแม้แต่บาทเดียว 

หลังจากนั้นกฤษณะได้ตระเวนยื่นใบสมัครงานกับบริษัทอีกหลายแห่ง แต่ทุกที่ปฏิเสธรับเขาเข้าทำงาน โดยบางแห่งแนะนำแต่เพียงสั้นๆ ว่า “ให้กลับไปทำงานอยู่ที่บ้านเถอะ เพราะมีคดี คงไม่มีคนรับเป็นพนักงาน” หลังจากนั้นกฤษณะจึงล้มเลิกมองหางานใหม่ และกลายเป็นผู้ว่างงานมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้กฤษณะพยายามหารายได้จากการทำช่องยูทูป แต่ทว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก จึงล้มเลิกไปในที่สุด 

ปัจจุบันเขาทำธุรกิจออนไลน์เล็กๆ ขายข้าวสารหอมมะลิจากจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของกฤษณะเอง ชื่อร้านว่า “ข้าวคุณยายธรรม” หากใครสนใจอุดหนุนสินค้าข้าวสารหอมมะลิของกฤษณะ สามารถสั่งซื้อได้ที่เพจเฟซบุ๊กชื่อ ข้าวคุณยายธรรม 

ถูกติดตามคุมคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ 

จากที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านโซเซียลของตัวเองมาตลอด ทว่าตั้งแต่ถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ก็ทำให้กฤษณะยั้งตัวเองไม่ให้แสดงความเห็น ไม่เรียกร้องอะไรเลย “เรารู้สึกว่าต้องหยุด จิตใจมันก็ดิ่งลงไปเรื่อยๆ เพราะกลัวว่าจะมีผลกระทบกับที่บ้านเราด้วย”

การฝืนใจหยุดแสดงออกและเรียกร้องทางการเมืองตามอุดมการณ์ที่มีทำให้กฤษณะเป็นทุกข์อย่างมาก แต่เขาก็ไม่เคยหยุดที่จะติดตามข่าวสารในประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย หากมีการชุมนุมเมื่อไหร่ เขาก็จะยังมักติดตามดูการถ่ายทอดสดผ่านช่องที่ดูได้เสมอ  

อีกเหตุผลหนึ่งของการหยุดแสดงออกของกฤษณะก็คือการถูกติดตามคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะตั้งแต่ถูกดำเนินคดี เมื่อช่วงปี 2561 เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมักจะมาติดตามและสอดส่องที่ละแวกบ้านของกฤษณะอยู่ตลอด โดยเฉพาะช่วงปีแรกๆ มักจะมาบ่อยครั้ง แต่เมื่อคดีนี้ไปถึงชั้นอุทธรณ์ ก็พบเห็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ละแวกบ้านน้อยลงแล้ว

EM โซ่ไร้สายพันธนาการชีวิต เสมือนถูกตีตราซ้ำจากสังคม 

กฤษณะถูกติดกำไล EM ตั้งแต่รัฐยังใช้รุ่นแรกๆ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่และหนักกว่ารุ่นที่ใช้กันทุกวันนี้ ฉะนั้นจึงจะเกิดการเสียดสีได้มากกว่า เกิดแผลถลอก แผลกดทับที่มากกว่าด้วย และสร้างความรำคาญมากกว่าด้วยเช่นกัน แม้ทุกวันนี้ขนาดเครื่อง EM จะเล็กลงจากเดิมแล้ว แต่ก็ยังคงมีโอกาสสร้างแผลกดทับได้เช่นกัน

“ถ้าเราใส่ขาสั้นออกไปนอกบ้าน คนก็จะมองแปลกๆ ตลอด คิดว่าน่าจะโดนกันทุกคน” 

“เวลาเราชาร์จแบตก็จะอยู่ได้ไม่นานแค่ 6-8 ชั่วโมง เราก็ต้องชาร์จใหม่ จะไปข้างนอกก็ต้องไม่สะดวกต้องพกเครื่องชาร์จไปด้วยระหว่างขับรถตลอด อยากจะไปทะเลก็ไปไม่ได้ เพราะ EM มันลงน้ำทะเลไม่ได้ จะขึ้นเครื่องบินก็ไม่ได้เช่นกัน”

กฤษณะและแฟนเป็นดั่งเช่นคู่รักคู่อื่นๆ ที่ชอบใช้วันหยุดเพื่อเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะทะเล แต่ภายหลังถูกติด EM แม้จะไปเที่ยวทะเลได้ แต่ก็ไม่สามารถลงเล่นน้ำได้ อีกทั้งต้องเลือกสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆ กรุงเทพฯ เท่านั้น เพื่อที่จะสามารถขับรถไปได้ เพราะผู้ที่ติด EM จะไม่สามารถโดยสารเครื่องบินได้ นั่นทำให้ 4 ปีหลังมานี้ เขาแทบไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนเลย 

ภาพจากประชาไท

“เวลาคนมองมาที่ EM ตรงขาผม ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เพราะเราถูกให้ติดจากคดีการเมือง มันไม่ใช่ความผิดเลย… ผมไม่ได้ถูกติดเพราะเป็นขโมย เป็นโจร เป็นฆาตกร EM อยู่ที่ขาผมเพราะผมต้องการประเทศที่ดีกว่าเดิมก็เท่านั้น”

“ผลกระทบจากการเมืองคดีนี้ ทำให้เราวางแผนชีวิตไม่ได้เลย ทำอะไรก็ได้แต่กังวลว่าเมื่อไหร่ศาลจะนัดไปอีก กังวลใจอยู่ตลอดเวลา”

“เราเคยวางแผนไว้ว่า จะทำงานขับรถไปสักพัก เก็บเงินสักก้อนแล้วเกษียณตัวเองออกมาทำงานเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การปล่อยเช่า แต่ตอนนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว ต้องอยู่เป็นคนเฝ้าบ้านไปวันๆ เพื่อรอคดีความตัดสิน จะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็ไม่ได้สักอย่าง”

“ถ้าศาลพิพากษาให้เราจำคุกจริงก็จะคิดซะว่าได้ใช้เวลาในการปฏิบัติธรรม ทำใจได้แล้ว”

ย้อนอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

อุทธรณ์ยืน! ลงโทษ 4 ปชช. ข้อหา “อั้งยี่” ไม่รอลงอาญา คดีแจกใบปลิว-ขายเสื้อดำสหพันธรัฐไท แต่ยกฟ้องข้อหา “ยุยงปลุกปั่น”

บันทึกสังเกตการณ์ในวันที่ 4 จำเลย คดี “สหพันธรัฐไท” ต้องเข้าเรือนจำ ก่อนศาลฎีกาไม่ให้ประกัน

ย้อนอ่านรายงาน 9 ปัญหาที่ผู้ถูกสั่งติด EM เผชิญ

X