อุทธรณ์ยืน! ลงโทษ 4 ปชช. ข้อหา “อั้งยี่” ไม่รอลงอาญา คดีแจกใบปลิว-ขายเสื้อดำสหพันธรัฐไท แต่ยกฟ้องข้อหา “ยุยงปลุกปั่น”

*แก้ไขเพิ่มเติม 29 เม.ย. 2564 เวลา 21.00 น.

วันนี้ (27 เม.ย. 2564) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดีเกี่ยวเนื่องกับสหพันธรัฐไทสองคดี ได้แก่ คดีของนายกฤษณะ (สงวนนามสกุล) กับพวกรวม 4 คน ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 จากการที่จำเลยแจกใบปลิวและจำหน่ายเสื้อดำซึ่งมีธงสัญลักษณ์สหพันธรัฐไท ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2561

ขณะที่อีกคดีเกิดขึ้นในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 เป็นคดีที่จำเลยสองคน ได้แก่ เทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) และนางประพันธ์ (สงวนนามสกุล) สวมเสื้อดำไปที่ห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ 

คดีแรก ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 4 มีความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 จำคุกคนละ 3 ปี โดยจำเลยที่ 2 (เทอดศักดิ์) และที่ 3 (ประพันธ์) รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116

ส่วนคดีที่สอง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องข้อหามาตรา 116 เนื่องจากคำเบิกความของพยานโจทก์เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ โจทก์ไม่ได้แสดงหลักฐานอย่างแน่ชัดว่า จำเลยเป็นคนนำการชุมนุม อันก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

ญาติของกฤษณะ, เทอดศักดิ์ และวรรณภา ได้ยื่นประกันตัวจำเลยระหว่างฎีกา ด้านกฤษณะและเทอดศักดิ์ได้ยื่นประกันด้วยเงินสดจำนวน 100,000 บาท และ 40,000 บาท ตามลำดับ พร้อมเงื่อนไขขอติดกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ไว้ (EM) ด้านวรรณภา ยื่นประกันตัวด้วยเงินสดจำนวน 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ส่วนประพันธ์นั้น ถูกขังระหว่างพิจารณามาตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว และไม่ได้มีญาติมายื่นประกันตัวในวันนี้ 

อย่างไรก็ตาม เวลา 16.22 น. ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาคำสั่งให้ประกันตัวของจำเลยทั้ง 3 ทำให้ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลางทันที ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 และข่าวการติดเชื้อระหว่างผู้ต้องขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

คดีที่ 1: จำเลย 5 คน แจกใบปลิว ขายเสื้อดำ

ความเป็นมาในคดีนี้ ช่วงเดือนกันยายน 2561 มีการควบคุมตัวบุคคลไปในค่ายทหารอย่างน้อย 6 คน ในจำนวนนี้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีต่อมาทั้งหมด 5 คน ได้แก่ นายกฤษณะ, นายเทอดศักดิ์, นางประพันธ์, นางวรรณภา และนางจินดา (สงวนนามสกุล)

ทั้งหมดถูกอัยการสั่งฟ้องเป็นคดีเดียวกันในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2561 โดยกล่าวหาว่าทั้งห้าคนได้เคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไทและประชาชนทั่วไป ผ่านการแจกใบปลิวและขายเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท ระหว่างวันที่ 8 มิ.ย.  – 12 ก.ย. 2561 แต่ต่อมาจินดาไม่ได้เดินทางมาศาล ทำให้เหลือจำเลยสี่คน

คดีนี้มีการสืบพยานระหว่างวันที่ 19-21 และ 26 พฤศจิกายน 2562 ก่อนที่ศาลอาญาจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 โดยพิพากษาว่าจำเลยที่ 1-4 กระทำผิดตามมาตรา 209 วรรค 1 เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 3 ปี โดยจำเลยที่ 2 (เทอดศักดิ์) และที่ 3 (ประพันธ์) รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116

ภายหลังฟังคำพิพากษา ทนายจำเลยและญาติได้ดำเนินการยื่นขอประกันตัวจำเลย 3 คน จำเลยที่ 1 นายกฤษณะ ได้ใช้หลักทรัพย์เดิมซึ่งเคยยื่นประกันไว้ จำนวน 100,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้า EM จำเลยที่ 2 นายเทอดศักดิ์ ต้องเปลี่ยนนายประกัน และได้ยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์ 40,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้า EM 

จำเลยที่ 3 นางประพันธ์ ยังคงถูกจำคุก โดยไม่มีญาติมายื่นประกันตัว และจำเลยที่ 4 น.ส.วรรณภา เดิมวางเงินประกันตัวจำนวน 200,000 บาท แต่เนื่องจากศาลตีวงเงินประกันจำนวน 300,000 บาท จึงต้องเช่าหลักทรัพย์เพิ่มจำนวน 100,000 บาท เพื่อยื่นขอประกันตัว โดยไม่ต้องติดกำไลข้อเท้า

>> เปิดบันทึกจากห้องพิจารณา คดีเสื้อดำสหพันธรัฐไท ก่อนศาลพิพากษา 21 ม.ค. 63

>> อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับเต็ม

ประเด็นอุทธรณ์ของโจทก์ >> ขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 4 ในข้อหายุยงปลุกปั่น<<

หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อปี 2563 โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยทั้ง 4 ในข้อหายุยงปลุกปั่น หรือมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยอ้างเหตุผลหลัก 3 ข้อ ดังนี้ 

  1. ตามบันทึกถ้อยคำ (จัดทำในชั้นซักถามในค่ายทหาร) จำเลยที่ 1 รับเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “สหพันธรัฐไทกับเรื่องลึกลับของทรราช” มีการลงข้อความและรูปภาพในลักษณะหมิ่นสถาบันกษัตริย์ โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และได้รับว่าเคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่ม นปช. และติดตามเฟซบุ๊คของกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะหมิ่นสถาบันI หลายคน อาทิ นายเสน่ห์, นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ (ลุงสนามหลวง) และนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋)

    ทั้งยังมีการนำใบปลิวที่มีข้อความเกี่ยวกับสหพันธรัฐไทไปแจกตามมหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าหากประชาชนทั่วไปพบเห็นอาจทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือเกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้

    ทั้งนี้ คำให้การของจำเลยที่ 1 ที่เป็นบันทึกซักถามของเจ้าหน้าที่ทหารยังซัดทอดถึงจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในลักษณะที่ให้การตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อให้ตนเองพ้นผิด
  2. ด้าน จำเลยที่ 2 ได้ให้ถ้อยคําต่อเจ้าหน้าที่ทหาร รับว่าเป็นสมาชิกกลุ่ม “สหพันธรัฐไท” และพบใบปลิวที่มีข้อความเกี่ยวกับองค์การสหพันธรัฐไทเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงิน ขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น และได้รับว่ามีหน้าที่ชวนประชาชนเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไทผ่านโปรแกรมไลน์ (LINE)
  3. ส่วน จำเลยที่ 4 ได้รับว่าเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไทต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ตามบันทึกการซักถาม และยังมีภาพถ่ายเสื้อยืดสีดำที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดในห้องพักอีกด้วย
  4. จากพฤติการณ์ของจำเลยทั้ง 4 เห็นได้ว่าทั้งสี่ทำไปด้วยความมุ่งหมายเจตนารมณ์ขององค์กรหรือกลุ่มสหพันธรัฐไท เพื่อแสวงหาสมาชิกร่วมกลุ่มและอุดมการณ์ของตนคณะดังกล่าวยุยงปลุกปั่นให้สวมเสื้อดําหรือกล่าวให้ร้ายต่อสถาบันฯ ซึ่งหากมีประชาชนได้เข้าไปดูรับชม ย่อมส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อันถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือถึงขั้นที่ประชาชนอาจล่วงละเมิดต่อกฎหมายได้ 

ประเด็นอุทธรณ์ของจำเลย >> จำเลยทั้ง 4 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรสหพันธรัฐไท-ชี้ข้อความในใบปลิว ถึงระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐ  เป็นสิทธิเสรีภาพ สามารถแสดงออกได้ <<

ด้านจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นใน 5 ประเด็นหลัก ดังนี้

  1. จำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท ไม่เคยติดตามกลุ่มสหพันธรัฐไทมาก่อน และเสื้อยืดสีดำ พร้อมกับสัญลักษณ์รูปธงขาวแดงที่ยึดได้ในที่พักนั้น ได้รับมาจากแม่ เมื่อตนไปเยี่ยมแม่ที่ประเทศลาว และได้รับการไหว้วานให้ส่งเสื้อตามรายชื่อที่ได้รับมาจากแม่ โดยไม่ทราบว่าสัญลักษณ์บนเสื้อหมายถึงสิ่งใด และไม่รู้จักบุคคลในรายชื่อดังกล่าวทั้งจำเลยที่ 4 ยังไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ที่เกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไทแต่อย่างใด
  2. บันทึกซักถามของจำเลยทั้ง 4 นั้นถูกจัดทำขึ้นในค่ายทหาร ไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมด้วย จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าว และไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกมาเบิกความรับรองเอกสาร จึงถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. สำหรับ จำเลยที่ 2 ไม่ปรากฎภาพวงจรปิดขณะแจกใบปลิวแต่อย่างใด มีเพียงคำเบิกความของพยานโจทก์ ร้อยตำรวจเอกครรชิต สีหะรอด ว่าพบชายเสื้อดำในใบปลิวไปวางในมหาวิทยาลัย โดยชายคนดังกล่าวทำงานอยู่คนละบริษัทกับจำเลยที่ 2
  4. ตามองค์ประกอบความผิดเป็น “อั้งยี่” ต้องมีการเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดําเนินการและมีวัตถุประสงค์อันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคําว่าสมาชิกนั้น ต้องมีการจัดตั้งองค์กรรวมกลุ่มปรึกษาหารือและวางแผนร่วมกันเพื่อดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างไรก็ตาม ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้ง 4 ได้ติดต่อสื่อสารหรือวางแผนร่วมกับบุคคลที่จัดรายการยูทูปช่องลุงสนามหลวง  โดยพลตรีบุรินทร์ ทองประไพ พยานโจทก์ ได้เบิกความตอบทนายว่า “ไม่มีเอกสารแสดงตัวตนว่าจําเลยที่ 1 ถึงจําเลยที่ 4 เป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไทและเป็นเครือข่ายของลุงสนามหลวงอย่างชัดเจน”
  5. ข้อความที่ปรากฎในใบปลิว สติ๊กเกอร์ และเสื้อดำ อันเกี่ยวข้องกับองค์กรสหพันธรัฐไท เป็นเพียงแนวความคิดที่แตกต่างและสามารถวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลได้ แม้จะมีความแตกต่างกับระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบัน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้ง 4 มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์การสหพันธรัฐไท แม้จำเลยยื่นอุทธรณ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง-ไม่เคยติดต่อ-ประสานงานผู้จัดรายการที่อยู่ประเทศลาว

เวลา 09.30 น. ทนายจำเลย 3 คน ยกเว้น อานนท์ นำภา ซึ่งยังคงถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จากชุมนุม 19 ก.ย. 63 ในเรือนจำ พร้อมกับจำเลยอีก 4 คน เดินทางมายังห้องพิจารณาคดีที่ 801 เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

กฤษณะ (จำเลยที่ 1), เทอดศักดิ์ (จำเลยที่ 2) และ วรรณภา (จำเลยที่ 4) เดินทางมาที่ศาลพร้อมกับครอบครัว ส่วนประพันธ์ (จำเลยที่ 3) ถูกเบิกตัวมาจากทัณฑสถานหญิงกลาง และเดินทางมาถึงที่ห้องพิจารณาเป็นคนสุดท้าย

เวลา 09.50 น. ศาลเรียกให้ทนายความและจำเลยทั้ง 4 เข้าไปฟังคำพิพากษา หลังนั่งรออยู่ด้านหน้าห้องพิจารณา ขณะที่ศาลกำลังอ่านคำพิพากษาคดีอื่น โดยศาลมีนโยบายไม่ให้บุคคลอื่น นอกเหนือจากผู้ต้องหาและคู่ความเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ส่วนญาติต้องนั่งรออยู่ด้านนอกห้องเท่านั้น แม้แต่ผู้สังเกตการณ์ก็ไม่สามารถเข้าร่วมฟังคำพิพากษาได้ เนื่องจากเป็นมาตรการของศาลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยสรุป ดังนี้ 

ศาลได้เท้าความถึงคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งอธิบายถึงองค์การสหพันธรัฐไทว่า ฝ่ายข่าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สืบทราบว่ามีคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการ ชื่อกลุ่มสหพันธรัฐไท มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาล และ คสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบการปกครองในระบอบสหพันธรัฐ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข จากนั้นได้พบว่ากลุ่มดังกล่าวมีการจัดรายการผ่านยูทูป โดยนายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และกฤษณะ ทัพไทย ซึ่งได้หลบหนีไปยังประเทศลาว 

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีแจ้งข้อหา “อั้งยี่” และ “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และ 116 แก่จำเลยทั้ง 4 รวมถึงพวกที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง โดยศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่า  มีพยานหลักฐานอันเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1-4 เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการในสมาคมแบบปิด หรือ องค์กรสหพันธรัฐไท เพื่อทำให้เกิดความไม่สงบ หรือความวุ่นวายต่อราชอาณาจักร

อ้างอิงจากเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนที่ได้สืบทราบว่าจำเลยที่ 1-4 เป็นแนวร่วมขององค์กรดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก จำเลยที่ 1-3 ได้แจกใบปลิว และสติกเกอร์ให้แก่สมาชิก ด้านจำเลยที่ 4 ไปรับเสื้อสีดำจากมารดา ซึ่งเป็นสมาชิกแนวร่วมขององค์กร

เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นบ้านของจำเลยที่ 1 ได้พบสัญลักษณ์สติ๊กเกอร์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท โดยจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และได้ให้การซัดทอดจำเลยที่ 2-3 จากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 3 และ 4 ก็พบเสื้อสีดำตามพยานหลักฐานของโจทก์ 

จากภาพกล้องวงจรปิดของมหาวิทยาลัย พบภาพของจำเลยที่ 1-2 นำแผ่นใบปลิวไปวางที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง และเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านพักของจำเลยที่ 1-2 พบใบปลิวที่แจกจ่ายในมหาวิทยาลัยและสติ๊กเกอร์ในบ้านของจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ชักชวนผู้อื่นให้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มในโปรแกรมไลน์ และพบภาพเสื้อสีดำจำนวน 400 ตัวในบ้านของจำเลยที่ 4 เพื่อนำมาแจกจ่าย 

ด้านข้อความที่ปรากฏในสติ๊กเกอร์และใบปลิวที่อธิบายระบอบสหพันธรัฐว่า “เป็นการปกครองแบบการกระจายอำนาจเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วในหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยจัดให้มีการเลือกตั้งในทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงประธานาธิบดี ศาลตัดสินโดยคณะลูกขุนซึ่งคัดเลือกมาจากประชาชน  เป็นรัฐสวัสดิการโดยดูแลตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ให้การศึกษาฟรีตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย สนใจสามารถดูเพิ่มจากแหล่งความรู้ทั่วไปหรือรับชมทาง  YouTube sanamluang…” 

ศาลพิเคราะห์ว่า ข้อความดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย  หรือไม่มีลักษณะเป็นการกระทำที่จะส่งผลต่อการเกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร  หรือไม่มีลักษณะที่มีความหมายให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดินแต่ประการใด 

ทั้งนี้ ยังไม่มีหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เผยแพร่ข้อความข้างต้น ส่วนจำเลยที่ 1-4 ไม่มีหลักฐานว่ามีความผิดในข้อหาตามมาตรา 116 ศาลชั้นต้นยกฟ้องข้อหา 116 ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย

อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1-4 ได้ให้การกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจแล้วว่าได้เข้าร่วมและสนับสนุนองค์กรสหพันธรัฐ ผ่านการแจกใบปลิว และเผยแพร่องค์กรผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ว่าจำเลยมีเจตนาเข้าร่วมโดยสมัครใจ และเมื่อองค์กรสหพันธรัฐไทมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยเป็นประมุข เป็นระบอบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข  และล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  

ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1-4 นั้นฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำเลยที่ 1-4 ข้อหาอั้งยี่ จำคุกคนละ 3 ปี โดยจำเลยที่ 2 (เทอดศักดิ์) และที่ 3 (ประพันธ์) รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116

หลังรับทราบคำพิพากษา จำเลยทั้ง 4 ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใส่กุญแจมือเป็นคู่ โดยจำเลยที่ 1 (กฤษณะ) คู่กับจำเลยที่ 2 (เทอดศักดิ์) และจำเลยที่ 3 (ประพันธ์) คู่กับ จำเลยที่ 4 (วรรณภา) เพื่อเดินมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 811 ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีสหพันธรัฐคดีที่ 2 โดยประพันธ์ และเทอดศักดิ์นั่งรอฟังคำพิพากษาในห้อง ส่วนกฤษณะและวรรณภาถูกนำตัวออกไป

.

คดีที่ 2: สวมเสื้อดำไปเดอะมอลล์ บางกะปิ วันที่ 5 ธ.ค. 61

คดีสวมเสื้อดำ “สหพันธรัฐไท” พนักงานอัยการฟ้องนายเทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) เป็นจำเลยที่ 1 และนางประพันธ์ (สงวนนามสกุล) เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 209 ซึ่งทั้งคู่ถูกกล่าวหาคดีนี้เป็นคดีที่สอง

โจทก์กล่าวหาว่า ทั้งสองสวมใส่เสื้อดำมีแถบธงขาวแดงติดที่บริเวณหน้าอกด้านซ้าย พร้อมข้อความ “Federation” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไท ไปที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 

คดีมีการสืบพยานระหว่างวันที่ 16, 17 และ 24 ม.ค. 2563 ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นในวันที่ 9 มี.ค. 2563 คำพิพากษาโดยย่อสรุปว่า ในความผิดฐานอั้งยี่ ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยถูกฟ้องและมีคำพิพากษาไปแล้ว เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.91/2563 (คดีแรกที่กล่าวถึงข้างต้น) 

ศาลเห็นว่าแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องคนละเวลา แต่เป็นเหตุการที่เกิดต่อเนื่องกัน จำเลยยังคงเป็นสมาชิกกลุ่ม ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.91/2563 การนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ จึงต้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

ส่วนความผิดตามมาตรา 116 โจทก์ไม่ได้นำหลักฐานที่หนักแน่นมาแสดงต่อศาล จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด พิพากษายกฟ้อง

>> อ่านบันทึกสืบพยาน และ คำพิพากษา

ประเด็นอุทธรณ์ของโจทก์ >> ขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 2 ในข้อหายุยงปลุกปั่น เหตุใส่เสื้อดำในวันที่ 5 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันมงคลที่ประชาชนทั่วไปสวมเสื้อเหลือง <<

โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์แสดงให้เห็นว่า ในวันที่ 5 ธ.ค. 61 จำเลยที่ 1 สวมเสื้อสีดำ มีภาษาอังกฤษอยู่ด้านหน้าว่า “Thai Federation” และจำเลยที่ 2 ได้ใส่เสื้อสีดำ และริบบิ้นสีขาวแดงติดอยู่ที่เสื้อ บนศีรษะมีสัญลักษณ์สีขาว ไปที่ห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ ขณะที่ประชาชนทั่วไปสวมเสื้อสีเหลือง จึงแสดงให้เห็นว่าทั้งสองเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท ไม่เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสหพันธรัฐ

ทั้งนี้ คำเบิกความของ พ.ต.ท.แทน ไชยแสง ประจํากองกํากับการ 5 กองปราบปราม ยังอธิบายอีกว่า ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ ได้เชิญชวนให้ผู้ฟังรายการ สวมเสื้อสีดำในวันที่ 5 ธ.ค. 61 ซึ่งในความเป็นจริงเป็นวันมงคลสำหรับประชาชนไทย 

นอกจากนี้ พยานโจทก์ทั้ง 3 ยังไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นพยานที่น่าฟังได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้องข้อหา ม.116 ชี้ คำเบิกความของโจทก์เป็นการกล่าวหาลอยๆ 

สำหรับคดีนี้ เทอดศักดิ์และประพันธ์ถูกควบคุมตัวมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 812 เพื่อฟังคำพิพากษาผ่านคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณาคดีที่ 811 หลังจากที่ประพันธ์และเทอดศักดิ์อยู่ในห้อง 812 ประมาณ 20 นาที เจ้าหน้าที่ศาลให้นำตัวทั้งสองมาฟังคำพิพากษาที่ห้อง 806 แทน 

เวลาประมาณ 11.50 น. ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ผ่านคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณาคดี 811 ศาลพิเคราะห์ว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ เช่น คำเบิกความของ พ.ต.ท.แทน ไชยแสง นั้นเป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ โจทก์ไม่ได้แสดงหลักฐานอย่างแน่ชัดว่า จำเลยเป็นคนนำการชุมนุม อันก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง พิพากษายกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

หลังฟังคำพิพากษา เทอดศักดิ์และประพันธ์ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวไปที่ห้องเวรชี้ บริเวณใต้ถุนศาลอาญา ก่อนได้พบกับกฤษณะและวรรณภาที่ถูกคุมตัวรอผลประกันตัวอยู่อีกครั้ง

.

ส่งศาลฎีกาให้พิจารณาคำร้องปล่อยชั่วคราว ทำให้ทั้ง 4 ถูกส่งเข้าเรือนจำทันที

หลังศาลอ่านคำพิพากษา จำเลยทั้ง 4 ถูกควบคุมตัวไปที่ห้องเวรชี้ ด้านญาติของจำเลยที่ 1,2 และ 4 ได้ยื่นประกันตัวจำเลยระหว่างพิจารณาคดีในชั้นฎีกา จำเลยที่ 1 และ 2 ได้ยื่นประกันด้วยเงินสดจำนวน 100,000 บาท และ 40,000 บาท ตามลำดับ พร้อมเงื่อนไขขอติดกำไลข้อเท้าอิเลคทรอนิกส์ไว้ (EM) ด้านจำเลยที่ 4 ยื่นประกันตัวด้วยเงินสดจำนวน 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ไม่มีญาติมาประกันตัวในวันนี้

หลังการรอคอยของญาติกว่า 5 ชั่วโมง เวลา 16.22 น. ศาลมีคำสั่งส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวให้ศาลฎีกาพิจารณาคำสั่งให้ประกันตัวของจำเลยทั้ง 3 ทำให้ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลางทันที โดยคาดว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งต่อคำร้องภายใน 2-3 วันต่อไป

.

ศาลฎีกาไม่ให้ประกัน 3 จำเลย ข้อหา “อั้งยี่” ในคดีแจกใบปลิว-ขายเสื้อดำ “สหพันธรัฐไท”

29 เม.ย. 64 เวลา 15.30 น. ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลฎีกา ลงวันที่ 28 เม.ย. 64 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว กฤษณะ, เทอดศักดิ์, วรรณภา จำเลยข้อหา “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 จากการแจกใบปลิว สติกเกอร์ และขายเสื้อสีดำ และถูกเชื่อมโยงว่ามีส่วนร่วมกับองค์การ “สหพันธรัฐไท” หลังศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างฎีกาไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา ทำให้ทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางทันที ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 64
.
คำสั่งศาลฎีการะบุว่า พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในชั้นนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยังไม่ยื่นฎีกาและได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หากปล่อยตัวไปอาจหลบหนี จึงยังไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง
.
คำสั่งนี้ทำให้กฤษณะและเทอดศักดิ์ต้องถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนวรรณภาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป ส่วน “ประพันธ์” จำเลยอีกหนึ่งราย ถูกคุมขังมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 62 โดยไม่ได้ยื่นประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีตั้งแต่ต้น และคาดว่าจะครบกำหนดโทษวันที่ 23 พ.ค. 64
.

บันทึกสังเกตการณ์ในวันที่ 4 จำเลย คดี “สหพันธรัฐไท” ต้องเข้าเรือนจำ ก่อนศาลฎีกาไม่ให้ประกัน

.

X