บันทึกสังเกตการณ์ในวันที่ 4 จำเลย คดี “สหพันธรัฐไท” ต้องเข้าเรือนจำ ก่อนศาลฎีกาไม่ให้ประกัน

ปี 2561 ชายหญิงต่างวัยหลากหลายคน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารเข้าจับกุม นำตัวไปซักถามภายในค่ายทหาร จากการ แจกใบปลิว ขายเสื้อสีดำ และสวมเสื้อสีดำไปเดินห้างในวันที่ 5 ธันวาคม พวกเขาถูกเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่ม “สหพันธรัฐไท” ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเห็นว่า เป็นองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นสหพันธรัฐ ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ และรัฐยังเชื่อมโยงพวกเขากับผู้ลี้ภัยทางการเมือง เช่น ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง”, สยาม ธีรวุฒิ หรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง” และ กฤษณะ ทัพไทย “สหายยังบลัด” ผู้จัดรายการวิทยุในนามสามทหารเสือ

ผู้ลี้ภัยถูกอุ้มหาย ส่วนผู้อยู่ในประเทศไทยตกเป็นจำเลยในข้อหา “เป็นอั้งยี่” และ “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และ 116 ทำให้พวกเขาต้องฟันฝ่า ต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 เส้นทางอันยาวนานของจำเลย 4 คน กลับมาบรรจบกันอีกครั้ง หลังศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่เกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไทจำนวน 2 คดี 

พวกเขาพกความหวังเล็กๆ ว่าศาลอุทธรณ์อาจพิพากษายกฟ้องข้อหาอั้งยี่ จากเดิมที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก “อั้งยี่” ไม่รอลงอาญา ทำให้จำเลย 3 คนต้องขอประกันตัว โดยจำเลยคนหนึ่งมีวงประกันถึง 300,000 บาท อีกสองคนต้องติดกำไลข้อเท้า (EM) ไว้ตลอด เนื่องจากหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ ส่วนจำเลยคนสุดท้ายไม่ได้ยื่นประกันตัว ทำให้ถูกคุมขังในเรือนจำเรื่อยมา

กฤษณะ, เทอดศักดิ์, ประพันธ์, วรรณภา ถูกดำเนินคดีจากการแจกใบปลิวและจำหน่ายเสื้อดำซึ่งมีธงสัญลักษณ์สหพันธรัฐไท ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2561 ส่วนประพันธ์และเทอดศักดิ์ตกเป็นจำเลยอีก 1 คดี เพราะใส่เสื้อสีดำไปที่ห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 

21 มกราคม 2563 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ และในวันที่ 27 เมษายน 2564 ศาลอุทธรณ์ก็ยังคงยืนยันตามเดิม

นาทีพิพากษา ที่ญาติเข้าฟังไม่ได้ เนื่องจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ของศาล

เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 801 ของศาลอาญา รัชดาฯ ทนายจำเลย 3 คน ยกเว้น อานนท์ นำภา ซึ่งยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ พร้อมกับจำเลย 4 คน เดินทางมาพร้อมกับครอบครัวเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

กฤษณะมาพร้อมกับญาติ 1 คน ทั้งสองขับรถส่วนตัวมาจากบ้านย่านปริมณฑล หน้าห้องพิจารณาคดี ญาติของกฤษณะนั่งแยกตัวออกมา ไม่คุยกับใครมากนัก แม้แต่กับญาติจำเลยคนอื่นๆ หรือทนายเองก็ตาม เห็นได้ชัดว่าเธอมีความกังวลกับผลการพิจารณาคดีของศาล

วรรณภาเดินทางมากับลูกชายวัย 16 ปี เมื่อมาถึง เธอทักทายกับทนายว่า “ถ้าวันนี้ไม่ได้ประกัน ใครจะเลี้ยงลูกละเนี่ย ฝากไว้กับทนายได้ไหมคะ” พร้อมกับหัวเราะเล็กน้อย กลบเกลื่อนผลที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น

ยายและน้าสาวของเทอดศักดิ์เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วย ทั้งครอบครัวออกเดินทางจากปากช่องมาตั้งแต่เวลา 05.00 น. การมาศาลครั้งนี้ ยายต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตลอดเวลา เนื่องจากเธอเพิ่งประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บที่ขาด้านขวา

ส่วนประพันธ์ ถูกเบิกตัวมาจากทัณฑสถานหญิงกลาง และถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาถึงที่ห้องพิจารณาเป็นคนท้ายสุด แม้ผมของเธอจะมีสีเทาแทรกแซมประปราย แต่ก็ยังคงความกระฉับกระเฉง เธอปรี่เข้าทักทายผู้ต้องหาคนอื่นๆ ก่อนถูกนำตัวไปในห้องพิจารณาคดี

พวกเขาต้องนั่งรอศาลอ่านคำพิพากษาคดีอื่นให้แล้วเสร็จ จึงสามารถเข้าไปในห้องพิจารณาได้ เนื่องจากศาลมีนโยบายช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ให้บุคคลอื่นใด นอกเหนือจากผู้ต้องหาและคู่ความเข้าไปในห้องพิจารณาคดี แม้แต่ญาติก็ต้องนั่งรออยู่ด้านนอกห้องเท่านั้น ไม่สามารถเข้าร่วมฟังคำพิพากษาได้ 

ราว 09.50 น. เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์เชิญจำเลยพร้อมทนายความเข้าห้องพิจารณา ส่วนญาตินั้นได้แต่คอยฟังเสียงผู้พิพากษาที่เล็ดลอดออกมา เพื่อรอคอยว่าผลลัพธ์ของวันนี้ เขาต้องสูญเสียคนในครอบครัวให้กับเรือนจำหรือไม่ 

เมื่อเสียงของผู้พิพากษาเงียบลง ทนายจำเลยเดินออกจากห้องมาแจ้งผลคำพิพากษาว่า ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกข้อหา “อั้งยี่” ไม่รอลงอาญา ตามมาด้วยจำเลยทั้ง 4 ถูกใส่กุญแจมือคู่กันออกมาจากห้องพิจารณาคดีที่ 801 เดินทางไปยังห้องพิจารณาคดีที่ 811 เพื่อฟังคำพิพากษาคดีของประพันธ์และเทอดศักดิ์ ขณะญาติเดินติดตามพวกเขาไป พร้อมกับปรึกษาเรื่องการประกันตัวกับทนายความ

หลังเดินมาถึงห้องพิจารณาคดีที่ 811 ประพันธ์และเทอดศักดิ์ถูกนำตัวไปที่ห้อง 812 เพื่อรอศาลอ่านคำพิพากษาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากห้อง 811 ส่วนกฤษณะและวรรณภาถูกนำตัวแยกออกไปก่อน

จากนั้น ประพันธ์และเทอดศักดิ์ถูกนำตัวไปที่ห้อง 806 แทน เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามศาลชั้นต้น แม้ไม่ลงโทษข้อหายุยงปลุกปั่นตามที่โจทก์อุทธรณ์ แต่พวกเขายังคงต้องเข้าเรือนจำเพราะความผิดอั้งยี่ในคดีแรก

ทั้ง 4 ถูกนำตัวไปคุมขังใต้ถุนของศาล รอคอยผลประกันตัว หลังญาติของกฤษณะยื่นเงินสด 100,000 บาท ส่วนเทอดศักดิ์ 40,000 บาท พร้อมกับเงื่อนไขขอติดกำไลข้อเท้าอิเลคทรอนิกส์ (EM) เช่นเดิม และวรรณภาใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์จำนวน 300,000 บาท เป็นหลักประกัน 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์สิ้นสุด แต่ชีวิตของญาติและจำเลยยังคงรอคอยความหวังจะได้เจอหน้าคนที่เขารักอีกครั้ง

“ป้าอยู่ได้แล้ว แต่เป็นห่วงรุ้ง”

หลังถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลางเป็นเวลานานเกือบ 2 ปี ประพันธ์ใกล้จะได้รับอิสรภาพในเร็วนี้ เมื่อครบกำหนดปล่อยตัวในวันที่ 23 พฤษภาคม 2564

แม้ญาติของประพันธ์จะไม่ได้มาฟังคำพิพากษาในวันนี้ แต่เรายังได้พอพูดคุยกับเธอเล็กน้อย ถามไถ่ความเป็นไป ขณะที่เธอเดินสับเปลี่ยนห้องพิจารณาคดีจากห้อง 801 ไปห้อง 811 

ประพันธ์ดูมีอายุมากขึ้นกว่าเดิมค่อนข้างมาก เราไถ่ถามถึงสุขภาพเธอว่า แข็งแรงดีใช่ไหม “สบายดี แข็งแรงดี ไม่มีเจ็บ ไม่มีป่วย ถ้าเป็นอะไรนิดหน่อยข้างในเขาจะมาดูแลทันที เขาดูแลดีมากๆ” 

เมื่อเราถามถึงความเป็นอยู่ในเรือนจำ เธอตอบทันทีว่าอยู่มานานแล้ว ก็ต้องอยู่ได้ แต่ล่าสุดเธอได้เจอ “รุ้ง” ปนัสยา ที่ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางเช่นเดียวกัน และเป็นห่วงรุ้งมาก เพราะรุ้งไม่ยอมกินข้าวเลย และตอนนี้ผอมลงมาก 

เธอเบิกยิ้มกว้างและพูดคุยตอบโต้ด้วยท่าทีที่เป็นกันเองตลอดการสนทนา ‘เดินไปคุยไป’ เพียงไม่กี่นาที ก่อนจะเดินเข้าไปในห้องพิจารณาหมายเลข 811 เพื่อฟังผลคำพิพากษาอีกคดีหนึ่ง

“เขาไม่ได้ไปฆ่าใครตายสักหน่อย ทำไมต้องทำกันถึงขนาดนี้”

หลังกฤษณะตกเป็นจำเลยในคดีสหพันธรัฐไทเมื่อปี 2561 เขาก็ต้องออกจากงานประจำที่ทำอยู่ เพราะกลายเป็นผู้มีประวัติอาชญากรรมติดตัว กว่า 3 ปีแล้วที่กฤษณะเป็น ‘ผู้ว่างงาน’ ญาติของเขาเล่าว่าไม่ใช่เพราะเขาไม่พยายามหางานอื่นทำ แต่เพราะไม่มีใครให้โอกาสเขาอีกเลย ปัจจุบัน กฤษณะผันตัวมาทำช่องยูทูปเป็นของตัวเอง เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับการเล่นเกมส์ ธรรมะ และการรีวิวสถานปฏิบัติธรรม รวมถึงวัดต่างๆ 

ก่อนหน้านี้ทั้งสองคนมีรายได้เข้ามาหลายทาง แต่หลังกฤษณะตกเป็นจำเลย พวกเขาจึงตกอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างลำบาก เพราะมีเพียงญาติคนนี้คนเดียวที่ทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ ซ้ำยังมีภาระต้องผ่อนบ้าน 

น้ำตาของเธอไหลตลอดเวลาขณะเรื่องราวชีวิตพรั่งพรูออกมา

“พี่เครียดมาก คิดมากจนนอนไม่หลับ คดีมันยืดเยื้อมานานเมื่อไหร่จะจบสักที ตอนแรกพี่คิดว่าทุกอย่างมันจะจบวันนี้ มันก็ไม่จบ พี่เหนื่อยแล้ว พี่ไม่เข้าใจเลยจริงๆ ทำไมถึงต้องทำกันขนาดนี้ เขาไม่ได้ไปฆ่าคน ปล้น จี้ใครสักหน่อย ทำกับเราเหมือนเราเป็นอาชญากร ตอนมาจับเราปี 61 ก็ขนทหารตำรวจ 30-40 คน ล้อมบ้านประชาชนตัวเล็กๆ 2 คน บอกว่าแค่จะพาไปปรับทัศนคติ 7 วันแล้วก็จบ จบที่ไหน หลอกเราได้ลงคอ ยืดเยื้อมาจนจะ 3 ปีแล้ว”

“ถ้าเขาไม่โดนคดีนี้ก่อน เขาได้ไปทำงานต่างประเทศแล้ว”

เทอดศักดิ์ เพิ่งย้ายจากบ้านที่ปากช่องเข้ามาทำงานเป็นคนขับรถให้กับนายตำรวจท่านหนึ่งในกรุงเทพ เทอดศักดิ์อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีภรรยาหรือลูก ตอนนี้มีเพียงยายที่คอยดูแลเทอดศักดิ์มาตั้งแต่ยังเล็กและน้าสาวอีกคน และเพิ่งสูญเสียคุณแม่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่าน 

ยายเล่าว่า “เขาเป็นคนที่เรียนหนังสือเก่งมากๆ สอบได้ที่ 1 ตั้งแต่ยังเด็ก ภาษาอังกฤษเขาก็ดี นี่ถ้าเขาไม่โดนคดีนี้ก่อน เขาได้ไปทำงานต่างประเทศแล้ว เขาเป็นคนดี ดูแลยายตลอด ถ้าพ้นจากคดีนี้แล้วจะให้ไปบวช ใจเรานี่ไม่อยากให้เขาต้องติดคุกเลย

“ถ้าเขาไปอยู่ข้างในนั้นแล้ว เกิดยายเป็นอะไรไปเขาจะรู้ได้ยังไง ไม่ใช่ว่าเราคิดเห็นแก่ตัวนะ แต่ยายดูแลเขามาตั้งแต่ยังเล็ก ถ้าต้องห่างกันไป ยายก็เป็นห่วงเขา คิดถึงเขา ตอนนี้เราก็แก่แล้วด้วย เป็นทั้งเบาหวาน ความดัน ตอนนี้ยังมาปวดเข่าเวลาเดินต้องใช้ไม้ค้ำช่วยตลอด” 

หลังครอบครัวและทนายความยื่นเอกสารประกันตัว ทนายได้อธิบายว่า เนื่องจากคดีนี้ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งพิพากษาลงโทษจำคุกทั้งคู่ มีโอกาสที่ศาลชั้นต้นจะส่งคำสั่งให้ศาลฎีกาพิจารณาเรื่องปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้จำเลยต้องถูกส่งเข้าเรือนจำ ระหว่างรอผลประกัน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน 

ยายและน้าสาวพูดคุยกันว่า คงต้องหารถ บขส. เพื่อกลับไปบ้านที่ปากช่องก่อนคืนนี้ แล้วค่อยกลับมาฟังผลคำสั่งประกันที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง ถ้าผลยังไม่ออกในเย็นนี้ 

“ต้องไปดูที่หมอชิตอีกว่า เย็นนี้มีรถกลับบ้านไหม พอมีโควิดแล้วรอบรถก็น้อยลงมาก แต่ไม่กลับก็ไม่ได้ ต้องกลับไปดูแลสวน ดูแลหมา แมว เป็ด ไก่ที่บ้าน” ยายเปรยขึ้น ก่อนที่เย็นวันนั้นทั้งสองต้องกลับบ้าน โดยเทอดศักดิ์ไม่สามารถกลับไปด้วยได้

ผมไม่อยากให้แม่ติดคุกเลย”

ตลอดการนั่งรอฟังผลการยื่นคำร้องขอประกันตัว จ๊าบ (นามสมมติ) ลูกชายคนโตของวรรณภาวัย 15 ปี นั่งกอดเสื้อแขนยาวสีชมพูที่แม่ถอดออกให้ไว้ก่อนถูกพาไปห้องคุมขัง 

ตั้งแต่ถูกฟ้องคดีสหพันธรัฐไทในปี 2561 วรรณภาเป็นอีกคนที่ต้องจำใจออกจากงานประจำ เพราะมีประวัติอาชญากรรมติดตัวเช่นเดียวกับกฤษณะ ปัจจุบันวรรณภาจึงไม่มีงานประจำทำอย่างเป็นหลักแหล่ง มีเพียงงานพาร์ทไทม์ช่วยคัดแยกพัสดุในคลังสินค้าที่ได้ทำเพียงอาทิตย์ละ 2-3 วันเท่านั้น จ๊าบจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมาช่วยทำงานเดียวกันนี้ด้วยอีกคน วรรณภายังมีลูกชายคนเล็กวัย 13 ปีที่กำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 

“ผมไม่อยากให้แม่ติดคุกเลย แม่เข็ดแล้ว แม่ไม่พูดถึงเรื่องการเมืองอีกเลย ก่อนจะมาศาลวันนี้ แม่บอกไว้ว่า ถ้าแม่ไม่ได้ออกไป ให้พาน้องผมไปอยู่กับยาย ยายจะดูแลน้องเอง ส่วนผมดูแลตัวเองได้แล้ว แม่ไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่”

ถูกส่งเข้าเรือนจำ โดยไม่ได้เตรียมใจ และยังไม่รู้ผลประกัน

เวลา 16.40 น. เจ้าหน้าที่ศาลอาญาแจ้งผลการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่าจะส่งต่อให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง โดยคาดว่าผลการพิจารณาน่าจะแจ้งกลับมาภายในอีก 2 วัน ระหว่างนี้จำเลยทั้งสามคนจะต้องถูกส่งเข้าไปในเรือนจำก่อน ญาติจำเลยทั้งสามจึงมุ่งหน้าไปยังห้องขังใต้ถุนศาลเพื่อร่ำลาพวกเขา

จ๊าบตรงไปหาวรรณภายังห้องขังที่ถูกแยกออกเป็นสองฝั่ง สำหรับผู้ชายและผู้หญิง ห้องขังมีลูกกรงกั้นสองชั้น กรงกั้นห่างกันชั้นละประมาณ 3 เมตร และยังมีราวเหล็กทอดยาวกั้นตลอดหน้าห้องขังอีกชั้นด้วย ตอนนี้วรรณภาต้องเกาะลูกกรงชั้นในสุดเพื่อพูดคุยกับลูกชายคนโต กรงเหล็ก 2 ชั้นเป็นระยะทางมากกว่า 6 เมตร ทั้งสองต้องตะเบงเสียงแข่งกับญาติคนอื่นๆ เพื่อให้ได้ยินเสียงกันและกันชัดถ้อยชัดคำ 

วรรณภาพูดกับลูกชายว่า “เก็บมือถือแม่ให้ดีนะ ระวังหน้าจอมันจะแตก ฝากบอกที่ทำงานด้วยว่าแม่ไปทำงานไม่ได้แล้ว แม่อยู่ข้างในนี้ ไม่รู้จะได้อยู่ไปถึงเมื่อไหร่ อย่าลืมดูแลน้องนะลูก ดูแลกันดีๆ โทรไปบอกยายด้วยว่าเขาไม่ให้แม่ออกไป ถ้าแม่ต้องอยู่นาน เอาน้องไปฝากไว้กับยายนะลูก ยายจะดูแลเอง” เธอพูดด้วยเสียงปนสะอื้น 

จากนั้นเธอจึงหันมาพูดกับทนายความ “หนูต้องอยู่ในนี้จนถึงเมื่อไหร่ทนาย ลูกหนูยังเล็กอยู่เลย ใครจะดูแลพวกเขา ต้องโทรหาลูกหนูตลอดนะทนาย หนูเป็นห่วงลูกมาก”เธอปล่อยโฮร้องไห้เสียงดัง

“แล้วอีกสองวันเจอกันนะลูก” เธอกล่าวทิ้งท้ายกับลูกชาย

ส่วนเทอดศักดิ์และกฤษณะถูกคล้องกุญแจมือคู่กัน ทั้งสองถูกพาตัวยังห้องติดตั้งกำไลติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อถอดเครื่องออก เนื่องจากการเข้าเรือนจำ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้มันแล้ว 

กฤษณะบอกกับญาติว่า เขาอยากเปลี่ยนกางเกง เพราะกางเกงยีนส์ขายาวรัดรูปที่ใส่อยู่ตอนนี้ทำให้ไม่สบายตัว แต่เธอไม่ได้เตรียมมาด้วย และบอกว่า “ไม่ได้เตรียมใจมาด้วยซ้ำว่าวันนี้จะไม่ได้ประกันตัว เลยไม่ได้เตรียมของอะไรมาด้วยเลยพี่” พร้อมกับร้องไห้อีกครั้ง ก่อนจะรีบเดินไปหาร้านค้าบริเวณใกล้เคียงเผื่อมีกางเกงลำลอง แต่เวลานั้นร้านค้าในศาลปิดหมดแล้ว กฤษณะจึงบอกว่า “งั้นจะตัดกางเกงให้เป็นขาสั้นนะ” เธอตอบตกลง “ตัดเถอะไม่เป็นไร ออกมาค่อยไปซื้อตัวใหม่กันนะ”

ด้านเทอดศักดิ์บอกกับญาติว่าเขาอยากได้แปรงฟันกับยาสีฟัน ซึ่งวันนี้เขาเองก็ไม่ได้เตรียมตัวมาเช่นกัน เพราะคิดว่าอย่างไรก็คงได้รับการประกันตัว ยายและน้าสาวกฤษณะมองกันด้วยสายตาห่วงใย ก่อนกฤษณะและเทอดศักดิ์จะถูกนำตัวกลับเข้าไปยังห้องคุมขัง

เหล่าญาติของจำเลยทยอยเดินทางกลับ เหลือเพียงแต่ญาติของกฤษณะที่ยังคงเดินวนเวียนอยู่ห้องคุมขังฝั่งผู้ต้องขังชาย ชะเง้อมองหากฤษณะอย่างอาลัยอาวรณ์ พร้อมกับร้องไห้ตลอดเวลา

“วันนี้ไม่ได้เตรียมใจมาเลยว่าเขาจะต้องเข้าคุก ไม่รู้อีกสองวันที่ว่าจะได้เจอเขาอีกไหม พี่ไม่อยากอยู่คนเดียว”

เย็นวันที่ 29 เมษายน 2564 ศาลฎีกามีคำสั่งว่าคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจำเลยยังไม่ยื่นฎีกาและไม่รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หากปล่อยตัวไปอาจหลบหนี จึงยังไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยในระหว่างฎีกา 

X