ให้ประกัน 3 จำเลยคดี “อั้งยี่” แจกใบปลิว – ขายเสื้อดำ “สหพันธรัฐไท” วงเงินคนละ 3 แสน พร้อมติด EM

วันนี้ (15 พ.ค. 64) ศาลอาญา รัชดาฯ อ่านคำสั่งศาลฎีกาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว  กฤษณะ (จำเลยที่ 1), เทอดศักดิ์ (จำเลยที่ 2), วรรณภา (จำเลยที่ 4) จำเลยที่ถูกฟ้องในข้อหา “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 จากการแจกใบปลิว สติกเกอร์ และขายเสื้อสีดำ และถูกเชื่อมโยงว่ามีส่วนร่วมกับองค์การ “สหพันธรัฐไท” โดยศาลกำหนดวงเงินคนละ 300,000 บาท พร้อมกับเงื่อนไขติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) 

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ทนายความยื่นประกันตัว 3 จำเลยระหว่างฎีกาเป็นครั้งที่ 2 หลังทั้งสามถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่ 27 เม.ย. 64 จากการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก อีกทั้งเมื่อศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอประกันให้ศาลฎีกาพิจารณา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 29 เม.ย. 64

>> ยื่นประกันครั้งที่ 2! คดีสหพันธรัฐไท กรณีแจกใบปลิว-ขายเสื้อดำ ขอให้ศาลปล่อยเพื่อป้องกันจำเลยติดโควิด คาดรอคำสั่งศาลฎีกา 2-3 วัน

>> อุทธรณ์ยืน! ลงโทษ 4 ปชช. ข้อหา “อั้งยี่” ไม่รอลงอาญา คดีแจกใบปลิว-ขายเสื้อดำสหพันธรัฐไท แต่ยกฟ้องข้อหา “ยุยงปลุกปั่น”

ทั้งสามถูกคุมขังเป็นเวลา 19 วันแล้ว ก่อนที่ศาลอาญาจะอ่านคำสั่งศาลฎีกาลงวันที่ 14 พ.ค. 64 อนุญาตให้ประกันตัวในวันนี้ โดยศาลฎีกาให้เหตุผลว่า จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาก่อน โดยไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ไม่สูงนัก หากจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ยินยอมให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ก็อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ตีราคาประกันคนละ 300,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นสอบถามความยินยอมของจำเลยที่ 1, 2 และ 4 และพิจารณาหลักประกัน แล้วดำเนินการต่อไป 

หลังจากทราบคำสั่งศาลฎีกาแล้ว ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอขยายระยะเวลาติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ระบุว่า จำเลยทั้งสามยินยอมให้ติด EM แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ทำให้จำเลยทั้งสามต้องไปตรวจเชื้อดังกล่าวเมื่อได้รับการปล่อยตัว ทั้งยังต้องกักตัวอีก 14 วัน เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จึงขอมาศาลเพื่อติด EM ภายในเวลา 20 วัน หลังได้รับการปล่อยตัว โดยศาลมีคำสั่งอนุญาต 

ทำให้กฤษณะ, เทอดศักดิ์ และวรรณภา ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางในเย็นนี้ทันที โดยทั้งสามต้องไปรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง พร้อมกักตัวให้ครบระยะกำหนดเวลา 14 วัน และต้องเดินทางมาศาลเพื่อติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในวันที่ 4 มิ.ย. 64 

นอกจากจำเลยทั้งสาม ยังมีประพันธ์​ (จำเลยที่ 3) ที่ยังคงถูกขังระหว่างพิจารณาที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มาตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว คาดว่าครบกำหนดปล่อยตัวในวันที่ 23 พ.ค. 64 นี้

>> บันทึกสังเกตการณ์ในวันที่ 4 จำเลย คดี “สหพันธรัฐไท” ต้องเข้าเรือนจำ ก่อนศาลฎีกาไม่ให้ประกัน

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า คดีนี้จำเลยถูกพิพากษาจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท โดยลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี เทอดศักดิ์ให้การเป็นประโยชน์ในชั้นสอบสวน ลดเหลือ 2 ปี ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ ตีวงเงินประกัน ปีละ 100,000 บาท กฤษณะและเทอดศักดิ์ขอติด EM และวางเงินสด 100,000 บาท และ 40,000 บาท ตามลำดับ ขณะวรรณภา ไม่ติด EM จึงต้องวางเงินสด 300,000 บาท แต่ในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่าฎีกา ศาลฎีกาให้วางเงินประกันคนละ 300,000 บาท โดยให้ติด EM ด้วย 

ทั้งนี้ ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกัน ในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ระบุไว้ว่า 

“คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องมีประกัน หากมีเหตุจำเป็นต้องมีประกันให้กำหนดวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท เว้นแต่ มีเหตุสมควรที่จะสั่งเป็นอย่างอื่น ก็ให้ระบุเหตุนั้นไว้โดยชัดแจ้ง ”

รวมทั้งข้อบังคับฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ระบุว่า

“ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยยินยอมให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ต้องหาหรือจำเลย ศาลอาจใช้ดุลพินิจเรียกหลักประกัน ดังนี้ 

(1) คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินประกัน”

หลัง 3 จำเลยในคดีนี้ได้รับการประกันตัว ยังมีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวอีก 8 คน โดยสัปดาห์ที่จะถึงนี้ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอประกันอีกอย่างน้อย 3 ราย ในวันที่ 18 และ 19 พ.ค. ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในเรือนจำเป็นที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ต้องขังติดเชื้อไม่น้อยกว่า 54%

      >> สถิติผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองระหว่างการต่อสู้คดี ปี 2564

     >> เลื่อนไต่สวนประกัน “จัสติน-ชูเกียรติ” 19 พ.ค. หลังเรือนจำยืนยันกรณีกระทบสิทธิผู้ต้องขัง ดำเนินการผ่านวีดิโอได้

>> จับตา! ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอประกัน “ณัฐนนท์-ธวัช” คดีล้อมรถ 18 พ.ค. นี้

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เปิดฐานข้อมูล “คดีสหพันธรัฐไท” จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

คดีสหพันธรัฐไท เหตุมีเสื้อดำในครอบครอง ถูกดำเนินคดีเป็นอั้งยี่-ยุยงปลุกปั่น

 

X