21 ม.ค. 63 ศาลอ่านคำพิพากษาคดีสหพันธรัฐไท คดีนี้เป็นคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) เป็นโจทก์ฟ้องนายกฤษณะ (สงวนนามสกุล) กับพวกรวม 5 คน ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 พิพากษา ลงโทษจำเลยทั้ง 4 ใน มาตรา 209 วรรค 1 จำคุกคนละ 3 ปี โดยจำเลยที่ 2 และ 3 รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 จำคุกคนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญาและยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 จำเลยที่ 1,2 และ 4 ได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดีในศาลอุทธรณ์ ในเวลา 16.30 น. ส่วนนางประพันธ์จำเลยที่ 3 ยังคงถูกขังเนื่องจากไม่มีญาติมายื่นประกันตัว
ในวันนี้มีครอบครัวของจำเลยมาร่วมฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจ ประกอบด้วย พี่สาว น้องสาวและยาย ของเทอดศักดิ์ แฟนของกฤษณะ รวมถึงลูกชายอายุ 9 ขวบของวรรณภา โดยก่อนอ่านคำพิพากษา มีการใส่กุญแจมือจำเลยทั้ง 4
คำฟ้องของโจทก์
พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 61 โดยบรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 8 มิ.ย. – 12 ก.ย. 61 ทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันวาระ กล่าวคือ
- จำเลยทั้งห้า กับนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์, นายสยาม ธีรวุฒิ, นายวัฒน์ วรรลยางกูร และนายกฤษณะ ทัพไทย ซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ ในคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการ ชื่อกลุ่มสหพันธรัฐไท มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและ คสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบการปกครองในระบอบสหพันธรัฐ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
- จำเลยทั้งห้า กับพวกดังกล่าว ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ โดยได้เคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์ ยูทูบ และการแจกเอกสารแผ่นปลิว ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและ คสช. ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินและเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
ข้อต่อสู้ของจำเลย
ในนัดถามคำให้การเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 62 จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยระบุว่า จำเลยทุกคนต่างไม่รู้จักกันมาก่อน วันเกิดเหตุขณะที่จำเลยทุกคนถูกจับกุมนั้น จำเลยทั้งหมดไม่ได้ไปแจกเอกสารหรือแผ่นพับแก่ประชาชนแต่อย่างหนึ่งอย่างใด และไม่ได้เดินทางเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุตามฟ้องแต่อย่างใด จำเลยทุกคนถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเดินทางไปควบคุมตัวจากบ้านแล้วพาไปควบคุมไว้ในค่ายทหาร หลังจากนั้นได้ส่งตัวให้แก่ตำรวจเพื่อดำเนินคดี ซึ่งจำเลยทุกคนไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นและเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแต่อย่างใด
ทั้งนี้มีสืบพยานระหว่างวันที่ 19-21 และ 26 พฤศจิกายน 2562 พยานโจทก์เข้าเบิกความรวม 5 ปาก เป็นทหาร 1 ปาก ตำรวจ 4 ปาก ส่วนพยานจำเลย ทนายจำเลยประสงค์นำสืบเพียง 1 ปาก คือ วรรณภา (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 4 (อ่านบันทึกสืบพยาน)
คำพิพากษาโดยสรุป
10.15 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยกล่าวว่าเป็นที่รับฟังได้ ว่าจำเลยถูกทหารตรวจค้นและเชิญไปซักถาม ตามบันทึกซักถามซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานของพยานโจทก์ ทั้งนี้มีปัญหาที่วินิจฉัยว่า 1. จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ 2. องค์กรสหพันธรัฐไทมีจริงหรือไม่
องค์กร “สหพันธรัฐไท” มีจริง และมีแนวคิดในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังปี 2557 ซึ่ง คสช.ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ มีการสั่งการให้จับตาดูผู้ที่มีแนวคิดล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยพบว่า โกตี๋ หรือนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ มีพฤติกรรมสะสมอาวุธและเคยทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ส่วนนายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ เคยเป็นผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ นายสยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง นายกฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด นายวัฒน์ วรรลยางกูร หรือสหาย 112 และสุรชัย แซ่ด่าน(ด่านวัฒนานุสรณ์) ที่เคยถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก็มีแนวคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงให้เป็นระบอบประธานาธิบดีและต้องการเปลี่ยนแปลงระบบศาล เป็นระบบคณะลูกขุน
บุคคลทั้งหมดได้หลบหนีไปประเทศลาวและจัดตั้งกลุ่มสหพันธรัฐไท มีการจัดรายการวิทยุเผยแพร่ทางยูทูบ เพื่อเชิญชวนคนเข้าร่วมกลุ่ม โดยเนื้อหารายการมีรายละเอียดเกี่ยวกับการล้มล้างสถาบันพระหมากษัตริย์ และชักชวน ยุยง ปลุกปั่นบุคคล ให้ลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ โจทก์มีพยานหลายปากซึ่งยืนยันว่ามีกลุ่มบุคคลปฏิบัติการเช่นนี้จริง โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมาเป็นพยานเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่จริงโดยมิได้มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน คำเบิกความของโจทก์ในส่วนนี้น่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ ยังมีหลักฐานเป็นแผ่นซีดีซึ่งบันทึกเนื้อหาของรายการวิทยุ โดยมีการถอดเทปพิมพ์ออกมาให้ศาล เมื่อศาลอ่านและเปิดดูแล้ว พบว่าบุคคลที่ใช้ชื่อในลักษณะนามแฝง เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการเป็นแกนนำทางความคิดและการกระทำขององค์กรสหพันธรัฐไท วิทยุทางโปรแกรมดังกล่าวมีเจตนาให้บุคคลทั่วรับฟัง ไม่ใช่การปรักปรำของเจ้าหน้าที่ การกระทำของบุคคลดังกล่าวจึงครบองค์ประกอบ เข้าข่ายชักชวน ยุยงปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
แม้จำเลย มีเสื้อดำ ใบปลิว และสติ๊กเกอร์ แต่เนื้อหาของใบปลิวและการกระทำยังไม่เข้าข่าย “ยุยงปลุกปั่น”
ศาลกล่าวถึงปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อที่ 2 จำเลยกระทำผิดร่วมกับแกนนำหรือไม่ โดยเริ่มด้วยการกล่าวถึงจำเลยที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นผู้นำใบปลิวไปแจกตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจค้นที่พักก็พบใบปลิวกับเสื้อดำและสติ๊กเกอร์ เป็นใบปลิวลักษณะเดียวกับใบปลิวที่นำไปวางตามมหาวิทยาลัย โดยจำเลยที่ 1 และ 2 ได้รับสารภาพไว้ในบันทึกซักถาม การที่เจ้าพนักงานตรวจพบภาพจำเลยที่ 1 และ 2 ย่อมเป็นหลักฐานชั้นดี ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 เกี่ยวข้องกับองค์กรสหพันธรัฐไท จึงเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องเป็นสมาชิกกลุ่ม
สำหรับจำเลยที่ 3 ศาลเห็นว่ามีลักษณะเป็นแกนนำสหพันธรัฐในประเทศไทย ซึ่งชักชวนบุคคลอื่นทางไลน์ และจำเลยที่ 4 เป็นบุตรของนางสมพิศ แนวร่วมสหพันธรัฐไทซึ่งหลบหนีอยู่ที่ลาว โดยได้ไปรับเสื้อดำมีสัญลักษณ์สหพันธรัฐไทไปส่งไปรษณีย์หลายครั้ง จากการตรวจค้นบ้านพักของจำเลยที่ 4 พบเสื้อดำติดธงสัญลักษณ์ขาวแดงขาวจำนวนมาก
เมื่อพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ มีเพียงการวางใบปลิวและเก็บเสื้อกับสติ๊กเกอร์ รวมถึงธงไว้ที่บ้าน และเมื่อพิจารณาดูข้อความในใบปลิว เช่น สหพันธรัฐไทเป็นการปกครองเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้ว จัดให้มีการเลือกตั้งในทุกระดับ มีคณะลูกขุนที่เลือกโดยประชาชน รัฐสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนถึงตาย การศึกษาฟรีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย พบว่าเป็นเพียงการให้ความรู้เกี่ยวกับสหพันธรัฐเท่านั้น ส่วนข้อความในสติ๊กเกอร์เป็นข้อความที่ไม่มีลักษณะเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย ยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ทั้งนี้ โจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงความเกี่ยวข้องของจำเลยกับแกนนำที่อยู่ฝั่งลาว ทั้งจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่เกี่ยวข้องในฐานะคนจัดรายการ ในส่วนของบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏข้อความยุยงปลุกปั่นเช่นเดียวกัน
ในกรณีของจำเลยที่ 3 และ 4 จำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องเพียงชักชวนสมาชิกผ่านไลน์ จำเลยที่ 4 เกี่ยวข้องเพียงรับเสื้อดำมาส่งและไม่ปรากฏการวางใบปลิว เพียงถ่ายรูปคู่กับใบปลิวและข้อความในใบปลิวไม่มีลักษณะยุยงปลุกปั่น จำเลยที่ 3 และ 4 จึงไม่มีความผิดในลักษณะการกระทำยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
การพูดยุงยงปลุกปั่นของคณะต่างๆ ในยูทูบ จะเป็นการพูดส่วนตัวหรือพูดแทนสมาชิกทั้งหมด จึงไม่อาจตีความว่าการกระทำของจำเลยที่ 1-4 ไปด้วย ทั้งนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานจากโจทก์ว่ามีการประชุมกันระหว่างจำเลยที่ 1-4 และแกนนำที่ฝั่งลาว
จำเลยเกี่ยวข้องโดยการ “ช่วยเหลือ” ให้กิจกรรมต่างๆดำเนินไปได้ เชื่อว่าทั้งสี่เป็นสมาชิก “สหพันธรัฐไท”
ศาลอ่านคำพิพากษาต่อไปว่า พยานหลักฐานโจทก์ บ่งชี้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1-4 มีส่วนเกี่ยวข้องกับแกนนำ โดยการช่วยเหลือให้กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปได้ ทั้งข้อความในใบปลิวรวมถึงสติ๊กเกอร์ มีข้อความเชิญชวนไปฟังรายการวิทยุ จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสี่ต่างเข้าร่วมเป็นสมาชิก
โดยคณะบุคคลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะเปลี่ยนแปลง ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
จึงถือว่าคณะบุคคลดังกล่าวกระทำการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งมีการปกปิดวิธีดำเนินการ เช่น การมีธงสัญลักษณ์ ใช้รหัสตัวเลขแทนความหมายที่ทราบเฉพาะในกลุ่มของตนเอง การเข้าร่วมกันเป็นสมาชิกจึงเป็นการกระทำผิดข้อหาอั้งยี่
การไม่นำจำเลยที่ 1-3 ขึ้นสืบพยานถือเป็นพิรุธ ส่วนการเบิกความของจำเลยที่ 4 ว่าเพียงไปเยี่ยมมารดาที่ฝั่งลาวและนำเสื้อไปส่งให้มารดา ศาลเห็นว่าก่อนเกิดเหตุ จำเลยทราบว่ามารดาหลบหนีไปประเทศลาวซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ เมื่อมารดาขอให้ช่วยส่งเสื้อ จึงอยู่ในวิสัยที่เชื่อได้ว่าจำเลยทราบว่าเสื้อดำหมายถึงสิ่งใด ศาลเชื่อว่าจำเลยทราบเกี่ยวกับองค์กรดังกล่าว จึงเรียกได้ว่าเป็นสมาชิก ข้อหักล้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-4 กระทำผิด มาตรา 209 วรรค 1 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 3 ปี โดยจำเลยที่ 2 และ 3 รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 จำคุกคนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญาและยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116
ภายหลังจากฟังคำพิพากษา ทนายจำเลยและญาติได้ดำเนินการยื่นขอประกันตัวจำเลย 3 คน จำเลยที่ 1 นายกฤษณะ ได้ใช้หลักทรัพย์เดิมซึ่งเคยยื่นประกันไว้ จำนวน 100,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้า EM จำเลยที่ 2 นายเทอดศักดิ์ ต้องเปลี่ยนนายประกันเนื่องจากนายประกันคนเดิมไม่สะดวกมาทำเรื่องประกันตัว โดยยายของจำเลยได้มาเป็นนายประกันแทนและยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์ 40,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้า EM จำเลยที่ 3 นางประพันธ์ ยังคงถูกจำคุก โดยไม่มีญาติมายื่นประกันตัว และจำเลยที่ 4 น.ส.วรรณภา เดิมวางเงินประกันตัวจำนวน 200,000 บาท แต่เนื่องจากศาลพิพากษาลงโทษ 3 ปี และตีวงเงินประกัน ปีละ 100,000 บาท ทำให้ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 300,000 บาท จึงต้องเช่าหลักทรัพย์เพิ่มจำนวน 100,000 บาท โดยไม่ต้องติดกำไลข้อเท้า ทั้งนี้ ศาลได้อนุญาตประกันตัวจำเลยทั้งสาม ในเวลา 16.30 น.
อ่านรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง
จับอีกรายที่ 20 คดีสหพันธรัฐไท เหตุสวมเสื้อดำ หน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ประกันตัว 600,000 บาท
1 ปี ความเคลื่อนไหวคดี ‘สหพันธรัฐไท’: ดำเนินคดีอย่างน้อย 20 คน ใน 11 คดี
ศาลนัดสืบพยาน ‘สาวเย็บผ้าเชียงใหม่’ คดีสหพันธรัฐไท ก.ค. 63
ตรวจพยานสหพันธรัฐไท จำเลยปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดสืบพยานนัดแรก พ.ย. 62